การเรียนด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ที่ญี่ปุ่น
คุณขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล
การศึกษา | Graduate School of Asia Pacific Studies Waseda University |
หากกล่าวถึงศาสตร์วิชา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีการเรียนการสอนอยู่ในโลกของเรานั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความกว้างและหลากหลายมากในตัวของมันเอง สำหรับหลายๆท่านที่กำลังลังเลอยู่ว่าหากจะเลือกเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในต่างประเทศนั้นจะเลือกเรียนที่ประเทศไหนดี ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการเรียนการสอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่นักศึกษาหลายๆท่านให้ความสนใจที่จะมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่นักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ความสนใจที่จะศึกษาอย่างกว้างขวาง รวมถึงในประเทศไทยเองซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น และบทบาทของญี่ปุ่นในประชาคมโลก
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่น่าสนใจและดึงดูดให้ศึกษาให้ความพิเศษนั้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วจากประเทศผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในปัจจุบัน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าศาสตร์วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นศาสตร์ที่กว้างและมีความหลากหลายมากศาสตร์หนึ่ง ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือกเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศญี่ปุ่นนั้นสิ่งหนึ่งที่ควรจะถามตัวเองเลยคือ “เรามีความสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกซึ่งจะเป็นการเจาะลึกในการเรียนเรื่องนั้นๆไม่เหมือนกับการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่เน้นการศึกษาแบบกว้าง
สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก่อนแล้วการมาต่อยอดการเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นคงจะไม่มีปัญหาด้วยการปรับตัวเท่าใดนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านอื่นจะไม่สามามารถศึกษาในด้านนี้ได้ แต่จะต้องใช้เวลาในการปรับตัวและศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานล่วงหน้ามาก่อน หรือสามารถดัดแปลงวิชาที่เคยเรียนมาเพื่อให้สอดคล้องกับศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
หลายๆท่านจบมาทางเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะมาต่อยอดโดยการทำวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือท่านที่จบมาทางนิเทศศาสตร์ก็อาจจะศึกษาทางด้านผลกระทบของสื่อในระดับนานาชาติได้ เป็นต้น
เมื่อเราได้คำตอบแล้วว่าสิ่งที่เราสนใจต่อไปคืออะไร สิ่งที่ผู้เขียนมักจะได้รับคำถามมาเสมอ คือ ถ้ามาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นจำเป็นจะต้องเก่งภาษาญี่ปุ่นมากหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็มักจะตอบไปว่าไม่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันมีหลายๆมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดสอนในหลักสูตรนานาชาติ เช่น Waseda University, Keio University, International Christian University ที่เมืองโตเกียว International University of Japan ที่เมืองนีงาตะ และ Ritsumeikan Asia Pacific University ที่เมืองโออิตะ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดีในการใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นการมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นติดตัวมาบ้างก็จะทำให้สะดวกสบายมากขึ้น หรือเมื่อมีโอกาสที่จะศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วการได้รับความรู้ทางภาษาญี่ปุ่นกลับไปบ้างก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับติดตัวกลับไปยังประเทศไทยอีกด้วย
การเรียนการสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น
หลักสูตรการเรียนการสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะดังนี้ คือ ปริญญาตรี 4 ปี ปริญญาโท 2 ปี และปริญญาเอก (อย่างน้อย) 3 ปี ซึ่งการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นก็มีลักษณะเหมือนที่ประเทศไทยคือเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่
ในระดับปริญญาโทนอกจากที่เราจะต้องเขียนเรียนในห้องเรียน หรือที่เรียกว่า Coursework แล้ว เรายังต้องเข้าสัมมนากับอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาคนอื่นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อแจ้งให้อาจารย์ทราบความคืบหน้าและปรึกษาเกี่ยวกับการทำวิจัย และเขียนวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม (ในบ้างมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ต้องเขียนวิทยานิพนธ์แต่ต้องฝึกงานแทนก็มีเช่นกัน ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละที่)
ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้นจะต้องเข้าสัมมนากับอาจารย์ และทำงานวิจัยรวมถึงเขียน Journal เพื่อทำการตีพิมพ์ตามจำนวนที่มหาวิทยาลัย หรืออาจารย์กำหนดไว้
ส่วนในด้านการทำวิจัยนั้น เมื่อเราทราบความสนใจของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการเตรียมตัวมาเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นก็คือการเตรียม “หัวข้อวิจัย” ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เราต้องจดจ่อตลอดระยะเวลาที่เราจะศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามการเลือกหัวข้อวิจัยนั้นควรจะเป็นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของเราเป็นหลัก และเอามาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
หลายๆท่านเลือกที่จะศึกษาเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเราสามารถหาข้อมูลในการทำการวิจัยได้จากรอบตัวเราเอง แต่หลายๆท่านที่เลือกศึกษาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นเลยก็สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลากหลายด้าน เช่น ทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านมานุษยวิทยา ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทางด้านการศึกษา ทางด้านสิทธิมนุษยชน ทางด้านภูมิภาคศึกษา รวมถึงทางด้านไทยศึกษา เป็นต้น ซึ่งคณาจารย์เหล่านั้นสามารถช่วยแนะนำแนวทางในการทำวิจัยของท่านให้สำเร็จลุล่วงไปได้ตามเป้าหมาย
การเลือกประกอบอาชีพ
ผู้ที่จบการศึกษาทางด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั้น สามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายประเภท เช่น เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เข้าทำงานในองค์การระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งเป็นนักวิจัย นักวิชาการและนักวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากการศึกษาในศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยให้ท่านมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น รวมถึงเปิดทัศนคติของท่านให้กว้างขึ้นอีกด้วย และจากทักษะดังกล่าวที่ท่านจะได้รับเมื่อเรียนจบกลับไปยังประเทศไทย ท่านยังสามารถนำไปปรับปรุงใช้ในการทำงานประเภทอื่นๆในองค์กรได้ การได้ภาษาญี่ปุ่นกลับไปก็เป็นอีกใบเบิกทางหนึ่งที่จะเปิดทางให้ท่านไปสู่จุดมุ่งหมายทางการทำงานได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สัมภาษณ์พี่โบว์ ขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล : ไปเรียนญี่ปุ่น … ดวงไม่สำคัญ ความพยายามสำคัญกว่า
Live คุยกับพี่โบว์ ขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล : คุยกับรุ่นพี่ Waseda University กับการทำงานที่ Facebook
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://unsplash.com/photos/45sjAjSjArQ
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่