การเรียนด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ญี่ปุ่น

ดร.พญ.นวลกันยา สถิรพงษะสุทธิ (ส้ม)

การศึกษา Laboratory of Functional Genomics
Department of Medical Genome Sciences
Graduate School of Frontier Sciences
Tokyo University

การเรียนด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ญี่ปุ่น

ถ้าบอกว่าตอนนี้กำลังเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ หลายๆ คนอาจจะนึกถึงภาพนักเรียนใส่ชุดกาวน์ขาวคอห้อย Stethoscope ทำงานตรวจคนไข้ ดูคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลเป็นแน่ แต่จริงๆ แล้วสาขานี้มีอะไรให้เรียนให้ทำมากกว่าที่คุณคิดค่ะ

วิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความหมายกว้างมาก มันครอบคลุมศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการการทำงานของร่างกายมนุษย์ ตั้งแต่สารเคมีต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย โครงสร้างพันธุกรรมหรือที่เรารู้จักกันว่า ดีเอ็นเอ เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ระบบต่างๆของร่างกาย จนไปถึงการทำงานเชื่อมโยงของร่างกายมนุษย์

นี่ยังไม่รวมถึง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งที่ช่วยให้ร่างกายเราดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ และที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เมื่อไม่สบายแล้วก็ต้องมีการนำยา หรือสารเคมี เข้ามาช่วยให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ อีกด้วย ทีนี้ พอจะนึกกันออกแล้วใช่ไหมคะว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีเนื้อหากว้างมากเพียงใด

 

ทำไมถึงเลือกมาเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่น
หลายๆคนคงอยากรู้ว่า ทำไมถึงเลือกมาเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่น มันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อดี

1. ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการศึกษาและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ค่อนข้างมาก จึงมีสาขาให้เลือกเรียนหลากหลาย และมีหลายสาขาที่ดังติดอันดับโลก

2. เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ในการวิจัยค่อนข้างทันสมัย ในบางสาขา ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นผู้ผลิต และคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย

3. รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดกว้างวิทยาศาสตร์สู่ระดับนานาชาติ จึงมีเงินทุนสนับสนุนให้นักเรียนต่างชาติแบบให้เปล่าค่อนข้างมาก เช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนจากสถาบันวิจัยต่างๆ ทุนจากมหาวิทยาลัย และทุนจากภาคเอกชน รวมไปถึงมีเงินทุนสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยต่างชาติด้วย

4. ระยะเวลาในการเรียนค่อนข้างสั้น โดยประมาณ 2 ปี สำหรับปริญญาโท และ3-4ปี สำหรับปริญญาเอก

5. เมื่อเรียนจบแล้ว มีโอกาสในหางานในประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย หรือต่างประเทศได้สูง เนื่องจากสถาบันในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ข้อเสีย

1. เนื่องจากระบบการเรียนการสอนของประเทศญี่ปุ่นจะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก และศัพท์ทางวิทยาศาสตร์จะใช้เป็นภาษาญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำให้ลำบากและเสียเวลาบ้างในช่วงต้น

2. เนื่องจากระยะเวลาในการเรียนค่อนข้างสั้น จึงต้องเรียนหนักพอสมควร รวมถึงวันหยุดค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับระบบการเรียนในประเทศอื่นที่ญี่ปุ่นเค้าเรียนกันอย่างไร

ที่ญี่ปุ่นเรียนกันอย่างไรบ้าง เรียนยากหรือไม่ คงเป็นคำถามที่หลายๆคนคงมีอยู่ในใจ และไม่รู้ว่าจะหาคำตอบได้จากที่ไหน อย่างไร ขอเน้นที่การเรียนในระดับปริญญาโทและเอกเป็นหลักนะคะ

 

การเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ญี่ปุ่น

การเรียนโดยทั่วไปจะไม่แตกต่างไปจากการเรียนที่ประเทศไทยมาก คือหลักๆก็จะมีการทำงานวิจัย ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักในการเรียนระดับปริญญาโทและเอก โดยจะต้องมีงานวิจัยเป็นของตัวเอง เพื่อใช้ในการนำเสนอตอนจบ ทั้งนี้ความยากง่ายของงานวิจัย ก็ขึ้นกับว่าเป็นระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกด้วย

การเรียนในห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนจะเป็นวิชาบังคับที่ต้องลงสำหรับนักเรียนระดับปริญญาโท สำหรับปริญญาเอกจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ขึ้นกับความสมัครใจ การเรียนในห้องเรียนต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเป็นภาษาญี่ปุ่น มีบ้างที่จะมีการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นใครจะมาเรียนระดับปริญญาโท ควรจะมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นบ้างพอสมควร แต่บางทีก็ไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นตลอด บางสถาบันจะผ่อนผันให้ว่าสามารถส่งรายงาน หรือสอบเป็นภาษาอังกฤษได้

การสัมมนา หรือในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่าการเข้าเซมิ เป็นกิจกรรมที่ห้ามขาด ซึ่งแต่ละที่จะแตกต่างกันไป บางที่เป็นสัมมนาในภาควิชาบางที่เป็น สัมมนาในห้องวิจัย ส่วนจะสัมมนาบ่อยแค่ไหน สัมมนาด้วยภาษาอะไร ก็ขึ้นกับภาควิชาและห้องวิจัยนั้นๆ ซึ่งการเข้าสัมมนานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะอาจารย์จะประเมินว่าจะจบได้หรือไม่ได้จากการเข้าสัมมนานี่แหล่ะค่ะ

ส่วนเงื่อนไขในการจบรวมถึงวิธีการสอบก็จะแตกต่างกันระหว่างของปริญญาโทและเอก รวมถึงจะแตกต่างกันไปในแต่ละคณะ แต่ละสถาบันด้วย ซึ่งโดยรวมแล้ว การจะจบหรือไม่จบสำหรับญี่ปุ่นนั้น ขึ้นกับความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนต่างๆที่กล่าวไปแล้วเป็นหลักค่ะ

 

ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจมาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความหลากหลายในสาขาเรียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบก่อนว่าอยากจะเรียนทางด้านไหน และทำเรื่องอะไรอย่างเฉพาะเจาะจงเสียก่อน โดยเฉพาะคนที่สนใจจะมาเรียนต่อในระดับปริญญาโท และเอก รวมถึงควรจะหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน หรือห้องวิจัยที่เราสนใจที่จะไปเรียนด้วย เพราะการสอบเข้าในแต่ละที่ ต้องการคุณสมบัติ และมีวิธีการสอบที่แตกต่างกันไป รวมไปถึงการสมัครทุน ที่บางทุนจะต้องระบุสถาบันที่ต้องการไปเรียนตั้งแต่แรก จึงอยากจะแนะนำให้หาข้อมูลเหล่านี้ไว้ก่อนล่วงหน้าค่ะ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่

Scroll to Top