เรียนต่อญี่ปุ่น ตรงเวลา เคารพเวลา = เคารพคน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความ “เป๊ะ” ในเรื่องของเวลามากครับ
เป็นที่รู้กันดีในระดับโลกว่ารถไฟของญี่ปุ่นนั้น วิ่งตรงตามตารางเวลามาก เป๊ะถึงระดับนาทีเลยทีเดียว เรียกได้ว่า ยากที่จะหาประเทศใดมาเทียบเคียงได้ ขนาดรถไฟเยอรมัน ที่ว่าเกือบจะเป๊ะแล้ว ก็ยังสายให้เห็นได้ห้าถึงสิบนาทีเป็นปกติ (หากใครเจอรถไฟฟ้าในประเทศอื่นที่เป๊ะกว่าญี่ปุ่น ช่วยบอกผมด้วยนะครับ)
ในญี่ปุ่นหากตารางรถไฟเขียนไว้ว่า รถไฟจะมาถึง 15.33 แสดงว่า “สามโมงสามสิบสาม” เมื่อไหร่ คุณจะเห็นรถไฟจอดอยู่ตรงหน้าคุณครับ! ฉะนั้นใครที่มาถึงสามโมงสามสิบห้าแล้วไม่เห็นรถไฟ จงตระหนักไว้เลยนะครับว่าคุณได้ตกขบวนนั้นไปแล้ว เพราะหากมีอะไรผิดพลาดและทำให้รถไฟเดินสาย เพียงนาทีสองนาทีคุณจะได้ยินเสียงประกาศแจ้งและขออภัยในสถานีได้อย่างทั่วถึง ส่วนตัวคิดว่า การที่รถไฟจะวิ่งได้ตรงเวลาเป๊ะได้แบบนี้เป็นสิ่งน่าทึ่งมากครับ
อย่างไรก็ตามความเป๊ะในญี่ปุ่นยังไม่หมดแค่นี้ครับ แต่ก็ยังลามไปถึงความเป๊ะในระดับรถบัสเลยทีเดียวครับ ในญี่ปุ่นจะมีตารางรถบัสให้เห็นอยู่ทั่วไปตามป้าย ซึ่งความพิเศษของมันอยู่ที่ว่ารถบัสที่วิ่งนั้นจะมาถึงตามเวลา สายเต็มที่ไม่เกิน 2-3 นาทีครับ ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยครับ แต่ระบบการจัดการเดินทางรถบัสชั้นยอดของที่นี่ ได้สร้างความน่าทึ่งให้กับคนไปทั่วโลกเลยทีเดียวครับ
จริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยมาก ซึ่งการที่อะไรๆ ก็เป๊ะไปหมดในญี่ปุ่นนั้น ทำให้ชีวิตคนญี่ปุ่น มีความเป็นระบบระเบียบมากและทำให้เวลาถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเป็นผลตามมา
หากเราลองไปเดินเล่นดูตามท้องถนน เราจะสามารถพบเห็นนาฬิกาได้แทบจะทุกที่ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตามสวนสาธารณะ ร้านค้า หรือป้ายโฆษณาต่างๆ ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงความใส่ใจในเวลาคนของญี่ปุ่น เอาจริงๆแล้ว ผมเองเคยสงสัยว่า ทำไม๊ทำไม.. คนญี่ปุ่นจึงต้องเป๊ะในเรื่องของเวลาไปเสียทุกเรื่อง และมีการจัดระบบต่างๆ ไว้ตรงตามเวลามากขนาดที่ว่าวันนึงจะทำอะไรจากเวลาไหนถึงเวลาไหน จนกระทั่งวันนึงผมได้ประสบกับเหตุการณ์นึงซึ่งได้ให้คำตอบนี้กับผมครับ
เรื่องมันมีอยู่ว่า วันหนึ่งผมได้นัดกับคุณลุงชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ซึ่งผมขอเรียกในที่นี้ว่า ซูซูกิซังครับ ซูซูกิซังเป็นอดีตซีอีโอเครือบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังยี่ห้อหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น หลังจากเกษียณอายุก็ได้ผันตัวกลับมาเป็นนักเรียนโดยมาเรียนคอร์สปริญญาโทกับผมที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ด้วยเหตุผลที่ว่าตอนนี้อายุเยอะแล้ว มีเงิน มีเวลาก็อยากจะใช้ชีวิตแบบ Slow Life กับเค้าบ้าง… กิน เที่ยว เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เคยอยากรู้
ซูซูกิซังเป็นคนที่มักจะตีเทนนิสอยู่เสมอๆกับภรรยา ซึ่งเป็นนักข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น และมักจะชวนผมไปตีด้วยอยู่บ่อยๆ วันหนึ่งซูซูกิซังก็ได้นัดผมตีเทนนิสตามปกติสี่โมงที่สนามของมหาวิทยาลัย ซึ่งซูซูกิซังได้ทำการจองไว้ โดยปกติ ทุกครั้งผมก็จะไปตรงตามเวลาเป๊ะๆ เพราะตระหนักดีว่าคนญี่ปุ่นเขาถือมากในเรื่องของเวลายิ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่
ณ วันเกิดเหตุผมติดดูดราม่าในโน๊ตบุ้คซึ่งติดมากขนาดต้องดูให้จบตอนก่อนถึงจะออกไปได้ พอจบตอนนึงก็มักจะโดนหลอกให้ดูต่อโดยมักถูกทิ้งท้ายด้วยเหตุการณ์หรือจุดหักสำคัญๆ ให้อยากดูตอนต่อไป (ใครที่เคยดูดราม่าโดยเฉพาะดราม่าเกาหลีจะเข้าใจผมดี) ซึ่งวันนั้นพอคำนวณเวลาดูแล้วก็คิดว่าน่าจะเลทประมาณห้านาทีไม่น่าเป็นอะไร แต่พอเอาเข้าจริง กว่าจะออก กว่าจะปั่นจักรยานไปถึงปรากฏว่าเลทสิบนาทีครับ! ไปถึงสนามปั๊ปบรรยากาศนี่มาคุเลยครับ เห็นสีหน้าซูซูกิซังแล้วไม่บอกบุญเลยทีเดียว เหตุผลคงเป็นเพราะว่าไม่เพียงแค่ผมคนเดียวที่สายสิบนาที แต่เพื่อนนักเรียนชาวเนปาลอีกท่านที่จะมาตีด้วยก็ดันยังมาไม่ถึงครับ! พอมาถึงกันพร้อมหน้าเริ่มตีก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่พอเลิกตี ก่อนกลับบ้านได้มีโอกาสแวะไปนั่งทานซูชิด้วยกัน เท่านั้นแหละพอได้จังหวะซูซูกิซังก็หันมาคุยกับผมด้วยสีหน้าจริงจัง ซูซูกิซังบอกกับผมว่าจริงๆ แล้วว่าจะไม่พูดอะไรเพราะถือว่าเป็นนักเรียนต่างชาติ แต่พอเห็นว่าสนิทกันก็เลยอยากจะเตือน ซูซูกิซังบอกกับผมว่าการรักษาเวลานั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมญี่ปุ่น
โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ การเคารพเวลานั้นถือเป็นการเคารพคน การที่คนๆ หนึ่งมาตรงเวลา ไม่ได้แปลว่าเค้าจะไม่มีธุระอื่นหรือว่าง แต่แปลว่าเค้าคนนั้นเคารพและให้เกียรติคนที่ตัวเองนัดไว้ด้วยมากพอ จึงพยายามทิ้งเรื่องอื่นไว้ก่อนและไปให้ตรงเวลา เพื่อไม่ให้อีกฝั่งต้องเสียเวลารอ เพราะเวลาที่รอจากการที่คนคนนึงมาสาย จริงๆ แล้วมีค่าทุกนาทีและสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ กลับกันเมื่ออีกฝั่งเคารพในเวลาเราให้เกียรติเราแล้วเราก็ควรปฏิบัติตาม
หากมองในแง่นึงผู้คนอาจบอกว่าสังคมญี่ปุ่นดูเครียด ดูมีกรอบ มีระเบียบกฎเกณฑ์ตีไว้อย่างเคร่งครัด แต่เมื่อมองอีกแง่แล้วจะพบว่าสังคมญี่ปุ่นก็คือสังคมที่ให้เกียรติและเคารพสิทธิคนเป็นอย่างมาก เขาให้เกียรติเรา เราก็ต้องให้เกียรติเขาครับ ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ
ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ว่านี่คืออีกหนึ่งธรรมเนียมญี่ปุ่นที่ต้องพึงระวัง โดยเฉพาะเมื่อเราทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังตรงนี้อีกเท่าตัว ถ้าเป็นไปได้ควรถึงก่อนเวลา จริงๆ แล้วซูซูกิซังได้เน้นย้ำและยังได้เสริมให้ผมอีกว่า สำหรับการสื่อสารหรือทำงานกับคนต่างชาติแล้วนอกจากภาษาที่ต้องรู้ ยังควรรู้เรื่องของวัฒนธรรมและธรรมเนียมของเขาด้วย เพราะบางเรื่องบางปัญหาอาจถือเป็นเรื่องเล็กในสังคมของเราแต่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมคนอื่น การที่เรารู้สิ่งเหล่านี้ไว้ก่อนนอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาผิดใจกันแล้วยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นได้อีก ในการทำงานหรือเจรจาธุรกิจก็จะช่วยให้ไปได้อย่างราบรื่น สิ่งเหล่านี้เราควรรู้ไว้ ใจเขาใจเรา บางสิ่งถ้าเราเผลอไปโดยไม่รู้ตัว อาจถูกมองในทางที่ไม่ดีและทำให้ผิดใจกันไปเลยโดยทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจ
เอาจริงๆ เลยนะ…ก่อนที่ผมจะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยผมเคยเป็นคนที่ใช้ชีวิต “สบายๆ” มาก ซึ่งตรงข้ามกับวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เวลานัดใครเจอใคร สาย5นาทีสำหรับผมเคยถือว่าปกติ อย่าว่าแต่ 5 นาทีเลย 15 นาทีผมก็ยังไม่สะท้าน แต่ก็อาจขอโทษคนรอไปตามมารยาทบ้าง ซึ่งผมก็มั่นใจว่า สำหรับสังคมไทยโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯแล้ว การมาสาย 15 นาทียังถือว่าปกติ และผู้คนก็มักจะมีข้ออ้างยอดฮิตติดปากไว้แก้สถานการณ์ซึ่งก็คือ “รถติด” ครับ
นี่เราอาจโทษได้ว่า เป็นเพราะระบบการคมนาคมของไทยยังไม่ดีพอ หรืออาจจะสื่ออีกแบบได้ว่าคนไทยเราไม่คิดอะไรมาก ด้วยสังคมที่สบายๆ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นนั้นกลับกันครับ…คนญี่ปุ่นเป็นคนที่จริงจังกับเวลามาก แค่หนึ่งนาทีก็ถือว่าสาย จะเห็นได้ชัดในเรื่องของการทำงาน แม้แต่บริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดอยู่ในไทยเอง แทบทุกบริษัทญี่ปุ่นเท่าที่ผมสังเกต ก็จริงจังกับเรื่องพนักงานมาสายมากครับ แต่หลังจากที่ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยกว่าสามปี ก็ซึมซับประเพณีวัฒนธรรมแนวคิดการใช้ชีวิตไปอย่างไม่รู้ตัว จากเดิมที่ไม่เคยจะตรงเวลาก็กลายเป็นคนที่ตรงเวลาเป๊ะขึ้นมาได้
คนญี่ปุ่นเป็นคนที่จริงจังกับเวลามาก แค่หนึ่งนาทีก็ถือว่าสาย
ทุกวันนี้นัดกับเพื่อนทีไรถ้าใครมาสายแค่ 5 นาทีผมก็เริ่มหัวเสียแล้วครับ ด้วยนิสัยเราที่เปลี่ยนไปเพื่อนหลายคนก็งงครับ นี่แหละที่เขาเรียกกันว่าการถูกกลืนวัฒนธรรมโดยสังคม เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความเป๊ะมาก (คงมีแค่เวลาเลิกงานอย่างเดียวที่ไม่เป๊ะ) เราก็ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นเมื่อมีโอกาสทำงานกับคนญี่ปุ่น ได้ไปเรียนหรือใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ท้ายสุด สิ่งที่อยากจะฝากกับผู้อ่านทุกท่านก็คือ “เคารพเวลา = เคารพคน” ครับ เริ่มฝึกตัวเองไว้ตั้งแต่ตอนนี้ Let’s be on time กันนะครับ!
พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม
การศึกษาที่ญี่ปุ่น | – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan – ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship |
การทำงาน | – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น – งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น |
บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน
คอลัมน์คุยกับชาร์ต ตอน ขี่จักรยาน ในญี่ปุ่นต้องระวัง… Bike in Japan!