ผัก และ ผลไม้ ร้านขายผักในญี่ปุ่น(八百屋:yaoya)ตอนที่ 2

ผัก และ ผลไม้ ในญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นบางคนก็ไม่ค่อยมีโอกาสกิน ผัก เพราะราคาแพงครับ ถ้าไม่ได้ทำอาหารเอง ไปพึ่งร้านอาหารกล่องหรืออาหารแพ็คในร้านสะดวกซื้อ มักจะมีแต่ที่ผักน้อยๆ  ในคราวที่แล้ว ได้ยกตัวอย่าง ผักกินใบที่กินเป็นสลัดผักก็ได้ หรือจะนำไปต้มไปผัดก็ได้  วันนี้จึงขอมาพูดเรื่องผักประเภทอื่นในร้านกันต่อ

 

ผัก ประเภทกินลำต้นที่นี่ก็มี เช่น
หน่อไม้ฝรั่ง「アスパラ」(asupara)ที่นี่เรียกย่อจากคำว่า แอสพารากัสในภาษาอังกฤษ
หน่อกระเทียม「にんにくの芽」(ninniku-no-me)ก็นิยมใช้ทำอาหารผัดแบบจีนเพื่อให้ได้รสเผ็ดกระเทียม

ผัก หน่อไม้ฝรั่ง

ผักที่ขึ้นชื่อคือ 「ごぼう」(gobou)มีลักษณะเป็นกิ่งสีน้ำตาล
เวลามองคนญี่ปุ่นซื้อเจ้าโกะโบแล้ว พาลนึกถึงกิ่งไม้ที่เขาจะเอาไปประดับแจกัน  โกะโบนี่เวลากินจะต้องเอามาเหลาแล้วก็ฝานส่วนเนื้อในสีขาวเป็นเส้นๆ เหมือนเหลาดินสอ แล้วนำไปผัดหรืออบ

ผัก โกะโบ

คนญี่ปุ่นนิยมเอาโกะโบไปคลุกกับผักเช่น
แครอท(にんじん:ninjin)หรือ
วุ้นบุก(コンニャク:konnyaku)ที่คนลดความอ้วนนิยมนั่นแหละครับ ทำเป็นอาหารกับแกล้ม แต่ถ้าขี้เกียจเหลา ตามซุปเปอร์ก็มีโกะโบแบบเหลาแล้วขาย

ผัก แครอท

สำหรับหน้าหนาว ผักที่น่าสนใจอีกชนิดคือ 「ふき」(fuki)ซึ่งเป็นฝักบัว หรือสายบัว
แต่เป็นคนละประเภทกับของบ้านเรา ของญีปุ่นจะยาวมาก นิยมเอามาทำกับแกล้มเช่นกัน แต่ขั้นตอนการทำค่อนข้างวุ่นวายเล็กน้อย

ผัก สายบัว

ผักยืนพื้นอย่างอื่นก็มี เช่น
มะเขือม่วง(茄子:nasu)
มะเขือเทศ(トマト:tomato)
แตงกวาญี่ปุ่น(きゅうり:kyuuri)
มัน(芋:imo)
ฟักทอง(かぼちゃ:kabocha)
หัวไชเท้า(大根:daikon)
กระเทียม(にんにく:ninniku)
หอมใหญ่ (玉ねぎ:tamanegi)
มะระขี้นก(苦瓜:nigauri)หรือเรียกตามภาษาถิ่นโอกินาว่าว่า โกยะ(ゴーヤ:gooya)เป็นต้น

ผัก ผลไม้

พวกกระเทียม หัวไชเท้า แตงกวาที่นี่จะใหญ่กว่าที่เมืองไทย แต่ราคาก็แพงด้วย  สำหรับคนชอบของดองบางร้านก็มี
ผักดอง(漬け物:tsukemono)
เต้าหู้(豆腐:toufu)
และเครื่องปรุง(調味料:choumiryou)บางชนิด เช่น น้ำผึ้ง ซีอิ๊ว วางขายด้วย

ร้าน ขาย ผัก

ปกติร้านขายผักจะไม่มีเครื่องปรับอากาศรักษาอุณหภูมิของเหมือนซุปเปอร์ จึงไม่ค่อยมีเครื่องเคียงขาย แต่ร้านที่ผมไปมี
ถั่วหมัก(納豆:nattou)
สาหร่ายแผ่น (海苔:nori)
และใบอาโอชิโสะ(青しそ:aoshiso)ขาย
ใบอาโอชิโสะนี่เหมือนผักกาดหอม หรือผักชีของบ้านเราครับ นิยมใช้เป็นเครื่องประดับอาหาร เอาไว้รองอาหารบ้าง หรือแปะไว้ข้างๆ อาหาร กลิ่นออกเปรี้ยวๆ  บางคนก็กินบางคนก็ไม่กิน แล้วแต่ความชอบ

สิ่งที่ไม่ใช่ผักแต่ขาดไม่ได้ คือ เห็ดนานาชนิด  มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอากาศที่ญี่ปุ่นค่อนข้างชื้นตลอดทั้งปี จึงมีอาหารประเภทเห็ดมาก จะพรรณนาชนิดให้ครบก็คงไม่หมด ที่สำคัญคือ
เห็ดหอม(椎茸:shiitake)
เห็ดนางรมหลวง (エリンギ:eringi)
เห็ดชิเมจิ(しめじ:shimeji)
เห็ดเข็มทอง(えのき:enoki)
เห็ดไมตาเกะ (คล้ายเห็ดนางฟ้า)(舞茸:maitake)
เห็ดเหล่านี้นิยมเอาไปผัด หรือกินกับสุกิยากิของญี่ปุ่น
เห็ดต่างๆ

ส่วนเห็ดนาเมะโกะ(なめこ:nameko)ดอกสีเหลืองนิยมนำไปทำน้ำซุป
เห็ดที่ล่ำลือกันว่าราคาแพงที่สุดในญี่ปุ่น คือ เห็ดมัตสึตาเกะ(松茸:matsutake)ซึ่งจะออกช่วงปลายเดือนสิงหาเท่านั้น และนิยมเอาไปย่างกินเพราะราคาแพงมาก  ถ้าเอาไปผัดปนกับส่วนผสมอื่นรสชาติเดิมของเห็ดจะหายไป ไม่คุ้ม พวกของราคาแพงอย่างนี้มาตามหาในร้านผักคงไม่เจอ ต้องไปหาซื้อตามซุปเิปอร์ใหญ่ๆ

ขยับมาดูผลไม้บ้าง ส่วนใหญ่ผลไม้ที่ญี่ปุ่นจะออกเป็นฤดู เช่น ผลไม้ยืนพื้นคือ
กล้วยหอม(バナナ:banana)เพราะนำเข้าจากฟิลิปปินส์ตลอดทั้งปี
แล้วก็แอปเปิ้ล(りんご:ringo)

 

ส่วนผลไม้ประเภทส้มนั้นที่นี่มีหลายแบบมาก  แบบที่อร่อยสุดคือ ส้มพื้นเมืองของญี่ปุ่น เรียกว่า「みかん」(mikan)เป็นส้มไม่มีเมล็ด เปรี้ยวๆ หวานๆ ออกช่วงหน้าหนาวเท่านั้น

ถ้าหาซื้อหน้าอื่น จะเรียกว่า「ハウスみかん」(hausu-mikan:house mikan)หมายถึงส้มที่ปลูกในเรือนกระจก ราคาก็จะแพง และอร่อยสู้ส้มพื้นเมืองปกติไม่ได้ เผลอๆ ก็มีเมล็ด

ในช่วงหน้าอื่นๆ ที่ส้มพื้ันเมืองไม่ออกก็จะมีส้มอื่่นๆ เช่น ส้มใหญ่ที่เรียกว่า「八朔」(hassaku)เล็กกว่าส้มโอเปลือกจะหนา หรือส้มที่นำเข้าจากต่างประเ้ทศ เช่น ส้มแคลิฟอร์เนีย เหล่านี้จะเรียกว่า「オレンジ」(orenji:orange)หมด รวมไปถึงเกรพฟรุ้ต

ผลไม้ประจำฤดูอย่าง
สตรอเบอรี่(苺:ichigo)จะออกช่วงกุมภาพันธ์
ช่วงหน้าร้อน ก็จะมีพวกแตง(メロン:meron)ประเภทต่างๆ รวมทั้งแตงโม(すいか:suika)ขาย
ส่วนมะม่วง(マンゴー:mangoo)ก็จะวางขายเฉพาะหน้าร้อนจนกลายเป็นผลไม้สัญลักษณ์หน้าร้อนตัวใหม่  ทั้งที่มะม่วงก็ไม่มีปลูกในญี่ปุ่น ถ้าคิดจะนำเข้าก็เอาเข้ามาได้ตลอดทั้งปี  แต่มะม่วงที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นมะม่วงฟิลิปปินส์ ลูกเล็ก ราคาถูกกว่ามะม่วงไทย แต่รสชาติจะไม่หวานเท่าของเรา

ฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นช่วงที่ผลไม้ตามฤดูออกเยอะที่สุด ที่เด่นๆ คือ
ลูกพลับ(柿:kaki)
และเกาลัด(栗:kuri)
พอออกมาก็เหมือนสตรอเบอรี่หน้าหนาว และมะม่วงหน้าร้อน คือ ขนมขบเคี้ยวเอย เค้กเอย พากันกลายเป็นรสนั้นไปกันหมด
ส่วนใหญ่ผลไม้ที่นำเข้าอื่นๆ เช่น กีวี องุ่น(ลูกขนาดเท่าองุ่นที่บ้านเราเรียกว่า「ぶどう」(budou)แต่ถ้าเป็นพันธุ์ลูกใหญ่จะเรียกว่า「巨峰」(kyohou)แทน)ก็จะมีขายเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับ อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top