การเรียนด้าน เกษตรศาสตร์ ที่ญี่ปุ่น
ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ
การศึกษา | Doctoral programs in Biosphere Resource Science and Technology Graduate School of Life and Environmental Sciences University of Tsukuba |
ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น
ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ*
หากจะกล่าวถึงการมาศึกษาต่อทางด้านการเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นดูจะไม่โดดเด่นมากนัก หากเปรียบเทียบกับธุรกิจในศาสตร์ความรู้ทางแขนงอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นจุดเด่นของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลเพราะข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่การเพาะปลูก สภาพดินฟ้าอากาศ ต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ทำการทำการเกษตรของญี่ปุ่นค่อนข้างมีอุปสรรค และเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ญี่ปุ่น ประเทศอุตสาหกรรมที่ไม่หลงลืมการเกษตรกรรม
แต่อาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นนี้เองหรือไม่? ที่ส่งผลให้คนญี่ปุ่นเกิดความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ทางด้านการเกษตร ที่มีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ส่งสุด จนอาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอย่างสูงสุดโดยที่ไม่ลืมที่จะพัฒนาการเกษตรควบคู่กันไป
นอกจากนี้จากการญี่ปุ่นใช้แผนพัฒนาทางการเกษตรของประเทศ โดยเน้นทางด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดช่องว่างรายได้ภาคเกษตรกับภาคอื่นๆ รวมไปถึงการพัฒนาเกษตรให้ยั่งยืนโดยการพัฒนาระบบการจัดการและองค์กรด้านเกษตร เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตในตลาดโลก เป็นผลให้ภาครัฐ และภาคเอกชนของญี่ปุ่น ตื่นตัว สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยต่างๆ ตลอดจนมีการคิดค้นเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ลดระยะเวลาในการทำงาน และทดแทนแรงงานภาคเกษตรของญี่ปุ่น
มีผู้รู้ท่านหนึ่งวิพากย์การเกษตรของบ้านเราว่า “ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น”
ซึ่งต้องยอมรับว่า ถึงแม้ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาประเทศเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านการเกษตรมากขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่น ที่มีระบบการจัดการทางการเกษตร และมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักร ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้เองที่กลายเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่นทางด้านการเกษตร ที่เมื่อมาศึกษาต่อทางด้านการเกษตรที่ญี่ปุ่นแล้วเราสามารถเรียนรู้ ทำความความเข้าใจ และสามารถนำส่วนดีที่เหมาะสมไปปรับใช้กับการพัฒนาทางด้านการเกษตรของบ้านเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้นไป
จะเลือกเรียนเกษตรที่มหาวิทยาลัยไหนดี?
มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นนั้นล้วนมีจุดเด่นและข้อด้อยแตกต่างกันไป มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอาจมีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยของสาขาหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่กลับมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาหนึ่งมากกว่า การเลือกมหาวิทยาลัยที่จะมาศึกษาต่อนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
ซึ่งโดยทั่วไปมหาวิทยาลัยต่างๆของญี่ปุ่นจะมีหลักสูตรทางด้านการเกษตร โดยบางครั้งอาจไม่ได้เปิดเป็นคณะเกษตรโดยตรง แต่อาจแทรกอยู่ตามคณะวิชาต่างๆ แล้วแต่การแบ่งหมวดหมู่แขนงวิชาของแต่ละมหาวิทยาลัย ถ้าหากไม่รู้ว่าจะเริ่มที่ตรงไหนดี แนะนำว่าให้ถามตัวเองก่อนว่าหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจที่จะต่อยอดความรู้นั้นคืออะไร เมื่อเราเลือกหัวข้อวิจัยที่สนใจแล้วจึงมามองหามหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ เน้นงานวิจัยในสาขาวิชานั้น ตลอดจนมีอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่พร้อมกับงานวิจัยของเรา
มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น Kyoto University, Tokyo University of Agriculture and Technology, Hokkaido University, Kyusyu University เป็นต้น ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะเน้นงานวิจัยที่มีชื่อเสียงแตกต่างกันออกไปแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น Hokkaido University มีชื่อเสียงทางงานวิจัยทางด้านข้าวสาลี องุ่น หรือ ไม้ดอก แต่ในคณะเดียวกันมหาวิทยาทางตอนใต้ เช่น Kyushu University มีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
รูปแบบการเรียนการสอนในสาขาเกษตรของญี่ปุ่น
ลักษณะการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาไม่เพียงเฉพาะในสาขาเกษตรเท่านั้น ถ้าหากคาดหวังว่าจะได้ความรู้จากอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียนแล้ว การศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นคงไม่ใช่คำตอบนัก
การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศญี่ปุ่นจะเน้นการศึกษาค้นคว้าข้อมูล และแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองอย่างมีระเบียบแบบแผน เน้นการฝึกฝนปฏิบัติมากกว่าการเรียนในแง่ของทฤษฎี
อาจารย์ที่ปรึกษาเพียงแต่คอยให้คำแนะนำ ปรึกษา และจุดนี้ก็เป็นจุดแข็งหนึ่งของการระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ที่ช่วยให้สามารถนำความรู้ที่เรียนมาในภาคทฤษฏี มาปฏิบัติฝึกฝนจนเกิดเป็นทักษะความชำนาญเฉพาะทาง ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ผมเองศึกษาอยู่ตอนนี้ หลักสูตรที่ผมศึกษาอยู่คือปริญญาเอกในสาขา Agricultural science ซึ่งตอนอยู่ชั้นปีที่ 1 มีคอร์สเวิร์คน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยกิตทางวิชาวิจัย และ ดุษฎีนิพนธ์แทบทั้งสิ้น
เตรียมฟิตร่างกายก่อนมาเรียนเกษตรกันเถอะ
อย่าเพิ่งตกใจครับว่ามาเรียนเกษตรทำไมต้องฟิตร่างกายมาก่อน สำหรับคนที่สาขาเกษตรมาโดยตรงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพืชไร่ หรือ พืชสวน คงไม่ต้องเตรียมพร้อมความพร้อมมากนัก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนสาขาเกษตรโดยตรงมาก่อน อย่างเช่นผมเองคงต้องเตรียมพร้อมร่างกายและมีการปรับตัวกันหน่อย โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยที่เรามาศึกษาต่อนั้นเป็นแล็ปทางสาขาเกษตรที่ค่อนข้างใหญ่ และมีแปลงทดลอง หรือเรือนเพาะชำที่ต้องดูแล
ยกตัวอย่างแล็บที่ผมศึกษาอยู่ขณะนี้เป็นแล็บทางไม้ผลเมืองหนาว มีแปลงทดลอง ซึ่งปลูกไม้ผลไว้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น องุ่น ท้อ สาลี่ กีวี แอปเปิ้ล พลับ นอกจากนี้ยังมีเรือนเพาะชำที่อยู่ในความดูแลของแล็บอีกหลายโรงเรือนเลยทีเดียว และความที่ประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ชัดเจน ดังนั้นงานที่ต้องทำในแปลงทดลองจึงมีมากกว่าที่บ้านเรา พอย่างเข้าฤดูหนาวก็ต้องมีการให้ปุ๋ยบำรุงต้น มีการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งไม้ผลแต่ละชนิดก็มีวิธีตัดแต่งกิ่งที่แตกต่างกันไป เมื่อฤดูหนาวผ่านไปผลไม้เริ่มติดผล ก็ต้องมีการตัดแต่งผล หอผล พ่นยาฆ่าแมลง คลุมตาข่ายเป็นต้น
พอย่างเข้าฤดูร้อนก็ถึงเวลากำจัดวัชพืชต่างๆ ซึ่งโตเร็วมาก ในระยะแรกๆที่ผมมาเรียนที่นี่ ยอมรับว่ารู้สึกเหนื่อย และเป็นงานที่หนักมาก เนื่องจากไม่มีประสบการเหล่านี้มาก่อน หรือแม้แต่รุ่นพี่ที่เรียนทางด้านเกษตรโดยตรงมาก่อนยังเอ่ยปากว่างานหนักมากเลยทีเดียวครับ แต่พอเห็นสมาชิกทุกคนในแล็บไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาญี่ปุ่น นักศึกษาต่างชาติ อาจารย์รอง หรือแม้แต่อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าแล็บระดับศาสตราจารย์ก็ยังต้องลงทำงานในแปลงเช่นเดียวกัน ก็ทำให้เรามีกำลังใจและสนุกกับงานที่ทำ รางวัลตอบแทนค่าเหนื่อยก็คงหนีไม่พ้นความรู้ใหม่ๆ กับการได้ลิ้มลองรสชาติผลไม้เมืองหนาวสดๆจากต้น ก็พอทำให้หายเหนื่อยไปได้มากเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อนๆ น้องๆ คนใดมองหาช่องทางในการเรียนต่อทางด้านการเกษตร ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
ท้ายสุดสำหรับผู้ที่กำลังคิดอยากจะมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น อยากฝากข้อคิดเล็กๆไว้ว่า สิ่งที่คนเรามีไม่เท่ากันคือ “โอกาส” การค้นคว้าหาข้อมูลตลอดจนการแสวงหา และสร้างโอกาสให้กับตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเมื่อได้โอกาสนั้นมาก็ควรใช้โอกาสอันดีนั้นให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดให้กับตนเอง ครอบครัวและสังคมต่อไป
บทความ การเรียนด้าน เกษตรศาสตร์ ที่ญี่ปุ่น ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่