คุณอิศรา อุดมพาณิชย์ (ขวัญ) 

การศึกษาที่ไทย ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การศึกษาที่ญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่น
College of Business and Communication  ( CBC ) 

(บทสัมภาษณ์เมื่อปี 2016)

คุยกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าญี่ปุ่นตอนนี้  มาคุยกันกับคุณขวัญ อิศรา อุดมพาณิชย์  กับการทำงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานออกมาแล้วหลายเล่มค่ะ

ขวัญ ผลงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น สยามอินเตอร์
kwan_luckpim ผลงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น

 

เริ่มต้นขอสอบถามเกี่ยวกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นและการไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

 

  • จากเด็กมหาวิทยาลัยที่เรียน BBA ทำไมขวัญถึงสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นคะ  มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจหรือมีอะไรที่ทำให้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น

ที่จริงสนใจภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้นแล้วครับ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนภาษา และอยากเรียนภาษาที่สามอยู่แล้ว บวกกับที่ตัวเราก็อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น กินอาหารญี่ปุ่นมาแต่เด็ก เลยคิดเอาง่ายๆ ในตอนนั้นว่าถ้าเรียนภาษานี้น่าจะมีแรงบันดาลใจให้เก่งได้มากกว่าภาษาอื่น (ฮา) ผมเลยลงเรียนพิเศษไปนิดๆ หน่อยๆ ตั้งแต่ตอน ม.1 แต่ยังไม่ได้ตั้งใจอะไรมาก

จนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ก็เริ่มคิดจริงจังขึ้นว่าอยากได้สกิลภาษาที่สามติดตัวไว้ก่อนจะจบไปทำงาน เลยเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นอาทิตย์ละครั้งตั้งแต่ตอนนั้นครับ

 

  • แล้วคิดยังไง ทำไมถึงไปเรียนภาษาญี่ปุ่นต่อที่ประเทศญี่ปุ่นล่ะค่ะ 

เรื่องเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นนี่เริ่มมาคิดจริงๆ ตอนใกล้จะจบมหาวิทยาลัยครับ เผอิญตอนนั้นได้ไปเรียนคอร์สซัมเมอร์ 3 อาทิตย์ในมหาวิทยาลัยที่อาคิตะ (Akita International University) กับโครงการแลกเปลี่ยนของจุฬาฯ แล้วรู้สึกว่าพอได้เรียนภาษาแบบเต็มเวลา ในประเทศของเจ้าของภาษาแล้ว ความเข้าใจของเรามันเพิ่มขึ้นเร็วกว่าตอนที่เรียนอาทิตย์ละครั้งในไทยมาก เลยเริ่มวางแผนว่าอาจจะไปเรียนที่ญี่ปุ่นสักปีหลังจบมหาวิทยาลัยครับ

 

  • ในการเลือกร.ร.ที่จะไปเรียน  ตอนนั้นขวัญเริ่มต้นอย่างไร  และตัดสินใจจากอะไรคะ

ส่วนตัวก็เริ่มจากการดูข้อมูลทางเว็บคร่าวๆ ก่อน (แต่ช่วงแรกจะมึนมาก เพราะโรงเรียนมันมีเยอะจริงๆ) จากนั้นก็ตามข่าวสารจากเพจเรียนต่อต่างๆ จนได้ยินเรื่องงานเรียนต่อของ J-ed ซึ่งจัดที่ศูนย์สิริกิติ์ในช่วงนั้นพอดี ผมก็เลยไปเดินในงาน แล้วรับเอาใบปลิวจากโรงเรียนหลายๆ ที่มานั่งอ่านเทียบกันว่าแต่ละแห่งมีจุดเด่นเรื่องอะไร

ส่วนตัวผมอยากเรียนโรงเรียนที่สอนเข้มๆ หน่อย เลยมาลงตัวที่ CBC ซึ่งมีชื่อเสียงค่อนข้างดีในเรื่องนี้ และมีชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์เยอะกว่าที่อื่น

ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่เจเอ็ดในตอนนั้นด้วยครับ ที่คอยให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นอย่างดีมากๆ ข้อมูลต่างๆ ก็มีให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย รายละเอียดการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น และความเห็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ผมเลยตัดสินใจเลือกโรงเรียนได้โดยไม่ต้องเสียเวลาลังเลมาก

kwan01 เรียนภาษา

 

  • ตอนที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น ทราบว่าขวัญทำงานพิเศษที่ 7 Eleven ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยสิคะว่าทำอะไรบ้าง 

ตอนที่ไปเรียนใหม่ๆ ผมอยากโฟกัสกับการเรียนอย่างเดียวก่อน เพราะยังตามเนื้อหาในห้องไม่ค่อยทัน เลยยังไม่ได้ทำงานอะไรครับ

หลังจากอยู่ไปสักพัก ตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นอยู่ในระดับเกือบๆ N2 แล้ว ก็ได้ข่าวจากเพื่อนมาว่าร้านเซเว่นใกล้ๆ โรงเรียนรับสมัครพนักงานใหม่พอดี ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีมากเพราะคุณสมบัติเราก็ตรงด้วย (เขาต้องการเด็กที่ได้ภาษาญี่ปุ่นในระดับนึงแล้ว) เลยไปสมัคร แล้วก็ได้งาน

สำหรับงานในเซเว่น ผมทำเป็นกะ ห้าชั่วโมงต่อวัน สามวันต่ออาทิตย์ โดยงานหลักๆ ก็ทำทุกอย่างในร้านเลยครับ ตั้งแต่จัดสินค้า ตรวจของหมดอายุ ขนสินค้าใหม่เข้าร้าน ดูแลแคชเชียร์ ทำความสะอาดร้าน และในวันอาทิตย์ก็จะต้องล้างหม้อโอเด้งและเปลี่ยนน้ำซุปใหม่ด้วย

kwan04 ทำงานพิเศษ ก่อนมา แปลการ์ตูนญี่ปุ่น

สิ่งที่ได้จากงาน อย่างแรกเลยคือภาษาครับ เพราะระหว่างงานเราต้องพูดญี่ปุ่นล้วนๆ ถึงจะมีคนไทยเข้ากะเดียวกันก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกันเท่าไหร่ ตลอดห้าชั่วโมงในที่ทำงาน เราต้องพูดญี่ปุ่นกับลูกค้า หัวหน้า แล้วก็เพื่อนร่วมงานตลอด รวมถึงต้องฝึกใช้ภาษาสุภาพกับลูกค้าด้วย

อีกอย่างคืองานในร้านสะดวกซื้อนั้นประกอบด้วยงานเล็กๆ ยิบย่อยหลายอย่างมาก ซึ่งเขาจะมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น พอเริ่มกะปุ๊บต้องทำงานอะไรเป็นอย่างแรก ก่อนจะเลิกงานต้องทำอะไร หรือเวลามีลูกค้ามาถาม พนักงานต้องตอบยังไงบ้าง ดังนั้นคนที่ทำงานก็จะต้องเรียนรู้หลายอย่างมาก เป็นการฝึกวินัย ความอดทน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วย

ถ้าถามว่างานยากมั้ย ส่วนตัวผมว่ายากและเหนื่อยพอสมควรเลย (เคยโดนหัวหน้าว่าอยู่หลายครั้งเหมือนกัน 555) แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากครับ

 

  • คิดว่าได้อะไรจากการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นกลับมาคะ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือได้ความรู้ภาษาญี่ปุ่น ทั้งฟังพูดอ่านเขียน ในระดับที่จะไม่ได้จากการเรียนในไทยอย่างเดียวครับ คือโรงเรียนในไทยเดี๋ยวนี้คุณภาพผมว่าเทียบเท่าญี่ปุ่นแล้ว

แต่สิ่งที่จะได้จากการไปเรียนที่นั่นคือ ภาษาญี่ปุ่นที่เราซึมซับจากสภาพแวดล้อม ทั้งห้องเรียน ร้านอาหาร รายการทีวี ที่ทำงานพิเศษ และที่สำคัญคือการคุยกับเพื่อนๆ ต่างชาติและอาจารย์ ที่ทำให้เราพัฒนาทักษะการพูดได้เยอะมากๆ

และทำให้เราไม่กลัวที่จะสื่อสารกับเขาก่อน (ไม่ต้องกลัวพูดผิด เพราะคนในห้องส่วนใหญ่ก็พูดผิดๆ ถูกๆ เหมือนกัน 55)

อีกอย่างคือได้เพื่อนที่มีความชอบในภาษาญี่ปุ่น หรือชอบประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน หลายๆ คนพอกลับมาไทยก็ทำงานในสายงานที่ใกล้เคียงกันครับ การที่เราได้รู้จักคนที่เป้าหมายหรือความชอบคล้ายๆ กัน ก็เป็นกำลังใจให้เราพยายามได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ก็ได้ฝึกใช้ชีวิตเอง แก้ไขปัญหา เรียนรู้พวกขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การทำบัตรคนต่างชาติ การทำประกันสุขภาพ การทำสัญญาเช่าหอ ฝึกอยู่ร่วมกับรูมเมท ซื้อของกินของใช้เอง ทำงานพิเศษ การเดินทางคนเดียว การใช้รถไฟ ฯลฯ และได้มีโอกาสรู้จักญี่ปุ่นในแบบที่ลึกกว่าการมาเที่ยวธรรมดาๆ ได้ไปร่วมกิจกรรมของเมืองหรือเขต ได้ไปเที่ยวสถานที่ที่ทัวร์ไม่ไป ได้ไปร่วมงานแสดงตามฤดูกาลหลายๆ อย่าง ผมว่ามันเป็นการเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้นมากเลยครับ

 

ส่วนตัวผมว่าเป็นหนึ่งปีครึ่งที่สนุก และคุ้มค่ามากครับ

 

มาคุยกันเรื่องงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น บ้างนะคะ 

  • หลังจากเรียนจบกลับมาจากญี่ปุ่น  การหางานหายากไหม  แล้วมาทำงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น ได้ยังไงคะ

ถ้าได้ภาษาถึงระดับ N1-N2 ผมว่าการหางานในไทยนี่ไม่ยากเลยครับ ผมก็เริ่มจากการไปยื่นข้อมูลตัวเองไว้กับบริษัท recruitment หลายๆ ที่ก่อน จากนั้นก็รอเขาเรียกสัมภาษณ์ และช่วงที่ว่างๆ ระหว่างหางานก็ไปสมัครเป็นนักแปลกับสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งด้วย

ส่วนตัวผมอยากทำงานแปลมานานแล้วครับ ด้วยความที่ตัวเองก็ชอบอ่านหนังสือกับหนังสือการ์ตูนอยู่แล้วด้วย พอกลับมาถึงไทยปุ๊บก็ลองติดต่อไปหลายๆ สำนักพิมพ์เลย จากนั้นก็ได้เริ่มงานแปลตั้งแต่ก่อนได้งานประจำด้วยซ้ำ

ผมทำงานประจำ จันทร์ – ศุกร์ในบริษัทญี่ปุ่น พร้อมกับทำงานแปลเป็นงานเสริมไปด้วย โดยงานที่เคยแปลมีทั้งการ์ตูน นิยาย และเอกสารอื่นๆ แล้วแต่จะได้รับงานเข้ามา เรียกได้ว่าเป็นทั้งงานอดิเรก เป็นรายได้เสริม และเป็นการฝึกฝนภาษาไปในตัวด้วยครับ

 

  • ก่อนที่จะรับงานแปลได้  จะต้องผ่านการทดสอบก่อนไหมคะ 

ปกติทุกสำนักพิมพ์จะมีการทดสอบอยู่แล้วครับ ขั้นตอนก็ประมาณนี้ (อันนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว อาจแตกต่างกันไปบ้าง ตามแต่สำนักพิมพ์)

  • เริ่มจากการสมัครกับสำนักพิมพ์โดยตรงเลย โดยอาจจะโทรเข้าไปถาม หรือถามทางเพจ facebook ของสำนักพิมพ์ก็ได้
  • ถ้าคุณสมบัติผ่าน (เช่นผ่านการสอบวัดระดับ N3 หรือ N2 ขึ้นไป) เขาก็จะเรียกเราไปทดสอบโดยอาจจะให้เข้าไปนั่งแปลให้ดูในสำนักพิมพ์เลย หรือส่งไฟล์มาให้เราแปลที่บ้านแล้วส่งกลับไป
  • ถ้าผ่านการทดสอบ ส่วนใหญ่ก็ให้เริ่มรับงานได้เลยครับ เพราะหลายๆ ที่ก็มีต้นฉบับค้างๆ รอคนมาแปลอยู่แล้ว

 

  • ขอเจาะละเอียดอีกนิดนึงนะคะ  อยากให้ขวัญเล่าลักษณะงาน แปลการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ทำอยู่ให้ฟังหน่อยค่ะ 

สำนักพิมพ์จะมีต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมาให้ แล้วเราก็แปลเนื้อหาทั้งหมดลงในไฟล์ word ครับ (บาง สนพ. อาจจะให้ใช้ excel)

ทุกสำนักพิมพ์จะมีขั้นตอนคล้ายๆ กัน คือให้เราเขียนตัวเลขลงในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นก่อน เช่นหน้านึงมีช่องคำพูด 8 ช่อง ก็เขียนเลขหนึ่งถึงแปดลงในต้นฉบับ จากนั้นค่อยพิมพ์คำแปลของช่อง 1-8 นั้นลงในไฟล์แยกให้ตรงกับในภาพ แล้วส่งให้ทางกราฟฟิกของสำนักพิมพ์ใส่ข้อความลงในภาพต่อไป

ปกติระยะเวลาที่ใช้ จะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือนต่อ 1 เล่มครับ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในเล่มด้วย การ์ตูนบางเรื่องมีแต่ฉากสู้กัน แปลแค่ อ๊าก ตุ้บ พลั่ก อะไรแบบนี้ แค่สองสามวันก็จบเล่มแล้ว (เล่มนึงมีประมาณ 200 หน้า) หรือบางเรื่องเนื้อหามาแบบจัดเต็ม ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ก็อาจจะต้องใช้เวลาแปลร่วมเดือน

อีกอย่างคือตัวผมเองก็ทำงานประจำอยู่ด้วย ช่วงเวลาที่แปลก็จะเป็นตอนหลังเลิกงานกับวันหยุด  เพราะงั้นถ้างานประจำยุ่งมากๆ งานแปลก็อาจจะช้าไปด้วย ตรงนี้ก็ต้องพยายามจัดการเวลาในแต่ละเดือนให้ดีๆ ครับ

พอแปลเสร็จแต่ละเล่ม ผมก็จะส่งตัวไฟล์คำแปลให้กับสำนักพิมพ์ทางอีเมล และส่งต้นฉบับคืนให้เขาทางไปรษณีย์ ส่วนมากกระบวนการก็จบแค่นี้ แต่บางสำนักพิมพ์อาจจะมีการเรียกนักแปลให้เข้าไปแก้ไขงานแปลทีหลังด้วย อันนี้ก็แล้วแต่กฎของแต่ละที่

ส่วนแนวเรื่องที่แปล ส่วนมากช่วงแรกๆ เราจะเลือกไม่ได้มากครับ คือทางกอง บก. มีต้นฉบับเรื่องไหนค้างอยู่ ก็ต้องแปลเรื่องนั้นนั่นแหละ แต่ทั้งนี้เราสามารถคุยกับเขาได้ว่าตัวเองชอบงานแนวไหน ไม่ถนัดแนวไหน เขาจะได้เลือกเรื่องที่น่าจะเหมาะกับรสนิยมของเราให้ อย่างผมรู้ตัวอยู่แล้วว่าแปลแนวตลกๆ ไม่ถนัด ก็บอกเขาแต่ต้นเลยว่าแนวนี้ไม่เอานะ

 

ขวัญ แปลการ์ตูนญี่ปุ่น

 

  • ขวัญคิดว่าสิ่งสำคัญและความยากของงานแปลการ์ตูนคืออะไรคะ  เพราะคนเก่งภาษาญี่ปุ่นก็ใช่ว่าจะสามารถทำงานแปลกันได้หมด

สำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดในการแปล (ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือเอกสารอย่างอื่น) คือการถ่ายทอดเนื้อหาของต้นฉบับให้ครบถ้วนที่สุดครับ และในกรณีของการ์ตูนที่มีไว้อ่านเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก คนแปลต้องคิดด้วยว่าจะถ่ายทอดอารมณ์และความสนุกของฉบับญี่ปุ่นมายังไง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ระดับของภาษา สรรพนาม หรือการเกลาประโยคให้สละสลวย ไม่ใช่แค่แปลความหมายมาทื่อๆ อย่างเดียว

ภาษาญี่ปุ่นมีโครงสร้างประโยคที่ต่างจากภาษาไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นเวลาแปล บางทีเราต้องรื้อประโยคต้นฉบับ เอาประธาน กริยา ส่วนขยายทั้งหมดมาจัดเรียงใหม่เลย เพื่อให้ผู้อ่านคนไทยอ่านได้อย่างลื่นไหล และในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เนื้อความของต้นฉบับผิดเพี้ยนไปด้วย

หรือเวลาตัวละครเล่นมุก / พูดภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตรงนี้เราก็ต้องคิดเหมือนกัน ว่าจะถอดความทั้งหมดเป็นภาษาไทยเลยดีไหม หรือคงภาษาญี่ปุ่นเอาไว้แบบนั้น แล้วใส่เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติมเอา ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันก็ใช้ได้ทั้งสองวิธีนะ ขึ้นอยู่กับว่าผู้แปลจะเลือกวิธีแปลแบบไหนให้เหมาะสมกับแต่ละฉากที่สุด

 

สิ่งสำคัญสำหรับนักแปล ผมขอยกคำแนะนำที่อาจารย์และนักแปลหลายๆ ท่านเคยให้ไว้ มาสรุปตามนี้นะครับ:

  • ความรู้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและไทย เรื่องภาษาญี่ปุ่นคงไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว แต่ภาษาไทยนี่เน้นเลยว่าสำคัญมากครับ เพื่อนผมที่เป็น บก. เคยบ่นให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่านักแปลหลายคนภาษาญี่ปุ่นเก่งเลิศ ได้ N2, N1 มาแล้วเรียบร้อย แต่ดันสื่อสารออกมาเป็นภาษาไทยได้ไม่รู้เรื่องเลย และถ้าคำแปลออกมาทื่อๆ หรืออ่านไม่รู้เรื่อง นั่นก็เท่ากับเราเฟลในการถ่ายทอดความสนุกของต้นฉบับไปส่วนนึงแล้ว (ไม่ว่าความหมายจะถูกต้องขนาดไหนก็ตาม)

แนะนำว่าคนที่อยากทำงานแปล ควรจะอ่านหนังสือเยอะๆ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนและนิยาย เพื่อให้รู้ว่าควรจะใช้ภาษาแบบไหนเวลาแปลด้วยครับ

  • ความขยันในการหาข้อมูล บางทีเวลาแปล เราจะเจอศัพท์ที่มาจากต่างประเทศ หรือข้อมูลเฉพาะด้านต่างๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักแปลที่จะค้นคว้าว่าต้องแปลเป็นไทยยังไง อย่างเวลาเจอพวกศัพท์ที่เขียนด้วยตัวคาตาคานะทั้งหลาย เราก็ต้องไปค้นว่าศัพท์ตัวนั้นๆ มาจากภาษาอะไร แล้วราชบัณฑิตไทยมีการกำหนดวิธีออกเสียงไว้ยังไงบ้าง บางทีแค่บทพูดประโยคเดียวต้องค้นกันเป็นชั่วโมงเลยก็มี ดังนั้นความขยันจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
  • ความตรงต่อเวลา คือพยายามส่งงานให้ไม่ช้ากว่าที่ตกลงกับสำนักพิมพ์ไว้ แต่ถ้าจำเป็นต้องส่งช้าก็บอกเหตุผลกับสำนักพิมพ์ไปตรงๆ เลยครับ อย่าโกหก อย่าทำเป็นเงียบหายไม่ยอมติดต่อกับเขา
  • ความซื่อสัตย์ในการทำงาน คือถ้าแปลตรงไหนไม่ได้จริงๆ ก็บอกสำนักพิมพ์ ขอความช่วยเหลือไปเลยครับ อย่าแปลมั่วๆ ส่งๆ แล้วคิดว่าจะไม่มีใครจับได้ ถ้าทำแบบนั้นก็เสียหายกันหมด ทั้งสำนักพิมพ์ คนอ่าน (ที่ต้องอ่านงานแปลที่ขาดคุณภาพ) และตัวคุณเองด้วย

 

  • ประสบการณ์จากการไปเรียนไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น มีผลหรือเอื้อประโยชน์ต่องานแปลยังไงบ้างคะ

หลักๆ คิดว่ามีผลเรื่องความคล่องในการใช้ภาษาครับ เพราะเรามีโอกาสสัมผัสชีวิตในสังคมเขาโดยตรงมาแล้ว เวลาอ่านพวกบทพูดตัวละคร หรือมุกสไตล์ญี่ปุ่นในเรื่อง เราก็จะเข้าใจบริบทได้ง่ายขึ้น

อย่างเช่นเวลาตัวละครพูดถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี ลมฟ้าอากาศ การเดินทาง ฯลฯ เราก็จะนึกออกว่า เออ สมัยเรียนที่นั่นก็เคยเห็นอะไรคล้ายๆ กันมาแล้ว ซึ่งก็ช่วยให้ทำงานแปลได้ง่ายขึ้นนะครับ

อีกอย่างคือเพื่อนๆ ที่เรียนภาษาด้วยกัน จบมาด้วยกัน ตอนนี้หลายคนก็ทำงานในสายงานเดียวกันหรือใกล้เคียง ทำให้เรามีเครือข่ายช่วยแนะนำงาน หรือขอคำปรึกษาเวลาเจอโจทย์แปลยากๆ ได้ด้วย

 

  • ปัจจุบันคนทำงานแปลการ์ตูนญี่ปุ่น ยังเป็นที่ต้องการของตลาดไหมคะ 

เท่าที่ทราบ แทบทุกสำนักพิมพ์ยังเปิดรับอยู่ครับ อันนี้ต้องขอยืมคำพูดเพื่อนที่ทำงานกอง บก. มาว่า “คนอยากแปลมีเยอะ แต่คนแปลได้มีน้อย” เพราะงั้นถ้าสนใจอยากทำก็สมัครไปเถอะครับ ผมว่าทุกสำนักพิมพ์เขาก็ยังอยากได้คนทำงานดี & ไว้ใจได้มาร่วมงานกันทั้งนั้น

 

  • ความสุขหรือความภูมิใจในการทำงานนี้คืออะไรคะ 

ผมว่านักแปลเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากนะ คือถ้าเราได้ต้นฉบับการ์ตูนที่สนุกมากๆ มาแปลเรื่องหนึ่ง ก็เท่ากับว่าความสนุกของการ์ตูนเรื่องนั้นในสายตาผู้อ่านชาวไทย (ไม่นับที่อ่านสแกนในเน็ตไปแล้ว) จะขึ้นอยู่กับเราล้วนๆ เลย เพราะถ้าเราทำงานไม่ดี ความสนุกที่คนเขียนอุตส่าห์ใส่มาในการ์ตูนจะพังพินาศหมดแน่นอน 555

ความภาคภูมิใจของงานก็คงมาจากตรงนี้นี่แหละครับ ยิ่งถ้าเราชอบการ์ตูนเรื่องนั้นๆ มาก่อนแล้ว มันก็รู้สึกเป็นเกียรตินะ ที่จะได้ใช้ความสามารถของตัวเอง ในการถ่ายทอดเรื่องที่ชอบออกมาเป็นภาษาไทยให้ดีและตรงกับต้นฉบับที่สุด

นอกจากนี้ ความฟินอีกอย่างคงเป็นการที่เราได้เห็นงานแปลของตัวเองออกมาเป็นเล่มๆ วางขายตามร้านหนังสือน่ะครับ คือมันเป็นงานที่ทำแล้วมีผลงานออกมาเป็นชิ้นๆ จับต้องได้จริง ซึ่งส่วนตัวแล้วเป็นอะไรที่ผมชอบมาก เวลาเห็นงานแปลตัวเองวางแผงนี่บางทีก็ปลื้มเหมือนตัวเองเป็นคนเขียนเลย

ที่สำคัญ งานแปลเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรอยู่ตลอดเวลาครับ คือทุกเล่มที่แปลจะมีความรู้ มีศัพท์แสง สำนวน ตลอดจนความรู้รอบตัวใหม่ๆ มาให้ได้ศึกษาตลอด

อันที่จริงผมทำงานนี้มาได้แค่สองปีกว่าๆ เท่านั้นเอง คือยังน้อยนิดมากๆ ถ้าเทียบกับนักแปลรุ่นพี่หรือบรรดาชั้นครูทั้งหลาย จุดนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัวเองอยากทำงานสายนี้ และพัฒนาความสามารถต่อไปเรื่อยๆ ด้วยครับ

 

  • ตอนนี้มีแผนการในอนาคตไว้ยังไงบ้างคะ  เห็นว่ามีแผนจะกลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น 

ส่วนตัวมีแผนอยากเรียนโทมานานแล้วครับ ตั้งใจว่าก่อนอายุ 30 คงจะกลับไปเรียน และถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นอีกรอบ ตอนนี้ก็กำลังดูข้อมูลคณะของหลายๆ มหาวิทยาลัย พร้อมกับเขียน study plan ที่จะเอาไปเสนอให้อาจารย์ของแต่ละที่อยู่ ช่วงนี้เลยต้องทำทั้งงานประจำ งานแปล และเตรียมหาข้อมูลเรื่องเรียนโทไปพร้อมกันด้วย ก็ยุ่งและเหนื่อยประมาณนึงครับ

สำหรับงานแปล ตอนนี้ก็หยุดรับงานใหม่ๆ ไปก่อน เพราะต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ก็หวังว่าทางสำนักพิมพ์จะยังไว้ใจให้เรารับงานต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะส่วนตัวก็อยากสะสมประสบการณ์ และพัฒนาฝีมือให้ได้เหมือนนักแปลที่เราชื่นชมหลายๆ คนในสักวันครับ

( Update : เดือนตุลาคม 2019
ขวัญจบการศึกษาปริญญาโท  Ritsumeikan University , College of International Relations  เกียวโต
และเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่โตเกียว )

kwan03 นัก แปลการ์ตูนญี่ปุ่น

คุณอิศรา อุดมพาณิชย์

ไป เรียนต่อญี่ปุ่น กับ เจเอ็ดดูเคชั่น
– หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว ที่สถาบัน CBC  เดือนตุลาคม ปี 2011

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน

สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่มีค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-2677726 ต่อ 101-104
email : ask@jeducation.com
LINE  >> http://bit.ly/jed-line

Scroll to Top