โฉะโฮเซ็น(処方せん):ใบสั่งยา ( หาหมอที่ญี่ปุ่น )
โดย อ.ปมโปโกะ
โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นมักจะเรียกคลินิกรวมไปกับโรงพยาบาลว่า “เบียวอิง” (病院:โรงพยาบาล) เอะอะก็บอกว่า「病院へ行く」(เบียวอิงเอะอิขุ:ไปโรงพยาบาล)คนไทยได้ฟังก็ตกใจว่าไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ ต้องไปโรงพยาบาลเลยเหรอ คลินิกแถวบ้านก็พอ หรือไม่ก็ร้านหมอยาทั่วไป ที่จริงแล้ว “เบียวอิง” ในความหมายกว้างจะรวมสถานพยาบาลตั้งแต่คลินิกไปถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ
คลินิกรักษาโรคในญี่ปุ่น ถ้าเป็นภาษาเก่าหน่อยจะเรียกว่า “ชินเรียวโจะ” (診療所:สถานพยาบาล) ซึ่งปัจจุบันก็จะเห็นตามชื่อคลินิก ไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาพูด ในภาษาพูดนิยมพูดคำว่า “ขุรินิกขุ”(クリニック: คลินิก)ทับศัพท์ภาษาอังกฤษตามปกติอย่างคลินิกที่ผมไปก็ใช้ชื่อว่า “ซาเนะชิเงะคลินิก” (さねしげクリニック) และด้วยเรื่องเนื้อที่ที่มีจำกัดบวกกับสวัสดิการด้านสุขภาพของญี่ปุ่น เราก็อาจจะเห็นโรงพยาบาลเล็กๆ ในชุมชนด้วย ขนาดก็พอๆ กับโพลีคลินิกบ้านเรา ซึ่งโพลีคลินิกในญี่ปุ่นจะถือว่าเป็น “เบียวอิง” แล้ว
เข้ามาในคลินิกบรรยากาศก็คงเหมือนๆ กับคลินิกบ้านเรา มีที่นั่งสำหรับผู้มารับการรักษา และมีห้องตรวจตามปกติ สิ่งที่ไม่มีในคลินิกก็คือยานั่นเอง ที่ญี่ปุ่นนั้นแผนกตรวจโรคกับแผนกยาจะแยกจากกันเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อหมอวินิจฉัยโรคแล้ว ก็จ่ายค่าบริการตรวจโรคเสร็จ แล้วก็รับใบสั่งยาจากคลินิก
คลินิกญี่ปุ่นมักจะมีร้านขายยาอยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าที่จริงแล้วเป็นร้านเดียวกันแต่แยกสถานที่ หรือไม่เกี่ยวกันแต่แค่แนะนำที่ซื้อยาให้เท่านั้นเอง เพราะเมื่อได้รับใบสั่งยาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็แนบแผนที่ หรือถ้าใกล้กันมาก ก็จะบอกทางไปร้านขายยาให้
ผมออกจากคลินิกเดินไปได้ ๑๐ เมตรก็เห็นป้าย “คุสุหริ” (薬,くすり:ยา)สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่านี่คือร้านขายยา ถ้าเป็นที่เมืองไทยอาจจะเป็นรูปเครื่องหมายกาชาด แต่ที่ญี่ปุ่นแทบไม่เห็นเครื่องหมายเหล่านั้นเลย จะเห็นก็เพียงตัวอักษร หรือตัวจีนว่า “คุสุหริ”(薬) เท่านั้น
ร้านขายยาภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า薬屋(kusuriya)หรือชื่อที่เป็นทางการกว่านั้นคือ 薬局(yak-kyoku) ที่ญี่ปุ่นมี ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งคือ ร้านขายยาทั่วไป ร้านเหล่านี้นอกจากจะขายยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ หรือยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งยาแล้ว ยังขายตั้งแต่ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก โฟมล้างหน้า กระดาษทิชชู่ ซึ่งเป็นของใช้ประจำวัน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารเสริม เหมือนร้านขายของชำแบบขึ้นห้างของบ้านเรา
ร้านขายยาที่ชื่อดังมากๆ ก็มี “มัตสึโมโตะคิโยะฉิ”(マツモトキヨシ)เนื่องจากชื่อยาวมาก บางครั้งเรียกย่อๆ ว่า “มัตสึคิโยะ”(マツキヨ)ร้านขายยาดังกล่าวมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ เพราะมีการลดราคาสินค้าพวกยาแก้ไข้ ยาหยอดตา หรือเครื่องใช้ประจำวันอยู่เป็นประจำ (แต่ชอบขึ้นป้ายว่า “วันนี้ลด” เห็นกี่ทีก็ลดทุกวัน)
ร้านขายยาอีกประเภทคือ ร้านขายยาที่มักจะติดป้ายหราตัวใหญ่ๆ ว่า “โฉะโฮเซ็น” (処方箋:shohousen)ซึ่งแปลว่า “ใบสั่งยา” อย่างเช่นร้านนี้ติดป้ายว่า “โฉะโฮเซ็น อุเค็ทสึเกะ” (処方せん受付:shohousen uketsuke:รับใบสั่งยา)
เอกลักษณ์ของร้านขายยาแบบนี้คือ มีป้าย “คุสุหริ”(薬)เหมือนแบบแรก แล้วก็มีป้าย “โฉะโฮเซ็น”(処方せんหรือしょほうせん)อย่างที่บอกนี่ล่ะครับ ซึ่งมักจะไม่ใช้ตัวจีนในคำสุดท้าย
บางทีจะเห็นป้าย「調剤薬局」(chouzai yakkyoku)แปลเอาเองว่า “ร้านปรุงยา” สภาพเหมือนมาคลินิกรอบสอง เมื่อเข้าไปข้างในก็ยื่น “โฉะโฮเซ็น” ที่ได้รับจากคลินิกเมื่อครู่ให้เภสัชกร แล้วก็นั่งรอหน้าเคาเตอร์ สักพักเจ้าหน้าที่จะนำยามาให้ ก็จ่ายเงินค่ายาเป็นอันจบขั้นตอนการ “ไปโรงพยาบาล”
ดังนั้นการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งจึงเสียเงินสองรอบ รอบแรกเป็นค่าหมอ และเสียค่ายาอีกที่ร้านขายยา ตอนรับยา เจ้าหน้าที่จะเรียกไปอธิบายว่ายาตัวไหนเป็นยาอะไรอย่างไร แต่สิ่งที่แตกต่างจากโรงพยาบาลในเมืองไทยคือ จะมีเอกสารพิมพ์อธิบายชื่อยาอย่างละเอียดว่ามีสรรพคุณอย่างไร ซึ่งแต่ละร้านก็จะแตกต่างกันไปบ้าง อย่างร้านนี้จะมีรูปยาและคำอธิบายสรรพคุณให้พร้อม
ระบบการจ่ายยาของญี่ปุ่นแตกต่างจากเมืองไทย ในเรื่องสิทธิของผู้ป่วยที่จะรู้ว่าหมอสั่งยาอะไรให้ตัวเองกิน ใน“โฉะโฮเซ็น” และเอกสารอธิบายยาจึงเขียนชื่อยาไว้ชัดเจน ไม่มีการแปลงชื่อเป็นภาษาลาตินอย่างในบ้านเรา (ได้ยินว่าสมัยก่อนที่ญี่ปุ่น หมอจะเขียนใบสั่งยาเป็นตัวจีนยากๆ อ่านไม่รู้เรื่องเช่นกัน) การเขียนชื่อยาเป็นภาษาลาตินที่คนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจนั้นอาจเป็นเพราะหากผู้ป่วยทราบชื่อยาก็จะหาซื้อยากินเองซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ แต่เนื่องจากในญี่ปุ่นมีการควบคุมยาบางประเภทอย่างเข้มงวด ถ้าไม่มีใบสั่งยาจะไม่ขายให้กับผู้ป่วย จึงถึงมือผู้ใช้ยากกว่าในเมืองไทย
ร้านขายยาที่ต้องมีใบสั่งยานี้ ส่วนใหญ่สามารถรับใบสั่งยาจากคลินิกหรือโรงพยาบาลอื่นๆ นอกจากสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงกัน (ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นหุ้นส่วนกัน) แต่บางที่ก็อยู่ลึกลับชนิดที่ว่าถ้าไม่มีแผนที่จากคลินิกหมอ ก็คงไม่รู้ว่ามีร้านนี้อยู่ จึงทึกทักเอาว่าคงจะมีร้านขายยาบางร้านที่บริการเฉพาะคลินิก จริงเท็จอย่างไรต้องถามเภสัชกรที่ญี่ปุ่นอีกที
โดยทั่วไปค่ายาในญี่ปุ่นจะแพงมาก ทุกคนจึงทำประกันสุขภาพแห่งชาติที่เรียกว่า “ขกคุมิงเค็งโคโฮะเค็น”(国民健康保険:kokumin kenkou hoken) ลักษณะคล้ายประกันสังคมในเมืองไทย ซึ่งจะลดค่ารักษาและค่ายาได้ถึง 60 – 70 %
สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอีกอย่างเวลาไป หาหมอที่ญี่ปุ่น ก็คือ การพกบัตรประกันสุขภาพไปด้วย ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบบัตรจากสมุดพกที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเป๋าเงินเป็นบัตรเพื่อให้พกติดตัวได้ตลอดเวลา
ผมเคยลืมพกสมุดพกที่ว่านี้ครั้งหนึ่งระหว่างที่ไปต่างจังหวัด ปรากฏว่าเป็นตาแดงระหว่างเดินทาง ต้องจ่ายค่ายาเป็นหมื่นเยน น้ำตาจะไหลเพราะแพงมากและกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางด้วย แต่หากเก็บใบเสร็จค่ารักษาไว้ก็สามารถไปยื่นเรื่องขอส่วนลดค่ารักษาคืนได้ และยิ่งถ้าเป็นนักศึกษาต่างชาติก็สามารถนำในเสร็จในการรักษา (ค่าหมอและค่ายา) ไปทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือค่ารักษาได้ในภายหลัง
ศัพท์เพิ่มเติม
国民健康保険 : kokumin kenkou hoken
国民 kokumin ประชาชน
健康 kenkou สุขภาพ
保険 hoken ประกัน
健康です kenkou desu สุขภาพดี
体調が悪い taichou ga warui สุขภาพไม่ดี
健康にいい kenkou ni ii ดีต่อสุขภาพ
คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-2677726
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line