ฤดูใบไม้ร่วง 秋 : aki
โดย อ.ปมโปโกะ
ตั้งแต่เดือนกันยายน ตามปกตินั้นอากาศจะเริ่มเย็นลง และจะเย็นฮวบ เนื่องจากช่วงนี้จะมีพายุไต้ฝุ่น(台風:taifuu)เข้า
พอถึงเดือนตุลาคม ทุกคนก็จะเริ่มใส่เสื้อแขนยาว ใส่เสื้อนอกกัน อากาศแม้จะมีฝนบ้าง ลมแรงไปหน่อย แปรปรวนดังคำที่ว่า「女心と秋の空」(onna-gokoro to aki no sora)“ใจหญิงรวนเรดังฟ้าฤดูใบไม้ร่วง” (ภายหลังมาเปลี่ยนเป็น “ใจชาย”(男心:otoko-gokoro)แทนตามสมัยสตรีนิยม) แต่ก็จะไม่มีไต้ฝุ่นแล้ว
ด้วยเหตุที่อากาศเย็นลง ทำให้ร่างกายหิวง่ายขึ้น ฤดูใบไม้ร่วง ( 秋 : aki ) นี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นฤดูแห่งการกิน(食の秋:shoku no aki)แถมฤดูนี้เป็นช่วงที่มีของอร่อยๆ ออกมามากกว่าฤดูใดๆ เช่น
เห็ดมัตสึตาเกะ(松茸:matsu-take)ที่มีราคาแพงที่สุดในบรรดาเห็ดในญี่ปุ่น
ปลาซัมมะ(秋刀魚:samma)ที่อร่อยกว่าฤดูใดๆ
ลูกพลับ(柿:kaki)
หอยนางรม(カキ:kaki)
เกาลัด(栗:kuri)
และอื่นๆ อีกสารพัด พืชผักผลไม้ในฤดูร้อนก็ยังมีให้เห็น ขณะที่ผลไม้ฤดูหนาวก็เริ่มวางตลาด อย่างนี้จะไม่ให้อ้วนได้อย่างไรครับ
เนื่องจากฤดูนี้ตามปกติจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวด้วย จึงมีโอกาสได้กิน
ข้าวใหม่(新米:shimmai)
ดื่ม ชาใหม่(新茶:shincha)ด้วย
สีสันของ ฤดูใบไม้ร่วง คงหนักไปทางสีเหลืองๆ ส้มๆ
อย่างแรกคือ เกาลัด ที่มีจำนวนมากพอจะไปทำเป็นขนมต่างๆ อาหารที่ใช้ส่วนผสมเกาลัดมักจะใช้คำว่า「マロン」(maron)ระบุ เช่น เค้กมารอน ก็จะหมายถึงเค้กที่มีหน้าเกาลัด ที่มีชื่อมากๆ คือ「モンブラン」(monburan)ซึ่งตั้งชื่อเลียนแบบยอดเขามองต์บลังค์ (Mont Blanc )ของฝรั่งเศส
ส้มอย่างที่สองคือ ส้มฟักทอง เนื่องจากเดือนตุลาคมมีวันฮาโลวีน(ハロウィン:harowin)ของฝรั่ง ตามห้างของญี่ปุ่นก็เลยได้อานิสงส์จัดร้านให้เข้าเทศกาลแล้วขายของแนวนี้มากมาย
เทศกาลฮาโลวีนนี้ มีจัดที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ด้วยทุกปี และแน่นอน ตามร้านก็จะมีขนมที่ทำด้วยฟักทอง(カボチャ:kabocha)มาเบียดกับเกาลัด (มารอน)
ส้มอย่างที่สามคือ แสงโพล้เพล้(夕焼け:yuuyake)หรือผีตากผ้าอ้อมของไทย แสงสีแดงยามอาทิตย์ตกดินนี้ค่อนข้างหาดูได้ยากที่ญี่ปุ่น
ช่วงวันที่อากาศเป็นใจใน ฤดูใบไม้ร่วง จะมีแสงโพล้เพล้ให้เห็น ตัดกับฟ้าสีน้ำเงินเป็นวิวที่สวยงามมาก แต่จนบัดนี้ผมก็ไม่มีโอกาสได้ดู เพราะฝั่งตะวันตกมีหลังคาเพื่อนบ้านบังอยู่
ส้มสุดท้าย คือ โคโย「紅葉」(kouyou)คือ การที่ใบไม้เปลี่ยนสีเป็นสีส้มหรือแดงนั่นเอง ต้นไม้ที่คนนิยมดูมันเปลี่ยนสีคือ「紅葉」(momiji)เขียนตัวจีนเดียวกับโคโยแต่อ่านว่าโมมิจิ คือ ใบเมเปิ้ลนั่นเอง
ช่วงนี้ คนจึงนิยมไปปีนเขามากเพื่อดูใบไม้เปลี่ยนสีบนเขา เป็นภาพที่สวยงามมาก หรือไม่บางคนก็ไปบ่อน้ำพุร้อน แช่น้ำไปดูโคโยไป
ส่วนคนในโตเกียวนั้น จะนิยมไปดูใบแปะก้วย(銀杏:ichou)ซึ่งมีสีเหลือง ใบแปะก้วยเป็นสัญลักษณ์ประจำโตเกียว สถานที่ที่คนนิยมไปดูคือสวนไกเอ็ง「外苑」(gaien)ใครอยากไปดูก็นั่งรถไฟสายกินซ่าสีส้มไปลงที่สถานี「外苑前」(gaienmae) โดยปกติคนจะนิยมดูต้นไม้ที่เรียงกันเป็นตับเรียกว่า「並木」(namiki)ถ่ายรูปคู่กับต้นไม้สีเหลืองที่เรียงรายได้บรรยากาศดี
ใบไม้ที่เปลี่ยนสีนี้จะเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ตามภูเขา ที่คนนิยมไปมากคือ นิกโก้(日光)และฮาโกเนะ(箱根)ส่วนตามในเมืองนั้นจะเริ่มเปลี่ยนสีช่วงพฤศจิกายน โดยเฉพาะที่เกียวโตะนั้นมีชื่อเสียงมาก คนจึงแห่กันไปดูโคโยช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
เนื่องจากที่นี่มีวัดมากมาย และในวัดมักมีพื้นที่มากพอที่จะปลูกไม้ผลัดใบต่างๆ แต่ถ้าไม่มีตังค์แล้วอยากเห็นโคโยสวยๆ ผมแนะนำให้เข้าไปดูในมหาวิทยาลัยจะสวยมาก คนทั่วไปไม่ค่อยรู้
สำหรับการแต่งกายในหน้านี้ คนก็ค่อยๆ แต่งให้หนาขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ อาจจะใส่แขนยาวตัวเดียว แล้วก็เปลี่ยนมาใส่แขนสั้นทับแขนยาว (แฟชั่นแนวนี้คนไทยไม่ค่อยฮิตเพราะชอบใส่แขนยาวทับแขนสั้นมากกว่า) และเริ่มใส่แจ็กเก็ต
คนในเมืองหลวงมักนิยมใส่แบบไม่รุ่มร่าม บางทีใส่เสื้อหนาเกินไปก็จะถูกมองเหมือนใส่เสื้อผิดฤดู เสื้อที่ใช้ขนแคชเมียร์ที่บางแต่อบอุ่นมากนั้นมีราคาแพง แต่คนก็นิยมกัน ส่วนในเขตชานเมือง จะนิยมใส่เสื้อรุ่มร่ามหน่อย เช่น เสื้อโค้ต หรือเสื้อที่มีผ้าหนา
นอกจากนี้ยังมีคนตั้งให้ ฤดูใบไม้ร่วง เป็น ฤดูแห่งการอ่านหนังสือ「読書の秋」(dokusho no aki)ฤดูแห่งการการกีฬา「スポーツの秋」(supootsu no aki)สาเหตุนั้นเนื่องจากว่า ในต้นฤดูนี้ทั้งที่โรงเรียนและในบริษัทใหญ่ๆ จะจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาสี(運動会:undoukai)เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ
เนื่องจากอากาศไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ทำให้ช่วงกันยายน กล้องวีดีโอขายดี เพราะพ่อแม่จะต้องไปซื้อมาอัดวีดีโอลูกของตัวเองเป็นที่ระลึก
ส่วนวัยรุ่นก็จะง่วนกับงานโรงเรียน(文化祭:bunkasai)ซึ่งจะมีจัดช่วงวันวัฒนธรรม(文化の日:bunka no hi)ต้นเดือนพฤศจิกายน บางโรงเรียนกลัวแย่งลูกค้ากับโรงเรียนอื่น จึงเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงเป็นช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์อื่น
ในงานโรงเรียนแต่ละระดับ ส่วนใหญ่ก็จะเปิดให้นักเรียน นักศึกษาจัดกิจกรรมได้ตามอิสระ อย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ในหนังญี่ปุ่น บ้างก็ออกร้านขายอาหาร บ้างก็จัดการแสดง ในโรงเรียนดังๆ ที่มีเงินสนับสนุนก็จะเชิญดารามาร่วมงานเป็นสีสันเรียกบุคคลภายนอกให้เข้ามาดูงานโรงเรียน
ในช่วงเดียวกันนี้ เป็นฤดูที่นักเรียนจะต้องอ่านหนังสือ เตรียมสอบเอ็นทรานซ์ของส่วนกลาง(センター試験:sentaa shaken)ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมกราคมของปีถัดไปมากขึ้น โดยระบบของที่นี่ จะใช้คะแนนของการสอบส่วนกลางนี้เป็นเกณฑ์ในการสมัครเข้าสอบแยกตามมหาวิทยาลัย หรือ เรียกว่าการสอบรอบสอง(二次試験:niji shaken)
ถ้าคะแนนสูงไม่พอจะเข้าที่ที่อยากเรียน ก็อาจจะต้องเรียนเพิ่มอีกปีในโรงเรียนกวดวิชา(予備校:yobikou)ต่อไป เป็น “โรนิง”(浪人:rounin)จนกว่าจะเข้าได้ จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งสำหรับนักเรียนม.ปลายปีสุดท้ายที่จะได้ร่วมกิจกรรมงานโรงเรียนกับเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย และจะต้องคร่ำเคร่งกับการกวดวิชามากกว่าปกติ
บทความน่ารู้จาก อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้ คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line