Chart003

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นหรือบ้านหลังที่สองของผมอีกครั้งเพื่อไปประชุมงานครับ แน่นอนว่าอากาศตอนนี้หนาวถึงขั้นหนาวมากขนาดที่ว่าใส่ HEAT TECH (ヒートテック) แล้วยังต้องมีเสื้อตัวหนาๆ และทับด้วยแจ็คเก็ตขนเป็ดถึงจะอุ่นพอสำหรับคนไทยอย่างเราๆ ซึ่งโตมาจากประเทศที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยได้สัมผัสฤดูหนาวเลยครับ

ทริปการประชุมของผมในครั้งนี้เรียกได้ว่าทรหดเหมือนทุกครั้ง ต้องวิ่งไปที่โน่นที่นี่ ขึ้นรถไฟ ขึ้นแท็กซี่เพื่อทำเวลา อย่างว่าแหละครับ…ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น เรื่องเวลากับความคุ้มค่าถือว่าสำคัญมาก ถูกส่งให้ไปประชุมต่างประเทศก็ต้องไปให้คุ้ม

ในทริปนี้ถึงแม้จะเป็นทริปสั้นๆ เพียงแค่สัปดาห์เดียวแต่ผมก็มีโอกาสได้ใช้บริการทั้งรถไฟบนดิน ใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูงอย่างชินกันเซ็นครบหมดทั้งในและนอกเวลาเร่งรีบหรือ Rush Hour (ラッシュアワー) ครับ

Priority Seat
ภาพ: บรรยากาศการขึ้นรถไฟในโตเกียว

พอพูดถึงการนั่งรถไฟในญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงอยู่เสมอก็คือการนั่งรถไฟในช่วงเวลาเช้าก่อนทำงานที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนไม่ต่างจากปลากระป๋องและการนั่งรถไฟหลังเลิกงานซึ่งอัดแน่นไปด้วยผู้คนที่มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานครับ

เมื่อผมได้มีโอกาสไปสัมผัสสถานการณ์เช่นนี้อีก จึงทำให้ผมได้นึกถึงเหตุการณ์ระทึกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมได้ประสบมากับตัวครั้นเมื่อเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว..

ถ้าถามว่าทำไมถึงน่าระทึก…ก็เพราะว่าผมเกือบคร่าชีวิตคุณป้าบนรถไฟโดยไม่รู้ตัวสิครับ!!!

เรื่องมันมีอยู่ว่า…ปกติเวลาผมไปเรียนเข้าคลาสที่วิทยาเขตฮงโกะ (本郷キャンパス) ผมมักจะนั่งรถไฟจากบ้านผมที่คาชิวะ จังหวัดชิบะ (柏市千葉県) มาลงที่สถานีอุเอโนะ(上野) ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยโดยระยะเดินประมาณสิบห้านาทีครับ จริงๆแล้วมีอีกหลายสถานีที่ผมสามารถใช้ได้อย่างเช่น สถานีโทไดมาเอะ (東大前) หรือฮงโกะซังโจวเมะ(本郷三丁目)ซึ่งอยู่แทบจะติดประตูมหาวิทยาลัยเลย

แต่ผมจะชอบบรรยากาศสถานีอุเอโนะมากกว่าเพราะมีสวนอุเอโนะ (上野公園) ขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ ให้เดินผ่านซึ่งทำให้เราผ่อนคลายได้ทั้งก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียนครับ สวนอุเอโนะแห่งนี้จะมีความพิเศษนิดนึงตรงที่ว่าเป็นสวนขนาดใหญ่และมักจะมีคนมาเล่นดนตรีเปิดหมวก เปิดท้ายขายของเก่าให้เราหยุดแวะชมบ้างได้แก้เบื่อด้วยครับ วันนั้นที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดผมก็ได้ขึ้นรถไฟจากสถานีอุเอโนะตามปกติเพื่อมุ่งหน้าสู่คาชิวะครับ

02
ภาพ: บรรยากาศสวนอุเอโนะช่วงซากุระบาน

จริงๆ แล้ว รถไฟในวันนั้นถือว่าไม่แน่นมากครับเพราะผมขึ้นประมาณสองทุ่มซึ่งเลยเวลาเลิกงานมาแล้วพักหนึ่ง เนื่องจากผมได้ไปทานข้าวกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นหลังเลิกเรียน แต่ถึงกระนั้นเองผมก็หาที่นั่งไม่ได้อยู่ดี พอขึ้นขบวนได้ก็ถูกบีบให้ไปอยู่ชิดประตูเชื่อมโบกี้และไปยืนโหนอยู่ตรงหน้าที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษหรือ Priority Seat (優先席) พอดีครับ

ก่อนที่ผมจะเล่าต่อ ขอขยายความเรื่องเจ้า Priority Seat นิดนึงครับเพราะถือเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ ภาพที่เห็นทางด้านล่างจะเป็นป้ายที่ผมถ่ายมาจากรถไฟฟ้าใต้ดินที่บ้านเราครับ จะเห็นได้ว่า Priority Seat ของบ้านเรานั้น ถูกจัดไว้ให้พิเศษสำหรับบุคคลห้าประเภทครับ พระสงฆ์ คนชรา คนพิการ หญิงมีครรภ์ และเด็กครับ ซึ่งถือว่าไม่ต่างอะไรมากไปจากที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศอื่นๆ

ภาพ: ป้าย Priority Seat ในรถไฟฟ้าใต้ดินไทย
ภาพ: ป้ายที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษในรถไฟฟ้าใต้ดินไทย

ลองมาดูอีกภาพครับ ภาพนี้เป็นภาพที่ผมถ่ายมาจากรถไฟในโตเกียว Priority Seat ของเค้าจะจัดไว้ให้กับบุคคลห้าประเภทเช่นกัน ซึ่งส่วนที่เหมือนกับไทยก็คือ ที่นั่งเพื่อ คนชรา คนพิการ เด็ก และหญิงมีครรภ์ ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์จะหายไปและถูกแทนที่ด้วย “ที่นั่งสำหรับผู้ป่วย” ซึ่งหมายความว่าอย่างไรนั้นผมเคยสงสัยมาตลอดจนกระทั่งมารู้แจ้งเมื่อประสบกับเหตุการณ์ระทึกในวันนี้ครับ

ป้าย Priority Seat ที่ญี่ปุ่น
ภาพ: ป้ายที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษในรถไฟญี่ปุ่น

หลังจากที่ผมได้มุมยืนบนรถไฟแล้ว ผมก็ไม่รอช้าที่จะหยิบหูฟังคู่ใจขึ้นมาเปิดฟังเพลงจากยูทูปซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมฆ่าเวลาที่ผมมักจะทำเป็นประจำโดยเฉพาะเวลาที่ต้องนั่งรถไฟกลับบ้านยาวถึงเกือบสี่สิบนาทีครับ แต่วันนี้เหตุการณ์กลับไม่ปกติเหมือนทุกวัน…

หลังจากที่ผมฟังจบไปได้สักสามเพลง ผมเพิ่งเริ่มสังเกตเห็นคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งยืนอยู่ข้างหน้าผม จริงๆแล้วผมจำได้ว่าตอนผมขึ้นรถใหม่ๆ คนป้าจะยืนอยู่แทบจะติดผมเลย แต่เมื่อผมฟังจบไปได้สามเพลงผมพึ่งจะสังเกตเห็นคุณป้าถอยห่างผมไปชิดประตูเชื่อมโบกี้และมองผมมาด้วยสีหน้าแปลกๆ

ณ จุดนั้น ผมเริ่มที่จะสังเกตตัวเองว่าเหยียบอะไรหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์อะไรมั้ยแต่ก็ไม่พบอะไรผิดวิสัย คุณป้าท่านนั้นจ้องมองผมอย่างต่อเนื่องในขณะที่ผมเองก็ฟังเพลงไปต่อเหมือนกัน

หลังจากนั้นไม่เกินห้านาทีผมเริ่มสังเกตเห็นคุณป้าเหงื่อเริ่มแตก ณ ตอนนั้นผมยังไม่รู้ตัวว่าแท้จริงแล้วเกิดจากผมเอง แต่คุณป้าเริ่มทำหน้าหอบ หายใจไม่ออกและฟุบลงไปกับพื้นพร้อมยกมือห้ามผม

ผมตกใจมากและทำอะไรไม่ถูกคิดว่าคุณป้าเกิดเป็นลมบนรถไฟ ผมก็หวังดีจะเข้าไปช่วย แต่เมื่อผมพยายามจะเข้าไปก็ถูกกันด้วยคนรอบด้านพร้อมชี้ไปที่ป้าย Priority Seat ให้ผมดู

หากลองย้อนกลับไปดูป้าย Priority Seat ที่ผมถ่ายมาข้างบน อ่านดูอีกทีจะเห็นข้อความทางด้านล่างว่าให้ “ปิดมือถือ” เมื่ออยู่ในบริเวณนี้และมีผู้โดยสารหนาแน่น

ทันใดนั้นผมรีบปิดมือถือทันทีและพยายามตั้งสติแล้วจึงรู้สึกได้ว่าแท้จริงแล้วอาการของคุณป้าเมื่อสักครู่นั้นเกิดจากการใช้มือถือของผมเอง!

วันนั้นผมรู้สึกผิดมากและหลังจากที่ได้กลับถึงบ้าน ผมก็ได้พยายามเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อศึกษาเพิ่มเติมแล้วพบว่าเหตุการณ์แบบนี้ได้เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ เกิดเป็นเรื่องฟ้องร้องกันใหญ่โต จริงแล้วๆ เหตุการณ์ที่ผมประสบนั้นเป็นที่มาของการเตรียมที่นั่งพิเศษ “สำหรับผู้ป่วย” นั่นเองครับ

ในยุคสมัยนี้ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ถูกพัฒนาไปก้าวไกลโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ จะมีผู้ป่วยหลายท่านใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือที่เรียกว่า Pacemaker เครื่องนี้จะไวต่อ สัญญาณต่างๆ รวมถึงสัญญาณมือถือที่จะกวนและทำให้การเต้นของเครื่องผิดปกติ เครื่องรวน ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจผู้ป่วยได้

credit: www.sciencemag.org
ภาพ: การใช้เครื่อง Pacemaker กระตุ้นหัวใจ

ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันว่าสัญญาณมือถือนั้นมีผลจริงๆ หรือ งานวิจัยหนึ่งกล่าวไว้ว่ามือถือจะต้องอยู่ห่างเครื่องไม่เกิน 3 เซนติเมตรเท่านั้นถึงจะมีผล

ล่าสุด ผู้ประกอบการรถไฟย่านคันโตพึ่งได้ยกเลิกข้อห้ามใช้มือถือดังกล่าวเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา แต่สำหรับโตเกียวนั้นยังคงกฎเดิมอยู่ครับ อาจเนื่องด้วยความหนาแน่นของผู้ใช้รถไฟที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม กันไว้ดีกว่าแก้ครับ หากเลี่ยงได้ผมก็นะนำให้เลี่ยงดีกว่าครับ นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ ณ ตอนนั้นแล้ว หากไม่มีใครเข้ามาห้ามผม ไม่อยากคิดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณป้า และตัวผมเองคงเรียนไม่จบและไม่ได้กลับไทยแน่นอนครับ

ท้ายสุด ผมจึงอยากฝากข้อคิดถึงผู้อ่านทุกท่านว่าเวลาจะไปเที่ยวต่างแดน นอกจากการศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งอาหารอร่อยแล้วควรศึกษาเรื่องกฎระเบียบและการใช้ชีวิตของที่นั้นๆ เพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจและไม่เผลอไปแหกกฎของเค้าโดยไม่ได้ตั้งใจซึ่งจะสร้างภาพที่ไม่ดีของคนไทยต่อคนชาตินั้นๆ ครับ

หลายเรื่องอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ใครจะไปรู้…อาจมีผลกระทบใหญ่โตอย่างที่ผมประสบก็ได้ครับ

สำหรับกฎระเบียบและมารยาทในการใช้รถไฟในญี่ปุ่น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.keio.co.jp/english/howto/manners.html ครับ

สำหรับผู้อ่านที่กำลังจะมีแผนไปเที่ยว ไปเรียน หรือไปอยู่ในญี่ปุ่นแล้วต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น สามารถแชทเข้ามาคุยกันได้ที่เฟซบุ้ค Shad Sarntisart ครับ ผมยินดีตอบทุกคำถาม แชร์ทุกเรื่องราวกับทุกท่านที่มีความสนใจในญี่ปุ่นเหมือนกันครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

https://en.wikipedia.org/wiki/Artificial_cardiac_pacemaker
https://www.ibtimes.co.uk/smartphones-can-cause-pacemaker-pause-produce-shock-1507696
https://www.japantoday.com/category/national/view/kansai-scraps-power-off-mobile-phone-ban-on-trains-kanto-wont-budge
https://www.japantimes.co.jp/news/2015/09/21/national/jr-east-set-relax-rules-cellphones-near-priority-seats/#.Vr8FA_mLTIV
https://www.jabchai.com/main/view_joke.php?id=10924


พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม

การศึกษาที่ญี่ปุ่น – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan

– ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship
การทำงาน – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น
– งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น


บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน

อ่านคอลัมน์ คุยกับชาร์ต ตอนอื่นๆ

Scroll to Top