ขี่จักรยาน ในญี่ปุ่นต้องระวัง… Bike in Japan!

Chart003

เมื่อพูดถึงการใช้จักรยานกับสังคมไทย เราอาจนึกภาพไม่ออกว่าเจ้าสองสิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกันยังไง “ผมขี่จักรยานมาทำงานครับ” “เราขี่จักรยานไปโรงเรียน” คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่คุ้นหูเลยในสังคม สมัยเด็กๆ เราจะถูกสอนมาว่า เมืองไทยในอดีต ผู้คนใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางโดยอาศัยแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของไทย ต่อมาประเทศพัฒนาขึ้น มีการสร้างถนนหนทางครอบคลุมไปถึงพื้นที่หลักๆ ผู้คนก็เปลี่ยนมาใช้รถรากันมากขึ้น แต่ทว่าคนไทยใช้จักรยานเดินทางนั้น เราอาจจะไม่เคยได้ยินเลย จนกระทั่งเมื่อสองสามปีให้หลังครับ

รูปจักรยานที่ใช้เป็นพาหนะหลักสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว
รูปจักรยานที่ใช้เป็นพาหนะหลักสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว

สังคมไทยเปลี่ยนไป ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพและเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ประจวบเหมาะกับภาวะราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้นทุกวันทุกวัน แถมรถก็ยังติดอีก ด้วยเหตุนี้เทรนด์ใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการขี่จักรยาน ไม่ว่าจะเป็น Road Bike หรือ Mountain Bike ก็ตาม แรกๆผู้คนก็เริ่มนำจักรยานมาใช้เพื่อเป็นการออกกำลังกาย ผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมยามว่าง เส้นทางจักรยานรอบสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกสร้างใหม่ ก็เต็มไปด้วยผู้คนโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หลังจากนั้นมาความนิยมก็เริ่มแพร่หลาย และกระจายมาถึงการใช้จักรยานเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า เริ่มมีคนจำนวนหนึ่งนำจักรยานมาใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงานครับ

ล่าสุด ทางรัฐบาลเองมีการรณรงค์กิจกรรมปั่นเพื่อแม่หรือ Bike for Mom ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วประเทศ ผู้คนแห่กันซื้อจักรยานใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ หมวก ชุด ถุงมือ เพราะในยุคโซเชียลนี้ จะทำอะไรก็ต้องดูดี ต้องมีรูปมาอวดกันหน่อยครับ จากเดิมทีที่ต้องบอกว่าไม่เคยเห็นเล้ยยยจักรยานตามท้องถนน มาปัจจุบันเราจะสามารถเห็นได้บ่อยๆโดยทั่วไปครับ

เมื่อจำนวนคนใช้จักรยานหรือจักรยานบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น การเกิดอุบัติเหตุหรือความเสี่ยงที่จะเกิดย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามๆกันครับ ทว่าสังคมไทยยังใหม่กับการใช้จักรยาน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากการใช้จักรยานคมนาคมของผู้คน เราเองในฐานะที่ยังใหม่กับไลฟ์สไตล์แบบนี้ ก็ควรเรียนรู้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆจากประเทศอื่นๆที่มีการใช้จักรยานคมนาคมมานานแล้วครับ

และในช่วงเวลาเดียวกัน ณ ประเทศญี่ปุ่น ไลฟ์สไตล์ในการใช้จักรยานต่างกับไทยเราโดยสิ้นเชิงครับ ทางรัฐบาลพึ่งได้ทำการแก้ไขและปรับกฎหมายการใช้ถนนใหม่ (Road Traffic Law) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาครับ

ที่ญี่ปุ่น.. การใช้จักรยานถือเป็นหนึ่งพาหนะยอดฮิตที่ใช้ในการคมนาคม มีระบบการลงทะเบียนอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจักรยานอยู่ทั้งสิ้นกว่าเจ็ดสิบล้านคัน!

หากพูดถึงเรื่องของการคมนาคมของนักศึกษาญี่ปุ่นเทียบกับไทยแล้วต่างกันคนละขั้ว สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับรถไปเรียนบ้าง นั่งรถตู้บ้าง ผู้ปกครองไปส่งบ้าง เพื่อนๆผมก็เช่นเดียวกันครับ หลายคนจะขับรถไปเรียน แต่ช่วงที่ผมไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะหรือเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อนๆที่มีรถหรือขับรถไปเรียนเองนี่นับคนได้เลย.. เรียกว่าแทบจะไม่มีเลยดีกว่าครับ ส่วนใหญ่จะนั่งรถไฟไม่ก็ ขี่จักรยาน กันไปกลับนี่แหละครับ

bikepark12คน ขี่จักรยาน ที่ญี่ปุ่น

การปรับกฎหมายว่าด้วยการใช้ถนนที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัตเหตุ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานอยู่ทั้งสิ้น 14 ข้อ ดังนี้

  1. การฝ่าไฟแดง
  2. การขี่จักรยานในที่ห้าม
  3. การขี่จักรยานโดยละเลยสัญญาณจราจร
  4. การขี่จักรยานบนทางเดินโดยประมาท
  5. การขี่จักรยานโดยประมาทในวงเวียน
  6. การขี่จักรยานผิดเลน
  7. การขี่จักรยานกีดขวางคนเดิน
  8. การขี่จักรยานโดยละเลยสัญญาณทางแยก
  9. การขี่จักรยานขวางทางแยก
  10. การขี่ลอดผ่านป้ายคั่นรถไฟวิ่ง
  11. การขี่จักรยานที่ไม่มีเบรค
  12. การขี่จักรยานขณะเมาสุรา
  13. การขี่จักรยานโดยประมาท (เสียบหูฟังเพลงขณะขี่จักรยาน, ถือร่มขณะขี่จักรยาน, โทรศัพท์ระหว่างขี่จักรยาน)
  14. การขี่จักรยานฝ่าคนเดินข้ามทางม้าลาย

กฎระเบียบต่างๆที่อธิบายข้างต้นอาจมีข้อแตกต่างเพิ่มเติมตามกฎหมายท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่อีกด้วยครับ

ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายการใช้ถนนที่ญี่ปุ่น เกินสองครั้งในระยะสามปีจะมีโทษโดยต้องไปเข้าอบรมเป็นเวลาสามชั่วโมงโดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,700 เยน และหากผู้ใดฝ่าฝืนอาจมีค่าปรับสูงถึง 50,000 เยนเลยทีเดียวครับ

สำหรับข้อที่ดูสุ่มเสี่ยงกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในสมัยนี้ คงไม่พ้นในเรื่องของการใช้โทรศัพท์ เสียบหูฟังเพลง หรือขี่จักรยานขณะเมาสุราครับ สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นหรือน้องๆที่มีความสนใจและมีแผนจะไปเรียนหรือใช้ชีวิต ควรศึกษาไว้และท่องจำให้ขึ้นใจนะครับ มิฉะนั้นอาจมีโทษ และเรื่องอาจบานปลายในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บ และค่าปรับที่แสนแพงในจำนวนที่เห็นแล้วต้องอยากร้องไห้เลยจริงๆครับ ตัวอย่างเช่น

เมื่อปี 2013 ศาลโตเกียวได้สั่งปรับหนุ่มซึ่ง ขี่จักรยาน ฝ่าไฟแดง แล้วชนคนแก่เสียชีวิตเป็นจำนวนเงินทั้งสิน 47 ล้านเยน! (ราว 14 ล้านบาท)

ผมเองก็เคยประสบมากับตัวในวันสอบปลายภาคเสร็จเมื่อไปเรียนปริญญาโทครับ วันนั้นหลังจากที่สอบเสร็จแล้ว ตามธรรมเนียมนักเรียนญี่ปุ่น ก็ต้องมีการรวมตัวไปทานข้าวฉลองแล้วต่อด้วยร้องเพลงคาราโอเกะ คาราโอเกะในญี่ปุ่นมักจะมีบุฟเฟ่ต์ไม่อั้น ซึ่งพอเทียบกับราคาต่อชั่วโมงแล้วถูกไปเลยทีเดียว พอต้องร้องเพลงกันยันเช้า เพื่อนชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ดื่มแอลกอฮอล์กันครับ อย่างที่ทราบกันดี คนญี่ปุ่นดื่มกันหนักมากครับ พอร้องเสร็จประมาณตีห้าผมกับเพื่อนๆก็ได้ปั่นจักรยานกลับบ้านกันครับ

ร้านขายจักรยานที่ญี่ปุ่น ขี่จักรยาน
ร้านขายจักรยานที่ญี่ปุ่นมีอยู่มากมาย

วันนั้น จะเรียกว่าโชคร้ายหรือดวงซวยก็ได้นะครับ แต่บังเอิ๊ญวันนั้นมีตำรวจลาดตระเวนตรวจความเรียบร้อยของเมือง ขับรถผ่านทางกลุ่มผมพอดีและคงเห็นลีลาการปั่นจักรยานของเพื่อนๆผมที่เซไปมา เลยชะลอรถและเรียกให้พวกเราจอดครับ เมื่อตำรวจเข้ามาคุยด้วยแล้วพบว่า เพื่อนๆผมกลิ่นแอลกอฮอล์หึ่ง เป็นเรื่องเลยครับ โชคดีมากที่ผมเป็นคนไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลยไม่โดนอะไรแต่ก็โดนสักถามหลายอย่างเพราะ ขี่จักรยาน อยู่ในกลุ่มเดียวกันครับ ทางเพื่อนๆที่ดื่มโดนเรียกตรวจบัตรนักศึกษา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าปกติและเค้าจะยึดไปเลยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆจะถูกแจ้งไปที่มหาวิทยาลัยและไม่มีผลดีต่อตัวเราแน่นอนครับ

โดยเฉพาะชาวต่างชาติอย่างเราที่รับทุนต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการมีประวัติเสียแบบนี้ อาจมีผลต่อการได้ไม่ได้ทุนของคุณเลยทีเดียวครับ

หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “เมาไม่ขับ” แต่ในญี่ปุ่นต้องเพิ่ม “เมาไม่ขี่” ไปด้วยครับ เราคงคิดไม่ถึงว่านโยบายนี้ได้ถูกนำไปใช้กับจักรยานในประเทศญี่ปุ่นด้วยจึงต้องระวังเป็นอย่างสูงครับ

ท้ายสุด ผมอยากทิ้งท้ายด้วยเรื่องค่านิยมในการ ขี่จักรยาน นิดนึงครับ คนไทยกับญี่ปุ่นก็แตกต่างกันนะครับ สมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สมัยก่อนใครใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางดูไม่เท่ บางคนรู้สึกอาย จะเห็นได้ชัดว่า ถึงแม้หลายมหาวิทยาลัยในไทยจะออกนโยบายรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาใช้จักรยานเดินทางในมหาวิทยาลัยโดยจัดเตรียมไว้ให้ใช้ฟรี หรือแม้แต่ กทม. เอง ท่านผู้ว่าฯก็ออกนโยบายมีจุดบริการไว้ให้ใช้ฟรี แต่สิ่งที่เราพบเห็นได้ก็คือ ไม่มีใครเอาไปใช้และจักรยานก็ถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆจนสนิมกินไป

ต่างกับในญี่ปุ่นที่ผู้คนใช้จักรยานกันโดยทั่วไปตั้งแต่คนงาน เจ้าหน้าที่ยันผู้บริหารบริษัทครับ ที่นี่ไม่ได้มีภาพลบอะไร

สมัยผมใช้ชีวิตอยู่ที่เกียวโต เพื่อนคุณพ่อท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเกียวโต ท่านจะ ขี่จักรยาน ไปกลับทำงานตลอดเป็นปกติครับ จะว่าร้อนก็ร้อนนะครับ ถ้าขี่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างหน้าร้อนญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือคุณลุงหกสิบแล้วแต่ยังฟิตเปรี๊ยะครับ เป็นผลพลอยได้เพราะได้ออกกำลังกายทุกวันผ่านการขี่จักรยานครับ

จักรยานที่ชาร์ตเคยใช้ ขี่จักรยาน ในญี่ปุ่น
รูปจักรยานที่ใช้เป็นพาหนะหลักสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะ

จะว่าไปแล้วจักรยานก็เป็นพาหนะที่ผมเองใช้เดินทางไปกลับโรงเรียนเป็นหลัก ทั้งเมื่อสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซากะและนักเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียวทั้งคู่ครับ ผมยอมรับเลยครับว่าผมก็ยังติดนิสัยมาบ้าง แรกๆก็รู้สึกอาย ไม่เท่ ผมมักจะบอกกับคนอื่นๆว่า ขี่จักรยาน เพราะได้ออกกำลังกายผ่อนคลาย แต่จริงๆแล้วเหตุผลที่แท้จริงคือ ต้องการประหยัดตังค์ครับ ฮ่าๆ (อย่าบอกใครนะ)

*** สำหรับผู้ที่มีคำถามในประเด็นต่างๆ อยากปรึกษาเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น สามารถส่งข้อความสอบถามผู้เขียนโดยตรงได้ที่เฟซบุ้ค Shad Sarntisart ผู้เขียนกำลังทำและมีกำหนดการออกพ็อคเกตบุ้ค โดยรวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ครั้นเมื่อไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น พร้อมแชร์เทคนิคพิเศษในการใช้ชีวิตและหารายได้ รวมถึงการสอบชิงทุนการศึกษาต่างๆในประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/news/2015/06/29/reference/law-gets-serious-cycling-safety/#.VcXq97UVjIU
https://en.rocketnews24.com/2015/06/04/14-things-never-to-do-on-a-bicycle-in-japan-with-new-traffic-laws/


พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม

การศึกษาที่ญี่ปุ่น – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan

– ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship
การทำงาน – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น
– งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น

บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน

Scroll to Top