Open Campus แบบญี่ปุ่น (ตอนที่2)

Open Campus แบบญี่ปุ่น

หลังจากที่ได้รู้จักงาน Open Campus แบบญี่ปุ่นจาก ตอนที่ 1 กันแล้ว   คราวนี้มาเตรียมตัวไปงานจริงกันค่ะ

สำหรับการแต่งกายนั้น  เด็กนักเรียนญี่ปุ่นมักจะใส่ชุดนักเรียนไปกัน  หรือไม่ก็แต่งกายลำลองธรรมดา  แต่ควรจะเป็นชุดที่สุภาพเรียบร้อย  รองเท้าที่ใส่เดินสบาย  เผื่อต้องเดินขึ้นลงหลายชั้น  เตรียมสมุดโน้ต ปากกาดินสอติดไปด้วย

ถ้าเดินทางไปที่สถาบันด้วยตัวเอง  ควรเช็คแผนที่การเดินทางให้ดี  หลายๆสถาบัน มีการจัดรถรับส่งตามจุดใหญ่ๆ เช่นสถานีรถไฟหลักๆ  ควรไปถึงก่อนเวลา  ตามมารยาทของญี่ปุ่นคือต้องไปก่อนเวลาอย่างน้อยที่สุดคือ 5 นาที  ไม่ใช่ไปถึงตรงเวลาเป๊ะนะคะ

เมื่อไปถึงงานก็ไปลงทะเบียน รับเอกสารต่าง ๆ และจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำตามโปรแกรมที่ทางสถาบันวางไว้

open campus แบบญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่นที่ไหนดี

 

10 ข้อสำคัญที่ควรเช็คเมื่อไปงาน Open Campus แบบญี่ปุ่น

  1. การเดินทาง

ถ้าทุกวันที่ต้องไปเรียนแล้วมันไกล  มันยากลำบากอาจจะทำให้เหนื่อยเกินไป   ฉะนั้น ควรตรวจสอบเส้นทางจากบ้านเดินทางไปเรียนอย่างไร  ใช้เวลานานแค่ไหน  เช็คตารางรถประจำทาง  รถไฟ  ค่ารถไปกลับ ราคาตั๋วเดือน เป็นต้น ทางที่ดีถ้ามีเวลาในวันธรรมดา  ควรลองเดินทางจากบ้านไปถึงสถาบันดู  พร้อมดูสภาพแวดล้อมแถวๆสถาบันไปด้วย

  1. หลักสูตร

แม้ว่าจะใช้ชื่อคณะ หรือสาขาเหมือนกัน  แต่หลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันใช่ว่าจะเหมือนกันฉะนั้น  ก่อนไป Open campus ควรอ่านข้อมูลเตรียมไว้ก่อน จุดไหนที่มีข้อสงสัยจะได้สอบถามเพิ่มเติมให้เข้าใจ

open campus เข้าคลาสทดลอง

  1. สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ต่างๆ

ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเลิศหรู ดูอลังการที่มองเห็นด้วยสายตา  แต่ให้ใช้ความรู้สึกของตัวเองดูว่าบรรยากาศของสถานที่เป็นอย่างไร  เรารู้สึกสบายใจไม่อึดอัด เช่น ไปห้องสมุดก็ลองใช้เวลาค้นหาหนังสือมานั่งอ่าน

opencampus-2003

  1. วิธีการรับสมัคร

เช็คข้อมูลดูว่ามีวิธีการรับสมัครแบบใดบ้าง  เช่น การสอบเข้าทั่วไป  การสอบตรงแบบ OA การรับเข้าแบบระบบ Recommend เพื่อที่จะได้เลือกวิธีการสมัครเข้าเรียนแบบที่มีโอกาสเข้าได้มากที่สุด

AO入試
หมายถึงการสอบตรงของสถาบัน   เป็นการสอบรอบพิเศษที่ไม่ได้พิจารณาจากผลคะแนนการสอบข้อเขียน  แต่เป็นการพิจาณาจากการสัมภาษณ์นักเรียนโดยตรง หรือมีการให้เขียนเรียงความอธิบายเหตุผลที่ต้องการเข้าเรียน

  1. บรรยากาศของสถาบัน

ลองดูว่าบรรยากาศในสถาบันเป็นอย่างไร   มีชมรมหรือกลุ่มทำกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน  บางแห่ง มีรุ่นพี่ชมรมต่างๆ มาประชาสัมพันธ์ชมรม  ชักชวนน้องๆให้มาเข้าเรียนเพื่อที่จะได้มาเข้าร่วมชมรม   ดูน่าสนใจ  มีความคึกคักไหม

สำหรับนักเรียนต่างชาติอย่างเรา  สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรสอบถามคือ จำนวนนักเรียนต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่มีมากน้อยแค่ไหน  มีนักเรียนชาติไหนบ้าง  เพื่อที่จะทำให้ทราบได้ว่าสถาบันนั้นๆ มีความพร้อมที่จะรองรับหรือให้ความช่วยเหลือนักเรียนต่างชาติอย่างไรบ้าง

open campus ชมบรรยากาศสถาบัน

  1. เส้นทางหลังจบการศึกษา

เช็คข้อมูลว่านักเรียนที่จบการศึกษาจากสถาบันมีอัตราการได้ทำงานมากน้อยแค่ไหน  เข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรแบบไหน  ส่วนใหญ่แล้วสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นจะเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด เพราะเป็นจุดขายของสถาบันในการที่นักศึกษาสามารถได้งานดีๆ ทำหลังเรียนจบ

  1. การสนับสนุนด้านการไปแลกเปลี่ยนหรือทำงานวิจัยในต่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น  มีการทำสัญญาพันธมิตรกับสถานศึกษาต่างประเทศ   มีการสนับสนุนให้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนระยะสั้นๆ   ไม่ใช่เพื่อที่จะเตรียมตัวไปเที่ยว  แต่เพื่อให้รู้ว่าจะมีอะไรที่จะได้ไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง

 

  1. การสอบใบคุณวุฒิต่างๆ (資格)

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสอบเพื่อให้ได้คุณวุฒิต่างๆ สารพัดชนิด   ข้อนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเช็คอีกอย่างหนึ่งว่าหลักสูตรที่สอนจะส่งเสริมเกื้อหนุนกับการสอบคุณวุฒิต่างๆ ไหม

 

  1. ชื่อเสียงหรือความเชี่ยวชาญ

นอกเหนือจากชื่อเสียงของสถาบันที่อาจจะมีการพูดถึงในสื่อหรือตามอินเตอร์เน็ตแล้ว  ถ้าเป็นไปได้  ควรเช็คข้อมูลของอาจารย์ผู้สอนด้วย   ข้อนี้ฟังดูอาจจะรู้สึกเหมือน “เยอะ” ไปนี้ด แต่ที่ญี่ปุ่นเค้าให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพในสาขานั้นๆ   และอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีชื่อเสียงในแต่ละด้าน  ไม่จำเป็นว่าจะต้องสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยชื่อดังเท่านั้น

  1. ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ปิดท้ายด้วยเรื่องสำคัญที่สุด  ไม่ใช่ดูแค่ค่าแรกเข้า ค่าเล่าเรียนในปีแรก  ในปีต่อๆไป เรียนสูงขึ้น บางวิชาต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มเติม  โดยเฉพาะวิชาที่ต้องมีการใช้อุปกรณ์ เทคนิค วัสดุ ส่วนผสมต่างๆ ซึ่งพวกนี้จะไม่ได้รวมอยู่ในค่าเล่าเรียน    ที่สถาบันมีระบบส่วนลดค่าเล่าเรียน  ระบบให้ทุนการศึกษาไหม

จุดที่ควรต้องเช็คมีเยอะจนเหนื่อยเลยใช่ไหมคะ  ยิ่งถ้าไปหลายๆสถาบันจะเริ่มมึน  จำไม่ได้ว่าที่ไหนเป็นอย่างไร  จึงควรจดโน้ตไว้ทุกแห่งที่ไปร่วมงานค่ะ    เว็บของญี่ปุ่นเค้าถึงขนาดมีแบบฟอร์ม check list กันด้วยนะคะ

open campus ตัวอย่างแบบสอบถาม

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ…ไปฟังบรรยาย ไปทดลองเรียนเนี่ย เค้าใช้ภาษาอะไรกัน  คำตอบคือ “ภาษาญี่ปุ่น” ล้วนๆค่ะ

 

 

แม้จะไม่มั่นใจว่าภาษาญี่ปุ่นของเราแข็งแรงพอไหม  ก็อยากแนะนำให้ลองไปร่วมงานดูนะคะ    เนื่องจากการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย  อาจารย์ผู้สอนไม่ใช่อาจารย์ในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น  ที่จะรู้ว่าเราใช้ภาษาญี่ปุ่นได้มากน้อยแค่ไหน  เข้าใจคำศัพท์หรือไวยากรณ์ระดับไหน  คำศัพท์ที่ใช้หรือความเร็วในการพูดจะเป็นระดับปรกติที่สอนให้นักเรียนญี่ปุ่นฟัง

 

ดังนั้น การไปร่วมงานแบบนี้จะทำให้รู้ว่าเราพร้อมที่จะเข้าเรียนร่วมกับนักเรียนญี่ปุ่นไหม   ฟังเลคเชอร์เข้าใจมากน้อยแค่ไหน  จะคุยกับเพื่อนญี่ปุ่นรู้เรื่องไหม  ควรจะต้องฟิตภาษาญี่ปุ่นให้มากขึ้นอย่างไรนะคะ

 

Credit ภาพประกอบจาก

Kyoto University of Art and Design
Nihon Kogakuin College
Toho Gakuen College
Shobi College of Music
Bunka Fashion College

 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม-ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top