บทสัมภาษณ์ ช้าง หนุ่มสถาปัตย์ จุฬาฯ กับเทคนิคการเรียนภาษาญี่ปุ่น และเทคนิคการจำคันจิระดับ คันจิ แชมเปี้ยน!
คุณสุวริทธ์ ประภัทรวิมล (ช้าง)
ไปเรียนต่อญี่ปุ่นกับเจเอ็ดดูเคชั่น เดือนเมษายน ปี2005
การศึกษา | ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
การศึกษาที่ญี่ปุ่น |
|
การทำงาน | BIM Architect, Engineering Department, Thai Shimizu Co., Ltd. |
เพจ บล็อก |
เพจมินนะโนะคันจิ.com https://www.minnanokanji.com/ |
การเรียนภาษาญี่ปุ่นและการเรียนต่อที่ญี่ปุ่น
-
เด็กสถาปัตย์ อยู่ดีๆ คิดยังไง ทำไมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นคะ
จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่นะครับ ผมชอบประเทศญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น ผ่านการ์ตูนมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ อยากเรียนมาตั้งแต่สมัยม.ปลาย กว่าจะได้เรียนจริงๆ ก็สมัยมหาวิทยาลัยปี 4 จนถึงช่วงทำงานแรกๆ ผมเรียนภาษาญี่ปุ่นชั้นต้นและชั้นกลางที่ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) และเจแปนฟาวเดชั่น
-
แล้วทำไมถึงไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นคะ
คือเรียนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยมาประมาณ 3-4 ปี ก็ได้เรื่องคำศัพท์ ไวยากรณ์ระดับนึง สอบวัดระดับพอได้ (สมัยนั้นเป็นระบบเก่า คิดเฉพาะคะแนนรวมว่าผ่านหรือตก ผมก็ทำพาร์ทคำศัพท์, ไวยากรณ์เยอะๆ เพื่อไปถ่วงน้ำหนักกับพาร์ทฟังที่ทำแทบไม่ได้เลย) แต่เรียนเมืองไทยไม่ได้ใช้จริง เลยอยากไปฝึกทักษะฟัง+พูดเพิ่ม ให้ใช้งานได้จริงๆ ก็เลยขอ (ตังค์) แม่ไปเรียนครับ
-
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่น
แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวจะช่วย (และกดดัน) ให้เราเพิ่มทักษะฟังพูดอ่านเขียนในเวลาเดียวกัน ทั้งการเรียนจากอาจารย์ในห้อง เพื่อนต่างชาติ เช่น คนเกาหลี, คนจีน ที่จะไปได้เร็วกว่า การทดสอบคันจิและทดสอบย่อยทุกสัปดาห์ รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ และสื่อต่างๆ ในเมือง ป้ายสัญลักษณ์, ประกาศ, ร้านค้า, สถานี, รายการโทรทัศน์ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าอยู่เมืองไทยครับ
-
หลังจากที่เรียนภาษาจบแล้ว ทำไมถึงเรียนต่อเซนมงกักโคล่ะคะ (วิทยาลัยหลักสูตรวิชาชีพ)
ผมเรียนหลักสูตร 1 ปี จบภาษาญี่ปุ่นชั้นสูงเดือนเม.ย.พอดี ซึ่งเป็นช่วงเปิดการศึกษาใหม่ (จะเรียนอีกปีก็รู้สึกมากเกินไป) ก็เลยมองๆ หาหลักสูตรอะไรเรียนต่อเพื่อเพิ่มทักษะภาษาญี่ปุ่นด้วย ตอนนั้นไม่ได้มองสายสถาปัตย์ที่จบมาโดยตรง อาจเพราะตัวเองไม่ได้ชอบดีไซน์ขนาดนั้น ถ้าจะเรียนพวกเทคโนโลยีอาคารอะไร กลับมาทำงานออฟฟิศสถาปนิก (มองแบบแคบๆ) ก็ไม่ได้ใช้งานอะไรอยู่ดี เพราะเน้นประสบการณ์มากกว่า เลยลองดูพวกหลักสูตรของเซมมงกักโค ตอนแรกก็เลือกเรียนพวก Graphic (Editorial) แต่พอเรียนไปปีนึง รู้สึกว่าคล้ายความรู้เดิมด้านดีไซน์ที่เคยเรียนมา ก็เลยเปลี่ยนมาเรียน Web Programming ซึ่งมีความสนใจอยู่เหมือนกันครับ
-
การเรียนหลักสูตรวิชาชีพที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้างคะ
หลักสูตรวิชาชีพ ถ้าเทียบก็คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ความเข้มข้นก็จะน้อยกว่าการเรียนป.ตรี 4 ปี (เด็กญี่ปุ่นที่เรียนต่อก็คือจบม.ปลาย หรืออาจมีส่วนนึงเหมือนกันที่จบมหาวิทยาลัยแล้วอยากเปลี่ยนสายงานก็เลยมาเรียน) ส่วนใหญ่จะเป็นด้านที่ใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น กราฟฟิค, ดนตรี, ภาพยนตร์, มังกะ, อนิเมะ, ไอที
ถ้าจะแนะนำสำหรับคนที่จบป.ตรีแล้วก็คือ ไม่ควรเลือกสายเดิมที่เคยเรียนมา เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่จะเหมือนกัน (เช่น จบทางสายอาร์ตมา เรียนต่อกราฟฟิค) ส่วนตัวคิดว่า สำหรับคนที่ชอบสาขาที่โดดเด่นหรือเฉพาะทางที่ญี่ปุ่น อย่างพวกอนิเมะ, มังกะ ก็น่าสนใจทีเดียวครับ
-
การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้างคะ เห็นว่าไปทำงานพิเศษเขียนโปรแกรมในบริษัทมาด้วย ตอนนั้นหางานได้ยังไงคะ
การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น อย่างที่ทุกคนรู้ ค่าครองชีพแพงกว่าเมืองไทยมากครับ สมัยนั้นผมคิดว่า ซัก 6 เท่าได้ การรับเงินจากทางบ้าน แค่ค่าเรียน, ค่าหอพัก ปีๆ นึงก็ค่อนข้างสูงมากอยู่แล้ว ก็คิดไว้ว่ายังไงก็ต้องทำงานพิเศษไปด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระ อย่างน้อยก็เป็นค่ากิน ค่าเดินทางในแต่ละเดือน
สองงานแรกที่ทำ ก็เป็นงานร้านอาหารไทย (เสิร์ฟ/ล้างจาน) ส่วนใหญ่รุ่นพี่, เพื่อนก็จะแนะนำต่อๆ กันมาครับ เราจะคุ้นเคยอยู่แล้ว และคุยกับพี่ๆ คนไทยได้เป็นกันเอง แถมยังมีอาหารไทยทานฟรีอีกตังหาก หลังจากนั้นประมาณปีที่ 3 ผมก็ลองหางานใหม่จากในเน็ต เป็นงานทำเว็บดีไซน์ในบริษัทจัดหาสตาฟต่างชาติ (เป็นของคนเกาหลี) ก็ทำมาจนถึงก่อนกลับเมืองไทย เงินก็อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็เปลี่ยนจากใช้แรง มาใช้ทักษะบ้างอะไรบ้าง
-
สิ่งที่ไปเรียนที่ญี่ปุนได้นำกลับมาปรับใช้กับการทำงานอย่างไรได้บ้างคะ
ปัจจุบัน ผมเพิ่งย้ายมาทำบริษัทไทยชิมิสึ เป็นบริษัทลูกของ Shimizu Corporation ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น (แต่ในไทยขนาดยังไม่ใหญ่เท่าไหร่) ตำแหน่งสถาปนิก แต่ไม่ได้ทำงานออกแบบ ทำเกี่ยวกับการนำ BIM (Building Information Modelling) มาใช้ในงานก่อสร้าง แทนระบบ CAD ในปัจจุบัน ที่นี่จริงๆ เขาใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลัก
แต่ถ้าคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็อาจจะสื่อสารได้เข้าใจมากกว่า รวมถึงเข้าใจนิสัยใจคอ วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นได้มากกว่า รู้ว่าอะไรควรทำ หรือต้องทำ เช่น คนญี่ปุ่นจะไม่ชอบอะไรที่ไม่ชัดเจน คำตอบจะต้องตอบให้ได้ว่า Yes หรือ No, อะไรคือปัญหา อะไรคือสาเหตุ เป็นต้น
เพจมินนะ โนะ คันจิ
-
ทำไมถึงคิดทำเพจและเว็บมินนะ โนะ คันจิขึ้นมาคะ
สมัยนี้ส่วนใหญ่อาจจะอยากทำเพจในเฟสบุ้คขึ้นมา ก็แค่แป๊บเดียว แต่ตอนปี 2008 ผมเริ่มจากทำเว็บไซต์มินนะ โนะ คันจิ ขึ้นมาก่อนครับ จุดประสงค์คือ ทดลองเขียนเว็บโปรแกรมมิ่งที่เรียนมา กับชอบคันจิอยู่แล้ว ก็เลยเอามารวมเป็นเว็บดาต้าเบสคันจิภาษาไทย ให้คนไทยได้เรียนคันจิด้วยตนเองได้ คำว่าดาต้าเบสแต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นพจนานุกรม คือแค่มีการบอกความหมายของคันจิ การนำไปประสมคำ เสียงอ่านต่างๆ เบื้องต้น เอาไว้เรียนรู้ในแต่ละระดับที่เหมาะสมกับเรา เช่น N5, N4 ส่วนเพจในเฟสบุ้คก็คือตามมา สำหรับสื่อสารสองทางกับผู้ใช้ หรือโพสต์ความรู้อะไรต่างๆ เกี่ยวกับคันจิครับ
-
เด็กไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าคันจิมันยาก โดยเฉพาะเด็กไทยที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วเจอคนจีนที่รู้คันจิ จะทำให้เกิดอาการท้อถอย รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ช้างคิดว่ายังไง เคยมีความรู้สึกแบบนั้นไหม
การไปเทียบความรู้คันจิกับคนจีน หรือเทียบไวยากรณ์กับคนเกาหลี แน่นอนว่า เราย่อมแพ้เขาอยู่แล้ว (ลองมาเรียนภาษาลาวแข่งกับคนไทยสิ) ทางที่ดีคือ การแข่งกับตัวเองจะดีกว่า จริงๆ แล้วถามว่าคันจิยากหรือง่าย ต้องบอกว่าเราเรียนภาษาญี่ปุ่น จะเข้าใจคำศัพท์หรือการอ่าน (หรือแม้แต่การฟัง) ได้อย่างไร คำตอบคือยังไงเราก็ต้องรู้คันจิตามระดับนั้นๆ ให้ได้
ผมจะบอกความลับการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ รู้แล้วอย่าบอกเพื่อน (ยังกับไม่มีคนรู้-จริงๆ ทุกคนรู้อยู่แล้ว) การที่เรารู้คันจิ เราจะเข้าใจศัพท์คำประสมได้จำนวนมาก นั่นคือเราเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้มากกว่า ที่ถามว่ารู้สึกท้อถอยไหม พอดีผมชอบคันจิอยู่แล้ว ก็เลยไม่เคยรู้สึกอะไร อยากจะรู้มากขึ้นๆ ไปด้วยซ้ำ :D
-
จะทำยังไงให้เก่งคันจิ จำคันจิได้ มีเทคนิคยังไงบ้าง
ผมก็ยังไม่เก่งคันจิขนาดนั้นนะครับ ยังมีที่เรียนแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ก็ลืมไปอยู่เยอะ แต่ถ้าจะแนะนำวิธีเรียนคันจิที่ผมเคยใช้ ก็จะแบ่งเป็นสองช่วง ก็คือชั้นต้น ประมาณ N5, N4 อันนี้คือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะฝึกเขียนบ่อยๆ เรียนรู้ความหมายพื้นฐานคันจิแต่ละตัว, รวมถึงความหมายของบุชุ ( ส่วนประกอบของอักษรคันจิ ) เพื่อเราจะได้ประสมคำศัพท์ได้เข้าใจ
ทีนี้พอระดับกลาง N3, N2 เราจะเริ่มสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของคันจิแต่ละตัว เสียงอ่านที่เริ่มซ้ำ, ส่วนประกอบที่เริ่มซ้ำ เราควรทำความเข้าใจคันจิประเภทที่ประกอบด้วยส่วนประกอบของความหมายและเสียง เทคนิคนี้จะช่วยให้เรียนรู้คันจิได้ถึง 70-80% เลยทีเดียว ซึ่งหลายคนไม่ทันสังเกต หรือไม่เคยเรียนในห้อง ก็จะคิดว่า คันจิเป็นพันตัวในระดับกลางนี้ จะท่องจำได้อย่างไร
การเรียนคันจิไปประสมเป็นศัพท์ หรือการท่องศัพท์แล้วกลับมาเป็นคันจิที่เรารู้จักกลับไป-มา ก็จะช่วยให้ระบบความรู้สัมพันธ์กันมากกว่าที่จะท่องเป็นตัวเดี่ยวๆ ด้วยครับ
-
มาถึงตอนนี้ คิดยังไงกับการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น การไปเรียนที่ญี่ปุ่นให้อะไรกับตัวเองบ้าง
บอกได้เลยว่า ช่วงที่ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเลยครับ เริ่มจากที่เราชอบประเทศญี่ปุ่น ชอบภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว พอได้ไปอยู่จริงๆ มันคือใช่ บ้านเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้คนที่มีวินัย การเดินทางที่สะดวก สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป (ถึงแม้ไม่ได้มีเงินเหลือได้ไปบ่อยๆ) ทุกอย่างคือที่เราอยากไปพบ ไปเจอ ไปอยู่มาตลอด แถมได้แฟนคนแรกและคนเดียวกลับมาอีก (ฮิ้วว) คุ้มมากๆ ยกเว้นอย่างเดียว คือไม่ได้ทำงานประจำ ที่เค้าว่ากันว่า จริงจังและซีเรียสมาก
บอกได้เลยว่า ช่วงที่ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเลยครับ
-
ถ้ามีคนรู้จักอยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น คิดว่าอยากจะแนะนำเค้าว่ายังไง
ถ้าเจ้าตัวอยากไปเองอยู่แล้ว ไม่ใช่โดนพ่อแม่หรือใครบังคับ ขอให้ไปเลยทันที โดยเฉพาะเรื่องภาษาญี่ปุ่น ถ้าเป็นคนที่ชอบอยู่แล้ว เราจะไม่คิดว่าเป็นอุปสรรคหรืออะไรเลย ยิ่งมีเรื่องที่เราไม่รู้ คำศัพท์ที่ไม่เข้าใจ คันจิใหม่ๆ เรายิ่งอยากจะเข้าใจมันให้ได้ หลายคนบอกว่าภาษาญี่ปุ่นยาก ถ้าเราชอบแล้ว ยากแค่ไหนเราก็อยากฟังพูดอ่านเขียนให้ได้
เอ้า… ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ตอนนี้
ใครอยากเก่งคันจิแบบพี่ช้าง คลิกไปอ่านที่ เพจ หรือ เว็บไซท์ มินนะโนะคันจิ กันเลยนะคะ
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ไม่มีค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-2677726
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> http://bit.ly/jed-line