งานค้นคว้าอิสระ การบ้าน เด็กประถม ญี่ปุ่น ช่วง ปิดเทอม
ช่วงวันหยุด ปิดเทอม ฤดูร้อนเดือนสิงหาคม การบ้าน อย่างหนึ่งที่ เด็กประถม ของ ญี่ปุ่น ต้องทำส่งคุณครูคือ การค้นคว้าอิสระ หรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ จิยู เคงคิว” 自由研究
自由 jiyuu อิสระ
研究 kenkyuu วิจัย ค้นคว้า
กิจกรรมนี้คือ การให้เด็กๆ ใช้เวลาช่วง 10-40 วันของการปิดเทอม เรียนรู้อย่างอิสระในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ โดยไม่มีการกำหนดหัวข้อใดๆ จากคุณครู
แล้วเค้าทำอะไรกัน
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “การค้นคว้าหรือวิจัยอย่างอิสระ” วัตถุประสงค์หลักคือ “การลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” พูดง่าย ๆ ภาษาชาวบ้านคือ อยากทำอะไรก็ทำ อาจจะเป็นการทดลอง การประดิษฐ์ การเฝ้าสังเกตุการณ์ หรือการสำรวจ สืบเสาะค้นหา อะไรก็ได้ที่มาจากความชอบ ความสนใจของแต่ละคน โดยอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เฝ้าดูเป็นกำลังใจ หรือสนุกไปกับการทดลองของลูกด้วย โดยไม่ลงไปช่วยทำ
พอไม่มีการกำหนดให้ทำอะไรตามคำสั่ง ก็มีบ้างที่เด็กๆ อาจจะคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรหรือต้องเริ่มต้นยังไงดี ( สำหรับเด็กๆ แล้ว การบ้านก็คือการบ้านอ่ะนะคะ ) แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะมีหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาจำหน่าย มีเว็บไซต์ให้คำแนะนำ มีตัวอย่างให้เลือกมากมาย เช่น แบ่งตามระดับชั้นเรียน ลักษณะการค้นคว้า ระยะเวลาในการค้นคว้า ไปจนถึงข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
เริ่มต้นตั้งแต่แนะนำวิธีการเลือกหัวข้อที่จะทำ โดยให้เริ่มจากสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน และตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามกับมัน เช่น “ ทำไมถึง… “ “ ถ้าเป็นอย่างนั้น… จะเป็นยังไง”
พอนึกหัวข้อที่สนใจได้แล้ว ก็เริ่มวางแผนขั้นตอนการทำ สิ่งที่อยากทำนั้น มีระยะเวลาในการทำ การค้นคว้าหรือทดลองนานแค่ไหน สามาถรถทำให้เสร็จและสรุปผลได้ภายในช่วงเวลาปิดเทอมไหม
ต้องใช้อะไรบ้าง สิ่งของอุปกรณ์มีครบไหม อันตรายไหม ไปจนถึงแนะนำวิธีการเขียนรายงานส่งคุณครู เป็นต้น
พอใช้คำว่า 研究 เคงคิวหรือวิจัย ค้นกว้า จะรู้สึกว่ามาทางสายวิทยาศาสตร์ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ ไม่จำเป็นเลยค่ะ ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า จากหนังสือตัวอย่างจิยูเคงคิวของเด็กป.1 – ป.2
การทดลอง 実験 : jikken
อันนี้เป็นการทดลองง่ายๆ จากของที่หาได้ในบ้าน
1. ทำยังไงไม่ให้แอปเปิ้ลที่ปอกแล้ว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ด้วยการลองแช่ชิ้นแอปเปิ้ลในแก้วน้ำ 5 แก้ว เติมเกลือ , น้ำมะนาว , น้ำส้มสายชู , น้ำตาล ลงไปในน้ำแต่ละแก้ว แก้วสุดท้ายเป็นน้ำเปล่าที่ไม่ใส่อะไรลงไปเลย แช่ไว้ 5 นาทีแล้วเอาออกมา วางทิ้งไว้ 5- 6 ชั่วโมง คอยสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของแอปเปิ้ลแต่ละชิ้น
2. ทำยังไงให้แอปเปิ้ลที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กลับมาเป็นสีเดิม
ด้วยการลองแช่แอปเปิ้ลสีน้ำตาล ในแก้วน้ำ 4 แก้ว คราวนี้สิ่งที่เติมลงไปลองเปลี่ยนเป็น เกลือ , น้ำส้มสายชู , นม , น้ำส้ม แล้วคอยสังเกตุการเปลี่ยนแปลงทุก 5 นาที 15 นาทีและ 30 นาที
งานประดิษฐ์ , งานฝีมือ 工作 : kousaku
สาวน้อยทำร่มไวนิล เป็นลวดลายต่างๆ ด้วยฝีมือตนเอง
หนุ่มน้อยตัวแสบอาจจะประดิษฐ์ กล่องตกใจ ด้วยกล่องนม
การสังเกตุการณ์ , เฝ้าดู 観察 : kansatsu
ตัวอย่างอันนี้เป็นการเฝ้าสังเกตุการณ์รูปร่างของก้อนเมฆ แล้วจดบันทึกวันที่ เวลา วาดรูปของก้อนเมฆที่เห็น จินตนาการดูว่าเป็นรูปอะไร ดูข่าวพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน สังเกตวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ฟ้าครึ้ม ฝนตก ลักษณะของก้อนเมฆแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น
การสำรวจ 調査 : chousa
อันนี้สำรวจลายนิ้วมือกันเลยค่ะ เพราะคนเราแต่ละคนจะมีลายนิ้วมือไม่เหมือนกันสักนิ้วและไม่เหมือนซ้ำกันเลย งานนี้นอกจากจะลองพิมพ์ลายนิ้วมือของคนในครอบครัวมาตรวจสอบดูแล้ว ยังบอกวิธีลองพิมพ์ลายนิ้วมือจากแก้วน้ำกันดูอีกต่างหาก
อันนี้น่ารักดีค่ะ ค้นหาป้ายรูปสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในละแวกบ้านว่ามีป้ายอะไรบ้าง ลองคิดดูว่า ป้ายแต่ละอันๆ ทำไมถึงใช้สัตว์ชนิดนั้นๆ และลองทำแผนที่สัตว์ต่างๆ ละแวกบ้านดู
การเยี่ยมชมโรงงาน 工場見学 : koujou kengaku
มีโรงงานหลายแห่งที่เปิดให้นักเรียนเข้าไปทัศนศึกษาชมขั้นตอนการผลิต การทำงานต่างๆ ค่ะ รวมไปถึงหน่วยงาน บริษัทเอกชน โรงแรม ศูนย์วิจัย ฯลฯ หลากหลายประเภท ที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปชมการทำงานจริง
ระหว่างที่ทำการค้นคว้า ทดลองนี้ เด็กๆ ต้องมีการจดบันทึก ถ่ายภาพ วาดภาพ หรือเก็บตัวอย่าง เพื่อที่จะทำเป็นรายงานสรุปผลการทดลองค้นคว้าส่งคุณครูตอนเปิดเทอม บางโรงเรียนให้ออกไปรายงานการทดลองให้เพื่อนๆ ฟัง บางโรงเรียนมีการนำผลงานที่โดดเด่นไปจัดแสดงในโรงเรียนเอง หรือในสถานที่ส่วนกลางของท้องถิ่น
“結果よりも過程が大切 ” กระบวนการสำคัญกว่าผลลัพท์
ไม่ได้หมายความว่า การทดลอง ค้นคว้า วิจัย ทุกชิ้นจะต้องประสบความสำเร็จนะคะ แม้ผลที่ได้จะไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ การทดลองล้มเหลว เกิดความผิดพลาด ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะได้ลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจทำแล้ว ญี่ปุ่นเค้ามีประโยคยอดฮิตประโยคหนึ่งคือ “結果よりも過程が大切 ” กระบวนการสำคัญกว่าผลลัพท์
ปิดท้าย
ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการให้เด็กนักเรียนทำการค้นคว้าอิสระนี้ขึ้น ในช่วงปีค.ศ. 1920 ( 90 กว่าปีที่แล้ว ) โดยรับเอาการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่มาจากประเทศตะวันตกมาใช้ในโรงเรียนบางแห่ง เช่น ร.ร. Seijo Gakuen , Tamagawa Gakuen ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนการสอนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของญี่ปุ่น และเริ่มมีการบังคับใช้ในโรงเรียนต่างๆ ในปี 2003 ที่ให้ทำในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ถือว่าค่อนข้างนาน จึงมีช่วงเวลาพอที่จะทำการทดลอง ศึกษา และสรุปผลได้
Credit ภาพประกอบจาก
https://hsgw-dent.jugem.jp/
https://tokushimazyumoku.la.coocan.jp/
https://kids.gakken.co.jp/
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line