esearch Plan ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

Research Plan คืออะไร ? ทำไมสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประเภททุนนักศึกษาวิจัย ถึงต้องใช้ ?

บทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ Research Plan หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า แผนวิจัย ที่จำเป็นต้องใช้ในการสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประเภททุนนักศึกษาวิจัย กันค่ะ

 

ความเกี่ยวข้องของ Research Plan กับ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประเภทนักศึกษาวิจัย

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง การเขียน Research Plan อยากให้ทุกคนทำเข้าใจกับคำว่า “นักศึกษาวิจัย” กันก่อน นักศึกษาวิจัย คือ ระบบการเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเป็นนักศึกษาระดับ ปริญญาโท – เอก ของบางมหาวิทยาลัยที่ประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากการเรียน ปริญญาโท – เอก ที่ญี่ปุ่นนั้น จะเน้นไปที่การทำงานวิจัย กับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งในการสมัครเข้าเรียน ปริญญาโท – เอก ในว่าจะทุนการเข้าเรียนด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือทุนส่วนตัว ปกติแล้วทุกคนจำเป็นต้องเขียน Research Plan หรือ แผนงานวิจัย ส่งให้อาจารย์ หรือ มหาวิทยาลัยพิจารณาก่อนเพื่อรับเข้าเรียน

แผนวิจัย เรียนต่อญี่ปุ่น

โดยการยื่นแผนงานวิจัยเพื่อเข้าศึกษาต่อ ปริญญาโท – เอก ที่ญี่ปุ่น จะมี 2 กรณี  คือ

  1. ยื่นสมัครไปยังมหาวิทยาลัย และ ทำการสอบเข้า ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบการเป็นนักศึกษาปริญญาโทได้เลย
  2. ยื่นกับอาจารย์ที่ปรึกษา สำหรับเข้าไปเป็นนักศึกษาวิจัยก่อน ทั้งนี้ ผู้เรียนจะต้องศึกษาดูว่า มหาวิทยาลัยที่เราต้องการเข้าเรียนคือที่ไหน คณะที่อยากเรียนคือคณะอะไรเสียก่อน

ดังนั้นการที่เราได้ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น และ เข้าไปเรียนในฐานะ นักศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้หมายความว่า เราเป็นนักศึกษาปริญญาโท -เอก ของที่นั้นแล้ว แต่เราต้องสอบเข้ากับทางมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ถ้าสอบผ่าน ถึงจะเข้าสู่การเรียนปริญญาโทอย่างเต็มรูปแบบค่ะ

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในการคัดเลือกผู้สมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ประเภททุนนักศึกษาวิจัย การเขียน Research Plan จึงเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นในการนำมาพิจารณาด้วยนั่นเองค่ะ

 

Research Plan ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

เขียน Research Plan อย่างไรดี ?

ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้ว Research Plan หรือ “แผนงานวิจัย” ที่ว่านี้ หน้าตามันเป็นอย่างไร และ ควรจะเขียนอะไรลงไปบ้าง บทความนี้เราได้รับความร่วมมือจาก “พี่มิ้ค” รุ่นพี่นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ปี 2020 มาอธิบาย เป็นข้อมูลให้กับผู้ที่กำลังต้องการเขียน Research Plan ให้อ่านกันค่ะ

 

 

แนะนำขั้นตอน และ เทคนิคการเขียน Research Plan

โดย ทชภณ ลีลาประชากุล (มิ้ค)
นักศึกษาปริญญาโทจาก The University of Tokyo, Graduate School of Engineering ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นประเภท MEXT SGS (Super Global Slot ปี 2020) และตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่น แผนงานวิจัยเพื่อเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอก

อยากจะเขียน Research Plan เพื่อเรียนต่อปริญญาโท หรือยื่นขอ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ต้องเริ่มอย่างไร ?

 

รุ่นพี่ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

 

ก่อนอื่น ต้องเริ่มจากการที่รู้ว่า Research Plan คืออะไรก่อนครับ

Research Plan คือ “แผนงานวิจัย” ที่นักศึกษา ที่กำลังจะเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก จำเป็นต้องทำการเขียนและส่งไปให้ทางมหาวิทยาลัยตอนสมัครเข้าทำการศึกษา และทางมหาวิทยาลัยจะส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อทำการประเมินว่าคุณสมบัติของเราสอดคล้องกับความต้องการของศูนย์วิจัย ทั้งนี้ถ้าเป็นสำหรับผู้ที่กำลังยื่นขอทุนการศึกษา แผนวิจัยนี้จะถูกส่งไปให้คณะกรรมการเพื่อประเมินว่าเรามีคุณสมบัติตรงกับเป้าหมายการมอบทุนการศึกษาหรือไม่

แผนงานวิจัยจะเป็นเอกสารที่จะบอกว่าผู้เขียน มีความสนใจในงานวิจัยในแบบไหน รวมถึงบ่งชี้ได้ว่าผู้เขียนมีองค์ความรู้ ความจริงจังในการทำงานวิจัยชิ้นนี้มากแค่ไหน ดังนั้น แผนงานวิจัยจึงเป็นเอกสารที่ควรใช้เวลาในการหาข้อมูล เพื่อเตรียมตัวเขียน นานพอสมควร

มหาวิทยาลัยโตเกียว

มหาวิทยาลัยโตเกียว ตอนเดือน 10

แผนงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีรายละเอียดต่างกันไป แต่ทุกที่จะมีองค์ประกอบหลักๆ 4 ส่วน ดังต่อไปนี้

Introduction (บทนำ)

    • Background: เป็นส่วนที่อธิบายว่างานเราเกี่ยวข้องกับอะไร มีความสำคัญมากแค่ไหน มีทฤษฎีไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานของเรา มีข้อมูลในอดีตอะไรบ้างที่จะพออธิบายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเกี่ยวกับงานของเรา และ อะไรบ้างที่ทำให้เราสนใจงานวิจัยนี้ ข้อมูลที่เราเอามาก็อย่าลืมอ้างอิงให้เขาด้วยนะครับผม
    • Research Question: ประเด็นปัญหา หรือ คำถามที่เราต้องการจะหาคำตอบ ส่วนนี้เราควรเขียนประโยคคำถามให้ชัดเจน อาจเป็นประโยคคำถามเชิงพรรณนา เช่น อะไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ X เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ คำถามเชิงความสัมพันธ์ เช่น X กับ Y สัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร
    • Aim & Objective: สิ่งที่เราคาดหวังจากการวิจัย และ สิ่งที่เราคาดหวังจากการวิจัยตอบประเด็นปัญหางานวิจัยในแง่มุมไหนบ้างอย่างไร
    • Hypothesis: ผลลัพธ์ที่เราคาดว่าจะเป็น เท่าที่ความรู้เราจะมีก่อนทำงานวิจัย
    • Literature Review: เป็นสรุปโดยย่อ บทวิเคราะห์ ของงานวิจัยก่อนหน้า ที่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจเพื่อทำงานวิจัยของเรา อันนี้เราต้องเขียนว่างานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับงานเราอย่างไร และ งานวิจัยของเขาไม่ตอบ Research Question ที่เราตั้งไว้อย่างไร ทำให้เราต้องทำการวิจัยของเราในครั้งนี้ ส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่เราจะต้องทำการอ้างอิงจากงานวิจัยคนอื่นเยอะที่สุดแล้วครับผม
    • Current Status of Research (ถ้ามี): ผลงานวิจัยของเราที่เกี่ยวข้องการหัวข้อวิจัยนี้ ตรงถ้าเราได้กำลังทำ หรือ เคยทำงานวิจัยนี้ ให้เราเขียนความคืบหน้าของผลงานของเราเพื่อให้เขารับรู้ได้

ส่วนตัวแล้วเราใช้เวลาในการเขียน บทนำ นานที่สุด เพราะต้องหาข้อมูลว่างานของเราจะมี impact อย่างไรบ้าง และ ต้องหาข้อมูลสรุปเกี่ยวกับงานวิจัยก่อนหน้าเพื่อบอกว่า งานของเรามีความแตกต่าง หรือ แปลกใหม่จากงานวิจัยที่มีอยู่แล้วอย่างไร ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราจะทำการอ้างอิงกับข้อมูลผลงานที่มีอยู่มากที่สุดเลย

 

รุ่นพี่ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

Research Methodology (ระเบียบวิธีวิจัย)

ตรงนี้เราต้องเขียนถึงวิธีการดำเนินงานวิจัยของเรา ว่าเราจะใช้วิธีการอะไรในการเก็บข้อมูล แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรในการวิเคราะห์ และตีความผลลัพธ์ที่เราได้มา บางครั้งอาจต้องระบุถึงระยะเวลาที่ใช้ในการทำแต่ละขั้นตอน และ ตารางการทำโดยสังเขปด้วย

อย่างของเรา เราทำงานวิจัยโดยการใช้ Molecular Dynamic Simulation (การจำลองพลวัตเชิงโมเลกุล) เพื่อตอบปัญหาความแข็งแรงและคุณสมบัติของวัสดุ เราก็ต้องบอกว่าเราจะวิธีการนี้ และ ทำไมเราถึงใช้ แล้วหลังจากที่ได้ผลลัพธ์แล้วเราจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างไร และจะใช้เวลาในการทำสิ่งเหล่านี้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่บ้าง เราก็ต้องไปหาว่า simulation ที่เราใช้ คนที่เคยทำมาแล้วเขาทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างไรจากงานวิจัยก่อนหน้าน่ะครับ ส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่ยาวที่สุดจากทั้งหมดนะครับผม

Indicative Outcome (ผลลัพธ์ที่คาดไว้)

เป็นส่วนที่จะบอกว่าหลังจากที่เราได้ทำงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ผลงานเราจะออกมาหน้าตายังไง จะไปอยู่ตรงไหน จะมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ทั้งนี้อาจระบุได้เลยว่าเราคิดว่า เราจะเผยแพร่งานวิจัยของเราอย่างไร จะตีพิมพ์ลงในสำนักพิมพ์ไหน ในช่วงเวลาใด

ตอนเขียนเราก็จะบอกไปเลยว่าผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถทำคุณประโยชน์กับแวดวงไหนบ้าง สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่อะไรให้กับโลกได้บ้าง ส่วนตัวงานของเราโชคดี มีบริษัทเอกชนมายื่นข้อเสนออยู่แล้ว เราก็เลยเอาข้อมูลส่วนนี้มาใส่ได้

References (บรรณานุกรม)

บางครั้งสถาบันที่เราส่งไปอาจระบุว่าต้องมี บรรณานุกรม ก็อย่าลืมใส่ให้เขาด้วยนะครับผมว่าเราเอาข้อมูลมาจากไหน ส่วนตัวแนะนำการใช้ Citations function ของ MS Office นะครับ จะทำให้การอ้างอิงข้อมูลง่ายขึ้นเยอะเลยครับผม

 

เขียนแผนวิจัย

ไร่ชา Obuchi ที่ Fujinomiya, Shizuoka ตอนเดือน 4

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการเขียนและประสบการณ์ ที่ผมอยากจะมาแชร์นะครับ แม้มันอาจจะยาก และใช้เวลาเยอะมาก แต่มันก็จะทำให้เราได้เห็นภาพว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะกำลังทำอะไรอยู่ และ เราอยากจะเอาเวลาของเราไปจ่ายเพื่อทำสิ่งนี้ไหมด้วยครับผม เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนตั้งใจ และใช้เวลากับมันหน่อยนะครับ แล้วถ้าใครที่กำลังจะเขียนแผนวิจัย เพื่อจะยื่นศึกษาต่ออยู่ ก็ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดีนะครับผม

 

ทชภณ ลีลาประชากุล (มิ้ค)

บทความนี้ถูกเขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 14 พ.ค. 2021

 

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

> ขั้นตอนการเรียนปริญญาโทและการทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่น
> ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
> ทุนเรียนต่อญี่ปุ่น : 4 Steps ขั้นตอนการหาทุน ไม่ไกลเกินเอื้อม


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-267-7726
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น ต่อ 101-104
สอบถามคอร์สภาษาญี่ปุ่น ต่อ 111-112

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> http://bit.ly/jed-line

Scroll to Top