ฤดูร้อนญี่ปุ่น…อยู่ให้รอดหน้าร้อนนี้ 「夏を生き残る natsu-o-ikinokoru」ตอนที่ 2 วิธีคลายร้อน
โดย อ.ปมโปโกะ
ตอนที่ 1… เล่าถึง ฤดูร้อน ของญี่ปุ่นไปแล้ว
คราวนี้เราลองมาดูว่าอากาศร้อนๆ อย่างนี้ คนญี่ปุ่นเขาอยู่กันยังไง อย่างแรกในเรื่องของความเป็นอยู่ ช่วงนี้ก็คงจะเริ่มเปิดพัดลม เปิดแอร์กันเหมือนเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีคนที่แพ้แอร์มาก ดังนั้น เวลาขึ้นรถไฟ ก็จะมีตู้ที่มีป้ายว่า「弱冷房車両」(jakureibou-sharyou)ซึ่งหมายถึง เป็นตู้ที่หรี่แอร์ เวลาขึ้นรถไฟดูดีๆ ครับ ถ้าขึ้นมาตู้นี้อาจจะอึดอัด เพราะเย็นไม่ถึงใจ
แต่การอยู่ในห้องแอร์นานๆ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพครับ เพราะนอกจากจะเป็นโรคภูมิแพ้ง่ายแล้ว อาจทำให้ร่างกายเซื่องซึม มึนหัวง่าย หรืออาจจะถึงขั้นหมดเรี่ยวหมดแรง หมดอาลัยตายอยากไม่อยากทำอะไรเลยก็มี ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นก็จะถือว่าเป็นโรค“นัตสึบาเตะ”(夏バテ:natsubate)
ดังนั้นเวลาเข้านอน โดยปกติคนญี่ปุ่นจะไม่เปิดแอร์ค้างทั้งคืนเหมือนคนไทย แต่ถ้าไม่เปิดก็จะนอนไม่หลับ เพราะความร้อนจากหมอนและเครื่องนอนทำให้นอนเหงื่อตกทั้งคืน ตื่นขึ้นมาก็คงไม่รู้สึกกะปรี้กะเปร่า บางคนจึงแนะนำให้ซื้อไอซ์น่อน(アイスノン:aisunon)ซึ่งเป็นกระเป๋าน้ำร้อน (ถุงเยลลี่สีฟ้า) เอาไปแช่ตู้เย็นแล้วเอามาหนุนหัวช่วยให้นอนสบาย ไม่ต้องทนกับความร้อนที่สะสมในหมอน หรือบางคนก็ซื้อเยลลี่แปะแก้หวัดซึ่งมีสารเหมือนไอซ์น่อนมาแปะหัว แปะตัวตอนจะนอน
เรื่องอาหารการกินก็เป็นเรื่องสำคัญครับ โดยปกติอาหารที่ช่วยทำให้ร่างกายเย็นขึ้นจะเป็นที่นิยมมาก เช่น ไอศกรีม โซบะประเภทจิ้มน้ำจิ้มเย็นๆ ที่เรียกว่า「ざるそば」(zaru-soba)หรือ「ざるそうめん」(zaru-soumen)หรือบะหมี่เย็น(冷し中華:hiyashi-chuuka) ซึ่งถ้าใส่หัวไชเท้าขูดละเอียดที่เรียกว่า「大根卸し」(daikon-oroshi)แล้วก็จะเรียกเมนูนั้นโดยเติมคำว่า「ぶっかけ」(bukkake)ซึ่งแปลว่า ราดหน้า ไว้ข้างหน้าชื่อเมนู หัวไชเท้านั้นมีความเย็นอยู่แล้วก็ยิ่งช่วยทำให้เวลากินสดชื่นมากขึ้น
นอกจากนี้ กาแฟเย็นก็เป็นที่นิยมมากในช่วงนี้ คนญี่ปุ่นกินกาแฟเย็นแบบขมๆ (ความรู้สึกเดียวกับเวลาที่เรากินโอเลี้ยงแล้วรู้สึกสดชื่น) อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเมืองไทยคือ มี “เบียร์การ์เด้น”(ビアガーデン:biagaaden)ช่วงนี้ คนจะกินเบียร์กันมากต่างจากเมืองไทยที่กินช่วงหน้าหนาว บริษัทเบียร์จึงสรรหาสินค้าใหม่ๆ มาออกช่วงนี้กันมาก เช่น เมื่อปี 1990 มีเบียร์แบบใหม่ที่เรียกว่า「発泡酒」(happou-shu)เป็นเหล้าที่มาตีฟองให้ฟูฟ่องแบบเบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่าเบียร์ แต่ได้ความรู้สึกไม่แตกต่างกัน
แต่เขาว่าการกินอาหารเย็นๆ เหล่านี้บ่อยๆ จะทำให้ท้องเสียง่าย และทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดบ่อยๆ จนเป็นโรค “นัตสึบาเตะ” ได้ง่าย เวลากินอาหารจึงควรเลือกอาหารที่ไม่เย็นเกินไป แต่มีสรรพคุณช่วยลดความร้อนสะสมในร่างกาย เช่น ข้าวหน้าปลาไหล(うな重:unajuu)หรือพวกอาหารที่ใช้เนื้อวัว กระเทียมเป็นส่วนประกอบ ที่เขาเรียกว่าเป็นอาหารประเภท “สตามิน่า”(スタミナ:sutamina)
ญี่ปุ่นคิดสูตรอาหารประเภท「ねばねば」(nebaneba)ซึ่งแปลว่า “เหนียวหนืด” เป็นการผสมอาหารที่เหนียวๆ เข้าไปในอาหารหลัก เช่น ถั่วหมักนัตโต(納豆:nattou) มันบด(とろろ:tororo) เห็ดนาเมะโกะ(なめこ:nameko) หรือ กระเจี๊ยบมอญ(オクラ:okura) ที่เวลากินแล้วจะมียางยืด เขาว่ามันดีต่อร่างกายโดยเฉพาะการป้องกันการเป็นนัตสึบาเตะ ส่วนอาหารเผ็ดๆ ขับเหงื่ออย่างอาหารไทยก็เป็นเคล็ดลับแก้ร้อน (บวกแก้เซ็ง) ที่มาแรงเช่นกัน
ส่วนเครื่องดื่มประเภทกาแฟ และเบียร์นั้น แม้ว่าตอนกินจะรู้สึกสดชื่น แต่สารในกาแฟและเบียร์จะเข้าไปทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงมาก จึงแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่(スポーツ・ドリンク:Sport Drink)จะดีกว่า นอกจากอาหารการกินแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ต้องพยายามทำตัวแอ็คทีฟออกงานสังสรรค์ต่างๆ เพิ่มกำลังกายไม่ให้ซึมอยู่กับบ้าน แต่ก็ต้องมีกำลังไปเบียดกับคนพอสมควรนะครับ
แต่หน้าร้อนก็อาจจะเป็นสวรรค์สำหรับคนอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ชอบเที่ยวทะเล ตามชายหาดก็จะมีคนแห่กันไป จนหาที่นั่งไม่เจอ สาวๆ จะได้ใส่บิกินี่ แต่ก็ต้องระวังพวกถ้ำมอง แอบถ่ายรูปสาวๆ คนไทยที่จะไปถ่ายรูปสุ่มสี่สุ่มห้าก็ต้องระวังเพราะอาจจะโดนจับด้วยข้อหาอนาจารย์ ตามชายหาดที่เคยเงียบสงบก็จะมีร้านอาหารมาเปิดเฉพาะกิจที่เรียกว่า「海の家」(umi no ie)แปลตรงตัวคือ “บ้านทะเล” หมดฤดูก็รื้อโครงไม้ทิ้ง ในญี่ปุ่นมีพวกที่ชอบผิวเกรียมตลอดปี พวกนี้ก็จะมาอาบแดด(日焼け:hiyake)กันด้วย บางคนเกรียมจนผิวลอกเป็นแผ่น
อีกเรื่องที่ต้องระวังช่วงหน้าร้อนคือ ช่วงนี้แมลงจะชุกชุมมาก ทั้งหนอน ทั้งแมลงสาป(ゴキブリ:gokiburi) ทั้งยุง(蚊:ka)เติบโตได้ดี เวลานอนบางทีอาจจะรู้สึกคัน เพราะไรฝุ่น(ダニ:dani)เรื่องนี้เป็นปัญหามาก หน้านี้พวกอาร์ทแม็ตหรือพวกกระป๋องจุดกำจัดไรฝุ่นจึงขายดี ลองซื้อมาจุดปีละครั้งก็ดีครับ
ส่วนตามห้องน้ำก็จะมีเชื้อรา(カビ:kabi)ขึ้นได้ง่ายด้วย ก็ต้องกำจัดเชื้อรา เรียกว่าเพื่อนร่วมโลกยกขบวนกันมาเยี่ยมบ้านเราเยอะเหลือเกิน อาหารวางไว้วันสองวันราก็ขึ้นแล้ว จึงไม่ควรซื้อของตุน ต้องซื้อแบบเฉพาะที่จำเป็น จนถึงปลายเดือนกันยายน อากาศจึงค่อยเย็นขึ้น พร้อมกับลมแรงๆ บ่งบอกช่วงเวลาเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line