อยู่ญี่ปุ่น อย่างไรให้มีความสุข
โดย อ.ปมโปโกะ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเจริญสูงเป็นที่รู้กันดี แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นมีป่าเขามากกว่าครึ่งประเทศหลงเหลืออยู่ ดังนั้นการชื่นชมธรรมชาติจึงทำได้ง่ายกว่าเมืองไทย และฤดูกาลที่แตกต่างก็ทำให้ธรรมชาติ ณ ที่เดิมมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ความสุขที่นี่จึงหาได้จากการชื่นชมเทคโนโลยี วัฒนธรรมที่แตกต่าง และธรรมชาติรอบตัว แต่ปัจจัยสำคัญในการเสพสิ่งเหล่านี้คือ เงิน เพราะสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมวัตถุนิยมมาก คนมีเงินก็ย่อมเลือกหาความสุขได้ง่าย
หากมาอยู่ในเมือง เมืองที่มีขนาดใหญ่มากอย่างโตเกียวอาจจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดได้ เพราะผู้คนมากมาย ประชากรที่ญี่ปุ่นมากกว่าเมืองไทย ๒ เท่าแต่ต้องอยู่กันอย่างแออัด ดังนั้นการมีชีวิตอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ทุกวันย่อมไม่ดีแน่
ในเมืองมักจะมีที่สาธารณะให้ปลดปล่อย เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด (ใครที่บ้านไม่มีแอร์ก็จะมานั่งอ่านหนังสือที่นี่ทั้งวันประหยัดแอร์ที่บ้าน ยามหน้าร้อน) สนามกีฬา (เทนนิส เบสบอล ฟุตบอล) หรือฟิตเนส สามที่แรกนั้นใช้บริการฟรี เพียงแต่ห้องสมุดและสนามกีฬาต้องเป็นสมาชิกเขต โดยทำเรื่องขอใช้ก่อน
ส่วนฟิตเนสนั้นจำเป็นต้องเป็นสมาชิก โดยเสียค่าใช้จ่ายราวๆ 1 หมื่นเยนต่อเดือน การออกกำลังกายจะช่วยเราได้มาก มีนักเรียนไทยบางคนได้เพื่อนใหม่ญี่ปุ่นจากการไปขอเล่นฟุตบอลด้วย หรือบางคนก็ได้คนรู้จักจากการออกกำลังกาย เข้าคลาสแอโรบิก ว่ายน้ำ
แม้ว่าเมืองใหญ่จะมีความแออัด แต่ก็รักสงบมาก ดังนั้นการทำอะไรเสียงดังก็จะถูกเพ่งเล็งได้ง่าย เป็นเรื่องปกติที่บางทีเราอยากจะกรี๊ดออกมาดังๆ เพราะทำอะไรดังๆ ไม่ค่อยได้
เรื่องนี้สามารถทำได้โดยการเข้าร้านคาราโอเกะไปร้องเพลงคนเดียวก็ยังได้ ซ้อมเพลงที่อาจจะใช้ร้องเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน หรืออาจจะไปแหกปากกลางเขาก็ได้ เพราะการเดินทางจากเมืองขึ้นไปทางภูเขาแต่ละเมืองก็ไม่ไกลมาก
แม้แต่โตเกียวหรือโอซาก้าก็มีภูเขาที่คนน้อย เพียงจ่ายค่าเดินทางนิดหนึ่งจะช่วยให้เราสนุกสนานกับธรรมชาติซึ่งมีมากกว่าที่เมืองไทย อีกทั้งยังบริสุทธิ์ได้ด้วย
หลายๆ คนนิยมซื้อกล้อง บ้างก็เล่นกล้องไปเลย ซื้อมาลองถ่ายโน่นถ่ายนี่ เพราะประเทศนี้มีอะไรให้ถ่าย ให้เก็บความทรงจำมากมาย มีเวลาว่างก็ออกไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ หรือถ่ายอะไรแปลกๆ แถวบ้านก็ได้
นอกจากนี้ การทำตัวเองให้ยุ่งตลอดเวลาก็มีส่วนทำให้เกิดความสุขด้วย เพราะถ้าว่างมากไปก็อาจจะเคว้งคว้าง และเกิดอาการเศร้าซึม เหงา คิดถึงบ้านขึ้นมาได้
การทำตัวเองให้ยุ่งวิธีหนึ่งคือ การทำงานพิเศษ เช่น ทำงานที่ร้านอาหารไทย และอื่นๆ หรือถ้าภาษายังไม่เจนจัดนักก็ลองถามทางเขตดูว่ามีคอร์สสอนภาษาญี่ปุ่นไหม เพราะปัจจุบัน หลายๆ พื้นที่จะมีอาสาสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นให้ด้วย (แต่อาจจะไม่เข้มข้นเท่าโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น) ถ้าไม่มี อาจจะหาที่พักผ่อนส่วนตัวนอกบ้านไว้นั่งอ่านหนังสือ
แต่หากต้องอยู่คนเดียวในห้องแคบๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ไต้ฝุ่นเข้า ฝนตกทั้งวัน ก็อาจจะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประตูเปิดไปหาสิ่งใหม่ๆ ดูรายการทีวีที่เมืองไทย คุยกับคนไทยทางอินเตอร์เน็ต หรือจะเปิดทีวีรายการญี่ปุ่นดู ก็จะได้ศึกษาวัฒนธรรมผ่านจอทีวีได้อีกทาง
แต่ต้องระวังจะเป็นโรคเพลียเพราะดูแต่อินเตอร์เน็ตหรือทีวีจนตาล้า อยู่ว่างๆ ก็พยายามหาสิ่งใหม่ให้กับชีวิต เช่น ฝึกทำอาหาร วาดรูป ฟังดนตรี เล่นดนตรี เป็นต้น บางคนอาจจะซื้อหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยง แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์มากๆ
ความสุขอีกส่วนมาจากการกิน เช่น การกินอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่มีที่เมืองไทย หรืออาจจะอร่อยกว่าเมืองไทย คนญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นนักชิมตัวยง ดังนั้นอาหารหลากหลายประเภททั่วโลกจึงหาซื้อได้ง่ายที่นี่ แม้ว่าราคาจะแพงอยู่บ้าง แต่ถ้ามีเวลา ลองหาข้อมูลร้านอาหารประเภท “ไบกิ้ง” หรือบุฟเฟ่ต์ก็จะได้กินอาหารอร่อยในราคาที่ถูกยิ่งขึ้น
แต่ข้อเสียของเมืองนี้คือ ผักผลไม้แพง ทำให้อาหารประเภทสะดวกซื้อมักไม่ค่อยมีผักผลไม้ การขาดสารอาหารเหล่านี้นานๆ จะทำให้มีอาการเศร้าซึมได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นจึงควรสรรหาผัก ผลไม้มากินเป็นครั้งคราว
สำหรับคนที่อยู่ในเขตชนบท ก็จะโชคดีหน่อยที่สามารถหาห้องที่มีบริเวณกว้างขึ้นได้อีกนิด พอจะมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น แถมอาหารยังมีราคาถูก (แต่อาจจะเลือกชนิดอาหารได้น้อยกว่า) แต่ก็จะมีปัญหากับคนท้องถิ่นอีกแบบ เพราะคนท้องถิ่นอาจจะไม่ค่อยชินกับคนต่างชาติ ในช่วงแรกๆ อาจจะมีปากเสียงได้ง่ายโทษฐานที่เราเป็นคนที่ไม่รู้วัฒนธรรมเขา
แต่ถ้าได้อยู่กันนานๆ พัฒนาการของความสัมพันธ์อาจจะทำให้สนิทกันมากกว่าคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งถ้าถึงระดับนั้น ชีวิตจะมีแต่ความสดใสที่ได้เพื่อน และเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ในขณะที่สังคมในเมืองเป็นแบบแยกกันอยู่ อยู่ยังไงก็ไม่ค่อยรู้สึกมีความสำคัญกับสังคม
การทำกิจกรรมประจำฤดู เช่น พอฤดูใบไม้ผลิก็ไปชมซากุระ พอฤดูร้อนก็ไปเทศกาล งานดอกไม้ไฟ พอฤดูใบไม้ร่วงก็แข่งกีฬากลุ่ม และไปชมใบไม้แดง พอฤดูหนาวก็ไปเล่นสเก็ต สกี จะทำให้มีความสุขได้มากขึ้น
นอกจากนี้ หากมีเวลาช่วงวันธรรมดาก็อาจจะไปเที่ยวตามสวนสนุกต่างๆ เช่น ดิสนีย์รีสอร์ท ฟูจิคิวไฮแลนด์เล่นเครื่องเล่นให้หายเซ็งกันไป เพราะวันเสาร์อาทิตย์คนแน่น อาจจะอยากอยู่ที่บ้านมากกว่า
การไปท่องเที่ยวแต่ละแห่งมักใช้เงินพอสมควร ดังนั้นจึงต้องคำนวณเงินให้ดี และพยายามมองบอร์ดประกาศประจำโรงเรียนสอนภาษา เพราะบางทีเขาจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวราคาถูกสำหรับนักเรียนให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปโฮมสเตย์ หรือทริปสกี ทริปเที่ยวมรดกโลก เป็นต้น
สำหรับบางคนที่ชอบกิจกรรมประหยัดเงิน หรือชอบซื้อของมาเก็บมากกว่าการซื้อทัวร์ ที่ญี่ปุ่นก็มีของสะสมมากมายให้ได้สะสมกัน ทั้งการ์ตูน ของเล่นน่ารัก เสื้อผ้า
แต่หากไม่ชื่นชอบสังคมวัตถุ การไปทำบุญตามวัดญี่ปุ่นใกล้บ้าน หรือไปพบปะคนไทยที่วัดปากน้ำ เมืองนาริตะ หรือจะซื้อหนังสือธรรมะพกติดมาด้วยก็อาจจะเหมาะดี
สิ่งสำคัญคือ ต้องรอบคอบในเรื่องการควบคุมงบประมาณ ช่วงหน้าหนาวอาจจะเป็นช่วงที่ต้องจับจ่ายมาก เพราะต้องแต่งตัวแบบที่ไม่เคยทำ หรืออาจจะต้องเสียค่าแก๊สสูงขึ้น ในขณะที่หน้าร้อน ค่าแอร์ก็ไม่เบาเลย ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเงินเสีย ก็สามารถอยู่ในญี่ปุ่นอย่างมีความสุขได้
นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนข่าวสารกับคนไทยในญี่ปุ่นด้วยกันจะช่วยให้เราเบาใจและเข้าใจสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวฆาตกรรม ข่าวต้มตุ๋น หรือภัยธรรมชาติ ทำให้เราไม่ตื่นตระหนกเกินไป
ปัญหาที่พบบ่อย
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเรามาอยู่ต่างแดน ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะพลเมืองชั้นสองอาจจะเกิดขึ้น ทุกครั้งที่ติดต่อเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวีซ่า ประกันสังคม ฯลฯ
แต่ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าๆ กัน ฉะนั้นก็เบาใจได้ระดับหนึ่ง มีเป็นส่วนน้อย เช่น พนักงานคุยกับเราแบบเราเข้าข้างตัวเองว่าเขากำลังเหยียดหยามเรา ใช้ถ้อยคำไม่ดี
เรื่องนี้เป็นเรื่องนานาจิตตัง เคยมีนักเรียนจีนโมโหจัดจะชกเจ้าหน้าที่มาแล้ว เรื่องนี้เราต้องใจเย็นๆ เข้าไว้ เพราะแม้หน้าตาจะคล้ายกัน แต่ common sense ก็แตกต่างกัน และเราต้องให้อภัยถ้าเขามาเหยียดหยามเราโดยไม่รู้ตัว และบอกให้รู้เวลาอารมณ์สงบแล้ว
ปัญหาเรื่องคนนั้นค่อนข้างแตกต่างไปตามพื้นที่ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นมิตรมากเมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทย เพราะไปเมืองไทยบ่อยๆ และหลายคนชื่นชมสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย แทบไม่มีประเภทที่ชอบชาติอื่นแต่ไม่ชอบชาติไทย
ถ้าไม่ชอบก็จะไม่ชอบเลยทั้งหมดไม่ว่าชาติไหนๆ แถบท้องถิ่นจะเจอบ่อย บางคนตะโกนด่าเราเพราะหาว่าเรามาแย่งงานเขาก็มี ถ้าเจอแล้วให้เก็บเป็นประสบการณ์ขำๆ เพราะน้อยนักที่จะเจอแบบนั้น คนญี่ปุ่นเขาว่ามีระเบียบนักหนา แต่ในเมืองใหญ่ที่ต้องปากกัดตีนถีบแย่งที่แย่งของถูกกัน ก็จะเป็นแบบถึงไหนถึงกันเลยทีเดียว เห็นภาพแล้วก็ขำๆ เข้าไว้
สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาทางใจสำหรับคนอยู่นานๆ คือ อยากมีเพื่อนชาวญี่ปุ่น แต่สังคมแวดล้อมไม่เอื้อ เช่น อยู่แต่กับชาวต่างชาติ เขาว่าแถบโตเกียวคนญี่ปุ่นจะเข้ากับคนต่างชาติได้ง่ายกว่าทางฝั่งโอซาก้า
แต่มีข้อเสียคือ เขาก็จะมีลิมิตว่าคบเท่าไหน ซึ่งต่างจากคนไทยที่ชอบคบแล้วตีสนิท ทำให้อาจจะเหนื่อยเวลาคบคนญี่ปุ่นแถบนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสนิทได้หรือยัง หรือบางทีอาจชวนให้น้อยเนื้อต่ำใจเข้าไปอีกเพราะเขาจะหันไปคบฝรั่ง ฝึกภาษาอังกฤษกันมากกว่าคบคนเอเชีย
เรื่องที่ต้องระวังอีกเรื่องคือ ปัญหากับนักเรียนชาติอื่นที่มาเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยกัน เช่น คนจีน เกาหลี ฝรั่ง เราควรถือว่าการมาเรียนเป็นการเปิดโลกทรรศน์ ได้ศึกษานิสัยใจคอคนชาติอื่นๆ ด้วย
ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศที่เครียดพอสมควร เพราะนอกจากจะมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดจนชวนเครียดแล้ว ลักษณะสังคมที่ต้องพึ่งตัวเองก็เป็นปัจจัยให้เราเครียดตาม หาคนขอความช่วยเหลือได้ยาก ดังนั้น
การมาอยู่ที่นี่ก็จะได้ฝึกช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น แต่อย่าลืมน้ำใจงามๆ ความเอื้ออารีที่คนไทยมี เพราะนั่นจะทำให้เสน่ห์เราลดลง
ปัญหาอีกอย่างที่ชวนเครียดคือ การกำจัดขยะ ที่นี่ต้องแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง บางที่เคร่งครัดมาก ถ้าแยกไม่ถูกจะไม่ยอมเก็บไป หรือเรียกมาว่าก็มี บางคนความสัมพันธ์กับข้างบ้านไม่ดีเพราะเรื่องขยะนี่เอง
บทความน่ารู้จาก อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
บทความ อยู่ญี่ปุ่น อย่างไรให้มีความสุข ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้ คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line