โฌเท็งไง(商店街):  ย่านร้านค้า

ย่านร้านค้า ในญี่ปุ่น

จะหาที่ที่เรียกว่า “อิชิบะ”(市場:ichiba) ซึ่งหมายถึง ตลาด ในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างยาก เพราะถ้าพูดถึง “ตลาด” ก็มักจะพาลให้นึกถึงตลาดปลาอย่าง “ซึคิจิ”(築地:tsukichi) ที่มีชื่อในเรื่องความสดในโตเกียว ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งตลาดเหล่านี้คนธรรมดามักเข้าไปไม่ถึง

โดยทั่วไปแล้วที่ญี่ปุ่นไม่ได้จับจ่ายซื้อของที่ตลาดอย่างในเมืองไทย  แต่จะมีที่ที่ซื้อขายพวกของสดและของใช้ต่างๆ เรียกว่า “โฌเท็งไง” (商店街:shoutengai)แทน แปลตรงตัวว่า “ ย่านร้านค้า ” เพราะ

“โฌเท็ง” (商店:shouten)หมายถึงร้านค้า
ส่วน “ไง”(街:gai)เป็นเสียงอ่านอีกแบบของ “มะจิ”(machi) ซึ่งถ้าเป็น “มะจิ” ใช้ตัวจีน「町」จะแปลว่า “เมือง” แต่ถ้าเป็นตัวจีน「街」ที่กำลังพูดถึงนี้จะหมายถึง “ย่าน” ต่างๆ เช่น พาหุรัด ประตูน้ำ พวกนี้ถือเป็น “มะจิ”(街:machi)

“โฌเท็งไง” ในญี่ปุ่น จะเป็นเขตที่มีร้านค้าต่างๆ ตั้งเรียงราย บางที่จะมีเสาประตู มีป้ายระบุว่ากำลังเข้าเขต “โฌเท็งไง” ชื่ออะไร  บางที่ก็มีเหล็กหรือรั้วกั้นคอกไม่ให้รถวิ่งในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อคนจะได้จับจ่ายได้ตามสะดวก หรือบางที่เป็นถนนใหญ่ก็จะทาสี หรือ ปูกระเบื้องตรงถนนแสดงสัญลักษณ์ของถนนว่าเป็นเขตร้านค้า  คนขับรถก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทางเข้า ย่านร้านค้า

โฌเท็งไงใหญ่ๆ อาจจะพัฒนากลายเป็นย่านการค้าที่มีคนเดินมาก เช่น โฌเท็งไงเขตนาคาโนะในรูปด้านล่าง พัฒนาจาก “โฌเท็งไง” เป็น “ช็อปปิ้ง อาเขต”(ショッピング・アーケード) แล้วยังพ่วง “โฌเท็งไง” ย่อยๆ ที่ตัดกับ “ช็อปปิ้งอาเขต” อีกมากมาย มีการมุงหลังคาครอบทางเดิน ฝนจะตกฟ้าจะร้องอย่างไรก็ไม่มีปัญหา  ถ้าคนนิยมเดินที่ช็อปปิ้งอาเขตพวกร้านแบรนด์เนมขนาดกลางก็อาจจะมาตั้ง อย่างเช่น ร้านเบเกอรี่ หรือร้านเสื้อผ้า ร้านกาแฟ เป็นต้น

เขตที่เรียกว่า “ชิตะมะจิ”(下町:shitamachi) ซึ่งน่าจะเป็นศัพท์สร้างจากคำว่า“downtown” หรือเขตชุมชนของฝรั่ง หมายถึงเขตชุมชนเมืองในอดีตของโตเกียว คือทางฝั่งตะวันออกของสถานีโตเกียวไป นอกจากจะมี โฌเท็งไง มากมายแล้ว

ยังมีร้านรวงของช่างฝีมือที่ยังเปิดบริการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเอโดะ คนเหล่านี้ผูกพันกับท้องถิ่น จึงไม่ละทิ้งที่ ทำให้ในเขตที่มีคนอยู่มาแต่ดั้งแต่เดิม ไม่มีที่ว่างขนาดใหญ่พอให้ห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ตั้งได้ คนที่เคยชินกับซุปเปอร์มาร์เก็ต จึงอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของเป็นการซื้อจาก โฌเท็งไง แทน

บรรยากาศ ย่านร้านค้า

“โฌเท็งไง” ในเขต “ชิตะมะจิ” มักมีจุดแข็งคือ คนในชุมชนคุ้นเคยเป็นอย่างดี  ถึงราคาจะแพงกว่าในห้างแต่สินค้าก็อาจจะถูกใจผู้ซื้อมากกว่า หรืออาจจะต้องไปอุดหนุนกันตามประสาคนร่วมสังคม จึงมีร้านกาแฟ ร้านอาหารแบบชุมชนเล็กๆ ร้านเสื้อผ้า ของเล่นเด็กเล็กๆ มากมาย ซึ่งก็ยังขายได้ตามอัตภาพ (บางพื้นที่ คนขายกลับไม่ค่อยกระตือรือร้นจะขาย เพราะบางคนก็เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ กินเงินบำนาญเป็นหลัก ขายของเป็นงานอดิเรก)

บรรยากาศ ย่านร้านค้า2

และด้วยความที่คร่ำหวอดมาในวงการมานาน ร้านเหล่านี้ก็มักจะมีทีเด็ด อย่างเช่นร้านขายปลาก็มักจะสรรหาปลาแปลกๆ มาขาย คนในร้านก็ซื้อปลาจากตลาดปลาขนาดใหญ่มานานจนคุ้นเคย ราคาที่ได้จึงถูกไม่แตกต่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ต บางเจ้าก็อาจจะถูกกว่าเสียด้วยซ้ำ

ร้านผักผลไม้ก็เช่นกัน  บางที่ก็ถูกมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้ซื้อจึงสามารถเลือกซื้อของได้หลากหลาย ไม่ผูกขาดกับที่ใดที่หนึ่ง ถ้าสินค้าในชุมชนมีคุณภาพดี ก็พลอยจะทำให้ชุมชนมีชื่อเสียงอีกด้วย สินค้าอื่นๆ ก็ได้อานิสงส์ขายดีไปด้วย โครงการพวกหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์(一村一品:isson-ippin)ที่คนไทยเอามาทำบ้างเป็น “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากในญี่ปุ่น

ในปัจจุบัน นอกจากการตั้งประตูหรือทาสีถนนบอกเขต “โฌเท็งไง” แล้ว บางชุมชนก็มีการประดับดอกไม้ไว้ตามเสาให้เข้ากับเทศกาลต่างๆ ทำให้ดูครึกครื้นกว่าเขตที่เป็นที่อาศัย  บ้างก็มีโทรโข่ง มีข่าวประกาศประชาสัมพันธ์ข่าวของชุมชนหรือเปิดเพลงญี่ปุ่นคลอ ทำให้รู้ว่าเป็นโฌเท็งไง

บางทีก็มีการแบกศาลเจ้า omikoshi(御神輿)ไปรอบๆ “โฌเท็งไง” เพิ่มสิริมงคลให้เขตการค้า ทำให้เมืองมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น  มีละครเรื่องหนึ่งกล่าวถึงโฌเท็งไงที่เงียบเหงาเพราะมีการสร้างห้างใหม่แล้วคนหันไปเดินห้างแทน คนในโฌเท็งไงจึงต้องหาทางสร้างชื่อเสียงให้กับย่านการค้าของตน โดยตั้งทีมเบสบอลรุ่นจิ๋วไปแข่งเพื่อสร้างชื่อเสียง  หากชุมชนไหนยังมีโฌเท็งไง ชุมชนนั้นก็ยังดูครึกครื้น มีสีสัน คนก็อยากมาอาศัย

ย่านร้านค้า แบกศาลเจ้า

โฌเท็งไงในญี่ปุ่นก็เหมือนกับตลาดในเมืองไทยคือ กำลังเผชิญกับสถานการณ์คับขัน เพราะเมื่อห้าง หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่เข้ามาถึง โฌเท็งไงก็จะวายไปเอง  เมื่อโฌเท็งไงวาย ร้านรวงต่างๆ ก็มีอันต้องปิดตามไป เพราะสถานที่ไม่คึกคัก คนไม่ค่อยอยากจะเดินดูของ

โฌเท็งไงที่นี่อยู่ได้เพราะความผูกพันกับคนในท้องถิ่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่อยู่ได้ เพราะเจ้าของร้านจะมีบริการหลังการขาย มากกว่าร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ ในเมือง ทำให้เกิดความผูกพัน  อีกทั้งยังมีการสร้างความรู้สึกดีๆ แก่กันเสมอ เช่น การถามสารทุกข์สุกดิบ การหาของที่ลูกค้าถามถึงมาวางขาย  ซึ่งในตลาดในกรุงเทพบางที่ไม่มี มีแต่จ้องจะเอาแต่ได้ ไม่ช้าคนก็ยอมไปซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ตแทน เพราะตัดปัญหาเรื่องต่อราคา และเรื่องหลอกขาย เช่น เอาของเน่าใส่ปนมา โกงตาชั่ง เขียนป้ายแสดงราคาแบบหลอกลวง

 

ศัพท์เสริม ร้านต่างๆ ใน “โฌเท็งไง”

銭湯   (sentou)       โรงอาบน้ำ
おもちゃ屋(omochaya) ร้านขายของเล่น
ケーキ屋 (ke-kiya)     ร้านเบเกอรี่
肉屋   (nikuya)      ร้านขายเนื้อ
とうふ屋 (to-fuya)     ร้านขายเต้าหู้
花屋      (hanaya)     ร้านขายดอกไม้
ブティック(butikku)    ร้านเสื้อผ้า
八百屋  (yaoya)       ร้านขายผัก ผลไม้
喫茶店  (kissaten)  ร้านกาแฟ
弁当屋  (bento-ya) ร้านขายอาหารกล่อง
惣菜屋  (so-zaiya)  ร้านขายกับข้าว เครื่องเคียง

 

บทความน่ารู้จาก  อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top