การเรียนด้าน วิศวกรรมเคมี ที่ญี่ปุ่น

ดร.วีรวุฒิ ชัยวัฒน์ (น็อต)

การศึกษา วิศวกรรมเคมี

Graduate School of Engineering

Kyoto University

studyinjapan_chemical

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010

จริงๆแล้ว สำหรับน้องๆที่เรียนกำลังเรียนอยู่ หรือจบมาทางด้าน Chemical/Petrochemical Engineering (วิศวะเคมี ปิโตรเคมี), Chemical Technology (เคมีอุตสาหกรรม), Chemistry (วิทยาเคมี), Material Science (วัสดุศาสตร์), Energy Science (พลังงาน), Agricultural Technology (อุตสาหกรรมเกษตร) และอื่นๆ ต่างล้วนที่พื้นฐานเกี่ยวกับทางด้านเคมีทั้งสิ้น โดยอาจจะมีวิชาถนัดที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ถ้าเป็นวิศวะเคมีกับเคมีอุตฯ ก็อาจจะไปเน้นที่การออกแบบและควบคุมกระบวนการผลิต ในขณะที่วิทยาเคมี ก็อาจจะเน้นไปที่การศึกษาการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยา รวมถึงเคมีวิเคราะห์ เป็นต้น

ดังนั้น การเรียนข้ามสาขาไปบ้างก็ไม่น่ามีปัญหา แต่อาจจะยากตอนสอบเข้าเพราะต้องสอบบางวิชาที่ไม่เคยเรียน อย่างไรก็ดี ก่อนอื่น มี 2-3 คำถามที่น้องๆต้องตอบให้ได้ว่า ในคำถามเหล่านี้ ตัวเรามีคำตอบมากน้อยแค่ไหน และให้เหตุผลกับตัวเองในการมาเรียนต่อไว้ยังไง

 

เตรียมตัวเตรียมใจยังไงดี

1.       มาเรียนต่อเพื่ออะไร

คำถามนี้เบสิก แต่คำตอบที่ได้ยินก็มักจะเป็น เบื่องานที่ทำอยู่ อยากรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น อยากไปใช้ชีวิตต่างประเทศ ค้นหาตัวเอง อยากเป็นอาจารย์ อยากทำวิจัย อะไรว่าไป แต่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คือ ตัวเราเองต้องบวกลบคูณหารกันแล้วว่าถ้ามาเรียนแล้วจะคุ้มกับเงินและเวลาที่เสียไป เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลังนะครับ

 

2.       มีใจรักอยากทำงานวิจัยหรือเปล่า (สำคัญมาก)

คำถามนี้อาจจะตอบยาก แต่จำเป็นต้องถามตัวเอง เพราะการมาเรียนโทเอกที่ญี่ปุ่นไม่ใช่การนั่งเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการค้น คุ้ย อ่าน หาความรู้ และคิดด้วยตนเอง โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่มี และมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ต้องรู้จักฝึกบังคับตนเอง และเอาใจใส่กับงานอย่างมากพอสมควร สำหรับคนที่จะมาเรียนด้านนี้ ความรู้พื้นฐานสำคัญที่ควรจะมี คือ ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านเคมี โดยเฉพาะวิชาพวก Analytical Chemistry และ Organic Chemistry รวมถึงทักษะการทำแล็บทั่วไป

หลายๆคนที่เรียนทางด้านวิศวะมา แล้วคิดว่าจะมาต่อยอดทางด้านประยุกต์ อาจจะต้องผิดหวังบ้าง เนื่องจากงานวิจัยที่ญี่ปุ่น จะเน้นการค้นหาความรู้ในเชิงลึก เพราะฉะนั้น การที่เรามีความรู้พื้นฐานที่แน่นและหลากหลาย จะทำให้เรามีทักษะเชิงวิเคราะห์ที่กว้างและดีกว่า และยังสามารถพัฒนาและแตกแขนงงานวิจัยของเราไปได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทักษะต่างๆเหล่านี้ ก็สามารถพัฒนาได้ในระหว่างที่มาเรียน จะมากจะน้อย ก็คงขึ้นกับความตั้งใจของแต่ละคนนะครับ

 

3.       มีหัวข้อวิจัยโดยคร่าวที่สนใจอยากจะทำหรือไม่

นี่เป็นคำถามที่ต้องตอบเช่นกัน เพราะการที่เราจะสนุกหรือไม่สนุกกับงานวิจัย ก็ย่อมขึ้นกับสิ่งที่เราทำด้วย อย่างน้อยบางที ถ้าเราไม่เก่งในทักษะการวิจัย แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เราชอบ มันจะกระตุ้นให้เรารู้สึกอยากค้นหาคำตอบตลอดเวลา แล้วเมื่อนั้นทักษะในการทำวิจัยของเราจะค่อยๆพัฒนาขึ้นมาโดยที่เราเองก็อาจจะไม่รู้ตัว งานวิจัยด้านเคมีในญี่ปุ่นนั้น ทั้งในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จะเน้นเชิงลึกและการค้นพบสิ่งใหม่ เช่น การศึกษากระบวนการปฏิกิริยาเคมีเกิดได้อย่างไร การสังเคราะห์สารเคมีใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักเคมีจากญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลไปกันหลายคนแล้ว

 

เลือกเรียนที่ไหนดีอ่ะ

คำตอบที่ให้ก็จะกลายเป็นคำถามแทนว่า จะเรียนสาขาอะไร อยากทำวิจัยเรื่องอะไรเหรอครับ สาขาทางวิศวะ โดยเฉพาะทางด้านเคมี รวมไปถึงวัสดุศาสตร์ และพลังงานนั้น บอกไม่ได้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยดังด้านไหน แต่คงต้องเจาะไปเรื่องๆไปว่า มีอาจารย์คนไหน มหาลัยไหนเก่งและเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆบ้าง ซึ่งก็อาจจะมีหลายที่เช่นกัน ยิ่งเจาะลึกลงไปเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหาอาจารย์และมหาวิทยาลัยได้ตรงเท่านั้น ก็จะกลับไปสู่คำถามด้านบนว่า น้องอยากเรียนเกี่ยวกับอะไรนั่นเอง

ทีนี้ การค้นหาว่าอาจารย์ที่ไหนทำอะไรบ้างนั้น ก็คงมีหลายทาง อย่างเช่น เสิร์ชหาจากอินเตอร์เน็ท โดยอาจจะเข้าไปดูตามเว็บไซท์มหาวิทยาลัยดังๆก่อน เช่น กลุ่มมหาลัยรัฐชื่อดังเจ็ดแห่ง อันได้แก่ University of Tokyo, Kyoto University, Osaka University, Nagoya University, Hokkaido University, Tohoku University, Kyushu University หรือมหาลัยทางด้านวิศวกรรมชื่อดังอย่าง Tokyo Institute of Technology หรือมหาลัยรัฐและเอกชนอื่นๆ เช่น Kobe University, Hiroshima University เป็นต้น

 

เข้าไปที่คณะที่เราสนใจ ซึ่งที่ญี่ปุ่น คณะจะหลากหลายมาก และอาจจะมีการทำงานวิจัยที่ซ้ำซ้อนกันด้วย ซึ่งในเว็บไซท์ของแล็บต่างๆนั้นส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดเบื้องต้นทั้งภาษาญีปุ่นและภาษาอังกฤษอยู่ จากนั้น ถ้าอยากจะรู้ลึกในรายละเอียดของแต่ละแล็บ อาจจะลองโพสท์ถามเข้าไปในเว็บบอร์ดของ สนทญ. (สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น www.tsaj.org) ซึ่งจะมีพี่น้องนักเรียนไทยในแต่ละที่ช่วยไขข้อข้องใจบางอย่างได้เช่นกัน เช่น มีพี่คนไหนเรียนอยู่แล็บนี้ ภาคนี้มั้ย เป็นต้น การเลือกแล็บที่จะไปเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนั่นคือชีวิตเราในอีกสองสามปีข้างหน้าที่จะแฮปปี้ หรืออาจจะกลายเป็นทุกข์ระทมไปเลยก็ได้

 

จะสอบเข้าได้มั้ยนั่น

เมื่อตอบคำถามได้อย่างมั่นเหมาะ ว่ายังไงก็จะมาเรียนแน่ๆ แล้วหาหนทางมาเรียนได้แล้วล่ะก็ ด่านสำคัญที่สุดสำหรับคนที่ได้ทุนมา ไม่ว่าทุนรัฐบาลญี่ปุ่น(ทุนมอนบุโช) ทุนพานาโซนิค ทุนกระทรวง ทุน กพ. หรือแม้แต่ทุน พก. (พ่อกระผม) นั่นก็คือ การสอบเข้า การสอบเข้าเรียนโทเอกนั้น จะยากหรือง่ายจะแตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัย และภาควิชานั้นๆ ไม่สามารถบอกเจาะจงลงไปได้ แต่สัจธรรมที่พบคือ การสอบเข้าโทนั้น ย่อมจะยากว่าการสอบเข้าเอก และการสอบของพวกเรานักเรียนกะเหรี่ยงจะง่ายกว่าการสอบของคนญี่ปุ่นทั่วไป (เว้นแต่เจอภาควิชาที่โหดมาก ให้สอบเป็นภาษาญี่ปุ่นรวมกับคนญี่ปุ่น ในกรณีนี้ เราต้องเก่งภาษาญี่ปุ่นมากพอสมควร) การสอบโดยส่วนใหญ่ จะมีทั้งข้อเขียน และการสัมภาษณ์ครับ

 

ปริญญาโท

ข้อสอบข้อเขียนก็จะเป็นวิชาสำคัญของภาควิชานั้นทั้งหมด (ย้ำว่าทั้งหมด) ที่เรียนมาในระดับปริญญาตรี (แล้วยิ่งถ้าเป็นข้อสอบสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วนั้น จะต้องสอบวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย) และมีการสอบภาษาด้วย ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านบทความงานวิจัย แล้วให้วิเคราะห์ หรือการแปลประโยคเทคนิกจากญี่ปุ่นเป็นอังกฤษ หรือสลับกัน เป็นต้น สำหรับการสัมภาษณ์ ก็คงไม่มีอะไร แค่พูดคุยกันธรรมดา ถ้าข้อเขียนผ่านตามเกณฑ์ของเค้า ก็ฉลุยแล้วละครับ ส่วนข้อสอบเก่าๆ ก็ต้องขอจากรุ่นพี่ (ไม่ว่าคนไทย ต่างชาติ หรือญี่ปุ่น) หรืออาจารย์ในแล็บดูครับ ต่างกันไปตามแต่ละที่

 

ปริญญาเอก

การสอบข้อเขียน มักจะมีน้อยกว่า ไม่ยากเท่าตอนโท อาจจะมีให้เลือกสอบแค่บางวิชาเท่านั้น และสำคัญใครที่เรียนโทที่มหาลัยนั้นๆอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องสอบข้อเขียนเลย เพราะถือว่าสอบตอนโทมาแล้ว แต่ที่สำคัญมากคือการสอบสัมภาษณ์ เพราะว่าจะมีการพรีเซนเทชั่นเกี่ยวกับงานวิจัยตอนโท และแผนงานโดยคร่าวที่เราอยากจะทำในอนาคตด้วย จะว่าง่ายๆ ก็เหมือนเป็นการนำเสนองานวิจัยตามงานประชุมวิชาการ หรือพรีเซนท์จบโทกันเลยทีเดียว ที่น่าตื่นเต้น ก็คือจะต้องพรีเซนท์ต่อหน้าบรรดาโปรเฟสเซอร์ทั้งหมดในภาควิชาของตัวเอง แต่ถ้าเตรียมพร้อมมาดี ตอบคำถามพอได้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรครับ

โดยส่วนใหญ่ ก่อนที่จะทำการสอบเข้านั้น พวกเราจะต้องมาอยู่เป็นนักศึกษาวิจัยก่อน นั่นก็คือมาคลุกคลีกับที่แล็บก่อน 3-6 เดือน เพื่อทำการเตรียมตัวและเพิ่มโอกาสในการสอบเข้านั่นเอง แต่สำหรับใครที่อาจารย์ที่ปรึกษาที่เมืองไทยมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับอาจารย์ที่ญี่ปุ่น ก็อาจจะได้มาเข้าเรียนโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการสอบเข้าก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบแนะนำโดยตรง ซึ่งมักให้ทุนในระดับปริญญาเอก

 

จะเรียนไหวหรือเปล่า

ผ่านด่านหินด่านแรกเข้ามาได้ ที่หินยิ่งกว่า คือการทำอย่างไรให้เรียนจบ นั่นเอง

เรียนโท: เข้ายากแต่จบง่าย
ปีแรกส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเรียนคอร์สเวิร์กของแต่ละภาควิชา เพื่อเก็บหน่วยกิตให้ครบ โดยที่บางวิชาอาจจะเกี่ยวกับงานวิจัยของอาจารย์ท่านนั้นๆ ส่วนในปีที่สอง เมื่อเรียนครบ ก็จะเน้นงานวิจัยเป็นหลัก มีการรายงานความคืบหน้าของผลการทดลองเป็นระยะๆ มากหรือน้อย บ่อยหรือถี่ ก็ขึ้นกับอาจารย์และวัฒนธรรมของแต่ละแล็บ โดยที่บางแล็บอาจจะต้องฟิตทำงานวิจัยตลอดทั้งสองปีเลยก็เป็นได้ การเรียนโทที่ญี่ปุ่นนั้น เหมือนกับเป็นภาคบังคับที่ทุกคนต้องเรียนเพื่อไปสมัครงาน ฉะนั้น ถ้าไม่ขี้เกียจเรียนจนเกินไป ก็คงจบง่ายๆตามหลักสูตรสองปีแน่นอน

 

เรียนเอก เข้าง่ายแต่จบยาก
คอร์สเวิร์กแทบจะไม่เหลือแล้ว การเรียนเอกก็เหมือนการต่อยอดลงลึกมาขึ้นในงานวิจัย ฝึกกระบวนความคิดให้เป็นเหตุเป็นผล เพราะจะต้องเขียนผลงานของเราลงในวารสารวิชาการนานาชาติให้ครบตามกำหนดของทางภาควิชา ซึ่งจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละแล็บและมหาวิทยาลัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อาจจะมีความยืดหยุ่นบ้าง สุดท้ายแล้ว ก็ขึ้นกับอาจารย์ที่ปรึกษาของเราเป็นหลัก ฉะนั้น การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนที่ญี่ปุ่น

 

จะเน้นวิจัยเรื่องอะไรดี

สำหรับคนที่มุ่งมั่นอยากมาทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะทางด้านเคมี วัสดุ และพลังงานนั้น จะได้รับความสะดวกสบายอย่างมาก ในแง่ของเครื่องมือ อุปกรณ์ สารเคมี เพราะญี่ปุ่นมีทุนสำหรับให้ทางมหาวิทยาลัยทำวิจัยมากมาย รวมทั้งยังบริษัทเอกชนทางปิโตรเคมีชื่อดังต่างๆ เช่น Mitsuibishi Chemicals, Mitsui Chemicals, Sumitomo Chemicals, Ube Industrial เป็นต้น ล้วนแต่เน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งอาจจะมีความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ทีนี้ ปัญหาก็กลับที่คำถามเดิมอีกครั้งว่าจะทำวิจัยเรื่องอะไรดี ก็ต้องขึ้นกับสิ่งที่แต่ละคนสนใจแล้วละครับ ที่สำคัญคืออยากให้คิดว่าเราสามารถนำสิ่งที่เราจะมาทำวิจัยกลับไปใช้หรือพัฒนาที่ประเทศไทยได้หรือไม่ด้วย งานวิจัยทางด้าน วิศวกรรมเคมี วัสดุศาสตร์ และพลังงานที่นักเรียนไทยชอบมาเรียนกันนะครับ ก็จะมี เช่น Fuel Cell (Catalysts, Electrochemical), Solar cell, Coal/Biomass/Biodiesel (Catalysts, Reaction Engineering), Polymer (Synthesis, Application), Material Science (Nanotechonology, Surface Engineering, Ceramics, Porous Material) เป็นต้น

 

เรียนจบกลับไปจะทำอะไร
สำหรับคนที่ตั้งใจมาเรียนแค่ปริญญาโทคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะปัจจุบันนี้ที่เมืองไทย บริษัททางด้านปิโตรเคมีต่างๆ ก็เปิดรับเด็กที่จบโทเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่จะมาเรียนต่อถึงเอกนั้น อาจจะต้องคิดหนักนิดนึง ว่าจริงๆแล้วเราจำเป็นต้องเสียเวลาสามปีเพื่อให้ได้กระดาษแผ่นหนึ่งและกลับไปทำงานด้านวิจัยหรือไม่ หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าเรียนจบเอกจะต้องกลับไปเป็นอาจารย์เท่านั้น จริงๆแล้วไม่จำเป็นเลย

 

เพราะปัจจุบันนี้ บริษัทใหญ่ๆทางด้านปิโตรเคมี ทั้ง SCG Cheimcals, PTT Chemicals รวมไปถึงบริษัทญี่ปุ่นอย่าง UBE Industry ก็กำลังพัฒนาศูนย์วิจัย เพื่อสร้างศักยภาพให้กับตนเองแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้นที่เมืองไทยยังมีสถาบันวิจัยต่างๆรองรับมากมาย อย่างเช่น ศูนย์นาโนเทค เอ็มเทค ของ สวทช. เป็นต้น หรือแม้แต่โอกาสการทำงานวิจัยต่อในตำแหน่งโพสท์ด็อกในญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา หรือยุโรป ก็เป็นไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเรียนต่อเอกจริงๆแล้ว หลายๆคนเกิดความรู้สึกอยากถ่ายทอดความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาให้กับเด็กรุ่นใหม่ ก็ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าคนที่จบเอกมักจะต้องเป็นอาจารย์นั่นเอง สุดท้ายจะกลับไปทำงานอะไรนั้น ก็ขึ้นกับการตัดสินใจของเราเองครับ

สุดท้ายนี้ สิ่งที่น้องๆจะได้รับมากกว่าความรู้ นั่นก็คือ การรู้จักวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นทั้งในส่วนดี น่าสนใจ และไม่เข้าใจ การสร้างเครือข่ายกับเพื่อนนักเรียนไทยที่มีชุมชนนักเรียนในต่างประเทศที่เข้มแข็งมาก สิ่งต่างๆเหล่านี้จะติดตัวน้องเพื่อนำไปสรรค์สร้างสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อเมืองไทยในอนาคตได้แน่นอน ขอให้น้องๆทุกคนโชคดีครับ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010

สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

 

Credit ภาพประกอบจาก https://all-free-download.com/free-photos/download/transparent_chemistry_glass_tubes_filled_with_substances_555631.html


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่

Scroll to Top