เรียนจบจากญี่ปุ่น แล้ว จะจัดการกับข้าวของเครื่องใช้ยังไงดี
เดือนมีนาคมที่ญี่ปุ่นเป็นฤดูแห่งการจบการศึกษา
สำหรับนักเรียนไทยที่ เรียนจบจากญี่ปุ่น ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการลาจาก เตรียมตัวกลับประเทศไทย ต้องจัดการเคลียร์ข้าวของสัมภาระในห้องพักของตัวเอง และในช่วงนี้นี่ล่ะ ที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งการ …แจกกกกกก ค่า
จากห้องพักว่างๆ ไม่มีอะไร
( อพาร์ทเมนท์ให้เช่าในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นห้องเปล่าๆ มีเครื่องปรับอากาศให้เครื่องนึง )
ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมาเป็นปี อยู่ๆ ไปสมบัติข้าวของ สัมภาระมันเพิ่มขึ้นมาทุกวั๊น ทุกวัน จนถึงวันจะกลับเมืองไทย
เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า อร๊าย.. จะต้องคืนสภาพห้องพักว่างเปล่าสภาพเดิมให้เค้านี่นา
แล้วจะทำยังไง
วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด ก็คือการแจกจ่ายให้แก่เพื่อนฝูง รุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ยังคงเรียนอยู่ในญี่ปุ่น ให้มารับมรดกตกทอดกันไปนั่นล่ะค่ะ
ศูนย์กลางแห่งการแจกจ่ายมรดกของเด็กนักเรียนไทย จะอยู่ที่ Facebook group ของ TSAJ สมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่นฯ พอเข้าช่วงเดือนกุมภา มีนาปั๊บ ก็จะเริ่มมีภาพเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ มาประกาศแจกจ่ายกันแทบทุกวัน ใครอยากได้อะไร ก็ต้องรีบไปเขียนจองค่ะ เพราะคนจองกันไวมาก ช้าอดหมดสิทธิ์
ในการรับของ ก็ไปติดต่อนัดหมายวันเวลากันอีกที
โดยหลักๆ ผู้รับก็จะไปรับของด้วยตนเอง ถ้าเป็นของใหญ่ๆ จะหารถไปขนก็ต้องจ่ายค่ารถขนของเอง หรือถ้าจะให้จัดส่งของให้ถึงที่บ้านผู้รับเลยก็ได้เหมือนกันค่ะ แต่ผู้รับก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งของเองเช่นกัน
ตัวผู้เขียนเอง ก็เคยรับมรดกจากรุ่นน้องผู้มีพระคุณหลายคน หลายชิ้นค่ะ
ตั้งแต่หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เครื่องดูดฝุ่น เตารีด ไดร์เป่าผม ลิ้นชักใส่ของ จักรยาน วิทยุ หูฟัง ฯลฯ ไปจนถึงเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า อาหารแห้ง น้ำปลา ผงเครื่องปรุงนานาชนิด ยันสบู่ แชมพู ครีมนวดผม คืออะไรที่ยังใช้ได้ก็เอามาใช้ต่อหมดล่ะค่ะ
ของที่รับมาส่วนใหญ่เป็นของชิ้นเล็กๆ พอหิ้วขึ้นรถไฟได้ ก็นัดไปรับที่บ้านเจ้าของ แล้วก็แบกกลับบ้านตัวเอง เลี้ยงข้าวรุ่นน้องเป็นการขอบพระคุณหนึ่งมื้อ แหะ แหะ ส่วนจักรยาน ก็ขึ้นรถไฟไปตัวเปล่า แล้วขี่จักรยานกลับบ้าน ยิ่งยุคนี้ไม่ต้องกลัวหลงค่ะ google map พาคุณไปได้ทุกที่
ดูสภาพของแล้ว ส่วนใหญ่ของที่แจกจะยังอยู่ในสภาพดี ๆ
จนคุณผู้อ่าน อาจจะรู้สึกว่า โหย…แจกกันฟรีๆ เลยเหรอ เสียดายเงินที่ซื้อมาจังเลย
แต่การแจกให้คนอื่นนี่ล่ะค่ะ ง่ายและไม่เจ็บตัวที่สุดแล้ว
เพราะถ้าไม่แจกออกไป สิ่งที่ต้องทำคืออะไร ? มาดูกันค่ะ
คงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า เรื่องการทิ้งขยะ แยกขยะในญี่ปุ่นนั้น มันช่างเป็นเรื่องใหญ่ที่.. “เยอะ”
แค่แยกขยะปรกติในชีวิตประจำวันก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว ถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของรีไซเคิล นี่จะเครียดหนักกว่าหลายเท่าตัวค่ะ
จะต้องทำยังไง?
ก่อนอื่นเลยคือ ศึกษาคู่มือการทิ้งขยะที่ได้รับมาจากทางเขตที่อาศัยอยู่ เพราะแต่ละเขต มีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีคู่มือก็เซิร์ซจากเน็ตเลยค่ะ
เริ่มจากของชิ้นใหญ่
ถ้าดูตามคู่มือการทิ้งขยะจะเป็นหมวด 粗大ごみ : sodaigomi )
เช่น พวกเครื่องเรือน โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ชั้นวางของ ฟุตง (ฟูกที่นอนแบบญี่ปุ่น) จักรยาน เครื่องดนตรี ที่ออกกำลังกาย ฯลฯ
หากจะทิ้ง สิ่งที่ต้องทำคือ
1.โทรไปติดต่อนัดวันมาเก็บของ กับทางศูนย์รับขยะชิ้นใหญ่ของสำนักงานเขต หรือบางเขตก็มีให้แจ้งลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต ต้องติดต่อล่วงหน้านะคะ ไม่ใช่จะทิ้งพรุ่งนี้ โทรวันนี้
2.ไปซื้อシール สติ๊กเกอร์ ที่มีชื่อเรียกยาวมากว่า 有料粗大ごみ処理券 : yūryō sodaigomi shoriken สติ๊กเกอร์นี้หาซื้อจากร้านสะดวกซื้อทั่วไปได้ค่ะ
แต่ต้องซื้อของเขตที่ตัวเองอยู่เท่านั้นนะคะ เขตใครเขตมัน จะไปยืมสติ๊กเกอร์ของเพื่อนที่อยู่เขตอื่นมาแปะไม่ได้
สลิปตั๋วฝั่งที่เจ้าของเก็บไว้
3. เขียนชื่อตัวเอง และวันที่นัดรับของที่สติ๊กเกอร์ แล้วแปะลงไปที่ของที่จะทิ้ง อ่อ ของที่จะทิ้งแต่ละชิ้นราคาไม่เท่ากันนะคะ ของแบบไหนจะต้องติดสติ๊กเกอร์มูลค่าเท่าไร จะมีบอกไว้ในคู่มือการทิ้งขยะของแต่ละเขตค่ะราคามีตั้งแต่ 300 เยนไปจนถึง 2500 เยน (อ้างอิงจากข้อมูลของเขตชินจุกุ)
งานนี้คือต้องเปิดคู่มือหรือดูจากโฮมเพจของเขตเลยค่ะ ซึ่งจะบอกไว้หมดว่าต้องไปซื้อสติ๊กเกอร์แบบไหน ราคาเท่าไร กี่ใบ
4. พอถึงวันที่นัดมารับของ ต้องเอาของที่จะทิ้งนั้น ออกมาวางไว้หน้าบ้านหรือที่ทิ้งขยะก่อนเวลา ส่วนใหญ่ทางเขตจะมารับช่วงเช้า เราก็เอาของมาวางไว้ตอนดึกๆ หรือเช้ามืด
คงเคยได้ยินว่า ตอนค่ำมืดดึกดื่น พวกนักเรียนชอบไปเก็บของที่เค้าทิ้งมาใช้ เอ่อ… ก็ของพวกเนี้ยล่ะค่ะ
ถ้าเป็นพวก เครื่องใช้ไฟฟ้า
คราวนี้จะเครียดหนักกว่าเดิมค่ะ
โดยเฉพาะอุปกรณ์หลัก 4 อย่าง อันได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า-อบผ้า เครื่องปรับอากาศ
จะไปซื้อสติ๊กเกอร์มาติดแบบแรกไม่ได้นะคะ เพราะมีกฎหมายว่าด้วย “การรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน” เพื่อการกำจัดขยะอิเลคทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องจ่ายเงิน ค่าธรรมเนียมการนำสินค้านั้นไปรีไซเคิล
มาดูกันค่ะว่า ถ้าจะทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้ารีไซเคิล ( 家電リサイクル ) จะมีวิธียังไงได้บ้าง
วิธีที่ 1
ติดต่อร้านที่เราซื้อเครื่องไฟฟ้านั้น ให้มาขนไป โดยที่เราต้องจ่ายค่าขนของและค่าธรรมเนียมรีไซเคิล
วิธีที่ 2
ติดต่อ สอบถามจากเขตที่อาศัยอยู่ ให้หน่วยงานหรือร้านค้าที่ได้รับอนุญาตมาขนของไป แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอของและค่าธรรมเนียมรีไซเคิลเช่นกัน
วิธีที่ 3
ขนไปส่งที่สถานที่รับ เครื่องใช้ไฟฟ้ารีไซเคิลที่กำหนดไว้ด้วยตนเอง
ในการนี้จะต้องซื้อตั๋วรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 家電リサイクル券 ซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านที่กำหนด และที่ไปรษณีย์ให้เรียบร้อย
โดยต้องเช็ครายละเอียดว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะทิ้งนั้น ของบริษัทอะไร รุ่นไหน ขนาดเท่าไร เพราะราคาค่าธรรมเนียมการรีไซเคิลของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้น แต่ละยี่ห้อ แต่ละขนาด แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อซื้อตั๋วเรียบร้อยแล้ว ก็นำเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นพร้อมตั๋วซึ่งชำระเงินแล้ว ไปส่งยังสถานที่รับเครื่องใช้ไฟฟ้ารีไซเคิลที่กำหนดไว้
ยุ่งยากขนาดนี้
บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าไม่แจกล่ะ เอาไปขายต่อไม่ได้เหรอ …
คือจะ โทรไปติดต่อร้านรับซื้อของมือสองก็มีค่ะ แต่ใช่ว่าเค้าจะรับซื้อของเราทุกชิ้น อาจจะเลือกแค่บางชิ้นเท่านั้น แล้วที่เหลือทำยังไงดี คุยไปคุยมา แทนที่จะได้เงิน กลับกลายเป็นว่า ต้องจ่ายเงินให้ร้านขนของไปทิ้งให้เราอีกต่างหาก ซึ่งเค้าจะไปทิ้งจริงแบบถูกต้องจริงๆ หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่ทราบได้ เพราะก็มีปัญหาเรื่องพ่อค้ารับซื้อของมือสอง ที่แอบเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าไปทิ้งตามป่าเขา ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะอีก
นอกจากนั้น ก็จะมีพวกร้านรับซื้อของมือสองเจ้าใหญ่ๆ ดังๆ มีหลายบริษัทที่มีระบบให้ติดต่อทางเว็บไซต์ โดยให้ถ่ายรูปส่งของแต่ละชิ้น พร้อมรายละเอียดไปก่อน หลังจากนั้นทางบริษัทก็จะพิจารณา ตีราคา ถ้าตกลงกันได้ก็ค่อยมานัดรับของ
แต่ที่สำคัญคือ แม้คิดว่าจะขาย แต่อย่าคาดหวังกับเงินที่จะได้มาจากการขายต่อร้านมือสองเลยค่ะ มันน้อยมากกกก
อย่างพวกเสื้อผ้าเนี่ย ไม่ต้องคิดเลยว่าจะเสื้อแบรนด์เนมหรูมาจากไหน เวลารับซื้อ ทำราวกับชั่งกิโลขายเป็นขีดๆ ใครเคยไปซื้อของตามร้าน Book Off แล้วดีใจว่าได้เสื้อในราคาไม่กี่ร้อยเยน ก็ลองนึกดูละกันค่ะว่า เจ้าของเสื้อจะได้เงินกี่สิบเยน
ร่ายมาซะยาวขนาดนี้ คงจะพอเห็นภาพกันใช่ไหมคะ
ยกมรดกให้เพื่อนนักเรียนไทยด้วยกัน มันดีกว่าหลายเท่า ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นความรู้สึกดีๆ ที่ได้แบ่งปันให้เพื่อนๆ หรือรุ่นน้อง ที่เค้าจะสามารถเอาของที่เราไม่ใช้แล้ว ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แถมใช้กันต่อๆ อีกหลายรุ่นอีกต่างหาก
ว่าแล้ว… ขอแว๊บไปส่องต่อดีกว่า ว่ามีใครจะแจกอะไรอีก
ปิดท้ายอีกนิด
ด้วยคลิปวิธีทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อย่างถูกวิธี (ภาษาญี่ปุ่น)
>> https://youtu.be/yL_Yz41q3n0
ตัวอย่างภาพอธิบายการทิ้งขยะที่ญี่ปุ่น เมืองอะยะเซะ คานากาวา
>> https://www.city.ayase.kanagawa.jp/ct/other000025100/thai.pdf
หมายเหตุ
ภาพข้าวของเครื่องใช้ นำมาจาก Facebook กลุ่ม TSAJ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
หาเฟอร์นิเจอร์เข้าหอพักที่ญี่ปุ่น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line