雪 ( yuki : หิมะ )
อ.ปมโปโกะ

หิมะ

 

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มี หิมะ ตก แต่ก็ไม่ได้ตกทั้งประเทศ ใครอยู่แถบฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมืองไม่ใหญ่ก็จะเจอกับหิมะบ่อยๆ หรือถ้าใครอยู่ฮอกไกโด ช่วงหน้าหนาวก็จะเป็นเมืองหิมะตลอดช่วง

snow008

แต่โตเกียวหรือเมืองใหญ่ๆ อื่นๆ อย่างโอซาก้า นาโงย่านั้นอยู่ฝั่งตะวันออก เป็นแถบที่ หิมะ ไม่ค่อยตก เพราะประเทศญี่ปุ่นมีเทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่นเป็นกระดูกสันหลังเกาะ หิมะข้ามมาไม่ทันถึงฝั่งตะวันออกก็หมดฤทธิ์แล้ว  ในโตเกียว โอกาสที่หิมะจะตกจึงมีเพียงครั้งหรือสองครั้งใน 1 ปีเท่านั้น ช่วงที่หิมะจะตกก็จะมีช่วงจะปีใหม่ 1 ครั้ง ใครๆ ก็อยากให้ตกวันคริสต์มาสอีฟ (วันที่ 24 ธ.ค.) จะได้โรแมนติก เพราะเป็นช่วงเทศกาลที่ความรักเบ่งบานไม่แพ้วาเลนไทน์   หิมะที่ตกครั้งแรกเรียกกันว่า “hatsuyuki”(初雪)

snow

คนที่ชอบหิมะก็มี ที่ไม่ชอบหิมะก็เยอะ โดยส่วนตัวผมก็ชอบหิมะตก เพราะตกแล้วปัดออกได้ ไม่เหมือนฝนที่ทำให้เปียกไปหมด แต่หิมะคราวนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นว่าทำไมคนญี่ปุ่นบางคนถึงไม่ชอบหิมะ หิมะที่ตกลงมาไม่ค่อยมีผลอะไรมาก แต่หิมะที่กองกับพื้นที่เรียกกันว่า “sekisetsu”(積雪、積=tsumoru:กอง、雪=yuki:หิมะ)ได้สร้างความเดือดร้อนหลายอย่าง อย่างแรกคือเวลาเดิน ถ้าหิมะหนา หิมะ จะติดรองเท้าและทำให้รองเท้าแฉะง่ายกว่าเดินย่ำน้ำฝน อย่างที่สองคือถนนลื่นไปหมด หิมะที่ตกมานานเมื่อถูกน้ำหนักคนหรือรถที่วิ่งผ่านกดทับ ก็กลายเป็นลู่น้ำแข็ง ลื่นได้ง่าย  ในโตเกียว หิมะยังตกไม่ติดต่อกัน ไม่นานก็ละลาย แต่กว่าจะละลายล้อเล็กๆ อย่างจักรยานก็เกาะถนนไม่พอ ทำให้ลื่นไถลได้(ลื่น:滑る:suberu)

snow005
กวาด หิมะ ออกจากทางเดิน

ถ้าเป็นเมืองฝั่งตะวันตกอย่างนีงาตะหรือฮอกไกโด หิมะจะตกติดต่อกัน จนกองหิมะสุมสูง ถนนจะกลายเป็นลู่น้ำแข็ง คนในแถบนี้จึงต้องเอารถไปเปลี่ยนยางที่วิ่งเกาะถนนมากกว่าในฤดูหนาว คนต่างถิ่นที่ขับรถที่ใช้ยางรถยนต์ปกติมาแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นไถลตกถนน หรือไปชนคันอื่นก็มี

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่าจะเป็นเดือนที่หนาวที่สุดในรอบปี แต่หิมะก็มักจะไปตกกันฝั่งตะวันตกของเกาะ บางครั้งหิมะก็ไม่ตกทางโตเกียวเลย อาจจะเลื่อนไปตกช่วงมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเปลี่ยนฤดู เมฆฝนจะเข้าขึ้นมาทางฝั่งตะวันออกมาก ถ้าอากาศยังหนาว หิมะก็อาจจะตก ส่วนในเมืองอื่นๆ อย่างโอซาก้า นั้นตกเพียงปีละครั้ง หรือไม่ตกเลย เมืองทางฝั่งตะวันออกที่ตกพอสมควรคือ นาโงย่า เกียวโต

snow013snow002

หิมะในเขตตะวันตก อาจจะแปรสภาพเป็น “พายุหิมะ”(吹雪:fubuki)ได้หากมีลมแรง “พายุหิมะ” ที่ว่าก็เทียบได้กับฝนที่ตกเวลาที่ลมแรงๆ เทียบได้กับภาษาอังกฤษคือ “snow storm” ส่วนถ้าลมแรงมากใกล้เคียงเวลาพายุไต้ฝุ่นเข้า จะเรียกว่า “oofubuki”(大吹雪)หรือ “พายุหิมะระดับแรง” (blizzard) แต่ถ้าไม่มีลมเท่าไหร่ ตกตามปกติแต่ตกหนักเรียกว่า “ooyuki”(大雪)

ตุ๊กตา หิมะ

เมื่อหิมะตกหนักจะต้องมีการ “กำจัดหิมะ”(除雪:josetsu)โดยตามถนนหลวงหลัก จะมีรถมาฉีดน้ำร้อนเพื่อกำจัดหิมะออกไปจากเส้นทางรถ ส่วนแต่ละบ้านจะต้องดูแลหน้าบ้านและหิมะที่ตกบนหลังคาบ้านด้วยตัวเอง ต้องขึ้นไปกวาดหิมะออกจากหลังคาเพื่อไม่ให้หลังคารับน้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้หลังคาพังลงมาได้ ซึ่งทุกปีก็จะมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเนื่องจากการตกจากหลังคาอยู่เนืองๆ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายพอสมควร  สำหรับบางบ้านหิมะที่ตกอาจจะกลบทางเข้าประตู ไปเลยก็มีต้องขุดหิมะ เรียกว่า “yukikaki”(雪掻き;掻き:kaki:การใช้พลั่วขุด)เพื่อขนออกไปจากประตูหรือข้างบ้าน หรือตามสนามที่ต้องการใช้ประโยชน์  บางครั้งก็มีการระดมอาสาสมัคร หรือรับสมัครนักเรียนต่างชาติที่อยากไปหาประสบการณ์ไปช่วยกันขุด

หิมะ ตกหนัก

แม้ว่าหิมะจะนำความลำบากมาให้ก็ตาม แต่ในเมืองหนาวหลายๆ ที่ก็หาความสุขกับหิมะ เช่นการเล่นสกี สโนว์บอร์ด หรือปั้นตุ๊กตาหิมะ(雪だるま:yukidaruma)ทำบ้านหิมะที่เรียกว่า “ยูคิมุโระ”(雪室:yukimuro)ในช่วงเทศกาลคามาคุระ(かまくら:kamakura)หรือจัดเทศกาลหิมะ(雪祭り:yukimatsuri;祭り:matsuri:เทศกาล)ปั้นหิมะเป็นรูปต่างๆ  ที่ขึ้นชื่อคือของเมืองซัปโปโรในฮอกไกโด

เทศกาล หิมะ

Exif_JPEG_PICTURE

Exif_JPEG_PICTURE

ในช่วงอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ อาจจะมีลูกเห็บ(霰:arare)ตกได้เช่นกัน และเมื่อหิมะใกล้ละลายจะกลายเป็นน้ำแข็งย้อยจากยอดไม้หรือหลังคาบ้านเหมือนแม่คะนิ้งในเมืองไทยเรียกว่า “tsurara”(ツララ)ส่วนทางทะเลตอนเหนือของญี่ปุ่นในช่วงเดือนมีนาคมกลุ่มก้อนน้ำแข็ง(流氷:ryuuhyou)ที่แตกตัวจากภูเขาน้ำแข็ง(氷山:hyouzan)ในทะเลโอคอตสก์(オホーツク海:ohootsuku-kai;海:~kai:ทะเล…)ของประเทศรัสเซียจะไหลมาทางแถบเหนือของฮอกไกโดก่อนจะสลายไปตามฤดูกาล

snow012

ตำนานเกี่ยวกับหิมะก็มีเช่น ผีนางหิมะที่เีรียกว่า “yukionna”(雪女)ส่วน “yukiotoko”(雪男)นั้นไม่ใช่ “นายหิมะ” แต่หมายถึงมนุษย์หิมะ หรือ “เยติ” (イェティ)ที่เป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานเทือกเขาหิมาลัย

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่


เขียนโดย อ.ปมโปโกะ 
ในช่วงที่ใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  


 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top