ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักศึกษาวิจัย

ดร.คณิน เนื่องโนราช
ผมไม่ใช่คนเก่ง บ้านไม่รวย  ผมมี “ความพยายาม”
แต่ความพยายามของผมมันจะไร้ค่าทันที ถ้าผมปราศจากสิ่งที่เรียกว่า “เป้าหมาย”

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักศึกษาวิจัย

ประวัติการศึกษา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี (เกียรตินิยมอันดับ ๑)
มหาวิทยาลัยโทโฮคุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเคมีประยุกต์ (วัสดุนาโนคาร์บอน)
Tohoku University, Graduate School of Engineering, Department of Applied Chemistry (Nano-carbon Materials)
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประจำปี 2008 ประเภท นักศึกษาวิจัย ( Research Student )

ที่มาของบทสัมภาษณ์

Jeducation รู้จัก “เคน” หรือปัจจุบันต้องเรียกว่า อ.เคน  เมื่อปี 2008  ในฐานะของ ” นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น”  ที่กำลังจะเดินทางไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น   เคนมาถ่ายทอดประสบการณ์การสอบชิงทุน  ในงานสัมมนา “คุยกับรุ่นพี่ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น” ซึ่ง Jeducation จัดมาเป็นประจำทุกปี  เคนบอกกับเราว่า  เค้าเองเคยเป็นหนึ่งในคนที่มานั่งฟังความรู้ดีๆ จากรุ่นพี่แบบนี้   จึงยินดีที่จะนำประสบการณ์ของตนเองมาถ่ายทอดให้รุ่นน้องๆ อย่างเต็มที่

ken เล่าประสบการ สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

จนถึงวันนี้ จากนายคณิน มาเป็น ดร.คณิน … คำนำหน้าชื่อที่เปลี่ยนไป   แต่จิตวิญญาณที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นอย่างเต็มที่ ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ

 

การสอบ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น 

อยากให้เล่าเรื่องการ สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ค่ะ ว่าสอบไปกี่ครั้ง  การเตรียมตัวเรื่องการสอบแต่ละครั้ง และหลังจากที่ไม่ผ่านในครั้งแรก  ครั้งต่อมามีการเตรียมตัวอย่างไรต่อ

อันนี้ต้องขอเท้าความย้อนหลังไปตั้งแต่สมัย ม.ปลาย เลยครับ  ผมเคยได้รับเสนอชื่อเพื่อเข้ารับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบทุนนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยี (College of Technology Students 専攻学校  )  แต่ตอนนั้นไม่ได้รับการตอบรับจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นครับ ก็เลยพลาดทุนนั้นไป ก็เลยสัญญากับตัวเองไว้เลยว่า จะต้องไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นให้ได้

ทีนี้พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เลยตั้งใจเรียนเป็นพิเศษครับ เพราะการที่จะ “มีสิทธิ์” สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ในระดับนักศึกษาวิจัยนั้น ( ณ ตอนนั้น ) เกรดเฉลี่ยสะสมจะต้องมากกว่า ๓.๕๐ ซึ่งมันสูงมาก   แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสังคมนักศึกษามหาวิทยาลัยไปนะครับ ก็มีเพื่อนฝูง มีสังคม ทำกิจกรรมตามปกติ แค่ต้องแบ่งเวลาให้ดีๆ

นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ผมมาสอบ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักศึกษาวิจัย ครั้งแรกตอนอยู่ปีสี่ครับ  เหมือนลองสนามนะ เพราะรู้ตัวเองว่ามีจุดด้อยอยู่อีกหลายด้าน สอบเสร็จรู้เลยว่าตัวเองต้องพัฒนาในด้านใด ผลก็เป็นไปตามคาดครับ สอบตก ๕๕๕ แต่ได้ลองทำข้อสอบจริงทำให้ได้รู้ว่าตัวเองยังอ่อนภาษาอังกฤษอยู่มาก หลังเรียนจบระดับ ป.ตรี ผมเลยทำงานไปด้วย เรียนพิเศษภาษาอังกฤษไปด้วย นับว่าเป็นหนึ่งปีที่ทุ่มเทให้กับพื้นฐานภาษาของตัวเองมากๆ ครับ แล้วมันก็ส่งผลดีในระยะยาวมาจนถึงทุกวันนี้ คุ้มจริงๆ

ปีต่อมาก็สอบรอบสองครับ สอบข้อเขียนก็ผ่านแหละครับ ขนมกรุบ ๕๕๕ ลอยลำเข้ารอบสัมภาษณ์ ยอมรับว่ารอบนี้ผมไม่กังวลมาก เพราะในระหว่างที่ผมทำงาน แล้วก็เรียนภาษาเพิ่มเติมนั้น ผมก็หมั่นอัพเดตข้อมูลงานวิจัยไปด้วย เลยค่อนข้างมั่นใจในรอบนี้ ประมาณว่าถามมาตอบได้ ภาษาแน่น ข้อมูลเป๊ะ

ผลสอบสัมภาษณ์ออกมาก็ ผ่านครับ ยังจำวันที่รู้ผลสอบได้ดีเลยครับ ปากก็บอกว่าไม่เครียด แต่มือนี่สั่นมาก พอรู้ว่าผ่านเท่านั้นแหละ บ่อน้ำตาแตกครับ ๕๕๕ ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่ได้ทุนนี้ก็คงมีประสบการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน

 

น้องๆ ทุกคนก็อยากได้ทุนการศึกษา  คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับทุน  หรือต้องทำยังไง ต้องมีความคิดยังไงถึงจะทำให้มีโอกาสได้รับทุนมากขึ้น

ผมไม่ขอพูดถึงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นระดับ ป.ตรี ละกัน เพราะน้องๆ นั้นเก่งมาก นับถือๆ
ขอพูดรวมๆ ในเรื่องของการสมัครทุนละกันนะครับ ผมมองว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในการสมัครรับทุนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง โอเคว่าถ้าคุณเก่งอยู่แล้วย่อมมีภาษีดีกว่าคนอื่น แต่นอกเหนือจากความเก่งแล้ว สิ่งที่สำคัญที่นักศึกษาทุนต้องมีคือ “ความพยายาม” ครับ

ผมไม่ใช่คนเก่ง บ้านไม่รวย ผมมีความพยายาม  แต่ความพยายามของผมมันจะไร้ค่าทันที ถ้าผมปราศจากสิ่งที่เรียกว่า “เป้าหมาย” ครับ

ถ้าน้องๆ อยากประสบความสำเร็จ น้องๆ ต้องมีเป้าหมายครับ ลองถามตัวเองดูสิครับว่าที่จริงแล้วอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร มองภาพในอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร แล้ววิ่งตามเป้าหมายนั้นครับ

monbusho_ken015 monbusho_ken017 เคน หลัง สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

 

นอกเหนือจากทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว  การไปเรียนที่ญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะได้ทุนประเภทอื่นๆ อีกไหมคะ  จะต้องทำยังไงหรือมีวิธีการหาข้อมูลยังไงบ้าง

อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงเลยครับ ผมได้ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จนถึงแค่ระดับ ป.โทครับ แล้วผมไม่สามารถต่อทุนไปถึงระดับ ป.เอกได้ คือการขอต่อทุนมันก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยที่คุณจะต้องผ่าน ไว้เป็นนักเรียนทุนแล้วก็ค่อยๆ ศึกษาเอานะครับ เอาเป็นว่า ผมตัดสินใจต่อเอก ทั้งๆ ที่ไม่มีทุนครับ  ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตเลย แต่ผมกลับมองว่า ไหนๆ ผมก็มาถึงขนาดนี้แล้ว กัดฟันสู้ต่ออีกนิดนึงจะเป็นไรไป (แต่ก็ไม่ค่อยแนะนำให้ทำตามสักเท่าไหร่นะครับ เพราะชีวิตช่วงนั้นลำบากพอสมควร)  ผมใช้เวลาช่วงปีที่หนึ่งของ ป.เอก หาทุนครับ

แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดตอนนั้นคือมหาวิทยาลัยครับ เค้าจะมีหน่วยงานที่จะคอยช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงข้อมูลทุนการศึกษาต่างๆ ตอนนั้นจำได้ว่ามีทุนอะไรผ่านเข้ามาสมัครหมด ร่อนใบสมัครไปไม่น้อยกว่า ๓๐ ที่ครับ  

สุดท้ายก็มาได้ทุนของ Sato Yo International Scholarship Foundation  ครับ ขออนุญาต acknowledge ไว้ ณ ที่นี้ด้วยเลยนะครับ เป็นอีกหนึ่งทุนการศึกษาที่ดีมากๆ ครับ ไม่แพ้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเลยทีเดียว

สรุปนะครับว่า ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ใช่ your only solution to study in Japan นะครับ มันอยู่ที่ว่าเราพยายามหาข้อมูลมากน้อยแค่ไหนมากกว่า ทุนเรียนในญี่ปุ่นมีมากกว่ากว่าที่คุณคิดเยอะมากครับ

 

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักศึกษาวิจัย

ลักษณะการเรียนในญี่ปุ่น

อยากให้พูดถึงลักษณะการเรียนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยของญี่ปุ่น จากประสบการณ์ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร เพราะนักศึกษาไทยคงนึกภาพไม่ออกหรืออาจจะยังไม่เข้าใจเท่าไรนัก  โดยเฉพาะคำว่านักศึกษาวิจัย การทำวิจัย

อันนี้คงต้องขอโยงไปถึงระบบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของไทยก่อนนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ lecture-based คือมีสัดส่วนของคาบเรียนค่อนข้างมาก

แต่ในญี่ปุ่นนั้นจะเป็นแบบ research-based ครับ คือแทบจะไม่มีเรียนเลย เน้นทำวิจัย ก็คือต้องวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในสายที่เรากำลังศึกษา เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นสายวิทย์ก็จะต้องทำการทดลอง วิเคราะห์และสรุปผลการทดลอง ส่วนสายศิลป์ก็อาจจะต้องทำการ survey กลุ่มตัวอย่าง หรือ review literatures อะไรทำนองนี้ครับ

แล้วการทำงานวิจัยในญี่ปุ่น เราจะได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถหลายๆ ท่านแบบใกล้ชิด ตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษา (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศาสตราจารย์) และนักวิจัยท่านอื่นๆ ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ระดับ ป.เอก ผศ. และ รศ. ซึ่งผมมองว่ายิ่งทำให้เราได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเราเอง รวมไปถึงจะทำให้เราได้ทราบว่าเราเหมาะสมกับงานด้านนั้นๆ มากน้อยเพียงใดครับ

เนื่องจากระบบการศึกษาในญี่ปุ่นนั้นเป็นแบบ research-based นะครับ ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น   จึงมีระบบ research student หรือนักศึกษาวิจัย ซึ่งเป็น non-degree program ครับ คือทำวิจัยอย่างเดียว ไม่ได้ปริญญา และทางทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตก็จะให้นักเรียนทุนทุกคนไปเป็นนักศึกษาวิจัยก่อน เพื่อทำการปรับตัว ปรับพื้นฐานภาษาและอื่นๆ ครับ เมื่อนักเรียนทุนพร้อม  จึงค่อยสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนสภาพจากนักศึกษาวิจัยไปเป็นนักศึกษาระดับโทหรือเอกครับ

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น วิจัย

monbusho_ken011

ตอนที่เรียนที่ญี่ปุ่นทำวิจัยเรื่องอะไรคะ ทำไมถึงทำเรื่องนี้ แล้วสาขาวิชาหรืองานวิจัยที่ทำที่ญี่ปุ่นเนี่ย  มีข้อแตกต่างจากการไปเรียนที่ประเทศอื่นไหม

ตัวผมเองทำงานวิจัยทางด้านวัสดุนาโนคาร์บอนครับ จะไม่ขอลงลึกทางด้านงานวิจัยนะครับ เพราะมันเฉพาะทางมากๆ เหตุผลที่เลือกทำงานวิจัยด้านนี้มาจากอาจารย์ที่ปรึกษาของผมในระดับ ป.ตรี ครับ ท่านจบการศึกษามาจาก ม.โทโฮคุเหมือนกัน และถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและแรงผลักดัน (ที่สำคัญมาก) ให้ผมมาเรียนต่อที่นี่ครับ (ขอกราบขอบพระคุณ รศ.ดร.เมตตา เจริญพานิช มา ณ ที่นี้ด้วยครับ) ผมได้เริ่มทำงานวิจัยทางด้านนี้กับท่านและรู้สึกชอบ ท่านเลยให้ข้อมูลอาจารย์ที่ปรึกษาที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านนี้ครับ รวมถึงท่านสั่งสมความรู้ทางด้านวัสดุนาโนคาร์บอนมานาน ซึ่งเป็นข้อดีมากๆ สำหรับผม

แต่ถ้าจะถามว่ามีความแตกต่างจากการเรียนต่อที่อื่นมั้ย ผมคงต้องขอตอบว่าไม่น่าจะมีมากนะครับ  การจะเรียนต่อทางสายวิทย์นั้น สิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ เลยคือ ใจรัก เครื่องมือต่างๆ นานา และเงินวิจัยครับ ซึ่งงานด้านผมนั้นนอกจากในญี่ปุ่นแล้ว ที่อเมริกาหรือยุโรปก็ดังไม่แพ้กันครับ แต่มันก็มีหลายๆ องค์ประกอบครับที่ทำให้ผมเลือกที่จะมาเรียนที่นี่ ซึ่งผมก็พูดได้เลยว่าผมเลือกไม่ผิด

สิ่งที่ผมมองว่าเป็นข้อดีมากๆ ของการมาเรียนที่ญี่ปุ่นคือ การทำงานแบบญี่ปุ่นครับ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ก็แล้วแต่ว่าเราจะปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเราอย่างไรให้ไม่ตึงไป หรือหย่อนไปครับ

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น วิศวะ

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

การเรียนในเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวง คิดว่ามีข้อดียังไงคะ หลายๆ คนอาจจะกังวลว่าต่างจังหวัดคือบ้านนอก

อืม ผมมองว่ามันแล้วแต่ life style ของแต่ละคนนะครับ

ตัวผมเองเป็นคนไม่ชอบชีวิตคนเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเรียนในต่างจังหวัดจึงดูจะตอบโจทย์ได้มากกว่าอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ มหาวิทยาลัยนั้นๆ มีจุดเด่นในสายงานเรามากน้อยแค่ไหนมากกว่าครับ

ยกตัวอย่างเช่น ม.โทโฮคุ (สำหรับคนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อ) โทโฮคุ แปลว่า ภาคอีสานครับ ๕๕๕ ตั้งอยู่ที่เมืองเซนได จังหวัดมิยากิครับ ซึ่งเมืองเซนไดก็ถือว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองหลักของภูมิภาคโทโฮคุ ไม่เล็กไปและไม่ใหญ่ไป อยู่ง่าย อากาศสบายๆ ไม่ร้อนไปหรือหนาวไป แล้ว ม.โทโฮคุก็ดังมากๆ ทางด้านวิศวกรรมและวัสดุศาสตร์ ดังนั้นผมก็เลยมองไม่เห็นเหตุผลที่จะไม่เลือกมาเรียนที่นี่ครับ

มหาวิทยาลัยโทโฮคุ  นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ความรู้ภาษาญี่ปุ่นจำเป็นต่อการเรียนการใช้ชีวิตยังไงคะ  คิดว่าควรมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นไปเรียนดีกว่าไหม

จำเป็นมากครับ ยิ่งถ้าคิดว่าตัวเองเป็นพวกขาดสังคมไม่ได้ ต้องมีเพื่อนฝูงคอยล้อมรอบอยู่ตลอดเวลา ยิ่งจำเป็นหนักเลยครับ ผมว่าสังคมของคนญี่ปุ่นทั่วไปยังเป็นแบบสังคมปิดอยู่นะครับ การที่จะหาเพื่อนคนญี่ปุ่นได้จริงๆ จังๆ สักคน ผมว่ามันจะต้องใช้กำลังภายในเป็นอย่างมาก นอกจากความรู้ด้านภาษาแล้ว เราจะต้องเข้าใจในวัฒนธรรมพื้นฐานของคนญี่ปุ่นว่าเค้ากินอยู่กันยังไง ชอบไม่ชอบ  อะไร ทำนองนี้น่ะครับ แต่ผมก็มองว่ามันคือการลงทุนที่คุ้มค่านะครับ ถ้าเราจะได้เพื่อนดีๆ ที่จริงใจกลับมาสักคน

แต่หลายๆ คนอาจจะมองว่าภาษานั้นไม่ค่อยจำเป็นสำหรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ที่วัยรุ่นรวมถึงบุคลากรล้วน(พอ) พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งอันนั้นผมก็ไม่เถียงนะครับ

แต่ทีนี้เราต้องอย่าลืมว่าชีวิตเราไม่ได้มีอยู่ในแค่ภายในรั้วของมหาวิทยาลัยนะครับ ยังไงเราก็ควรใช้โอกาสนี้ออกไปเรียนรู้อะไรๆ ข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยบ้างนะครับ

ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น สอบ

ชีวิตนักเรียนในญี่ปุ่น

ปัญหาหรืออุปสรรค

อะไรที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค ความยากลำบากในการเรียนที่ญี่ปุ่นคะ  แล้วคิดว่าควรต้องทำยังไงถึงจะรับมือกับมัน หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

ผมว่าถึงแม้ว่าเราจะพูดญี่ปุ่นคล่องและคิดว่าตัวเองเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นดี แต่ยังไงมันก็จะต้องมีกำแพงของภาษาและวัฒนธรรมอยู่ดีล่ะครับ คือมันจะมีบางจุดจริงๆ ที่เราเอื้อมไปไม่ถึง เข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจ ถ้าจะให้ผมแนะนำก็คงต้องปล่อยวางล่ะครับ พึงระลึกไว้ว่าที่นั่นไม่ใช่บ้านเรา เราต้องยอมรับความแตกต่าง ปรับตัว และอยู่กับมันให้ได้ครับ ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ หาคนไทย เพื่อนคนไทย เด็กเสิร์ฟร้านอาหารไทย อะไรๆ ทำนองนี้ครับ นานๆ ที การได้พูดภาษาไทยกับคนไทยจริงๆ ในที่ต่างบ้านต่างเมืองนี่ก็ช่วยได้เยอะนะครับ คลายเหงาได้ด้วย แต่ถ้าอยากจะระบาย ปรึกษาปัญหา ก็ลองๆ มองหาเพื่อน ไม่ก็รุ่นพี่ดูครับ

จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในต่างประเทศ ต้องยอมรับความแตกต่าง ปรับตัว แล้วอยู่กับมันให้ได้ครับ พยายามมองในมุมกลับ ใจเขาใจเราเยอะๆ ครับ พยายามนึกไว้เสมอว่า ถ้าเราเจอคนต่างชาติอยู่ในประเทศของเราเอง เราจะคาดหวังอะไรจากเขา แล้วเราอยากหรือไม่อยากให้เขาทำอะไรครับ ถ้าคิดได้แบบนี้ เราจะเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้นครับ

monbusho_ken018

คิดว่าการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นให้อะไรกับเรา

ผมว่านอกจากผมจะได้ความรู้พร้อมใบปริญญากลับมาติดฝาบ้านแล้วนะครับ การไปเรียนที่ญี่ปุ่นให้ประสบการณ์ที่มีค่ากับผมในหลายๆ ด้าน ผมได้ฝึกการใช้ความคิด คิดให้เป็นเหตุเป็นผล สมเหตุสมผล คิดในหลายๆ มุมมอง รวมไปถึงฝึกความอดทนด้วยครับ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราจะเจออะไรข้างหน้าบ้าง

แน่นอนว่ามันย่อมมีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี ผมก็ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับมันอย่างมีสติครับ อันนี้สำคัญมากครับ ท้ายที่สุดแล้วปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามามันจะคลี่คลายลงไปครับถ้าเรามีสติ สติมา ปัญญาเกิดครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ตลอดช่วงเวลาที่ผมเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น คือ การให้ความสำคัญกับบุคคลรอบตัวครับ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะบุพการีครับ การที่เราอยู่ไกลกันกับครอบครัว จะยิ่งทำให้เราได้เห็นคุณค่าของบุพการีครับ วันที่เรามีความทุกข์มากที่สุดก็จะมีพ่อแม่เรานี่แหละครับที่คอยยืนเคียงข้าง ให้คำปรึกษา และคอยเป็นกำลังใจให้กับเราอยู่เสมอ

เจ็ดปีที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะบอกรักคนในครอบครัวได้อย่างไม่เขินอาย รวมไปถึงตระหนักในความสำคัญของพวกท่าน  เพราะความรัก ความห่วงใย และการเสียสละของบุพการี ทำให้ผมมีวันนี้ครับ

monbusho_ken006  monbusho_ken012

ถ้ามีคนรู้จักมาถามว่าไปเรียนต่อญี่ปุ่นดีไหม จะบอกเค้าว่าอะไรคะ

ผมว่ามาถึงจุดนี้แล้ว ถ้ามีคนมาถามผมแบบนี้ว่าไปเรียนที่ญี่ปุ่นมันดีมั้ย แสดงว่าเค้าคนนั้นยังไม่พร้อมในสายตาผมนะครับ เค้าอาจจะยังมองภาพที่แคบเกินไป แทนที่เค้าจะมองว่าญี่ปุ่นดีสำหรับเค้ามั้ย เค้าควรจะมองกลับกันว่า “แล้วเค้าล่ะ ดีพอที่จะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นหรือยัง”

 

ถ้าคุณคิดว่าคุณพร้อมแล้ว จะรออะไรอีกล่ะครับ?

 

monbusho_ken023

ดร. คณิน เนื่องโนราช
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

>> ข้อมูลทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

>> แนะนำการสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักศึกษาวิจัย 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-2677726
email : ask@jeducation.com
Line ID : @jeducation

Scroll to Top