ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ป.โท ประเภท Research Student
แนะนำการสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ป.โท โดยคุณพัชรนนท์ บำรุงสุข (กิ๊บ)
นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประเภท Research Student เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญ
ที่ Kyushu University, School of Law (Fukuoka)
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 5 มิ.ย. 2017
อยากสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ป.โท ต้องเริ่มต้นอย่างไร?
ถ้าน้องๆ สนใจสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ป.โท อยากให้เริ่มลองหาความสนใจของตัวเองว่า อยากเรียนต่อด้านไหน (ส่วนใหญ่จะต้องไปต่อด้านที่เราเรียนจบมาหรือใกล้เคียง)
แล้วหาข้อมูลเพื่อคิดและเขียนแผนวิจัยแต่เนิ่นๆ เพราะสถานทูตจะประกาศรับสมัครนักเรียนทุนตอนต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี และขั้นตอนการยื่นใบสมัคร – แผนการวิจัย (study plan เป็นส่วนหนึ่งของใบสมัคร) และการสอบก็จะตามมาในสัปดาห์และเดือนต่อๆ ไป กำหนดการจะติดๆ กันทำให้มีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย
เริ่มแรกเลยทุกคนมักจะมีปัญหาว่าจะเลือกหัวข้อไหนดี มีวิธีหาหัวข้อหลายทางค่ะ เช่น
- หางานวิจัยที่มีคนทำมาก่อนมาเป็นแนวทางแล้วปรับให้เป็นเรื่องใหม่ของเรา อาจดูงานวิจัยไทยของคณะที่เราจบ หรือดูงานวิจัยของมหาลัยที่ญี่ปุ่นที่เราสนใจก็ได้ค่ะ
- ปรึกษาอาจารย์ที่คณะที่เราจบมาว่าช่วงนี้มีหัวข้อวิจัยอะไรน่าสนใจบ้าง
- ถามพี่ๆ ที่ทำงานว่ามีประเด็นปัญหาในการทำงานที่น่าสนใจไหม แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเรื่องที่เรามีความรู้และสนใจอยู่บ้างนะคะ ไม่งั้นถ้าไม่อินแล้วคงทรมานมากตอนเขียนวิจัย
พอเลือกหัวข้อได้แล้ว การเขียนแผนวิจัยสามารถหาตัวอย่างที่รุ่นพี่หลายๆ คนเขียนแนะนำวิธีการเขียนในอินเตอร์เน็ต แล้วนำมาปรับใชักับหัวข้อของเราได้ ลองหาดูนะคะมีเยอะเลย
พี่ใช้เวลา 2-3 วันในการเขียน แต่ทั้งนี้ก็หาข้อมูลไว้พร้อมแล้วก่อนหน้านั้นค่ะ และในรอบสัมภาษณ์รู้สึกว่ากรรมการไม่มีคำถามเกี่ยวกับหัวข้อวิจัยมากนักเลยเดาว่าที่เขียนไปน่าจะชัดเจนพอประมาณ
พอเตรียมแผนวิจัยได้แล้ว น้องๆ สายศิลป์ก็ต้องเตรียมสอบวิชาภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่น (ถ้ามีพื้นฐานด้านนี้) โดยหาข้อสอบเก่าย้อนหลัง 4-5 ปีจากอินเตอร์เน็ตมาฝึกทำจนคล่องและทบทวนในส่วนที่ยังต้องปรับปรุง ส่วนตัวพี่สอบแค่ภาษาอังกฤษเลยไม่ได้ใช้เวลามากนัก ประมาณหนึ่งสัปดาห์
สำหรับน้องสายศิลป์คำนวณและวิทยาศาสตร์ เท่าที่ฟังจากเพื่อนๆ ทุน จะต้องเตรียมสอบเพิ่มอีกบางวิชา คือ เลข (เพื่อนว่ายากสุด) และวิชาวิทยาศาสตร์ (เลือกได้จากลิสท์ที่สถานทูตประกาศ)
ในวันสอบก็ไม่มีอะไรมาก เตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม ไปก่อนเวลาเล็กน้อยเพื่อไปเดินหาที่นั่งสอบ ปีพี่สอบที่คณะวิศวะจุฬาฯ ซึ่งห้องเยอะมาก
ถ้าผ่านข้อเขียนแล้ว แนะนำให้รีบหารุ่นพี่ทุนในสาขาเดียวกันเพื่อขอคำแนะนำในการตอบคำถาม (สอบสัมภาษณ์หลังประกาศผลสอบข้อเขียนแค่สัปดาห์เดียว) และเตรียมตอบคำถามยอดฮิตที่นักเรียนทุนมักถูกถาม เช่น งานวิจัยของเรามีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร ทำไมถึงอยากไปญี่ปุ่นแต่ไม่ไปประเทศอื่น ทำไมต้องไปมหาลัยนี้ที่เราเขียนไว้ในใบสมัคร จบมาแล้วจะทำอะไร
นอกจากนั้นคือเตรียมความรู้เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยของเราอย่างละเอียดเพื่อที่จะตอบคำถามของคณะกรรมการสัมภาษณ์ และควรลองซ้อมพูดตอบบ่อยๆ เพื่อลดความตื่นเต้น เพราะในห้องสัมภาษณ์จะมีกรรมการชาวญี่ปุ่น 3 ท่านยิงคำถามใส่เราคนเดียว และเค้าคาดหวังคำตอบสำหรับทุกคำถาม
ถ้าได้รับทุนก็จะถึงขั้นตอนการหาอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ที่จะเป็น adviser ของเราตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น (หรือจะเรียกว่าพ่อ/แม่ของเราที่ญี่ปุ่นก็ได้เพราะท่านจะเป็นคนดูแลและตัดสินใจชีวิตเราตลอดเวลาที่อยู่ที่ญี่ปุ่น) ซึ่งขอบอกว่ายากที่สุดเพราะคาดเดาได้ยาก
พอถึงตอนหาอาจารย์ที่ปรึกษานี่แหละ เราก็ต้องพยายามติดต่อขอให้อาจารย์ที่เราเลือกไว้นั้น รับเป็นที่ปรึกษาให้ได้ โดยแต่ละมหาลัย/คณะจะมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน
เริ่มแรกคือให้ลองเมล์หา admission office หรือส่วนกลางของคณะก่อนเพื่ออธิบายความตั้งใจและแนบเอกสารข้อมูลและแผนวิจัยของเราอย่างละเอียดไปด้วย บางคณะส่วนกลางจะทำการแจ้งอาจารย์ให้ และตอบคำถามเราได้ดี
แต่ที่พบมาส่วนกลางบางคณะตอบเมล์ช้ามากอาจจะด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ไม่ถนัด ถึงจุดนี้เราก็ลองเมล์หาอาจารย์โดยตรงแนะนำตัวและขอร้องอาจารย์เลย เพราะทางสถานทูตมีเวลากำหนดให้เรายื่นเอกสารของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เรียกว่า Letter of Acceptance ซึ่งต้นฉบับต้องส่งมาจากญี่ปุ่น
(จะพบบ่อยๆ ว่าอาจารย์ที่เราเลือกไว้ตอนสมัครอาจจะไม่สามารถรับเราหรือไม่มีความถนัดในหัวข้อวิจัยของเรา เค้าก็มักจะแนะนำอาจารย์ท่านอื่นให้ อาจารย์บางท่านถึงกับแนะนำให้เราปรับหัวข้อวิจัยเพื่อที่เค้าจะรับเราได้ก็ไม่ต้องตกใจไป เราสามารถเปลี่ยนรายชื่อมหาลัยและอาจารย์ได้อีกครั้ง ของพี่อาจารย์ที่เลือกไว้ตอนแรกก็ไม่ตรงกับอาจารย์ที่รับเป็นที่ปรึกษาจริงๆ)
พอจบขั้นตอนนี้แล้วก็รอค่ะ อีกหลายเดือนเลยกว่าสถานทูตจะประกาศคอนเฟิร์มการให้ทุนและมหาลัยที่เราจะไปเรียน (ประมาณมกราคมปีถัดไป)
สุดท้ายแล้ว เมื่อได้รับคอนเฟิร์มการรับทุน การเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ไทยไปเล็กน้อยก่อนไปถึงญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่อยากแนะนำนะคะ อย่างน้อยอ่านตัวอักษรฮิรางานะ คาตาคานะได้คล่องและมีความรู้เบื้องต้น จะทำให้การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นช่วงแรกไม่ลำบากนัก ซึ่งการเรียนคอร์ส intensive ที่ Jeducation ของพี่นั้นไม่ทำให้ผิดหวังเลยจริงๆ คุ้มค่ามากๆ ค่ะ :)
เรียนกับเซนเซชาวญี่ปุ่นค่อ
ตอนนี้พี่บินมาเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ 2 เดือนกว่าแล้วค่ะ เรียนภาษา แล้วก็ลง Audit (แบบเข้าไปนั่งฟังเฉยๆ ไม่มีสอบ ไม่ได้เครดิต) ในคลาสวิชากฎหมายด้วยค่ะ เพราะว่าเทอมนี้เป็นนักศึกษาวิจัย เลยยังเก็บเครดิตไม่ได้ แต่ตุลานี้ก็จะเริ่มเรียนป.โทแล้วค่ะ
ช่วงนี้อากาศกำลังดี เที่ยวสบายๆ ฟุกุโอกะมีดอกไม้สวยๆ เยอะมาก น้องผู้หญิงน่าจะชอบค่ะ
ต้นเมษายน สวน Ohori ที่ Fukuoka ค่ะ
ดอก Baby blue eyes ที่สวน Uminonakamichi ทางเหนือของ Fukuoka ค่ะ นั่งรถไฟไม่ถึงชม.
กลางเมษายน ดอก Rapeseed ที่สวน Nokonoshima Island นั่งเฟอร์รี่จาก Fukuoka 15 นาทีค่ะ
ปลายเมษายน ดอก Azalea ที่สวน Mifuneyama Rakuen นั่งรถไฟจาก Fukuoka 1 ชม.
ต้นพฤษภาคม สวน Kawaji Fujien ตอนเหนือของ Fukuoka ที่เมือง Kitakyushu นั่งรถไฟและรถบัสประมาณ 2 ชม. แต่สวยตะลึงไปเลยค่ะ
ต้นมิถุนายน ดอก Iris ที่ Miyajidake Shrine ที่เมือง Fukutsu ตอนเหนือของ Fukuoka นั่งรถไฟและรถบัส 45 นาทีค่ะ สดๆ ร้อนๆ เพิ่งไปเมื่อวานค่ะ
เดี๋ยวเดือนนี้ดอกไฮเดรนเยีย Hydrangea ก็กำลังจะบานค่ะ มีให้ชมตามข้างทางบ้างแล้ว
สุดท้ายพี่ขอฝากไว้ว่า ถ้าน้องๆ พลาดจากทุนรัฐบาลญี่ปุ่นที่จัดสอบโดยสถานทูต ก็อย่าเพิ่งท้อนะคะ ยังสามารถสมัครทุนรัฐบาลได้โดยผ่านทางมหาลัยที่มีการเสนอชื่อนักเรียนให้รับทุนได้ เข้าใจว่ามหาลัยรัฐจะมีการสมัครทุนแบบนี้ด้วย ลองหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาลัยได้ค่ะ ขั้นตอนไม่ซับซ้อนเท่าการสมัครจากไทยแต่การแข่งขันค่อนข้างสูงเหมือนกันนะคะ สู้ๆ ค่า✌️
ต้องขอบคุณพี่กิ๊บมากๆ เลยนะคะ สำหรับข้อมูลดีๆ เป็นประโยชน์สำหรับรุ่นน้องค่ะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
> ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
> ทุนเรียนต่อญี่ปุ่น : 4 Steps ขั้นตอนการหาทุน ไม่ไกลเกินเอื้อม
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-267-7726
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น ต่อ 101-104
สอบถามคอร์สภาษาญี่ปุ่น ต่อ 111-112
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> http://bit.ly/jed-line