5 ข้อแนะนำ ก่อนไป งานแนะแนวเรียนต่อญี่ปุ่น
จากประสบการณ์ที่เจ๊คลุกคลีอยู่ในวงการแนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นมาสิบกว่าปี ประกอบกับที่ได้ทำงานในส่วนของสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA) ซึ่งเป็นสมาคมที่รวมศูนย์แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศหรือที่มักจะเรียกกันว่า “เอเจนท์” ทั่วไทย โดยหน้าที่การงานจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดงานแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ปีละหลายครั้ง
จึงขอลิสต์ 5 ข้อสำคัญที่อยากจะแนะนำ เพื่อให้น้อง ๆ และผู้ปกครองได้ประโยชน์จากการไปงานแนะแนวต่าง ๆ ให้มากที่สุดค่ะ
แน่นอนว่าในการจัดงานแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ผู้จัดงานต้องเตรียมการกันมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ร่วมงานได้ประโยชน์มากที่สุดนั้น คือการเตรียมตัวของผู้ร่วมงานเองค่ะ
1. ถามตัวเองก่อนว่าอยากเรียนอะไร
หมดยุคที่จะทำอะไรตามอย่างคนอื่นแล้วค่ะ ไม่ต้องถามแล้วว่า ” พี่คะ… เค้านิยมไปเรียนอะไรกัน ” ” พี่คะ…เรียนอะไรดีคะ” ก่อนที่จะไปถามข้อมูลจากคนอื่น ถามตัวเองก่อนค่ะว่าตัวเรามีความชอบ ความสนใจ หรือมีความถนัดด้านไหนเป็นพิเศษ
คนที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ คือคนที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดี รู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร ทำอะไรได้ดี เพราะความที่รู้จักตัวเองดีนี่เอง จึงสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ตรงจุด ไม่จำเป็นต้องเก่งไปหมดทุกอย่าง ขอให้เป็นตัวตนที่เป็นของแท้ มีความเชี่ยวชาญ เป็นกูรูด้านใดด้านหนึ่งอย่างจริงจัง ก็สามารถประสบความสำเร็จได้
สรุปคือ อย่างน้อยขอให้มีเป้าหมายของตัวเองสักนิดว่าจะไปในทิศทางไหน อยากเรียนแนวไหน เราจะได้ไม่สะเปะสะปะ สอบถามข้อมูลจากสถาบันการศึกษาหรือรุ่นพี่ศิษย์เก่าในงานได้ตรงเป้า
ญี่ปุ่นมีสาขาวิชามากมายให้คุณเรียนค่ะ
2. ศึกษาข้อมูลของสถาบันการศึกษาไปล่วงหน้า
ข้อนี้คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
เมื่อไปถึงงาน ภาพที่จะเห็นคือ บูธหรือโต๊ะของสถาบันการศึกษาเรียงหน้ากันพรึ่บ คิดว่ามีหลายคนที่เกิดอาการ “มึน” ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี เดินวนแล้ววนอีก อ่านชื่อสถาบันแล้วก็รู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ตั้งอยู่ที่ไหน เปิดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง ก็ไม่รู้ บ้างก็ไม่กล้าเข้าไปถาม แถมหน้าตาคนที่นั่งประจำบูธบางทีก็ดูไม่ออกว่าคนไทยหรือคนญี่ปุ่น กลัวพูดอะไรไปแล้วเค้าไม่รู้เรื่องบ้าง
สุดท้ายเดินไปเดินมา สุ่มๆ ลองมั่วเข้าไปนั่งคุยกับสักบูธหนึ่ง แล้วก็พบว่าไม่มีสาขาที่ตรงกับความสนใจ เริ่มต้นไปเข้าบูธใหม่อีกไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ ที่มีสถาบันมาร่วมงานจำนวนมาก ทำแบบนี้เสียเวลาเปล่าค่ะ
ฉะนั้น ก่อนที่จะไปงาน ทำการบ้านสักนิ้ดนึง ด้วยการศึกษาข้อมูลของสถาบันที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่งานแนะแนวศึกษาต่อ มักจะมีรายชื่อสถาบันการศึกษาแจ้งไว้ให้ทราบล่วงหน้า แถมลิ้งค์เข้าเว็บไซท์ของสถาบันนั้นๆ หน้าที่เราคือคลิกเข้าเว็บเลยค่ะ แล้วศึกษาว่าสถาบันไหนที่เปิดหลักสูตรตรงกับที่อยากจะไปเรียน แล้วลิสต์รายชื่อสถาบันนั้นๆเตรียมไว้เลย ไปถึงงานจะได้พุ่งเข้าเป้า เก็บข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อมาเปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกสถาบันได้ตรงกับความต้องการ
สิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่พลาดมากๆ คือ บางคนไม่เจอชื่อสถาบันที่ตัวเองรู้จักหรืออยากจะไป อาจจะคิดว่าไม่ต้องไปงานก็ได้ หรือไม่ก็เดินวนในงานหนึ่งรอบแล้วกลับบ้าน ทั้งๆ ที่แหล่งข้อมูลสำคัญทุกเรื่องที่คุณต้องจิกให้ได้ข้อมูลมาเนี่ย นั่งเรียงหน้ากันสลอนอยู่ในบูธต่างๆ นี่ล่ะค่ะ รุ่นพี่ศิษย์เก่าที่จบการศึกษามา และมานั่งที่บูธเหล่านี้ คือเค้าพร้อมที่จะให้ข้อมูลรุ่นน้องอย่างเต็มที่ค่ะ เพราะรุ่นพี่ทุกคนก็เคยเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์การหาข้อมูลไปเรียนต่อญี่ปุ่นมาก่อน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐมากคือมีใจที่อยากจะเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะสิ่งที่ให้นั้นคือ “ประสบการณ์” ที่ตนเองผ่านมาแล้ว อยากจะถ่ายทอดให้รุ่นน้องได้รับประสบการณ์นั้นบ้าง
งานแบบนี้คือไปเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับอนาคตของเราเอง ไม่ต้องกลัวว่าเข้าไปคุยแล้วจะถูกจับให้สมัครเรียน ยิ่งคุยเยอะ ยิ่งได้ข้อมูลเยอะ ไม่มีอะไรเสียแม้แต่นิดเดียว
3. เตรียมคำถามที่อยากสอบถาม
งานแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษาบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงเมืองไทยเพื่อให้ข้อมูลโดยตรง แถมมีล่าม หรือศิษย์เก่ามาช่วยแปลและตอบคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ อยากจะบอกว่าโอกาสแบบนี้ มันไม่ได้มีตลอดทั้งปี ที่นึกอยากถามตอนไหนก็โทรถามได้ง่าย ๆ ค่ะ ยิ่งถ้าเป็นการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วล่ะก็ จู่ๆ ส่งอีเมล์ไปถามใช่ว่าจะได้รับคำตอบโดยง่าย
ฉะนั้น อะไรที่เป็นข้อสงสัย เรื่องที่เรายังข้องใจ ไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่เราศึกษาเกี่ยวกับสถาบันนั้นๆ มาแล้ว แต่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากเว็บไซท์ ฯลฯ ลิสต์คำถามไว้เลยค่ะ ยิ่งถ้าเราศึกษาข้อมูลมาแล้วในระดับหนึ่ง แสดงว่าเรามีความสนใจสถาบันนั้นๆ อยู่ คราวนี้ทั้งเจ้าหน้าที่ ล่ามหรือรุ่นพี่ที่บูธจะเต็มที่กับเราอย่างมากค่ะ
อีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่อยากถามมากที่สุดคือเรื่องของ “ทุนการศึกษา”
ใครๆ ก็อยากได้ทุน ไปงานแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อหาทุน เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วค่ะ แต่จะหาทุนยังไงนี่สิคะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการบ้านขนานหนัก ประเภทที่จู่โจมด้วยการเข้าไปตามบูธของสถาบันการศึกษาแล้วถามว่า “ มีทุนไหมคะ” “ มีทุนอะไรบ้างคะ” อันนี้เจ๊อยากจะขอให้ปรับทัศนคติใหม่สักนิ้ดนะคะ การจะได้ทุนมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นค่ะ
ถ้าเราศึกษาข้อมูลของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นให้ดีล่ะก็ จะทราบว่า มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีทุนการศึกษาให้เยอะมากกกกกกค่ะ เป็นทุนประเภทที่เรียกว่า “ ทุนสำหรับนักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัว ” คือให้กับคนที่เป็นนักศึกษาของเค้าแล้ว
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ กลับไปอ่านข้อ 2 ใหม่
ศึกษาข้อมูลของสถาบันที่สนใจ นอกจากเรื่องสาขาวิชาที่ตรงกับที่อยากจะเรียนแล้ว ดูข้อมูลเรื่องทุนการศึกษาไว้ด้วย มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจำนวนมาก จะเขียนไว้เลยว่า มีระบบทุนการศึกษาหรือระบบลดค่าเล่าเรียนให้นักศึกษาต่างชาติอย่างไร หลายๆ แห่งเขียนไว้ตัวเป้งมาก ว่าสามารถยื่นสมัครขอทุนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ด้วย (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมีประเภทที่สมัครในประเทศญี่ปุ่นด้วย) หมายความว่าถ้ามหาวิทยาลัยตกลงรับคุณเป็นนักศึกษาล่ะก็ คุณมีโอกาสที่จะขอทุนได้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นฝ่ายแจ้งเสนอทุนให้กับผู้สมัครเรียนด้วยซ้ำค่ะ แต่แน่นอนว่า ถ้าคุณไม่ได้สมัครเข้าเรียนที่นั่น แต่จะไปขอทุนเค้าก่อนที่จะไปสมัครเรียน อันนี้แปลว่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ทุนสำหรับนักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัว” นะคะ
4. ดูกิจกรรมในงานและกำหนดการให้ดี
ข้อนี้เป็นเรื่องของการวางแผนที่จะใช้เวลาหนึ่งหรือสองวันในการเข้าร่วมงาน ชนิดที่เรียกว่าเก็บหมดทุกเม็ด ไม่ให้เล็ดรอด บางงานมีสัมมนาสารพัดหัวข้อ มีกิจกรรม เวิร์คช้อป ฯลฯ ฉะนั้นควรศึกษาตารางการจัดงานให้ดี แล้วจัดเวลาของเราเองว่าควรไปงานวันไหน เวลาไหน และช่วงไหนควรไปทำอะไร จะได้ไม่พลาดกิจกรรมหรือหัวข้อสัมมนาที่มีประโยชน์ต่างๆ ค่ะ พลาดแล้วก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมแบบนั้นจะมีอีกในอนาคตหรือเปล่า
5. ถ้าเป็นไปได้ ชวนผู้ปกครองไปด้วย
ไปเรียนต่อญี่ปุ่น ถามว่าใครจ่ายตัง?
ถ้าไม่ใช่คนที่สอบชิงทุนได้ไปเรียนฟรีล่ะก็ ส่วนใหญ่สปอนเซอร์ก็หนีไม่พ้นทุนพ.ก. ปะป๊ามะม้าเราทั้งนั้นน่ะล่ะค่ะ เรายังต้องวางแผนเตรียมตัวไปเรียน ก็ต้องให้คุณพ่อคุณแม่วางแผนเตรียมตัวจ่ายสตางค์ด้วยนะคะ แล้วสิ่งที่ผู้ปกครองคำนึงหรือสงสัย หลายๆ อย่างเป็นเรื่องที่เรามองข้าม การที่ท่านได้ไปพูดคุยกับสถาบัน โดยเฉพาะได้คุยกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าผู้ผ่านประสบการณ์มาแล้วทั้งหลายเนี่ย จะทำให้ท่านได้ไขข้อข้องใจ หรือคลายความกังวลไปได้อย่างมากเลยล่ะค่ะ
ผ่านไปกับ 5 ข้อแนะนำก่อนไปเดิน งานแนะแนวเรียนต่อญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะไปงานไหน อยากให้ทุกคนใช้เวลาเก็บเกี่ยวข้อมูลดีๆ ให้คุ้มค่านะคะ
ส่วนใครอยากมาเดิน JEDUCATION FAIR 2018 วัน้สาร์อาทิตย์นี้ ดูรายละเอียดที่นี่นะคะ
???? https://bit.ly/jfair-2018
???? 10-11 กุมภาพันธ์ 2561
⌚ 10.00-18.00 น.
???? โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท ชั้น 2
ลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้า รับของที่ระลึก
???? http://bit.ly/regist2018
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999 ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ
รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)
ติดต่อสอบถาม-ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line