ฝาย เกียวโต

ชีวิตที่ผันผ่าน ฤดูกาลแห่งการเรียนรู้ ครู ” เกียวโต “ประเทศญี่ปุ่น

ฝาย เกียวโต

…จะดีเพียงใดกันเล่า ถ้าเราเข้าใจภาษาญี่ปุ่น ในยามที่มองเทศกาลญี่ปุ่น
มิใช่เพียงความสวยงามผ่านตา

แต่ได้ซาบซึ้ง เข้าใจ และสื่อสารกันได้
ราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน…

「春」 แรกยามกลีบซากุระร่ายรำ

เพื่อนคนไทยที่นี่เรียกเราว่า “พี่ฝาย” อาจารย์ชาวญี่ปุ่นและเพื่อนต่างชาติเรียกเราว่า “ฝายซัง” เลยเถิดไปยัน “ฝายเซนไป” “ฝายเซนเซย์” ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน 

ก่อนมาญี่ปุ่นเราถ่ายภาพเป็นอาชีพหลัก สนใจศิลปะ วรรณกรรม วัฒนธรรม ภาพยนตร์ และภาพชวนฝันหลายสิ่งอันของดินแดนอาทิตย์อุทัยนี้มาเนิ่นนาน เลยตัดสินใจเริ่มเรียนภาษาที่ Jeducation มาสักพัก ก่อนจะพบว่าที่แท้จริงแล้ว ตัวภาษาญี่ปุ่นเองนั้นก็มีเสน่ห์มากมายเหลือเกิน และจริงจังกับมันมากขึ้นจนมาเรียนที่ KICL 

KICL เป็นโรงเรียนสอนภาษาที่ล้อมรอบด้วยบรรยากาศของคนทำงานศิลปะ แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ และที่ยอดเยี่ยมเป็นพิเศษคือธรรมชาติที่สวยงามเหลือเกินยามเมื่อกดชัตเตอร์บันทึกลงไปในความทรงจำ สำหรับเราแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันที่นี่ราวกับยิงปืนนัดเดียวได้นกแทบทั้งฝูง

ซากุระแรก ฝาย เกียวโต

เรามาถึง เกียวโต ในห้วงยามที่หมู่มวลซากุระกำลังบานสะพรั่ง บุปผาปลิวไสวร่ายรำตามสายลมเย็นอ่อนราวนาฏการแห่งเกอิชาผู้เลอโฉม กลีบดอกที่ตกต้องแก้มอย่างแผ่วเบาเข้าปลอบประโลมนักเรียนต่างชาติไร้ประสบการณ์

ในช่วงแรกเราต้องใช้เวลาราวๆ สองสัปดาห์ในการปรับตัว พยายามสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น เค้นสมองหาวิธีจำคำศัพท์ อักษรคันจิ ทำความเข้าใจไวยากรณ์ที่ล้วนแต่ยากขึ้นพรวดพราดจนแทบล้มทั้งยืน อย่างไรก็ดี แม้จะเหนื่อยล้าเพียงใดยามเมื่อต้องเผชิญกับตำราหน้าตาไม่ใคร่จะเป็นมิตร การพาสองขาและสองตาตัวเองไปสัมผัส ใช้เวลาเนิ่นนานพักผ่อนกับการเดินเล่นเฝ้ามองธรรมชาติ ผู้คน ซากุระ ทิวเขา ภาพเมืองหลวงเก่าที่ถูกย้อมด้วยแสงสนธยาสีเหลืองทองก่อนจะค่อยๆ มืดลับไปแทนที่ด้วยราตรีเงียบสงัด คือยาหัวใจที่ทุกคนเข้าถึงได้ในราคา 0 เยน บรรยากาศที่เหมือนฝันยามตื่นที่คงหาที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว

「夏」 ลำนำใต้ดวงอาทิตย์

เมื่อเวลาผันผ่าน ทักษะภาษาก็ค่อยๆ เข้าที่เข้าทาง พัฒนาขึ้นตามเข็มนาฬิกานิรันดร์กาลที่ไม่เคยหยุดเดิน ด้วยวิชาเลือกเขียนอักษรวิจิตร เพื่อนร่วมชั้น และวิธีการสอนสั่งแนะนำจากเซนเซย์ จากเหนื่อยหน่ายกลายเป็นหลงรัก จากทรมานกลับรื่นรมย์

หากเปรียบเทียบกันแล้ว การเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศไทยนั้นคือโลกแคบกระจ้อยร่อยภายในกำแพงห้องเรียน เป็นลำคลองสายน้อยๆ ที่พายเรือผ่านกระแสความรู้บนหน้ากระดาษก็เพียงเท่านั้น แต่การเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นนี้ คือการออกผจญภัยในมหาสมุทรกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงการเรียนเพื่อสอบจบไปวันๆ แค่เพียงก้าวขาออกจากห้องเรียน การซื้อของ ท่องเที่ยว ไปจนถึงการทำงานพิเศษกับคนญี่ปุ่น ก็ล้วนแต่เป็นคอร์สฝึกฝนเคี่ยวกรำภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนต่างชาติ ให้แหลมคมขึ้นโดยปริยาย

เทศกาลกิอง เกียวโต

ถึงแม้จะอาศัยใช้ชีวิตอยู่ใน เกียวโต ที่อุดมไปด้วยบ้านเมืองเก่าแก่ วัด และศาลเจ้า เครื่องรางดูจะเป็นของที่ห้อยติดกระเป๋าผู้คนมากมาย แต่เราใคร่สนใจประวัติศาสตร์มากกว่าความเชื่อ หากมีเวลาว่างในวันท้องฟ้าเป็นใจ การไปเยี่ยมเยียนสถานที่ที่เป็นดังคุณทวดของญี่ปุ่นเหล่านั้น ด้วยของจริง บรรยากาศจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ได้ชักชวนจับมือให้เราเข้าไปเรียนรู้ ใช้ทักษะภาษาที่มีตีฝ่ากำแพงภาษาญี่ปุ่นที่มีภาพลักษณ์น่ากลัวให้แตกพ่าย และกระจ่างแจ้งถึงเรื่องราวที่พาย้อนกลับไปสู่เมื่อหนหลัง

ใต้ดวงอาทิตย์อันเจิดจ้าสลับฝนพรำมาให้ชุ่มฉ่ำ ลำนำแห่งมรดกทางวัฒนธรรมและเทศกาลอันมีชื่อเสียงของญี่ปุ่นถูกปลุกชีพขึ้นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เคลื่อนกายย้ายร่างจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน จะดีเพียงใดกันเล่า ถ้าเราเข้าใจภาษาญี่ปุ่นในยามที่มองเทศกาลญี่ปุ่น มิใช่เพียงความสวยงามผ่านตา แต่ได้ ซาบซึ้ง เข้าใจ และสื่อสารกันได้ราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

「秋」  ศิษย์ อาจารย์และเพื่อน

ในทางกลับกัน เราเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะอยากเข้าใจ “ญี่ปุ่น” มิใช่เพียงเชยชมเทศกาลหรือธรรมชาติเพียงชั่วครู่เท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการคิด การสร้างสรรค์ แสดงออก ระเบียบวินัยในสังคม มารยาท ไปจนถึงความใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์อยู่เสมอๆ โรงเรียนและสังคมเกียวโตค่อยๆ เติมเต็มสิ่งเหล่านี้ให้เราทีละนิด หมั่นรินรดเพิ่มเติมขึ้นในใจจนเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นผู้ใหญ่ได้ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ฝาย กับเพื่อนๆ ที่ เกียวโต เกียวโต ในวันจบการศึกษา

เพราะห้องเรียนก็เปรียบดังโลกจำลองขนาดย่อม ดังใบไม้หลากสีสันที่งอกงามบนต้นไม้ใหญ่ เพื่อนจากหลากเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ย่อมมีพื้นฐาน ทัศนคติ และวิธีแสดงความเห็นที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา โดยมีศูนย์กลางเป็นเซนเซย์ที่ใช้ระบบวิธีคิดแบบญี่ปุ่นเป็นหลักการอีกที

การเรียนและทำงานกลุ่มร่วมกันนั้น สร้างให้เกิดการรู้จักยอมรับความแตกต่าง เข้าอกเข้าใจและอยู่ร่วมกันโดยไม่ถือโทษโกรธเคืองโดยไร้เหตุผล แม้ภาษาแม่จะแตกต่างกันไป แต่ก็พร้อมที่พูดคุยหากขัดแย้งหรือสงสัย พร้อมที่จะยิ้มทักทายและปรบมือแสดงความยินดี พร้อมที่จะอยู่ข้างๆ ตรงนี้เพื่อเติมกำลังใจให้กันและกัน โดยมีภาษาญี่ปุ่นเป็นสะพานสื่อกลางเชื่อมระหว่างเราทุกคน ไม่ว่าจะศิษย์ อาจารย์ หรือเพื่อนๆ ก็ตาม

「冬」  เลือนรางแต่ชัดเจน

เราค่อยๆ มองรูปที่เคยถ่าย ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ยามอาทิตย์เริ่มส่องแสงในวันแรกที่มาถึง เพื่อเขียนบทความชิ้นนี้ในวันสุดท้ายบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่กำลังจะจบไปพร้อมตะวันลับขอบฟ้า

ครั้งหนึ่งเคยมีหมีป่าออกมาเดินเพ่นพ่านย่านชุมชน ครั้งหนึ่งเคยฝนตกหนักจนเกือบน้ำท่วมชวนหวาดเสียว ครั้งหนึ่งเขี้ยวเล็บอันโกรธเกรี้ยวของพายุฮากีบิสเคยพัดผ่านไป ครั้งหนึ่งไวรัสร้ายกำลังกัดกินมนุษย์ เหตุการณ์ระทึกเหล่านั้นเคลื่อนตัวเป็นฉากหลังตลอดหนึ่งปีที่เกียวโต แต่ทุกคนไม่เคยยอมแพ้ แม้ล้มก็ต้องลุก พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะมีชีวิต และเผชิญหน้ากับทุกสิ่งอย่างมีสติครบถ้วนรู้เท่าทัน

เราเฝ้ามองวันเวลาผันผ่าน มุมมองจากหน้าต่างหอพักฉายภาพฤดูกาลเปลี่ยนแปลงที่บ่มนวดให้เราเรียนรู้ความเป็นไปของชีวิต เมื่อเทียบกับวันแรกแล้ว ความสุขสันต์เริงร่าจับต้นชนปลายไม่ได้ราวฝันกลางวัน ความลังเลตื่นกลัวไม่กล้าตัดสินใจ เด็กตัวน้อยในร่างผู้ใหญ่ที่สะดุดก้าวพลาดเพียงเพราะผูกเชือกรองเท้าตัวเองไม่เป็น ได้เลือนรางหายไปแล้วเหลือเพียงเงาจางๆ ของวันวาน ในยามนี้หากลองส่องกระจกดูอีกครั้ง จะเห็นผู้ใหญ่หนึ่งคนที่เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ใส่รองเท้าแน่นกระชับพร้อมที่จะก้าวเดินหรือแม้กระทั่งวิ่งได้อย่างมั่นคงแข็งแรง ครูเกียวโต, ญี่ปุ่น ได้มอบความสุข บ่มเพาะความฝัน ปั้นแต่งให้ตัวตนเราชัดเจนขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมา

京都先生、お疲れ様でした。ありがとうございました。

เรื่องราวบทต่อไปของเราจะเริ่มขึ้นทันทีที่กลับถึงไทย และเราเชื่อสุดใจว่าเกียวโตเซนเซย์ ยังพร้อมจะอ้าแขนรับผู้หลงรักญี่ปุ่นหน้าใหม่ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า พร้อมที่จะคอยประคับประคองช่วยก่อร่างสร้างความฝันให้เป็นความจริง และสร้างคนให้เป็น “คน” ยิ่งๆ ขึ้นไป มอบ 春夏秋冬 ฤดูกาลอันเหมาะสมและคุ้มค่ายิ่งใหญ่ให้ผู้ที่มาถึงอยู่เสมอ

fhai

ผู้เขียน

พรเทพ พงศ์พิบูลย์ผล (ฝาย)
อาชีพ ช่างถ่ายภาพ

ปริญญาตรี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์
สาขาวิชาการถ่ายภาพ

เรียนภาษาญี่ปุ่นที่ Jeducation Center
ปี 2016- 2019

เรียนต่อหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
Kyoto Institute of Culture and Language (KICL) ภาคเรียนเมษายน 2019

 

ดูรายละเอียดสถาบัน Kyoto Institute of Culture and Language (KICL) คลิก


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> http://bit.ly/jed-line

Scroll to Top