คุยกับชาร์ต : Gap Year in Japan

Chart003

ก่อนอื่นผมต้องขออภัยที่ห่างหายไปเมื่อเดือนที่แล้วเนื่องจากติดภารกิจต้องไปร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อการยกระดับขีดความสามารถของเยาวชนผ่านการอบรมและการฝึกงานที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งจัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประทศ สหประชาชาติครับ

ในงานเสวนานี้ ผมได้มีโอกาสบรรยายเรื่องประโยชน์จากประสบการณ์นอกห้องเรียนโดยได้นำกรณีตัวอย่างของรัฐบาลญี่ปุ่นไปพูดซึ่งได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนหาประสบการณ์นอกห้องเรียนโดย “Gap Year”

ทั้งนี้ Gap Year คืออะไร และมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ผมจะขอนำเสนอผ่านคอลัมน์คุยกับชาร์ตในเดือนนี้ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับเพื่อนๆ น้องๆ ในการวางแผนการเรียนต่อไปครับ

Gap Year งานเสวนา กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
งานเสวนา กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

คำว่า “Gap Year” นั้นเป็นศัพท์ทั่วไปที่ใช้สื่อถึงการที่เยาวชนพักจากการเรียนในห้องเรียนชั่วคราวเพื่อออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนครับ ในกรณีของนักเรียนมัธยมมักจะหมายถึงนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่พักชั่วคราวก่อนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และในกรณีของนักเรียนมหาวิทยาลัยจะหมายถึงนักเรียนพักชั่วคราวก่อนเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน

คำว่า “พักชั่วคราว” นั้น หมายถึงการพักจากการเรียนในห้องเพื่อไปเรียนนอกห้อง หรือหาประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น เรียนภาษา ลงเรียนคอร์สเฉพาะต่างๆ การเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ การทำงานอาสา การท่องเที่ยว หรือฝึกงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประทศครับ โดยทั่วไปแล้วการพักชั่วคราวนี้จะมีระยะเวลา 1-2 ปีครับ (แหล่งที่มา)

แนวคิดของ Gap Year นั้นเกิดจากการถูกมองว่าสิ่งที่เราเรียนจากหนังสือหรือในห้องเรียนนั้นให้ความรู้เราทำให้เราเป็นคนเก่งรอบรู้ แต่ยังไม่ได้สอนทักษะชีวิตต่างๆ กับเราที่จำเป็นจะต้องใช้เมื่อเข้าสู่สังคมของผู้ใหญ่เต็มตัว เช่น ทักษะในการทำงานต่างๆ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปรับตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ถ้าให้เทียบสิ่งที่เราสามารถเรียนได้จากห้องเรียนหรือหนังสือกับสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมดแล้วอาจมีไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำไปครับ ฉะนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนใช้ Gap Year นั้นจึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านี้ที่เรียกกันว่า “ประสบการณ์นอกห้องเรียน” ครับ

จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยและบทความต่างๆ พบว่าบุคคลที่เคยผ่าน Gap Year หรือมีประสบการณ์นอกห้องเรียนมานั้นจะมีส่วนได้เปรียบคนอื่นๆ ตามนี้ครับ (แหล่งที่มา)

  1. สามารถเข้าใจเนื้อหาการเรียนได้มากกว่าทำให้เรียนได้เกรดดีกว่าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากโอกาสที่ได้ทดลองทำงานจริง เช่น ผ่านการฝึกงานต่างๆ หรือเรียกว่าเรียนโดยประสบการณ์
  2. รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าชอบหรือไม่ชอบ (เรียนหรือทำงาน) อะไร ทำให้สามารถเลือกเส้นทางเดินต่อให้ตัวเองได้ง่ายขึ้น
  3. เพิ่มทักษะทางสังคมต่างๆ เช่น การทำงานภายใต้แรงกดดัน หรือการสื่อสาร เป็นต้น ทำให้ไปต่อได้เร็วกว่าคนอื่นเมื่อเริ่มเข้าวัยทำงาน
  4. สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือเข้ากับคนได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
  5. สามารถอัพเกรดประวัติส่วนตัว เรซูเม่จะดูดีขึ้น ส่งผลดีต่อการสมัครทำงาน สมัครทุน หรือสมัครเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง
  6. ได้เพื่อนใหม่ๆ พบคนใหม่ๆ ทำให้มีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้ในอนาคต
  7. ทำให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นและโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อันนี้เป็นผลพลอยได้ เช่น ในกรณีที่ต้องไปศึกษาอยู่ต่างประเทศและใช้ชีวิตอยู่คนเดียว
Gap Year งานอาสาเครือข่ายเยาวชนอาเซียนในญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
งานอาสาเครือข่ายเยาวชนอาเซียนในญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อเราลองย้อนมาดูกระแสในสังคมไทย เยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงตัวผมเองในสมัยก่อนมักจะมีแนวคิดที่ว่า ตัวเรา หรือลูกๆ จะต้องเรียนให้เก่ง ได้คะแนนเกรดสูงๆ เรียนให้จบให้เร็วที่สุดและเข้าสู่สังคมของการทำงานให้เร็วที่สุด คนยังให้ความสนใจเรื่องการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนน้อย ยิ่งลาเรียนพักเรียนเพื่อไปทำกิจกรรมอื่นๆ ยิ่งมีน้อยคนที่จะสนใจแนวคิดนี้

โดยบางครั้งอาจลืมไปว่า จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างนอกห้องเรียนที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาดโอกาสที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เรียนรู้กับมัน ตามที่อธิบายไปข้างต้น ประสบการณ์เหล่านี้มีค่ามาก ช่วยเสริมโพรไฟล์เรา เสริมทักษะต่างๆที่ จะช่วยต่อยอดให้เราเหนือกว่าคนอื่น สร้างความแตกต่างครั้นเราเรียนจบและตัดสินใจจะสมัครเรียนต่อ สมัครทุน หรือสมัครงานก็ตามครับ

จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างนอกห้องเรียนที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาดโอกาสที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เรียนรู้กับมัน

ตัวผมเองก็เคยมีประสบการณ์ตรง สมัยผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คณะก็มีโครงการแลกเปลี่ยนไปประเทศต่างๆ เปิดให้นักเรียนสมัคร รวมถึงประเทศญี่ปุ่นครับ ญี่ปุ่นก็มีอยู่ให้หลายจังหวัดที่ทางมหาวิทยาลัยมีเครือข่ายอยู่รวมถึงจังหวัดซากะ ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ อยู่ในเกาะคิวชู ทางใต้ของญี่ปุ่น

สมัยผมไป จังหวัดซากะยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติหรือแม้แต่ชาวญี่ปุ่นก็ตามน้อยคนที่จะเคยไปจังหวัดนี้ เพราะถือเป็นหนึ่งในจังหวัดสุดชนบทของญี่ปุ่นครับ มาตอนนี้เป็นที่รู้จักดีในวงคนไทย ต้องขอบคุณกองถ่ายละคร “STAY ซากะ…ฉันจะคิดถึงเธอ” ที่ไปถ่ายทำ นำสถานที่สวยๆ มาแชร์ให้พวกเราครับ

ภูเขาคางามิยาม่า
ภูเขาคางามิยาม่า จากละคร “STAY ซากะ…ฉันจะคิดถึงเธอ”

หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวที่ซากะหนึ่งปีแล้ว จะบอกเลยคุ้มสุดคุ้มครับ

ตอนแรก พอรู้ว่าจะได้ไปที่นี่ และจะทำให้ต้องเรียนจบช้ากว่าเพื่อนๆ ไปหนึ่งปีก็เกิดคำถามขึ้นในหัวผมมากมายว่า เรียนจบช้ากว่าคนอื่นจะมีปัญหามั้ย? ไปแล้วทุนใช้ไม่พอ ต้องเสียเงินอีกจะคุ้มมั้ย? ต้องใช้ชีวิตคนเดียวจะอยู่รอดมั้ย? ลังเลอยู่นานครับกว่าจะตอบตกลงว่าไป

ด้วยค่านิยมทั่วไปที่ปลูกฝังเรามาตั้งแต่เด็กว่าตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ สอบให้ได้เกรดดีๆ เรียนให้จบไวๆ เพื่อรีบทำงานและให้ได้งานดีๆ แต่พอเอาเข้าจริงหลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวที่ซากะหนึ่งปีแล้ว จะบอกเลยคุ้มสุดคุ้มครับ ได้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ มากมาย ลืมไม่ลง และประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมเป็นตัวผมในทุกวันนี้ครับ

Gap Year งานพิเศษเป็นครูสอนภาษาอังกฤษนักเรียนอนุบาล
งานพิเศษเป็นครูสอนภาษาอังกฤษนักเรียนอนุบาล จังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น

ในญี่ปุ่น Gap Year เป็นที่นิยมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไทย นักเรียนให้ความสนใจในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยเฉพาะงานอาสาต่างๆ อย่างที่เราจะสามารถเห็นนักเรียนญี่ปุ่นมาทำงานตามชนบทในไทย มาเป็นครูสอนภาษา เป็นต้นครับ นักเรียนญี่ปุ่นหลายคนก็มีความสนใจในการทำงานต่างประเทศเพื่อฝึกภาษาเหมือน Work & Travel บ้านเรา แต่จะเรียกว่า Working Holiday ครับ

ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นเองโดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่นชั้นนำ ก็ได้ริเริ่มโครงการ “Tobitate! Ryugaku Japan” (แหล่งที่มา) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เยาวชนญี่ปุ่นไปหาสบการณ์ในต่างประเทศเยอะๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และพัฒนาภาษา โดยรัฐบาลจะให้ทุนกับเยาวชนที่มีความสนใจไปฝึกงาน ไปทำงานอาสา หรือไปโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ครับ

โลโก้โครงการ Tobitate! Ryugaku Japan
โลโก้โครงการ Tobitate! Ryugaku Japan

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงประโยชน์จาก Gap Year โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สนับสนุนตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักเรียนญี่ปุ่นที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศให้ได้สองเท่าภายในปี 2020 และที่รัฐบาลนายกฯอาเบะต้องการสร้างความเป็นนานาชาติให้กับญี่ปุ่นครับ

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าโครงการนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่นชั้นนำด้วย เป็นเพราะว่ากระแสความต้องการบุคลากรที่มีความเป็นนานาชาติ มีความคิดที่แปลกใหม่ เปิดกว้าง หรือที่เรียกกันว่า “ทรัพยากรมนุษย์ระดับนานาชาติ (Global Human Resources)” (แหล่งที่มา) กำลังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นซึ่งมีสาขาอยู่ตาประเทศต่างๆ ทั่วโลกครับ บุคลากรประเภทนี้จะมีแต่คนแย่งตัวและแน่นอนค่าตัวและความก้าวหน้าต่างกับคนทั่วๆ ไปครับ เห็นมั้ยครับ การมีประสบการณ์นอกห้องเรียนนั้นให้ประโยชน์มากแค่ไหน

เมื่อได้อ่านบทความนี้จบแล้ว ผมหวังว่าเพื่อนๆ น้องๆ จะเล็งเห็นถึงประโยชน์จากกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น และมองเห็นเส้นทางเดินของตัวเองได้ชัดขึ้นนะครับ ยังต้องรออะไรอีก…ไปญี่ปุ่นกันเถอะครับ!


พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม

การศึกษาที่ญี่ปุ่น – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan

– ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship
การทำงาน – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น
– งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น

บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน

คอลัมน์คุยกับชาร์ต ตอน ขี่จักรยาน ในญี่ปุ่นต้องระวัง… Bike in Japan!

คอลัมน์คุยกับชาร์ต ตอน เคารพเวลา = เคารพคน “Be On Time in Japan”

Scroll to Top