ผู้เขียน : อาจารย์ ดร. อัษฎายุทธ  ชูศรี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจ

การเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น คืออะไร

เรียนปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น

การศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัย คือ การศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก  โดยทั่วไปแล้วการศึกษาปริญญาโท คือ การเรียนเพื่อให้วิจัยเป็น ส่วนในระดับปริญญาเอก คือ การวิจัยงานอย่างผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงนั้น สำหรับที่ญี่ปุ่นจะมีหลักสูตรบัณฑิตวิทยาลัยสองแบบ คือ แบบปริญญาโท-เอก และแบบปริญญาเอกอย่างเดียว

แบบปริญญาโท-เอก คือ เรียนแบบไต่ขั้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย เรียนปริญญาโท(修士課程:shuushi katei)อย่างน้อย 2 ปี ในประเทศญี่ปุ่นเน้นเรื่องการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใหม่มาก แม้แต่ในระดับปริญญาตรีเองก็มีการเขียนวิทยานิพนธ์ขนาดย่อมที่เรียกว่า ซตสึเงียวรมบุง(卒業論文) ดังนั้น ในระดับปริญญาโทแทบทุกแห่งจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์(修士論文:shuushi rombun)เพื่อให้จบในระดับนี้ หลังจากนั้นก็จะต้องสอบเข้าปริญญาเอก(博士後期課程:hakase kouki katei)อีกที และเรียนอย่างน้อย 3 ปี แล้วจึงส่ง Dissertation เรียกว่า ฮาคาเสะรมบุง(博士論文)

ส่วนหลักสูตรอีกแบบคือหลักสูตรปริญญาเอกอย่างเดียว(博士課程:hakase katei)เรียนอย่างน้อย 5 ปีแต่ไม่มีการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ผู้เรียนจะเรียน coursework 2 ปีเป็นอย่างน้อย เหมือนคอร์สปริญญาโททั่วไป แต่จะกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเลยและส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเพื่อขอจบ ระบบนี้เป็นระบบเก่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปลี่ยนระบบเป็นระบบแรก เนื่องจากหากเลิกเรียนกลางคันก็จะไม่ได้วุฒิอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ลักษณะพิเศษของระบบบัณฑิตวิทยาลัยของญี่ปุ่นคือ ในบางสาขา อาจารย์ที่ปรึกษามักไม่ค่อยอยากรับนักศึกษาเข้าศึกษาปริญญาเอกโดยตรง นักศึกษาที่อยากศึกษาปริญญาเอก จึงจำเป็นต้อง เรียนปริญญาโท ซ้ำ หากเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ดังนั้นถ้ามีแผนการจะเรียนจนถึงระดับปริญญาเอก ก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรทั้งโททั้งเอก หากเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีแต่ปริญญาโทเวลาอยากเรียนปริญญาเอก อาจจะต้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัย เปลี่ยนอาจารย์ทำให้ต้องเรียนปริญญาโทซ้ำอีกครั้งก็เป็นได้

หลักสูตรปริญญาโทและเอกในประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันมีทั้งหลักสูตรภาษาญี่ปุ่น และหลักสูตรนานาชาติ (เรียนเป็นภาษาอังกฤษ)  หลักสูตรภาษาอังกฤษเริ่มมีเปิดสอนมากขึ้นตามความนิยมของตลาดโดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นความรู้เชิงภาพรวม เช่น หลักสูตร MBA หลักสูตรเชิงวัฒนธรรม

ลักษณะการ เรียนปริญญาโท เอก ที่ญี่ปุ่น

ในระดับปริญญาโท จะเรียนวิชาที่ลึกกว่าในระดับปริญญาตรี เรียกกันว่า coursework วิชาดังกล่าวยังแยกเป็นวิชาบรรยาย(講義:kougi)และวิชาสัมมนา(セミナー:seminaa)ซึ่งนิยมเรียกย่อๆ ว่า “เซมิ” วิชาบรรยายมักจะไม่ค่อยมีสอบเหมือนอย่างปริญญาตรี แต่จะต้องส่งรายงาน ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษามักจะแนะนำให้เลือกวิชาที่ใกล้เคียงกับงานวิทยานิพนธ์ของตนเอง เพื่อเวลาที่ส่งรายงาน จะได้นำหัวข้อวิทยานิพนธ์ของตนเองมาทำส่ง จะได้ไม่เสียเวลา 

ส่วนวิชา “เซมิ” นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในระดับนี้ คือเป็นเหมือนการประชุมคนที่อยู่สายเดียวกัน มาฟังหัวข้อวิทยานิพนธ์ หรืองานวิชาการในแขนงที่ตนเองสังกัด และระดมความคิด แสดงความคิดเห็น เพื่อปรับแก้ก่อนจะนำออกไปนำเสนอข้างนอก ชั่วโมง “เซมิ” จึงค่อนข้างยาว

ในช่วงปีแรกนักศึกษามักจะหนักเรียนวิชาบรรยาย แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งปีแล้วก็จะต้องส่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่แน่นอน และเริ่มต้นทำงานวิทยานิพนธ์ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะให้คำปรึกษาในคาบ “เซมิ” นี้ อาจารย์ที่ปรึกษาบางคนอาจจะจัดเวลา Office Hour เพื่อให้ปรึกษาหัวข้อวิทยานิพนธ์ 

ในภาคเรียนสุดท้าย นักศึกษาจะต้องส่งวิทยานิพนธ์เพื่อขอจบปริญญาโท เรียกว่า ชูชิรมบุง(修士論文) ซึ่งมีการสอบในตอนท้าย หากวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านเกณฑ์ นักศึกษาก็จะไม่จบหลักสูตร นอกจากนี้ หากนักศึกษาทำคะแนนในวิชาบรรยายไม่ดี เช่นได้ C หลายวิชาก็มีโอกาสที่จะไม่จบหลักสูตรได้เช่นเดียวกัน

เรียนปริญญาโท เอก ที่ญี่ปุ่น

สำหรับในระดับปริญญาเอก(博士後期課程:hakase kouki katei)มักจะไม่มีวิชาบรรยาย คงเหลือแต่วิชา “เซมิ” ที่ต้องเข้าไปฟังงานวิจัย นักศึกษาปริญญาเอกแม้ว่าจะมีชั่วโมงเรียนน้อย แต่ก็จะมีหน้าที่ผูกพันอย่างอื่นด้วย เช่น การช่วยเหลืองานวิจัยภายในห้องแล็บ หรือการเป็นติวเตอร์ให้กับนักศึกษาปริญญาโท แนะนำวิธีเขียนวิทยานิพนธ์ ไปพร้อมกับการวิจัยงานของตนเอง

นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขในการส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่เรียกว่า ฮาคาเสะรมบุง(博士論文)ไม่เหมือนกัน เงื่อนไขที่ว่านี้มักจะเป็นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของตน หรือการออกไปพรีเซนต์ในการประชุมวิชาการ โดยจะนับจำนวนผลงานว่าได้ครบตามเกณฑ์ที่จะส่งวิทยานิพนธ์ได้หรือไม่ ดังนั้น นักศึกษาจึงต้องใช้เวลากับการเตรียมเอกสารการประชุมวิชาการ หรือการเขียนงานส่งตีพิมพ์ซึ่งมักจะถูกตีกลับมาให้แก้หลายๆ ครั้งจึงจะได้ลงตีพิมพ์ เวลา 3 ปีจึงอาจจะไม่เพียงพอ โดยปกตินักศึกษาชาวญี่ปุ่นจะใช้เวลามากกว่า 3 ปีเพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก อีกทั้งลักษณะการทำงานของคนญี่ปุ่นที่จะต้องมีสังกัด (所属:shozoku)ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยังคงทำงานในห้องวิจัยไปจนกว่าจะได้งานเป็นประจำ

ต้องมีความรู้ทางภาษาญี่ปุ่น แค่ไหน

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีลักษณะการเรียนแตกต่างกันไป นอกจากคอร์สภาษาอังกฤษที่มีเปิดเพิ่มขึ้นในปัจจุบันแล้ว ในคณะสายวิทย์ในบางมหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารแทบทั้งหมดเพื่อฝึกให้นักศึกษามีความชำนาญใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไม่เคอะเขิน แม้ในเวลาพรีเซนต์ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่มีความสำคัญในการเรียน แต่อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมภายนอกยังจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาญี่ปุ่น เช่น การใช้ห้องสมุด การติดต่อเจ้าหน้าที่ ดังนั้น หากศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ควรจะมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย  การรู้ภาษาญี่ปุ่นจะช่วยทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้อย่างคุ้มค่า เพราะข้อมูลข่าวสารบางอย่างจะมีเฉพาะภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น

หากมองในระยะยาว มีบริษัทญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากในเมืองไทยที่ต้องการบุคลากรที่รู้ภาษาญี่ปุ่นและใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ดังนั้น การไปเรียนที่ญี่ปุ่นจึงไม่ควรละเลยที่จะเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเอาไว้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรพยายามเรียนให้มีความรู้ในระดับสูง

สำหรับการสอบเข้าระดับบัณฑิตวิทยาลัยโดยทั่วไปจะระบุให้นักศึกษาส่งผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นประกอบการพิจารณา การสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่เป็นมาตรฐานทั่วไปทางการศึกษาคือ การสอบ JLPT(日本語能力試験)ซึ่งปัจจุบันเพิ่งเปลี่ยนระบบเป็นการสอบ 5 ระดับ เรียงลำดับความยากไปหาง่ายคือ N1 N2 N3 N4 N5 สำหรับระดับที่ใช้ประกอบในการสอบเข้าสำหรับคณะที่ต้องการนักศึกษาที่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นคือ N1 และ N2  ส่วนคณะที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผลการสอบภาษาญี่ปุ่นประกอบ นักศึกษาจะส่งผลสอบระดับอื่นๆ หรือไม่ส่งก็ได้ แต่ในคณะเหล่านี้ มักจะต้องส่งผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL TOEIC แทน ซึ่งมักมีเกณฑ์คะแนนไม่สูงเท่ากับมหาวิทยาลัยในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง นักศึกษาสามารถดูตารางสอบประจำปีและแนวข้อสอบได้ที่ https://www.jlpt.jp/e/ 

การหาหัวข้อวิจัยเพื่อ เรียนปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น

 เมื่อนักศึกษาตัดสินใจที่จะ เรียนปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการกำหนดหัวข้อวิจัย เพราะในการสมัครเรียนที่ญี่ปุ่นในระดับบัณฑิตวิทยาลัยนั้น ไม่นิยมให้ความสำคัญกับชื่อมหาวิทยาลัย แต่ให้ความสำคัญกับชื่ออาจารย์ที่ปรึกษามาก  ดังนั้นหากยังกำหนดหัวข้อที่จะทำวิจัยไม่ได้ ก็คงยากที่จะรู้ว่าอาจารย์ท่านใด มหาวิทยาลัยใด เหมาะที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับเรา 

การหาหัวข้อวิจัยอาจทำได้โดยการสำรวจความสนใจของตนเอง สิ่งที่จะเป็นหัวข้อวิจัยก็คือสิ่งที่ตนเองรู้สึกสงสัยใคร่รู้ และรู้สึกว่าคำตอบที่มีในปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นลองศึกษาโดยสอบถามอาจารย์ที่คร่ำหวอดในสาขานั้น และอ่านวารสารวิชาการ  การหาบทความวิชาการอ่านนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัวนักเรียนไทยมาก แม้ว่าการศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยชั้นนำจะรุดหน้าและเริ่มสอนให้นักศึกษาค้นคว้า และหัดอ่านวารสารวิชาการบ้างแล้ว แต่โดยทั่วไป นักศึกษาหลายคนยังไม่รู้แม้แต่ว่าจะไปตามหาวารสารวิชาการจากไหนมาอ่าน  วารสารวิชาการส่วนใหญ่ อาจารย์ที่คร่ำหวอดในสาขานั้นจะมีอยู่ สามารถสอบถามและขอยืมได้ วารสารที่มีชื่อเสียงมากๆ สามารถหาได้ในห้องสมุดประจำคณะ 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีความพยายามที่จะเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทางอินเตอร์เน็ตด้วย ดังนั้น นักศึกษาอาจจะสืบค้นบทความวิชาการด้วยคีย์เวิร์ดที่สนใจได้ เช่น การสืบค้นด้วย Google Scholar

เว็บไซท์สำหรับสืบค้นหัวข้อวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา >>researchmap.jp/search/

เมื่อนักศึกษาอ่านบทความวิชาการแล้ว ควรถามตัวเองว่ามีความสงสัยใดที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับคำตอบ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นหัวข้อวิจัยได้ หรือหากไม่มีความสงสัยใด แสดงว่านักศึกษาพึงพอใจกับคำตอบที่ได้แล้ว แสดงว่าตนเองรู้สึกว่าหัวข้อดังกล่าวไม่มีความสำคัญที่จะวิจัยเพิ่ม หัวข้อวิจัยและประสบการณ์การอ่านบทความวิชาการของนักศึกษา

เรียน ปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น หาอาจารย์ที่ปรึกษา

การติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษา

วิธีที่ดีที่สุดในการหาอาจารย์ที่ญี่ปุ่นเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาก็คือ การขอให้อาจารย์ในเมืองไทยช่วยแนะนำให้  เพราะวิธีการทำงานของญี่ปุ่นนั้นใช้ระบบ Connection ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากอาจารย์ที่เมืองไทยเคยร่วมงาน หรือรู้จักอาจารย์ที่ญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว ก็สามารถแนะนำเราให้ได้ง่าย เพราะการรับนักศึกษาเข้ามาเรียน บางครั้งมีเหตุผลเรื่องมนุษยสัมพันธ์ด้วย ต่อให้เรามีหัวข้อวิจัยน่าสนใจเพียงไร แต่หากไม่มีใครรู้จักเรา อาจารย์ญี่ปุ่นอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะรับเราดีหรือไม่  แต่การที่มีใครสักคนรู้จักเราและแนะนำเราให้รู้จักก็เหมือนการรับประกันว่านักศึกษาคนนั้นน่าจะตั้งใจเรียน วิจัย และเข้ากับอาจารย์ญี่ปุ่นได้

นอกจากนี้ นักศึกษาอาจหาชื่ออาจารย์ที่ต้องการให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้จากการอ่านบทความวิชาการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น การอ่านบทความวิชาการที่อาจารย์ หรือนักศึกษาในกำกับของอาจารย์เป็นผู้เขียนมาก่อน จะทำให้นักศึกษาสามารถอ้างอิงในการติดต่ออาจารย์ว่า อ่านแล้วมีความสนใจ และอาจอ้างอิงบทความวิชาการอื่นๆ ที่เคยอ่านให้อาจารย์เข้าใจความสนใจของเรา  

เมื่อได้ชื่ออาจารย์ที่ต้องการให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ควรตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่าอาจารย์สังกัดที่มหาวิทยาลัยแห่งไหน มีหลักสูตรปริญญาโทหรือเอกหรือไม่ (หากนักศึกษามีความรู้ภาษาญี่ปุ่น จะหาข้อมูลในส่วนนี้ได้ลึกขึ้น) บางครั้งการดูข้อมูลส่วนอื่นๆ เช่น อาจารย์เป็นศาสตราจารย์(教授:kyouju)หรือไม่ อาจารย์อายุเท่าไหร่ ก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะหากอาจารย์ที่ทำวิจัยหัวข้อใกล้เคียงกับเราเป็นเพียง รศ. อาจารย์อาจจะไม่สะดวกรับเราและขอให้เราไปสมัครกับอาจารย์ที่เป็นศาสตราจารย์ท่านอื่นแทน หรือหากอาจารย์มีอายุมากใกล้จะเกษียณแล้ว อาจารย์ก็จะไม่รับเราเช่นกัน เพราะไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จนเราจบได้ 

อาจารย์ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีอีเมลที่สามารถค้นหาทางอินเตอร์เน็ตได้ แต่อาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูงบางท่านอาจไม่ใช้อีเมลบ่อย และการขอให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งที่ญี่ปุ่นนิยมแจ้งทางจดหมาย หรือส่งเอกสารให้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า ดังนั้นการส่งจดหมายติดต่ออาจารย์ก็ยังเป็นมารยาทที่ควรกระทำ

หางานวิจัย เรียนต่อญี่ปุ่น

การเลือกมหาวิทยาลัย

โดยปกติปัจจัยสำคัญที่สุดคือ มหาวิทยาลัยที่อาจารย์ที่เราต้องการให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสังกัดอยู่นั้นถูกใจเราหรือไม่ เช่น มีคอร์สปริญญาโทหรือเอกหรือไม่ มีระบบรองรับนักศึกษาต่างชาติดีหรือไม่ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงหรือไม่ อยู่ในเมืองหรือไม่ มีสวัสดิการเช่น หอพัก ค่าครองชีพ เป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของนักศึกษาแต่ละคน  บางคนอยากได้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นสำคัญ ขั้นตอนในการเลือกก็จะสลับกัน คือ แทนที่จะหาอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน อาจจะเลือกเจาะจงดูว่าในมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีอาจารย์คนไหนที่พอจะเป็นที่ปรึกษาได้บ้าง  มหาวิทยาลัยเอกชนโดยปกติจะมีค่าเรียนแพงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ แต่บางแห่งมีทุนลดค่าเรียนจนไม่แตกต่างกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ข้อมูลเหล่านี้อาจตรวจสอบทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือเขียนอีเมลติดต่อสอบถามไป

สำหรับผู้ที่มองว่าควรจะเลือกเรียนในเมืองดี หรือต่างจังหวัดดีนั้นก็ต้องใช้ดุลพินิจเรื่องค่าครองชีพประกอบ เพราะถ้าเรียนในเมือง การหาหอพักก็ยากและแพง การใช้ชีวิตสะดวกสบายแต่ก็ใช้จ่ายเยอะ จนอาจจะต้องทำงานพิเศษประกอบไปด้วย แต่ถ้าเรียนในต่างจังหวัด ค่าครองชีพก็ถูก แต่จะหางานพิเศษทำได้ยากกว่า

ขั้นตอนการสมัคร

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเปิดเรียนเดือนเมษายน ดังนั้นขั้นตอนการสมัครจะเริ่มราวๆ ช่วงเดือนกันยายน- ตุลาคมล่วงหน้าหนึ่งปี ในช่วงนี้นักศึกษาต้องซื้อใบสมัครเพื่อเตรียมสอบ โดยสามารถตรวจดูเอกสารที่ต้องแนบประกอบการสมัครได้จากอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามศูนย์ข้อมูลการศึกษาต่อ เขาจะมีตัวอย่างใบสมัครให้ซึ่งสามารถเช็คได้ว่าต้องเตรียมเอกสารแนบอะไรบ้างไว้ก่อนได้  

เพราะเอกสารแนบบางอย่างต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น หากจำเป็นต้องมีผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่รับผลสอบที่สอบล่วงหน้า ต้องเป็นผลสอบในปีนั้นเท่านั้น) ก็จะได้เตรียมตัวสมัครสอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมไว้ เพื่อสอบเดือนธันวาคม หรือผลสอบความรู้ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่เอกสาร Transcript และใบรับรองการจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่จะต้องยื่นฉบับจริง ดังนั้น นักศึกษาควรติดต่อขอทางมหาวิทยาลัยที่สังกัดในเมืองไทยไว้แต่เนิ่นๆ 

เมื่อส่งใบสมัครไปแล้ว จะมีการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน บางแห่งอะลุ้มอล่วยสำหรับผู้สมัครจากต่างประเทศ เพียงส่งเอกสารให้ครบ ทางมหาวิทยาลัยก็จะพิจารณาคุณสมบัติจากเอกสารนั้น บางแห่งมีการสอบแบบ Video Conference โดยจะติดต่อให้ผู้สมัครจัดเวลาเพื่อสอบผ่านทางอินเตอร์เน็ท แบบเห็นหน้า นักศึกษาจะต้องเตรียมหัวข้อที่จะพรีเซนต์ต่อหน้าคณะกรรมการว่าต้องการศึกษาอะไร และตอบคำถามเกี่ยวกับแผนการเรียนของตนเอง

สำหรับบางแห่งอาจมีการจัดสอบข้อเขียน และนักศึกษาอาจต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปสอบข้อเขียนในวันเวลาที่กำหนด เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ เหล่านี้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะประกาศผลสอบและเรียกให้มาแสดงตัวว่าจะเรียนแน่ๆ หรือบางแห่งอาจลดขั้นตอนส่วนนี้ คงเหลือเพียงการติดต่อเพื่อชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า และทำเรื่องขอเอกสารประกอบการยื่นวีซ่าเข้าประเทศในฐานะนักศึกษา

การเขียนแผนการวิจัย

ในขั้นตอนการสมัคร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเขียนแผนการวิจัย เพราะแผนการวิจัยจะเป็นสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่จะเป็นคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ในอนาคตดูว่ามีความเหมาะสมที่จะรับเข้าศึกษาหรือไม่ การเขียนแผนการวิจัยมักเขียนเพียงหน้าเดียวให้มีใจความกะทัดรัดเข้าใจง่าย วิธีการเขียนส่วนใหญ่จะคล้ายกับการเขียนแบบอังกฤษ คือ 

เริ่มต้นด้วยการบอกว่าอยากจะทำหัวข้ออะไร หลังจากนั้นตามด้วยการอธิบายมูลเหตุจูงใจที่อยากทำหัวข้อนี้ ตามด้วยการอ้างอิงบทความวิชาการที่เคยอ่าน ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่นักศึกษาส่วนใหญ่ละเลย การใส่บทความวิชาการอ้างอิงไปในการเขียนแผนการวิจัยนั้นจะช่วยให้อาจารย์อนุมานความสามารถในการศึกษางานวิจัยด้วยตนเองของนักศึกษาได้

หลังจากนั้น จึงเขียนว่าจะใช้วิธีวิจัยอย่างไร และแผนการทำวิจัยในระหว่างที่ศึกษา เช่น ในระดับป.โทนั้นศึกษาเพียง 2 ปี ในระหว่างนั้นจะเริ่มต้นทำอะไรเมื่อไหร่บ้าง เช่น เทอมแรกอ่านบทความวิชาการ เทอมสองกำหนดหัวข้อวิจัยที่ลึกกว่าเดิม และเริ่มเก็บข้อมูล เทอมที่สามเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์เป็นต้น  ในช่วงท้ายของแผนการวิจัยให้เขียนผลการวิจัยที่คาดไว้เป็นอย่างไร การเขียนว่า “คาดว่างานวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน” อะไรทำนองนี้ไม่ใช่ผลการวิจัย เป็นความมุ่งหวังที่มีต่องานวิจัยมากกว่า ถ้าเนื้อที่ไม่พอก็ไม่จำเป็นต้องเขียนลงไปก็ได้

นอกจากแผนการวิจัยแล้ว นักศึกษาอาจจะต้องเขียนแผนในชีวิตหลังศึกษาจบ ก็ควรเขียนว่าจะนำวิชาที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ในงานใดอย่างไร เช่นถ้ามีแผนจะทำงานก็ควรระบุว่าจะนำไปใช้ทำงานด้านใด หรือถ้าจะศึกษาต่อก็ระบุว่าต้องการศึกษาในระดับที่สูงกว่า หรือในศาสตร์อื่นที่ใกล้เคียงต่อไป

นักศึกษาวิจัยคืออะไร

ในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นจะมีระบบ “เคงคิวเซ” หรือนักศึกษาวิจัยด้วย “เคงคิวเซ” หมายถึงนักศึกษาที่ไม่ใช่นักศึกษาจริงของมหาวิทยาลัยแต่มาร่วมลงเรียนในบางวิชากับนักศึกษาจริงเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อใช้ในงานวิจัยของตน โดยปกติการเป็น “เคงคิวเซ” จะเป็นได้แค่ปีเดียว และมีข้อจำกัดในการลงเรียนว่าลงได้ไม่เกินกี่วิชา ค่าเทอมของการเป็นนักศึกษาวิจัยจะถูกกว่านักศึกษาปกติ แต่จะไม่ได้สวัสดิการของมหาวิทยาลัยบางอย่าง เช่น ส่วนลดในฐานะนักศึกษาปกติ ระบบ “เคงคิวเซ” เหมาะกับนักศึกษาที่พึ่งมาเรียนในศาสตร์นั้นและยังไม่รู้จักการวิจัยในศาสตร์นั้นดีพอ ก็อาจมาเริ่มเรียน เริ่มทำความรู้จักกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะสอบเข้าศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกต่อไป หากรู้ว่าไม่เหมาะกับตนก็สามารถลาออกไปเป็น “เคงคิวเซ” ที่อื่นได้ การเป็นเคงคิวเซ ต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน

ข้อดีของการเป็น “เคงคิวเซ” คืออาจารย์ได้รู้จักเราบ้างแล้ว ดังนั้นเวลาที่สอบเข้าเป็นนักศึกษาภาคปกติ หากทำคะแนนได้ไม่ดี บางครั้งอาจารย์ก็อาจจะดูพฤติกรรมและผลการเรียนของเราประกอบการพิจารณาด้วย ต่างจากนักศึกษาที่สอบเข้าโดยตรงที่อาจารย์อาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตา และไม่รู้ว่าจะเรียนได้ดีหรือไม่ นักศึกษาต่างชาติ เช่น จีน หรือเกาหลีที่มาด้วยทุนส่วนตัว มักเริ่มเรียนจากการเป็นเคงคิวเซก่อน แล้วใช้ช่วงที่เรียนเป็นเคงคิวเซดำเนินขั้นตอนสมัครเข้าบัณฑิตมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสะดวกกว่าการดำเนินขั้นตอนในต่างประเทศ และการเข้าเรียนในวิชาต่างๆ ก็มีโอกาสได้รู้จักกับนักศึกษาภาคปกติซึ่งอาจจะได้รับการแนะนำการเตรียมตัวทำข้อสอบต่างๆ 

นอกจากนี้ยังมีเวลาเตรียมหัวข้อวิจัยได้ และสร้างความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นก่อนที่จะเริ่มเรียนอย่างจริงจัง ดังนั้นนักศึกษาไทยอาจจะเริ่มไปศึกษาก่อนด้วยระบบนี้และใช้เวลานี้เรียนภาษาญี่ปุ่นพร้อมสมัครสอบไปด้วย แม้ว่าจะเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ก็เพิ่มความมั่นใจและความสะดวกในการเรียนได้

คำถามถามบ่อยเรื่องการ เรียนปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น

การเปลี่ยนสาขาวิชาเรียน สามารถทำได้หรือไม่

โดยปกติคนญี่ปุ่นนิยมเรียนสายใดสายหนึ่งไปเลยแบบศึกษาอย่างเต็มที่ มากกว่าจะศึกษาอะไรกว้างๆ ดังนั้นจึงไม่นิยมเปลี่ยนสายเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเรียนในประเทศญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จบการศึกษามาจากสาขานั้น แต่มีประสบการณ์ เช่น มีประสบการณ์จากการทำงาน ก็สามารถเปลี่ยนจากสาขาเดิมมาเรียนได้  นอกจากนี้ หากเป็นสายวิชาที่ใกล้เคียงกัน เช่น เปลี่ยนจากจิตวิทยาไปศึกษาภาษา เปลี่ยนจากวิศวกรรมไปศึกษาการจัดการ ก็สามารถเปลี่ยนสายเรียนได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอาจารย์  แต่ปัญหาสำคัญคือ เมื่อมีการเปลี่ยนสายวิชา นักศึกษาก็เหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ และขาด Connection ทำให้โอกาสหาอาจารย์ที่ปรึกษาได้มีน้อยกว่านักศึกษาที่เรียนมาด้านนั้นๆ โดยตรงที่มี Connection มากกว่า และยังมีปัญหาต้องใช้เวลากับการสร้างความคุ้นเคยกับวิธีอ่านบทความวิชาการในสายใหม่ เป็นต้น

อยาก เรียนปริญญาโท เอกที่ญี่ปุ่น ควรเตรียมตัวอย่างไรในระดับปริญญาตรี

สำหรับผู้ที่สนใจจะ เรียนปริญญาโท – เอกที่ญี่ปุ่น อยู่แล้ว และตอนนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีก็มีโอกาสในการเตรียมตัวได้มาก จุดที่สำคัญคือเกรดเฉลี่ย  แม้ว่าในสังคมญี่ปุ่นโดยปกติจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยมาก แต่ให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัย และกิจกรรมของนักศึกษาว่า มีความสอดคล้องในการเข้าทำงานมากแค่ไหน แต่ในโลกวิชาการ เกรดเฉลี่ยก็ยังแสดงถึงความใส่ใจในการเรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรเรียนให้เกรดไม่ขี้เหร่จนเกินไป (3.00-4.00) แน่นอนว่าการเรียนปริญญาโทนั้นต่างจากการเรียนระดับปริญญาตรี ดังนั้นผู้ที่เรียนแบบท่องจำ หรือทำตามขั้นตอน ไม่มีแนวคิดเป็นของตน แม้ว่าเกรดจะดีแต่ก็ขาดการเสริมสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนเชิงวิจัย เมื่อไปเรียนในปริญญาโทก็อาจจะเรียนไม่รุ่ง นักศึกษาบางคนนิยมลงวิชา “จับฉ่าย” ขอเพียงเกรดสวยๆ ไม่สนใจลงวิชาในสายงานของตัวเองให้มากๆ เพราะรู้สึกเบื่อ หรือได้เกรดยากกว่า

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการ เรียนปริญญาโท และการทำงานวิจัยที่ ญี่ปุ่น

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2011
สงวนลิขสิทธิ์
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ค้นหาข้อมูลอาจารย์ที่ปรึกษา >>researchmap.jp/search
ค้นหาข้อมูลงานวิจัยในญี่ปุ่น
>> https://ci.nii.ac.jp/
>> KAKEN Database
>> https://qross.atlas.jp/

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top