J-Visit ฉบับนี้ ยังคงพาไป CBC กันนะคะ วันนี้นักเรียนไทยซึ่งเข้าเรียนในภาคเรียนเดือนเมษายน 2011 อีก 5 คน เพิ่งมาโรงเรียนวันแรกค่ะ แม้จะเป็นช่วงวันหยุด Golden Week ไม่มีการเรียนการสอน แต่ทางโรงเรียนก็จัดให้มีการปฐมนิเทศเรื่องหอพัก และการเตรียมเอกสารต่าง ๆ รวมถึงการสอบวัดระดับเข้าเรียนให้กับนักเรียนใหม่ ตามไปดูขั้นตอนต่าง ๆ กันค่ะ
เนื่องจากกำหนดการเดินทางมาเข้าเรียนในภาคเรียนนี้ แบ่งเป็นสองช่วงตามความสมัครใจของนักเรียน น้อง ๆ นักเรียนไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดินทางมาทีหลังค่ะ วันนี้เมื่อทุกคนมาถึงโรงเรียน จะได้รับถุงขนมแบบนี้ค่ะ ようこそ、CBC へ ยินดีต้อนรับสู่ CBC ค่า… ( ดิฉันก็เลยพลอยได้รับไปด้วย ^^ )
เช้านี้เป็นการปฐมนิเทศเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยทั่วไปโดย Ishijima sensei ค่ะ เริ่มต้น Ishijima sensei ให้เลือกว่าอยากจะฟังคำอธิบายด้วยภาษาอะไร ระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาญี่ปุ่น แต่ไหน ๆ ก็มาถึงญี่ปุ่นแล้วนี่นะ ก็ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นกันล่ะ แต่ Ishijima sensei ก็พยายามใช้ภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ยากจนเกินไป ประกอบกับภาษาอังกฤษไปด้วย และมีน้องแบงค์ ซึ่งเดินทางมาก่อนเมื่อต้นเดือนเมษายน มาช่วยอธิบายด้วยอีกคน เพราะเพิ่งผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้มาหมาด ๆ
จิ๊บและเนส
กระแต และสองพี่น้อง กุ๊ก-ก้อย
แบงค์…วันนี้อาจารย์เรียกให้มาช่วยดูแลเพื่อนที่มาใหม่ค่ะ
เริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนเขียนชื่อ นามสกุลตัวเอง ทั้งภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่น ( คาตาคานะ ) รวมถึงชื่อเล่นที่จะใช้เรียกที่โรงเรียนค่ะ ( ใครยังเขียนชื่อจริงของตัวเองด้วยอักษรคาตาคานะไม่เป็น ต้องหัดมาให้พร้อมนะคะ อย่างน้อยก็ต้องเขียนชื่อตัวเองให้ได้ละนะ )
ต่อจากนั้นก็เป็นการขั้นตอนของการกรอกแบบฟอร์มเพื่อลงทะเบียนคนต่างชาติค่ะ คนต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศญี่ปุ่นเกิน 90 วันจะต้องลงทะเบียนคนต่างชาติที่เขตที่พักอาศัยอยู่นะคะ ฉะนั้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกสำหรับนักเรียนทุกคนที่มาเรียนด้วยวีซ่านักเรียนค่ะ
Ishijima sensei แจกแบบฟอร์มให้ทุกคนกรอกด้วยตัวเอง (แน่นอนค่ะว่ากรอกเป็นภาษาญี่ปุ่น) โดยเซนเซอธิบายวิธีการกรอกให้ดูบนกระดานพร้อมกับอธิบายไปทีละช่อง ๆ และคอยเช็คว่าแต่ละคนกรอกถูกต้องไหม ( การลงทะเบียนคนต่างชาตินั้น สถาบันหลายแห่งให้นักเรียนไปทำด้วยตนเองนะคะ ฉะนั้น ควรฝึกเขียนที่อยู่ของตัวเองด้วยอักษรคันจิให้ได้ )
( ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ได้มีการยกเลิกระบบลงทะเบียนชาวต่างชาติที่สำนักงานเขต และเปลี่ยนระบบให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ออกบัตร Resident Card หรือ ไซริวการ์ดให้คนต่างชาติแทน โดยนักเรียนต่างชาติจะได้รับบัตรไซริวการ์ดที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ทันที มี 4 แห่ง คือ นาริตะ ฮาเนดะ คันไซ ชูบุ (นาโกยา) หากเป็นท่าอากาศยานอื่น ๆ จะประทับตราข้อความว่าจะส่งบัตรให้ภายหลัง (ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ภายหลังจากที่ผู้นั้นได้แจ้งข้อมูลที่พักอาศัยต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอแล้ว สำหรับบัตรประกันสุขภาพยังคงต้องทำตามปรกติเช่นเดิม )
หลังจากกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนคนต่างชาติแล้ว ก็เป็นแบบฟอร์มการทำประกันสุขภาพแห่งชาติค่ะ การทำประกันสุขภาพแห่งชาติมีความจำเป็นค่ะ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นแพงมาก แต่หากทำประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว รัฐบาลจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้ 70 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนชำระ 30 เปอร์เซ็นต์ ( ขนาดจ่ายแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าแพงเอาการอยู่นะคะ ) สำหรับค่าเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตค่ะ สำหรับนักเรียนที่เพิ่งมาใหม่ ก็จะมีเอกสารอีกใบให้กรอกค่ะ เพื่อแจ้งให้ทางเขตทราบว่า ไม่มีรายได้ ซึ่งก็จะทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลง
จบขั้นตอนการเตรียมเอกสารค่ะ ซึ่งเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ อาจารย์จะพาไปยื่นที่เขตคาวาซากิอีกครั้ง ตามไปดูภาพของรุ่นพี่ CBC ได้จากคอลัมน์ตอนนี้นะคะ
คราวนี้ก็มาถึงการอธิบายเรื่องหอพักค่ะ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดซึ่งนักเรียนจะต้องเรียนรู้คือ “ การแยกขยะ “ ประเภทต่าง ๆ ว่ามีประเภทไหนบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความงงงวยให้กับนักเรียนใหม่ทุกคนอยู่เป็นประจำค่ะ เพราะแยกขยะหลายประเภทเหลือเกิน และนอกจากจะต้องแยกประเภทให้ถูกต้องแล้ว ยังจะต้องนำมาทิ้งให้ถูกต้องตามวันที่กำหนดด้วยนะคะ Ishijima sensei ย้ำนักย้ำหนาว่าห้ามทิ้งมั่ว ๆ เด็ดขาด เพราะมิเช่นนั้น ทางโรงเรียนจะต้องถูกตำหนิอย่างแน่นอน
ต่อจากนั้น เซนเซแจกแฟ้มรวมข้อมูลที่จำเป็นในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับแต่ละหอพักค่ะ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของทางโรงเรียนและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนอย่างมากค่ะ
ภายในแฟ้ม มีข้อมูลตั้งแต่ ที่อยู่และแผนที่ตั้งของหอพักที่นักเรียนคนนั้นพักอยู่ พร้อมมีหมายเลขแสดงสถานที่สำคัญหลัก ๆ ไว้ 3 แห่ง คือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด , สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และสถานที่ซึ่งเปิดให้เป็นที่พักชั่วคราว กรณีเกิดภัยพิบัติใด ๆ
นอกจากนั้น เนื้อหาข้อมูลในแฟ้ม จะเป็นการให้ข้อมูลวิธีการปฎิบัติตัวที่ถูกต้องกรณีเกิดเหตุร้ายหรือภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว การเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน เช่น กรณีไฟไหม้ แจ้งตำรวจ เรียกรถพยาบาล , รายชื่อสถานพยาบาลต่าง ๆ สถานีตำรวจ
ไม่เพียงแค่นั้นค่ะ ยังมีเอกสารอีกใบซึ่งเตรียมเอาไว้กรณีฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่นักเรียนจำเป็นจะต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เช่น ไปรวมตัวกันที่ศูนย์อพยพที่ทางเขตกำหนดไว้ ( ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนประถม , มัธยมในท้องที่ ) จะต้องเขียนเอกสารใบนี้ แจ้งว่าจะไปอยู่ที่ไหน และติดเอาไว้ที่หน้าประตูห้องพัก เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้ทราบว่านักเรียนไปอยู่ที่ไหน และสามารถตามตัวได้ค่ะ ที่สำคัญคือ ด้านหลังของกระดาษนี้ มีกระดาษกาวติดเอาไว้พร้อมแล้วค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าหากเกิดเหตุกระทันหันจะหากระดาษกาวมาติดไม่ได้นะคะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเห็นว่าที่ญี่ปุ่น มีการวางแผนอย่างรอบคอบและเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าอยู่เสมอค่ะ
ปิดท้ายกันด้วย การอธิบายเกี่ยวกับระเบียบต่าง ๆ ของหอพักค่ะ เช่น
– เรื่องสัญญาของหอพัก จะทำทุก ๆ หกเดือน ถ้าออกจากหอพักก่อนหมดสัญญาจะไม่ได้รับเงินค่ามัดจำคืน
– การทำความสะอาดจะต้องแบ่งเวรกันกับเพื่อนร่วมห้อง
– ทุก ๆ สามเดือนจะต้องสลับที่นอนกัน ( ข้างล่างกับชั้นลอย) ยกเว้นแต่บางคู่ที่ตกลงกันได้
– ห้ามติดรูปที่ผนังห้อง ( เรื่องนี้อาจารย์ยกตัวอย่างว่า ห้ามเอารูปยามะพีติดผนังห้องนะคร้าบ ^^ )
ฯลฯ
จบการปฐมนิเทศหอพักแล้ว ขอบันทึกภาพน้อง ๆ กับอาจารย์หน่อยค่ะ
หลังจากปฐมนิเทศหอพักแล้ว น้อง ๆ ก็ต้องไปสอบวัดระดับกันต่อค่ะ เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้จัดให้เข้าชั้นเรียนที่เหมาะสมกับระดับความรู้พื้นฐานของแต่ละคน แว่บไปแอบดูบรรยากาศที่ห้องสอบกันนิดนึงนะคะ
เราปล่อยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบกันไปดีกว่านะคะ ระหว่างที่รอน้อง ๆ ออกจากห้องสอบ Yamazaki sensei เลยบอกดิฉันว่ามีเวลาอีกประมาณสองชั่วโมงกว่าน้องๆ จะสอบเสร็จ อย่างนั้นเซนเซจะพาไปเที่ยวที่วัด Kawasaki Daishi (川崎大師) ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ เป็นวัดที่มีคนไปไหว้พระมากที่สุดเป็นอันดับสามค่ะ และ Kawasaki Daishi ก็อยู่ห่างจากโรงเรียนเพียงแค่ 5 นาทีโดยรถไฟเท่านั้นเอง
อ่า…ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้ดิฉันขอตัวไปทัวร์วัด Kawasaki Daishi กับ Yamazaki sensei ก่อนละนะค๊า ….