Chart003

คุยกับชาร์ต Vo.6 เปิดชีวิตคนไร้บ้านในญี่ปุ่น…Homeless in Japan

ญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวภูเขาไฟ ไม่ได้อุดมสมบูรณ์มากมายไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเหยื่อสงคราม เคยถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ และเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ทซึนามิ หรือแผ่นดินไหวนับครั้งไม่ถ้วน น่าแปลกใจครับว่า ประเทศนี้กลับสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยความเร็วที่แซงหน้าอีกหลายประเทศที่อุดมสมบูรณ์กว่า จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก

แน่นอนครับ ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไฮสปีดแบบนี้ย่อมมาพร้อมกับปัญหาสังคมต่างๆ และคอลัมน์ คุยกับชาร์ต ในเดือนนี้จะพาทุกคนให้รู้จักในอีกมุมหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นครับ

ปัญหาคนไร้บ้าน เป็นหนึ่งในปัญหาสังคมใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นที่เลื่องลือ

หากใครเคยได้มีโอกาสไปเดินเล่นยามค่ำคืนตามเมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นอย่างโตเกียว เกียวโต โอซาก้า หรือฟุกุโอกะแล้ว อาจจะพอมีโอกาสได้เห็นกล่องลังกระดาษวางเรียงกันตามสวนสาธารณะหรือใกล้สถานีใหญ่ ด้วยความที่กล่องลังกระดาษเหล่านี้อาจถูกวางเรียงกันอย่างมีระเบียบ ไม่มีเศษขยะเลอะเทอะออกมาให้เห็น หลายคนจึงไม่อยากจะเชื่อว่านี่แหละครับที่พักอาศัยของคนไร้บ้านหรือที่เรียกกันว่า Homeless (ホームレス) นั่นเองครับ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนคนไร้บ้านสูงตามเมืองใหญ่ ซึ่งเคยมีสูงถึงกว่าห้าพันคนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เคลมว่าลดลงมาแล้วเหลือประมาณสองพันคนในปัจจุบัน

ด้วยตัวเลขขนาดใหญ่นี้จึงทำให้ผมสนใจว่า ทำไม๊..ทำไม ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ดูอะไรอะไรก็ไฮเทคไปหมด ถึงมีคนที่ไม่มีงานทำแถมไม่มีทีอยู่ได้เป็นจำนวนมากขนาดนี้ ผมจึงพยายามหาโอกาสที่จะไปลงพื้นที่จริงเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเองซึ่งวันนี้จะเอามาเล่าให้ทุกคนฟังครับ

ครั้นเมื่อผมใช้ชีวิตเป็นนักเรียนปริญญาโทอยู่ที่ญี่ปุ่น วันหนึ่งเพื่อนสนิทผมฮิโรชิ (คนเดิมกับที่พาไปทัวร์หมู่บ้านโคซึเกะในคราวก่อน) ได้ชวนผมไปทำอาหารแจกคนไร้บ้านละแวกสถานีชินจุกุร่วมกับเอ็นจีโอแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านและจัดกิจกรรมทำอาหารแจกทุกๆ วันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าร่วมแต่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้านะครับ ทันทีที่ถูกชวน ผมก็ตอบตกลงโดยไม่ลังเลด้วยความสนใจส่วนตัวที่อยากจะไปสัมผัสชีวิตคนไร้บ้านแบบถึงที่อยู่แล้วด้วยครับ

เมื่อถึงวันเสาร์ ผมก็ได้เดินทางไปจุดนัดพบซึ่งอยู่ใกล้สถานีชินจุกุเวลาประมาณทุ่มนึง ผมรู้สึกตกใจมากครับเพราะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ราวสามสี่สิบคนได้ มีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลาย คนวัยทำงาน และคนชราครับ พอได้พูดคุยกับคนเหล่านี้ก็พบว่าหลายคนเป็นขาประจำครับ

ที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้นคือคุณลุงท่านหนึ่งที่มาเข้าร่วมอดีตเคยเป็นคนไร้บ้านซึ่งรับอาหารแจกจากทางเอ็นจีโอนี้และได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จนมีงานทำมีที่อยู่เหมือนคนปกติในปัจจุบันครับ

พอทุกคนเริ่มพร้อม ทางเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอก็เรียกประชุม ให้แต่ละคนที่เข้าร่วมแนะนำชื่อและอาชีพ ซึ่งผมเองก็แนะนำตัวไปว่าเป็นนักเรียนไทยมาเรียนปริญญาโทที่นี่ ทางเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอรู้สึกตกใจมากเพราะเพิ่งมีคนไทยเป็นคนแรกที่มาร่วมกิจกรรมนี้ ในขณะที่บางสัปดาห์ก็มีคนต่างชาติมาเข้าร่วมบ้างแต่น้อยมาก พอได้ยินอย่างนี้ผมก็รู้สึกภูมิใจมากครับ ถือเป็นโอกาสโฆษณาให้ชาวญี่ปุ่นรู้ว่าคนไทยใจดีนะครับ

แนะนำตัวเสร็จก็มีการแบ่งทีม ทีมละเจ็ดถึงแปดคนแยกย้ายกันไปตามพื้นที่ที่แพลนไว้ โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับกระติกใส่ซุปมิโสะ ขนม และยาประจำตัวต่างๆ ผมและฮิโรชิได้อยู่ในกลุ่มที่รับหน้าที่ไปแจกในสวนใกล้สถานีครับ

Homeless หน้าห้างชินจูกุ
ภาพคนไร้บ้านหน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่ชินจุกุ

ระหว่างทางที่จะเดินไปถึงสวน เราสามารถเห็นกล่องลังกระดาษวางเรียงไปตามทางบ้าง ใต้บันไดบ้าง แต่ต้องแปลกใจอีกครั้ง เพราะมีการวางเป็นระเบียบเรียบร้อยจริงๆ ไม่สกปรกเลยครับ เราแวะไปตามกล่องเพื่อทักทายคนไร้บ้านและนำสิ่งต่างๆ ที่เตรียมไว้ไปแจก หลายกล่องพอทักไปก็เงียบ หลายกล่องปฏิเสธที่จะให้เข้าไปคุย

ผมสงสัยเลยถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไม ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคนเหล่านี้โดยทั่วไปจะค่อนข้างอายสังคมภายนอก เพราะรู้สึกตัวเองต้อยต่ำ เลยไม่อยากที่จะเจอหน้าใคร

แต่กระนั้น ก็มีหลายกล่องที่ให้การต้อนรับขับสู้พวกเราเป็นอย่างดี บางรายเป็นลูกค้าประจำทุกเสาร์ ก็จะเข้ามาทักทายพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน ที่น่าสนใจคือมีกล่องนึงมีกรงขนาดใหญ่วางอยู่ข้างๆ เต็มไปด้วยแมวนับสิบตัว พอแวะไปก็พบว่าเป็นคุณตาคุณยายสองท่านเลี้ยงแมวไว้แก้เหงา พอผมเห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้ที่ทั้งสองท่านมาใช้ชีวิตบั้นปลายของตัวเองแบบนี้

Homeless กล่องลังที่ใช้อาศัยHomeless กล่องลังที่ใช้อาศัย2
ภาพกล่องลังข้างถนนใหญ่ซึ่งพวกเราได้แวะไปแจกมิโซะซุปครับ

เมื่อผมเดินมาถึงสวนก็ได้พบกับกล่องลังหนึ่งที่มีความพิเศษมากและถือว่าเป็นไคลแม็กซ์ของการลงพื้นที่ครั้งนี้เลยก็ว่าได้ พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ก็เห็นแสงวูบวาบออกมาจากกล่อง คือเจ้าของกล่องลังกำลังดูทีวีอยู่ครับ ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจก็คือเจ้าของกล่องดูทีวีโดยใช้ไฟจากแผงโซล่าร์ที่ผลิตเองจากเศษขยะที่เก็บมาได้ครับ

พอเข้าไปคุยก็พบว่าเจ้าของกล่องเคยเป็นวิศวกรอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง และด้วยความสามารถ บริษัทก็ได้ส่งให้ไปประจำอยู่ที่ประเทศไต้หวัน แต่ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบเนื่องจากทางเจ้าของกล่องลังไม่อยากพูด จึงทำให้เขาต้องออกจากงานมา เขารู้สึกท้อแท้กับชีวิตจึงต้องจบที่การเป็นคนไร้บ้าน

เป็นที่ทราบกันดี ว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ค่อนข้างตึงเครียด และผู้คนมักจะถูกล้อมกรอบไปด้วยกฎระเบียบต่างๆ หรือกฎสังคมที่เคร่งครัด จากการที่ได้พูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ พบว่าคนไร้บ้านหลายคน เรียนจบสูงๆ มาก็มี เคยทำงานดีๆ รายได้ดีมาก็มี แต่ด้วยเหตุไม่คาดฝันบางอย่าง อย่างบางคนเคยทำผิดกฎบริษัท ทำงานพลาด จึงโดนไล่ออก ซึ่งหากเป็นสังคมบ้านเรา ผมเชื่อว่าหลายคนก็ยังจะขอสู้ชีวิตต่อโดยหางานใหม่ แต่ในญี่ปุ่นหลายคนเลือกทีจะตีตัวออกจากสังคมจากการผิดพลาดในชีวิตครั้งเดียว เพราะรู้สึกอาย รู้สึกท้อแท้ และไม่อยากจะพยายามทำอะไรต่อไปครับ

vlcsnap-2016-04-27-13h51m34s230

มีคนไร้บ้านอีกจำนวนมาก ที่พยายามถีบตัวเองออกจากหลุมดำตรงนี้เพื่อกลับเข้าสู่สังคมตามปกติ แต่ก็พบกับอุปสรรคมากมาย อาทิ ไปสมัครงานบริการร้านค้า ขัดล้างห้องน้ำต่างๆ แต่ทางบริษัทไม่รับเนื่องจากเคยมีประวัติเสียหรือไม่มีที่อยู่จึงไม่สามารถลงทะเบียนงานได้ จึงเป็นหน้าที่ของทางเอ็นจีโอที่ได้เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ใช้ที่อยู่ของเอ็นจีโอไปสมัครงาน ซึ่งหลายคนพอได้งาน สร้างเนื้อสร้างตัวได้ ก็กลับไปมีชีวิตมีที่อยู่ตามปกติเหมือนเดิมครับ

แต่กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ยอมกลับเข้าสังคมตามปกติ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาคนไร้บ้านนี้หลายคนเป็นปัญหาจากสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมกลับไปเข้าสังคมเป็นปกติแล้วครับ น่าเสียดาย

ผมได้มีโอกาสไถ่ถามถึงชีวิตประจำวันของคนไร้บ้านเหมือนกันครับว่าเป็นอย่างไร ตื่นเช้ามาก็ใช้ห้องน้ำสวนสาธารณะต่อสายยางอาบ หลายคนรับงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น รับหนังสือพิมพ์มาขาย เก็บขวดเก็บกระป๋องขาย ฯลฯ และนำเงินที่ได้มาซื้ออาหารประทังชีวิต หลายคนอาศัยเน็ตคาเฟ่เป็นที่พักรายวัน ฟังดูแล้วอาจไม่ทรหดเท่าไหร่เพียงแต่ใจไม่พร้อมกลับเข้าสังคมปกติ

ฤดูหนาวเป็นศัตรูอันน่ากลัวของกลุ่มคนไร้บ้านมากครับ โดยเฉพาะช่วงที่หิมะตกเดือนที่หนาวสุดๆ คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งล้มตายทุกปีเนื่องจากทนสภาพอากาศหนาวนอนขดอยู่ในกล่องลังข้างนอกไม่ไหว

ส่วนหลายคนที่รอดช่วงทรหดนี้ไปได้เพราะมีเทคนิคพิเศษซึ่งพวกเขาได้เล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาจะใช้ร้านสะดวกซื้อเป็นที่ให้ความอบอุ่นครับ พอตกดึกซึ่งอากาศหนาวจัดๆ พวกเขาจะเข้าไปยืมฟอร์มอ่านนิตยสารต่างๆ ซึ่งพอยืนอ่านสักพัก เจ้าหน้าที่ของทางร้านก็จะรู้สึกตัวได้ว่าไม่ได้มีเจตนาจะซื้อและไล่พวกเขาออกไป แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ยอมแพ้และเดินเข้าไปที่ร้านถัดไป ยืนสักพักก็จะโดนไล่ออกมาอีก พวกเขาทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งเช้าแล้วค่อยนอน ถามว่าเพราะอะไรก็เพื่อให้พวกเขาอยู่รอดได้ในช่วงที่อากาศหนาวสุดขีดครับ

หลังจากที่ได้เดินตระเวนครบรอบพื้นที่ แต่ละกลุ่มก็ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งประมาณสี่ทุ่มเพื่อสรุปผลโดยแชร์เรื่องราวต่างๆ ที่ไปเจอมา เช่น กล่องลังไหนไม่สบาย หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษ ซึ่งทางเอ็นจีโอก็จะจดเป็นข้อมูลไปเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

จบกิจกรรมวันนั้นกลับบ้านไป ผมรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูกเพราะนอกจากจะได้ช่วยคนแล้ว ยังทำให้สามารถเห็นญี่ปุ่นในอีกมุมมองหนึ่งที่ยากที่คนต่างชาติอย่างเราๆ จะสัมผัสได้ครับ หลังจากวันนั้นผมก็พยายามหาเวลาว่างไปร่วมกิจกรรมกับทางเอ็นจีโอแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ถือว่าเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากครับ หากใครที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นตอนนี้อ่านแล้วสนใจขึ้นมา สามารถหลังไมค์มถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ครับ

ท่ามกลางตึกสูงๆ เมืองสวยๆ หรือสังคมที่เรียกได้ว่าพัฒนาแล้ว ย่อมมาปัญหาสังคมต่างๆแทรกซึมอยู่

ประเทศไทยเองตอนนี้ก็เร่งพัฒนาเศรษฐกิจเต็มที่ มีการสร้างคอนโดมีเนียมราคาแพงตึกสูงๆ รถไฟฟ้าต่างๆ ขึ้นมา จึงต้องเฝ้าระวังปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะเกิดตามมาครับ เราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดจากพี่ใหญ่อย่างประเทศญี่ปุ่นแล้วนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศเราให้เกิดผลดีสร้างผลเสียให้น้อยที่สุดและคงความเป็นสยามเมืองยิ้มต่อไปครับ

https://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/10/down-out-upscale-japan-20141026510150823.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Homelessness_in_Japan


พบคอลัมน์ “คุยกับชาร์ต” ที่เว็บไซต์เจเอ็ดดูเคชั่นทุกเดือน
คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ หรือชาร์ต นักเรียนเก่าญี่ปุ่น ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงของญี่ปุ่น! ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่า เส้นทางสู่การเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น เรียนต่อญี่ปุ่น รวมถึงการหาทุนการศึกษา ไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจและพยายาม

การศึกษาที่ญี่ปุ่น – ปริญญาตรี : นักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) // ผ่านโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างชาติ SPACE ทุนที่ได้รับคือ ทุน JASSO International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan

– ปริญญาโท : สาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) // ได้รับทุน JASSO Honors Scholarship พร้อมกับ Shundoh International Scholarship
การทำงาน – ปัจจุบันทำงานให้กับธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ดูแลส่วนงานธุรกิจระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น
– งานอดิเรกเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียนให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting) ในประเทศญี่ปุ่น


บทสัมภาษณ์ชาร์ต.. สืบศิษฏ์ ศิษย์เก่า ม.โตเกียวกับประสบการณ์สุดคุ้มนอกห้องเรียน

อ่าน คอลัมน์ คุยกับชาร์ต ตอนอื่นๆ

Scroll to Top