การเรียนสาขา อักษรศาสตร์ ในประเทศญี่ปุ่น
อ.ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี
คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สาขาอักษรศาสตร์ในที่นี้ กล่าวรวมถึงการศึกษาในคณะศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และอื่นๆ ที่มีการเรียนทางด้านภาษา วัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา สำหรับที่ญี่ปุ่นนิยมเรียกว่า “บุงงักขุ”(文学部) ผู้เข้าศึกษาศาสตร์แขนงนี้ ส่วนใหญ่ต้องการเรียนให้รู้ภาษาอย่างลึกซึ้งเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ผู้ที่อยากเป็นนักเขียน นิยมเรียนภาษาของตนเองให้แตกฉาน ผู้ที่อยากเป็นล่าม นักแปล นิยมเรียนภาษาต่างประเทศ ผู้ที่อยากเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของสังคม หรือแนวคิดของมนุษย์ก็มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา
ระดับปริญญาตรี
สำหรับผู้ที่ต้องการจะสอบเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ญี่ปุ่นนั้น จะต้องมีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างดี เกือบทุกสถาบันกำหนดว่าจะต้องมีความรู้ระดับ ๑ ในการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากว่าต้องศึกษาโดยใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาสื่อกลาง การคัดเลือกนักเรียนต่างชาติก็ค่อนข้างเข้มข้น มีการสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์
บรรยากาศในการเรียนศาสตร์เหล่านี้ในระดับปริญญาตรีในญี่ปุ่นนั้นก็คงไม่ต่างจากในประเทศไทย คือมีการเลือกวิชาเอก มีชั่วโมงบรรยายใหญ่สำหรับวิชาที่เป็นวิชาพื้นฐาน และมีวิชาบรรยายย่อยสำหรับวิชาที่เป็นวิชาเอก และเมื่อครบ ๔ ปีแล้ว ก่อนจบการศึกษานักศึกษาจะต้องส่งปริญญานิพนธ์ หรือ “ซตสึเงียว รมบุง”(卒業論文) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากการอ่านงานวิจัยที่ตนเองสนใจ และการทดลองวิจัยในระดับที่ยังไม่ซับซ้อนนัก
สำหรับนักศึกษาญี่ปุ่น “ซตสึเงียว รมบุง” เป็นเหมือนหน้าตาของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่จะศึกษาในระดับปริญญาโท หรือคนที่ต้องการทำงานสายงานวิจัย R&D ในบริษัทหรือสถาบันวิจัยชั้นนำ ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวญี่ปุ่นหลงใหล มักจะต้องยื่นปริญญานิพนธ์พร้อมกับใบสมัคร ดังนั้น ในช่วงปี ๓-๔ จะมีวิชาสัมมนาเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำปรึกษาการเขียนปริญญานิพนธ์อย่างเต็มที่
การเรียนในระดับปริญญาตรีในญี่ปุ่นจะมีความเป็นอิสระมาก กล่าวกันว่าชาวญี่ปุ่นหลายคนจะมุ่งมั่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่เมื่อเข้าได้แล้วมักปล่อยปะละเลย บางคนให้ความสำคัญกับกิจกรรมชมรมมากกว่าการเรียนภาคปกติ เช่น ชมรมผู้ประกาศข่าว เพราะนักศึกษาจะได้คลุกคลีกับรุ่นพี่ซึ่งอยู่ในสายงานดังกล่าว และได้มีโอกาสฝึกวิชาชีพอย่างที่หาในชั้นเรียนไม่ได้ หรือบางคนอาจจะหากลุ่มเพื่อนมาร่วมหุ้นทำธุรกิจกันตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย ที่เสียคน เอาแต่เฮฮาปาร์ตี้ ไม่ตั้งใจเรียนก็มี
สำหรับสังคมญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรด หรือเกียรตินิยม แต่ให้ความสำคัญกับความรอบรู้ เป็นมืออาชีพในการทำงาน การเรียนในชั้นเรียนจึงถูกลดความสำคัญลงไป นักศึกษาบางคนมาหลับในชั่วโมงเพียงเพื่อให้ได้เช็คชื่อ แต่ที่ตั้งใจเรียนอย่างจริงจังก็มีไม่น้อย ดังนั้นนักศึกษาต่างชาติต้องตั้งสติให้มั่นว่าเรามาหาอะไรที่นี่ หากเราไม่ได้อยู่ในสังคมญี่ปุ่นหลังจบการศึกษา ก็ไม่ควรจะเรียนโดยยึดแบบชาวญี่ปุ่นเป็นเยี่ยงอย่าง ควรจะพยายามเก็บเกี่ยวเนื้อหาวิชาให้เต็มที่
ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
สำหรับผู้ที่ต้องการมาศึกษาปริญญาโทหรือเอก กรณีที่เป็นการศึกษาภาษาต่างประเทศ หรือญี่ปุ่น มักจะแยกเป็นการศึกษาในสายภาษาศาสตร์ “เก็งโงะงักขุ”(言語学)หรือวรรณคดี “บุงงักขุ”(文学)โดยการวิจัยจะเข้มข้นมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะศึกษาที่ญี่ปุ่นหรือในประเทศไทยก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวิจัยเป็นการสร้างระบบความคิด คิดอย่างมีเหตุผล มีการพิสูจน์สมมติฐาน และสรุปผลเป็น การวิจัยจึงเป็นเหมือนการอบรมวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นไม่เน้นให้เรียนสูงๆ แต่เน้นให้เรียนแล้วได้นำไปใช้จริง
ดังนั้น คนที่จะเข้าศึกษาปริญญาโทหรือเอกมักเป็นคนที่มีความสนใจอยากจะเป็นนักวิจัย หรือศึกษาเพื่อไปเป็นอาจารย์ในอนาคต หากการศึกษาปริญญาโทเป็นการแนะนำให้ผู้เรียน “วิจัยเป็น” การศึกษาปริญญาเอกก็เหมือนกับการฝึกให้ผู้เรียนบริหารการวิจัย และฝึกให้ทำเป็นอาชีพ กล่าวคือไม่ใช่แค่วิจัยเป็น แต่ต้องสรุปผลและนำเสนอ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ในศาสตร์ของตนเองเป็นด้วย ด้วยเหตุนี้คำถามแรก เมื่อต้องการจะศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอกก็คือ “คุณอยากจะทำวิจัยเรื่องอะไร”
โดยปกตินักศึกษาญี่ปุ่นจะนำปริญญานิพนธ์มายื่นเมื่อตอนสมัคร แต่การศึกษาสายอักษรศาสตร์โดยปกติในประเทศไทยจะไม่มีปริญญานิพนธ์ ดังนั้นถ้ามีความประสงค์จะเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ก็ควรจะลงเรียนวิชาเขียนรายงานวิจัยภาษาญี่ปุ่นซึ่งเปิดสอนในหลักสูตรอักษรศาสตร์ทั่วไป หากหัวข้อที่ทำตรงกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ อาจารย์ก็สามารถพิจารณาศักยภาพของเราได้ แต่หากไม่ตรงหรือไม่มีก็อาจจะจำเป็นต้องเขียนจดหมายแนะนำตัว แจ้งหัวข้อวิจัยที่สนใจ และข้อมูลว่าเราได้อ่านงานวิจัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจมาบ้าง อาจารย์ที่ปรึกษาจะพิจารณาศักยภาพว่าเราจะเรียนในหลักสูตรได้หรือไม่ และอาจารย์สามารถเป็นที่ปรึกษาได้หรือไม่ต่อไป
ตั้งแต่ก่อนสอบเข้าปริญญาโท ผู้สอบต้องเตรียมความรู้พื้นฐานในศาสตร์ที่ตนจะศึกษาในระดับหนึ่ง เนื่องจากเมื่อเข้าศึกษาแล้ว ความรู้ดังกล่าวจะกลายเป็นความรู้ที่ถือว่าทุกคนรู้แล้วไม่มีการสอนอีก แต่จะสอนเรื่องใหม่ๆ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าปริญญาโท อาจจะสมัครเข้าเป็น นักศึกษาวิจัย หรือ “เคงคิวเซ”(研究生) ไปก่อนเพื่อเตรียมความรู้ ข้อดีของการสมัครเป็น “เคงคิวเซ” ก่อนสอบเข้าปริญญาโท คือ มีความคุ้นเคยในระบบการศึกษาของสถาบันและบุคลิกของอาจารย์ที่คาดหวังจะให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามากขึ้น และมีเวลาได้ปรับความคุ้นเคยกับการอาศัยในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีโอกาสเตรียมสอบได้อย่างเต็มที่
การเรียนการสอนในระดับปริญญาโทในญี่ปุ่นก็จะคล้ายๆ กับปริญญาตรี คือ มีวิชาบรรยาย และวิชาสัมมนา เพียงแต่วิชาบรรยายจะมีน้อยลง และมักมีการประเมินผลโดยการทำรายงานส่ง ซึ่งนักศึกษามักจะทำรายงานเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ตนกำลังสนใจจะทำวิจัย เพื่อจะได้นำผลจากรายงานไปใช้ในงานวิทยานิพนธ์ของตนด้วย ส่วนวิชาสัมมนาจะมีมากขึ้น โดยเป็นวิชาที่นักศึกษาแต่ละคนจะนำงานวิจัยเก่าๆ มาร่วมอ่านและวิเคราะห์ร่วมกัน หรือบ้างก็นำเสนอความคืบหน้าของงานวิจัยของตนเอง
ในช่วง ๑ ปีแรกอาจมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อวิจัยได้ แต่หลังจากปีแรกแล้ว เกือบทุกสถาบันจะกำหนดให้นักศึกษาส่ง Proposal หรือหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ต้องการจะเขียน ดังนั้นในปีแรก นอกจากนักศึกษาจะเรียนวิชาบรรยายเพื่อเก็บหน่วยกิตแล้ว ยังต้องรีบกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยปรับให้มีหัวข้อแคบลงแต่ทำอย่างเข้มข้น เมื่อส่ง Proposal แล้วก็ควรเก็บข้อมูลพร้อมเขียนให้เสร็จภายในเทอมที่ ๓ และใช้เวลาวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ออกมาเป็นรูปเล่มในเทอมที่ ๔
สำหรับนักศึกษาปริญญาเอก แม้ว่าจะมีระยะเวลา ๓ ปี แต่เนื่องจากในการศึกษาขั้นนี้จะมีเงื่อนไขประกอบการส่งวิทยานิพนธ์ ซึ่งแตกต่างไปตามมหาวิทยาลัย เช่น กำหนดว่าจะต้องส่งงานตีพิมพ์กี่ชิ้น ต้องเสนอผลงานในการประชุมวิชาการกี่ครั้ง อีกทั้งยังต้องเป็นลูกมือช่วยเหลืองานในห้องวิจัย ระยะเวลา ๓ ปีจึงแทบไม่พอ (มีบางมหาวิทยาลัยที่สร้างคอร์สให้จบง่าย) กว่าจะทำครบเงื่อนไขก็หมดเวลา ๓ ปีแล้ว จึงอาจจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่ามีโอกาสที่จะจบช้ากว่า ๓ ปีสูง
การเรียนในสายอักษรศาสตร์นี้จำเป็นต้องมีการศึกษางานวิจัยดั้งเดิมอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่ศาสตร์ที่ประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แต่เป็นศาสตร์ที่นิยมนำแนวคิดเก่ามาปรับใช้สร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือ ปรับปรุงองค์ความรู้เก่า การอ่านงานวิจัยดั้งเดิมจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากจะใช้อ้างอิงในงานวิจัยของตนแล้ว ยังช่วยให้ทราบความเคลื่อนไหวในศาสตร์ของตน ห้องสมุดจึงถือเป็นแหล่งความรู้สำคัญ นอกจากห้องสมุดแล้ว การไปงานวิชาการหรือ “กักไค” ก็จะช่วยให้เราทราบข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราวิจัยอยู่
การเรียนในสายนี้ส่วนใหญ่ไม่มีห้องวิจัย หรือห้องแล็บแบบสายวิทยาศาสตร์เพราะไม่ค่อยมีเครื่องมือเฉพาะทางราคาแพง ดังนั้น การเก็บข้อมูล ผู้เรียนก็จะต้องพึ่งพาตนเอง เช่น จะไปสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์อัดเสียง อัดภาพเอง กรณีที่สามารถหยิบยืมจากสถาบันได้นั้นมีน้อย
นอกจากนี้ การศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาจะมีบทบาทในฐานะหัวหน้างานของเราด้วย ซึ่งแตกต่างจากบทบาทในฐานะอาจารย์บรรยาย จบชั่วโมงแล้วก็จบกัน ด้วยเหตุนี้ การประคับประคองความสัมพันธ์กับอาจารย์ให้ดีอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอก ผู้เรียนจะต้องไปเป็นลูกมือในการทำวิจัยด้วย ซึ่งก็จะได้เรียนรู้การวิจัยระดับกลุ่ม และได้รู้จักบุคคลในแวดวงเดียวกัน ผ่านการแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา
สำหรับนักศึกษาชาวญี่ปุ่น จดหมายแนะนำนักศึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษานั้นสำคัญต่อการสมัครงานในตำแหน่งอาจารย์ นักวิจัยมากพอๆ กับวิทยานิพนธ์ สำหรับนักศึกษาชาวไทย แม้ไม่ต้องการจดหมายแนะนำเพื่อสมัครในองค์กรการศึกษาในญี่ปุ่น แต่ก็สมควรช่วยเหลืองานอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อเรียนรู้ระบบการวิจัยระดับกลุ่ม
ด้วยเหตุนี้การเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกในญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในประเทศไทยจึงไม่ได้สบายและว่างพอจะไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ได้อย่างที่คิด และไม่ได้สอนทักษะภาษาญี่ปุ่นเพิ่ม แต่สอนเนื้อหา และสอนให้วิจัยสายอักษรศาสตร์เป็น ส่วนทักษะภาษาญี่ปุ่นถือเป็นผลพลอยได้ สำหรับผู้ที่คิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว ก็ควรเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์ที่เราอยากไปวิจัยด้วย ข้อมูลการรับสมัคร ซึ่งโดยปกติจะต้องเตรียมการประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปีก่อนปีที่คาดว่าจะไปศึกษา และควรเตรียมผลสอบความรู้ทางภาษาอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคุณสมบัติต่อไป
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-2677726
email : ask@jeducation.com
พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่