ขี่จักรยาน ในญี่ปุ่นต้องระวัง… Bike in Japan!
เมื่อพูดถึงการใช้จักรยานกับสังคมไทย เราอาจนึกภาพไม่ออกว่าเจ้าสองสิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกันยังไง “ผมขี่จักรยานมาทำงานครับ” “เราขี่จักรยานไปโรงเรียน” คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่คุ้นหูเลยในสังคม สมัยเด็กๆ เราจะถูกสอนมาว่า เมืองไทยในอดีต ผู้คนใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางโดยอาศัยแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของไทย ต่อมาประเทศพัฒนาขึ้น มีการสร้างถนนหนทางครอบคลุมไปถึงพื้นที่หลักๆ ผู้คนก็เปลี่ยนมาใช้รถรากันมากขึ้น แต่ทว่าคนไทยใช้จักรยานเดินทางนั้น เราอาจจะไม่เคยได้ยินเลย จนกระทั่งเมื่อสองสามปีให้หลังครับ
สังคมไทยเปลี่ยนไป ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพและเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ประจวบเหมาะกับภาวะราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้นทุกวันทุกวัน แถมรถก็ยังติดอีก ด้วยเหตุนี้เทรนด์ใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการขี่จักรยาน ไม่ว่าจะเป็น Road Bike หรือ Mountain Bike ก็ตาม แรกๆผู้คนก็เริ่มนำจักรยานมาใช้เพื่อเป็นการออกกำลังกาย ผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมยามว่าง เส้นทางจักรยานรอบสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกสร้างใหม่ ก็เต็มไปด้วยผู้คนโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หลังจากนั้นมาความนิยมก็เริ่มแพร่หลาย และกระจายมาถึงการใช้จักรยานเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า เริ่มมีคนจำนวนหนึ่งนำจักรยานมาใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงานครับ
ล่าสุด ทางรัฐบาลเองมีการรณรงค์กิจกรรมปั่นเพื่อแม่หรือ Bike for Mom ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วประเทศ ผู้คนแห่กันซื้อจักรยานใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ หมวก ชุด ถุงมือ เพราะในยุคโซเชียลนี้ จะทำอะไรก็ต้องดูดี ต้องมีรูปมาอวดกันหน่อยครับ จากเดิมทีที่ต้องบอกว่าไม่เคยเห็นเล้ยยยจักรยานตามท้องถนน มาปัจจุบันเราจะสามารถเห็นได้บ่อยๆโดยทั่วไปครับ
เมื่อจำนวนคนใช้จักรยานหรือจักรยานบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น การเกิดอุบัติเหตุหรือความเสี่ยงที่จะเกิดย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามๆกันครับ ทว่าสังคมไทยยังใหม่กับการใช้จักรยาน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากการใช้จักรยานคมนาคมของผู้คน เราเองในฐานะที่ยังใหม่กับไลฟ์สไตล์แบบนี้ ก็ควรเรียนรู้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆจากประเทศอื่นๆที่มีการใช้จักรยานคมนาคมมานานแล้วครับ
และในช่วงเวลาเดียวกัน ณ ประเทศญี่ปุ่น ไลฟ์สไตล์ในการใช้จักรยานต่างกับไทยเราโดยสิ้นเชิงครับ ทางรัฐบาลพึ่งได้ทำการแก้ไขและปรับกฎหมายการใช้ถนนใหม่ (Road Traffic Law) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาครับ
ที่ญี่ปุ่น.. การใช้จักรยานถือเป็นหนึ่งพาหนะยอดฮิตที่ใช้ในการคมนาคม มีระบบการลงทะเบียนอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจักรยานอยู่ทั้งสิ้นกว่าเจ็ดสิบล้านคัน!
หากพูดถึงเรื่องของการคมนาคมของนักศึกษาญี่ปุ่นเทียบกับไทยแล้วต่างกันคนละขั้ว สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับรถไปเรียนบ้าง นั่งรถตู้บ้าง ผู้ปกครองไปส่งบ้าง เพื่อนๆผมก็เช่นเดียวกันครับ หลายคนจะขับรถไปเรียน แต่ช่วงที่ผมไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะหรือเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อนๆที่มีรถหรือขับรถไปเรียนเองนี่นับคนได้เลย.. เรียกว่าแทบจะไม่มีเลยดีกว่าครับ ส่วนใหญ่จะนั่งรถไฟไม่ก็ ขี่จักรยาน กันไปกลับนี่แหละครับ
การปรับกฎหมายว่าด้วยการใช้ถนนที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัตเหตุ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานอยู่ทั้งสิ้น 14 ข้อ ดังนี้
- การฝ่าไฟแดง
- การขี่จักรยานในที่ห้าม
- การขี่จักรยานโดยละเลยสัญญาณจราจร
- การขี่จักรยานบนทางเดินโดยประมาท
- การขี่จักรยานโดยประมาทในวงเวียน
- การขี่จักรยานผิดเลน
- การขี่จักรยานกีดขวางคนเดิน
- การขี่จักรยานโดยละเลยสัญญาณทางแยก
- การขี่จักรยานขวางทางแยก
- การขี่ลอดผ่านป้ายคั่นรถไฟวิ่ง
- การขี่จักรยานที่ไม่มีเบรค
- การขี่จักรยานขณะเมาสุรา
- การขี่จักรยานโดยประมาท (เสียบหูฟังเพลงขณะขี่จักรยาน, ถือร่มขณะขี่จักรยาน, โทรศัพท์ระหว่างขี่จักรยาน)
- การขี่จักรยานฝ่าคนเดินข้ามทางม้าลาย
กฎระเบียบต่างๆที่อธิบายข้างต้นอาจมีข้อแตกต่างเพิ่มเติมตามกฎหมายท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่อีกด้วยครับ
ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายการใช้ถนนที่ญี่ปุ่น เกินสองครั้งในระยะสามปีจะมีโทษโดยต้องไปเข้าอบรมเป็นเวลาสามชั่วโมงโดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,700 เยน และหากผู้ใดฝ่าฝืนอาจมีค่าปรับสูงถึง 50,000 เยนเลยทีเดียวครับ
สำหรับข้อที่ดูสุ่มเสี่ยงกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในสมัยนี้ คงไม่พ้นในเรื่องของการใช้โทรศัพท์ เสียบหูฟังเพลง หรือขี่จักรยานขณะเมาสุราครับ สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นหรือน้องๆที่มีความสนใจและมีแผนจะไปเรียนหรือใช้ชีวิต ควรศึกษาไว้และท่องจำให้ขึ้นใจนะครับ มิฉะนั้นอาจมีโทษ และเรื่องอาจบานปลายในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บ และค่าปรับที่แสนแพงในจำนวนที่เห็นแล้วต้องอยากร้องไห้เลยจริงๆครับ ตัวอย่างเช่น
เมื่อปี 2013 ศาลโตเกียวได้สั่งปรับหนุ่มซึ่ง ขี่จักรยาน ฝ่าไฟแดง แล้วชนคนแก่เสียชีวิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิน 47 ล้านเยน! (ราว 14 ล้านบาท)
ผมเองก็เคยประสบมากับตัวในวันสอบปลายภาคเสร็จเมื่อไปเรียนปริญญาโทครับ วันนั้นหลังจากที่สอบเสร็จแล้ว ตามธรรมเนียมนักเรียนญี่ปุ่น ก็ต้องมีการรวมตัวไปทานข้าวฉลองแล้วต่อด้วยร้องเพลงคาราโอเกะ คาราโอเกะในญี่ปุ่นมักจะมีบุฟเฟ่ต์ไม่อั้น ซึ่งพอเทียบกับราคาต่อชั่วโมงแล้วถูกไปเลยทีเดียว พอต้องร้องเพลงกันยันเช้า เพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ดื่มแอลกอฮอล์กันครับ อย่างที่ทราบกันดี คนญี่ปุ่นดื่มกันหนักมากครับ พอร้องเสร็จประมาณตีห้าผมกับเพื่อนๆก็ได้ปั่นจักรยานกลับบ้านกันครับ
วันนั้น จะเรียกว่าโชคร้ายหรือดวงซวยก็ได้นะครับ แต่บังเอิ๊ญวันนั้นมีตำรวจลาดตระเวนตรวจความเรียบร้อยของเมือง ขับรถผ่านทางกลุ่มผมพอดีและคงเห็นลีลาการปั่นจักรยานของเพื่อนๆผมที่เซไปมา เลยชะลอรถและเรียกให้พวกเราจอดครับ เมื่อตำรวจเข้ามาคุยด้วยแล้วพบว่า เพื่อนๆผมกลิ่นแอลกอฮอล์หึ่ง เป็นเรื่องเลยครับ โชคดีมากที่ผมเป็นคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลยไม่โดนอะไรแต่ก็โดนสักถามหลายอย่างเพราะ ขี่จักรยาน อยู่ในกลุ่มเดียวกันครับ ทางเพื่อนๆที่ดื่มโดนเรียกตรวจบัตรนักศึกษา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าปกติและเค้าจะยึดไปเลยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆจะถูกแจ้งไปที่มหาวิทยาลัยและไม่มีผลดีต่อตัวเราแน่นอนครับ
โดยเฉพาะชาวต่างชาติอย่างเราที่รับทุนต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการมีประวัติเสียแบบนี้ อาจมีผลต่อการได้ไม่ได้ทุนของคุณเลยทีเดียวครับ
หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “เมาไม่ขับ” แต่ในญี่ปุ่นต้องเพิ่ม “เมาไม่ขี่” ไปด้วยครับ เราคงคิดไม่ถึงว่านโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้กับจักรยานในประเทศญี่ปุ่นด้วยจึงต้องระวังเป็นอย่างสูงครับ
ท้ายสุด ผมอยากทิ้งท้ายด้วยเรื่องค่านิยมในการ ขี่จักรยาน นิดนึงครับ คนไทยกับญี่ปุ่นก็แตกต่างกันนะครับ สมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สมัยก่อนใครใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางดูไม่เท่ บางคนรู้สึกอาย จะเห็นได้ชัดว่า ถึงแม้หลายมหาวิทยาลัยในไทยจะออกนโยบายรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาใช้จักรยานเดินทางในมหาวิทยาลัยโดยจัดเตรียมไว้ให้ใช้ฟรี หรือแม้แต่ กทม. เอง ท่านผู้ว่าฯก็ออกนโยบายมีจุดบริการไว้ให้ใช้ฟรี แต่สิ่งที่เราพบเห็นได้ก็คือ ไม่มีใครเอาไปใช้และจักรยานก็ถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆจนสนิมกินไป
ต่างกับในญี่ปุ่นที่ผู้คนใช้จักรยานกันโดยทั่วไปตั้งแต่คนงาน เจ้าหน้าที่ยันผู้บริหารบริษัทครับ ที่นี่ไม่ได้มีภาพลบอะไร
สมัยผมใช้ชีวิตอยู่ที่เกียวโต เพื่อนคุณพ่อท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเกียวโต ท่านจะ ขี่จักรยาน ไปกลับทำงานตลอดเป็นปกติครับ จะว่าร้อนก็ร้อนนะครับ ถ้าขี่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างหน้าร้อนญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือคุณลุงหกสิบแล้วแต่ยังฟิตเปรี๊ยะครับ เป็นผลพลอยได้เพราะได้ออกกำลังกายทุกวันผ่านการขี่จักรยานครับ
จะว่าไปแล้วจักรยานก็เป็นพาหนะที่ผมเองใช้เดินทางไปกลับโรงเรียนเป็นหลัก ทั้งเมื่อสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซากะและนักเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียวทั้งคู่ครับ ผมยอมรับเลยครับว่าผมก็ยังติดนิสัยมาบ้าง แรกๆก็รู้สึกอาย ไม่เท่ ผมมักจะบอกกับคนอื่นๆว่า ขี่จักรยาน เพราะได้ออกกำลังกายผ่อนคลาย แต่จริงๆแล้วเหตุผลที่แท้จริงคือ ต้องการประหยัดตังค์ครับ ฮ่าๆ (อย่าบอกใครนะ)
*** สำหรับผู้ที่มีคำถามในประเด็นต่างๆ อยากปรึกษาเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น สามารถส่งข้อความสอบถามผู้เขียนโดยตรงได้ที่เฟซบุ้ค Shad Sarntisart ผู้เขียนกำลังทำและมีกำหนดการออกพ็อคเกตบุ้ค โดยรวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ครั้นเมื่อไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น พร้อมแชร์เทคนิคพิเศษในการใช้ชีวิตและหารายได้ รวมถึงการสอบชิงทุนการศึกษาต่างๆในประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/news/2015/06/29/reference/law-gets-serious-cycling-safety/#.VcXq97UVjIU
https://en.rocketnews24.com/2015/06/04/14-things-never-to-do-on-a-bicycle-in-japan-with-new-traffic-laws/
พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม
การศึกษาที่ญี่ปุ่น | – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan – ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship |
การทำงาน | – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น – งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น |
บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน