073 pagetitle

สำรวจความพร้อม

midashipre

แม้ว่าในปัจจุบัน ความนิยมในการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมูลเหตุจูงใจของนักศึกษาแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา คือการเตรียมตัวที่ดี ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อ ควรจะใคร่ครวญอย่างรอบคอบ และสำรวจความพร้อมของตนเองอย่างถ้วนถี่ เพื่อที่จะได้วางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับอนาคตที่มุ่งหวังไว้

  • พื้นฐานการศึกษา
    พิจารณาว่าจะศึกษาต่อในระดับใดให้เหมาะสมกับพื้นฐานการศึกษาที่มีอยู่ เช่น หากจบมัธยมปลายในประเทศไทย สามารถเลือกเข้าศึกษาได้ทั้งสถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิค ดังนั้นจึงควรจะศึกษาข้อมูลและตัดสินใจว่าจะเข้าศึกษาในระดับใด พร้อมทั้งกำหนดสาขาวิชาที่ต้องการศึกษาให้แน่นอนและชัดเจน โดยคำนึงถึงอาชีพการงานและทิศทางในอนาคตของตนเอง
  • ความพร้อมทางด้านภาษา
    เพราะภาษาที่ใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในญี่ปุ่นคือภาษาญี่ปุ่น ทั้งการอ่านตำรา การเขียนรายงาน และการพูดก็ใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งสิ้น หลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น จำเป็นที่จะต้องรู้ภาษาญี่ปุ่นเป็นพื้นฐานไว้ด้วย จึงควรเตรียมพร้อมในการศึกษาภาษาญี่ปุ่นไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • ทุนทรัพย์
    เป็นสิ่งที่ทั้งนักศึกษาและผู้ปกครองจะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ เพราะการไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ทั้งค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพ สูงกว่าในเมืองไทยมาก เฉพาะค่าครองชีพในญี่ปุ่น ตกประมาณปีละ 500,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ค่าเล่าเรียนอีกประมาณ 200,000 – 500,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบัน ระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่เรียน กว่าจะจบการศึกษาซึ่งใช้เวลานานถึง4-6 ปีนั้น ก็เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะการไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนค่อนข้างมาก หลายคนจึงใช้วิธีขอทุนการศึกษา หรือเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายสนับสนุนทางด้านการเงินแก่นักศึกษาต่างชาติอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเองว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด หากคิดที่จะขอทุนการศึกษา ไม่ว่าจะขอทุนตั้งแต่อยู่ในเมืองไทย หรือจะไปขอทุนในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น ก็ต้องตั้งใจศึกษาเพื่อผลการเรียนที่ดีเยี่ยมด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

สถานภาพการอยู่อาศัย

midashist

สถานภาพการอยู่อาศัย เป็นตัวกำหนดสถานภาพของคนต่างชาติในญี่ปุ่น รวมทั้งประเภทของกิจกรรม ที่คนต่างชาติในญี่ปุ่นจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ โดยแบ่งออกเป็น 27 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภท ก็จะมีกำหนดระยะเวลาในการพักอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเข้าประเทศและการพักอาศัยในประเทศ

ตัวอย่างประเภทของสถานภาพการอยู่อาศัย

ประเภท
กิจกรรมที่กำหนด
ระยะเวลาที่กำหนด
Professor กิจกรรมทางการศึกษาและงานวิจัย ในสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น 3 ปี , 1 ปีหรือ 6 เดือน
Researcher งานวิจัยตามพันธะสัญญาที่ทำกับองค์กรของญี่ปุ่น 1 ปี หรือ 6 เดือน
Trainee ฝึกงานทางด้านเทคนิคหรือทักษะพิเศษที่หน่วยงานทางภาครัฐ
หรือเอกชนของญี่ปุ่น
1 ปี หรือ 6 เดือน หรือ 3 เดือน
Temporary Visitor กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว , เยี่ยมญาติ , ประชุม , ดูงาน 90 วัน หรือ 15 วัน

 

สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ขอเข้าประเทศเพื่อการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่น ( ระยะยาว 1 ปีขึ้นไป ) จะได้รับสถานภาพการอยู่อาศัยเป็น “นักศึกษา” (Student / Ryugaku-sei) ระยะเวลา 2 ปีหรือ 1 ปี

การขอใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย

ใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย ( Certificate of Eligibility ) เป็นเอกสารที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งออกโดยกองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น นักศึกษาจะใช้เอกสารนี้เพื่อการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ( ดูที่ขั้นตอนการขอวีซ่าโดยใช้ใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย )
การขอใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัยนี้ นักศึกษาสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอใบรับรองได้ด้วยตนเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะให้ตัวแทนเป็นผู้ยื่นให้ เช่น หากท่านสมัครเรียนกับสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อทางสถาบันนั้นตกลงรับท่านเข้าเรียนแล้ว ทางสถาบันนั้น จะเป็นตัวแทนทำหน้าที่ติดต่อกองตรวจคนเข้าเมือง และดำเนินการยื่นเอกสาร เพื่อขอใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัยให้กับท่าน โดยกองตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาเอกสารโดย ใช้เอกสารที่ผู้สมัครยื่นต่อทางสถาบันนั้นเป็นข้อมูลในการตรวจสอบพิจารณา โดยจะพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของสถาบันการศึกษานั้น , วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้สมัครในการเข้ามาพักอาศัยในประเทศญี่ปุ่น , ผู้สมัครมีแหล่งเงินสนับสนุนเพียงพอต่อค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นหรือไม่ เป็นต้น

การพิจารณาตรวจสอบนี้  ใช้เวลาในการดำเนินการนานถึงประมาณ 2-4 เดือน

 

egibility
admission
ตัวอย่างใบสถานภาพการพำนัก
( Certificate of Eligibility )
ตัวอย่างใบตอบรับเข้าเรียน ซึ่งจะแตกต่างกันไปแต่ละสถาบัน
( Admission Certificate )

 

 

กรณีที่ต้องติดต่อกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว

การขอต่ออายุวีซ่าจะต้องทำอย่างไร

ชาวต่างชาติจะอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นหากต้องการอยู่ในญี่ปุ่นเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ ต้องดำเนินการขอต่อวีซ่า โดยดำเนินเรื่องก่อนวีซ่าจะหมดประมาณ 2 เดือน ณ กองตรวจคนเข้าเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ โดยเสียค่าธรรมเนียม 4,000 เยน
ชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นเกินระยะเวลาที่กำหนด จะกลายเป็นผู้ต้องโทษตามกฎหมายและอาจถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

การขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า

คือการยื่นเรื่องขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการพำนักที่ญี่ปุ่น เช่น ทำงาน เป็นต้น
ค่าธรรมเนียม : 4,000 เยน

การขอทำงานพิเศษ

คือการยื่นเรื่องขอทำกิจกรรมเสริมนอกเหนือจากกิจกรรมที่ขอไว้ในวีซ่า เพื่อหารายได้พิเศษ เช่น การที่นักเรียนต่างชาติทำงานพิเศษ
ค่าธรรมเนียม : ฟรี

 

การขอวีซ่า

midashiv

ในการขอวีซ่าเพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เอกสารที่สำคัญที่สุดในการยื่นขอวีซ่าคือ ” ใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย ” ( Certificate of Eligibility ) หลังจากที่ผ่านขั้นตอนการขอสถานภาพการอยู่อาศัยแล้ว   จะสามารถใช้ใบรับรองนี้เป็นหลักฐานสำคัญ ในการขอวีซ่านักเรียน ( Student Visa )

 

 

ระเบียบการขอวีซ่า

สำหรับนักเรียนหลักสูตรระยะยาว
ที่ได้รับสถานภาพการพำนัก จะขอวีซ่าประเภท Student ซึ่งจะใช้เอกสารดังนี้
เอกสารที่ใช้ในการขอวีซ่าสำหรับผู้ที่ได้รับใบรับรองสถานภาพการพำนัก

 

สำหรับนักเรียนหลักสูตรระยะสั้น ( เกิน 15 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 90 วัน)  
จะขอวีซ่าระยะสั้นประเภท Temporary Visitor ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทเดียวกับการไปท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเพื่อน ซึ่งจะใช้เอกสารดังนี้
เอกสารที่ใช้ในการขอวีซ่าสำหรับ Temporary Visitor

 

  • เมื่อได้รับวีซ่าแล้ว ให้ตรวจเช็คชื่อ – นามสกุลให้ถูกต้อง
  • ตรวจเช็คประเภทของวีซ่าให้ถูกต้องตามสถานภาพที่ได้รับ เช่น Student
  • วีซ่านี้จะมีผลใช้บังคับภายใน 3 เดือน ( ตามตัวอย่างคือตั้งแต่วันที่ 02 Sep 03 – 02 Dec 03) ซึ่งหมายความว่า นักเรียนจะต้องเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น มิฉะนั้น วีซ่านี้จะถือเป็นโมฆะ
  • ระยะเวลาของวีซ่าจะต้องตรงกับระยะเวลาที่ได้รับสถานภาพการพำนัก อาจจะเป็น 6 เดือน , 1 ปี หรือ 2 ปี
  • วีซ่านี้จะเป็นประเภท Single คือใช้ได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าญี่ปุ่น

 

เตรียมตัวเดินทาง

midashib

ในการเตรียมสัมภาระที่จะนำติดตัวไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นนั้น ควรจะเตรียมให้ครบตามความจำเป็น ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตในระยะแรก เพราะของบางอย่างอาจจะขอให้ครอบครัวส่งตามไปทีหลัง ถ้านักศึกษาจำเป็นต้องใช้ หรือบางอย่างอาจจะหาซื้อได้ในญี่ปุ่น ที่สำคัญอย่าลืมว่าขนาดของห้องพักนักศึกษาในญี่ปุ่นนั้น มักจะมีขนาดไม่ใหญ่เท่าใดนัก

เสื้อผ้า

ฤดูใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วง จะต้องเตรียมแจ๊กเก็ต และสเว็ตเตอร์กันหนาว
ฤดูร้อน ให้เตรียมเสื้อบางเบา แขนสั้น
ฤดูหนาว จำเป็นต้องมีเสื้อคลุมโอเว่อร์โค้ต ชุดผ้าขนสัตว์และแจ๊กเก็ตชนิดหนาเป็นพิเศษ ตลอดจนสเว็ตเตอร์สำหรับฤดูหนาว

ในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาสามารถแต่งกายได้ตามสบาย เนื่องจากไม่มีการกำหนดเครื่องแบบ ยกเว้นสถานศึกษาเพียงบางแห่ง อย่างไรก็ตาม เสื้อผ้าที่นำไปควรจะเป็นแบบเรียบง่าย ใส่ได้ทุกยุคทุกสมัยมากกว่าจะเป็นเสื้อผ้าตามแฟชั่น เพราะแฟชั่นที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เสื้อกันหนาวอาจจะไปซื้อเพิ่มเติมที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะได้แบบที่เข้ากับคนที่นั่น และเหมาะสมกับสภาพอากาศมากกว่า
ถุงเท้าสะอาดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่ามีบ่อยครั้งที่ต้องถอดรองเท้าออก เช่นตามภัตตาคารญี่ปุ่นบางแห่ง หรือเมื่อเข้าบ้านของชาวญี่ปุ่น
นอกจากนั้น อาจเตรียมชุดราตรีหรือชุดไทยสำรองไว้ ในบางโอกาส

ตำรา

ตำราประกอบการเรียนบางประเภท อาจมีความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงแรก ที่ยังไม่คุ้นกับภาษา เช่น หนังสืออ้างอิงที่ใช้ประกอบสาขาวิชาที่เรียน , พจนานุกรม , Dictionary ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น
Dictionary ไฟฟ้า (Denshi jisho) ใช้ช่วยค้นหาคำศัพท์ ภาษาอังกฤษ – ญี่ปุ่น สามารถหาซื้อได้ในญี่ปุ่น ราคาประมาณ 20,000 – 30,000 เยน

เอกสารสำคัญ

นักศึกษาควรนำเอกสารสำคัญอื่น ๆ ติดตัวไปด้วย เพื่อใช้ในการติดต่อกับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ ตามความจำเป็น เช่น เอกสารแสดงผลการเรียน , ผลการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น , ใบผ่านงาน (ถ้ามี) , ใบเสร็จต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักฐาน เช่นใบเสร็จค่าเล่าเรียน รวมถึงจดหมายตอบรับหรือจดหมายติดต่อกับทางสถาบัน
เอกสารทุกชุด ควรมีการถ่ายสำเนาไว้ให้กับผู้ปกครอง เผื่อกรณีเอกสารสูญหาย จะได้มีสำรองไว้

เงินสด

นักศึกษาควรจะเตรียมเงินสดเป็นเงินเยนไปด้วยจำนวนหนึ่ง สำหรับค่าใช้จ่ายปลีกย่อยต่าง ๆ เช่นค่าพาหนะ ค่าอาหาร หรือซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยแลกเป็นเงินเยนไปจากเมืองไทยจะสะดวกและได้อัตราที่ดีกว่า นอกจากนั้นอาจจะซื้อเช็คเดินทางเป็นเงินเยน ซึ่งสามารถซื้อได้ที่ธนาคารทั่วไป ติดตัวไปด้วย เมื่อไปถึงญี่ปุ่นแล้วค่อยเปิดบัญชีธนาคารในญี่ปุ่น เพื่อให้ทางบ้านโอนเงินไปให้

ของที่ระลึก

ตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นแล้ว มักจะให้ของกำนัลแก่กัน เช่นเวลาไปบ้านใคร ก็จะนำของติดไม้ติดมือไปฝาก เทศกาลต่าง ๆ ก็นิยมให้ของขวัญกัน
นักศึกษาจึงควรเตรียมของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ประเภทของไทย ๆ หรือที่แสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นไทย ที่มีน้ำหนักไม่มากนักติดไปด้วย เผื่อในโอกาสที่ต้องมอบของให้กับคนญี่ปุ่นหรือเพื่อน ๆ ชาติอื่น ของที่เรานำไปจากเมืองไทย แม้จะมีราคาไม่แพงนักแต่ก็จะมีค่ามากกว่า ของที่หาซื้อได้ทั่วไปในญี่ปุ่น

กระเป๋า

ไม่ควรที่จะต้องถือกระเป๋าหลาย ๆ ใบ เพราะนักศึกษาต้องดูแลสัมภาระของตนเอง เพียงกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ และกระเป๋าสะพายติดตัวอีก 1 ใบก็พอ

กระเป๋าเดินทาง
โดยปกติ จะมีการกำหนดน้ำหนักสัมภาระที่จะนำไปได้ ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อบุคคล ถ้าเกินจะต้องเสียค่าระวางน้ำหนักเกินต่อกิโลกรัม ควรเขียนชื่อที่อยู่ติดไว้ที่กระเป๋า หรือทำสัญลักษณ์ไว้ที่กระเป๋าให้ชัดเจน เพื่อช่วยป้องกันการหยิบกระเป๋าผิด

กระเป๋าถือ
นักศึกษาควรเก็บเอกสารสำคัญไว้ด้วยกัน ในกระเป๋าที่ถือติดตัวขึ้นเครื่อง อันได้แก่ พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน ใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย เงินหรือเช็ค รวมถึงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลที่ต้องไปติดต่อ หรือขอความช่วยเหลือ ไม่ควรเก็บเอกสารเปล่านี้ไว้ในกระเป๋าใบใหญ่ เพราะบางครั้งกระเป๋าใบใหญ่อาจมีปัญหา เช่น มาช้าหรือหยิบผิด

สิ่งของต้องห้าม

สัมภาระต่าง ๆ ที่นำเข้าประเทศญี่ปุ่น จะถูกตรวจเช็คอย่างละเอียดที่ด่านศุลกากร จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องทราบถึง สิ่งของที่ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สิ่งของต้องห้ามหลัก ๆ ได้แก่

  1. ฝิ่น กัญชา และยาเสพติดทุกประเภท ยากระตุ้นประสาท( รวมไปถึงยาดมด้วยเช่นกัน)
  2. อาวุธ
  3. สื่อที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชน หรือขัดต่อศีลธรรม เช่นสื่อลามก ( หนังสือ / วิดีโอ / ภาพถ่าย และอื่น ๆ)
  4. เหรียญปลอม ธนบัตรปลอม ของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นของเทียม ลอกเลียนแบบ
  5. สัตว์ป่าและพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ป่าและของป่า

หากจะนำสัตว์หรือพืช (รวมถึงเมล็ดพันธุ์และผล) เข้าญี่ปุ่น จะต้องผ่านด่านการตรวจเช็คและควบคุมโรคอย่างละเอียด

นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของการจำกัดปริมาณสิ่งของที่นำเข้า ประเภทเครื่องสำอางและยา เช่น จำกัดปริมาณยาที่นำเข้าเพื่อใช้ในระยะเวลา 2 เดือน

ข้อบังคับศุลกากรของญี่ปุ่นค่อนข้างจะเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามเกี่ยวกับของต้องห้ามอีกหลายอย่าง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งของที่จะนำไปด้วย อาจสอบถามรายละเอียดได้จากสถานกงศุลญี่ปุ่น

การเตรียมตัวด้านอื่น ๆ

การเตรียมตัวด้านสุขภาพ

นักศึกษาที่สุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการนำยาติดตัวไป ซึ่งปริมาณยาควรนำติดตัวไปให้เพียงพอสำหรับในระยะหนึ่ง และนำใบกำกับการสั่งยาเพื่อไปซื้อเพิ่มเติมที่นั่น รวมถึงการขอใบรับรองแพทย์เพื่อนำไปแสดงกับด่านศุลกากร เนื่องจากที่ญี่ปุ่นมีความเข้มงวดมากในเรื่องของยา ทั้งในส่วนของการนำเข้าประเทศและการซื้อยา จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ ควรสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับยา สำหรับโรคประจำตัวของนักศึกษาจากทางสถานกงศุลญี่ปุ่นล่วงหน้า

นอกจากนั้น นักศึกษาควรตรวจเช็คสุขภาพฟันและจัดการให้เรียบร้อย เพราะค่ารักษาฟันผุหนึ่งซี่ในญี่ปุ่น จะเสียค่ารักษาพยาบาลหลายหมื่นเยน แม้ว่าจะมีการประกันสุขภาพของรัฐบาล รวมถึงระบบการคืนเงินค่ารักษาพยาบาลของ AIEJ นักศึกษาก็ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่อาจจะแพงกว่ารักษาในประเทศไทย

การเตรียมตัวด้านภาษา

หากมีเวลาควรเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาญี่ปุ่นเอาไว้ แม้ว่านักศึกษาบางท่าน อาจจะไปเรียนในหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน แต่แน่นอนว่าในชีวิตประจำวัน จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสื่อสารกับคนญี่ปุ่น นอกจากนั้น นักศึกษาควรจะเตรียมตัวศึกษาคำศัพท์เฉพาะทาง ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียน เพื่อช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้เร็วยิ่งขึ้น

สนามบินในญี่ปุ่น

midashia

สนามบินนานาชาติที่ชาวต่างชาติมักจะใช้เดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่นมี 3 แห่งคือ

New Tokyo International Airport

narita

ท่าอากาศยานนิวโตเกียวอินเตอร์เนชั่นแนล
หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าท่าอากาศยานนาริตะ เพราะตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะนั้น ห่างจากเมืองโตเกียว ประมาณ 60 กม. ท่าอากาศยานนาริตะมีอาคารผู้โดยสารอยู่ 2 อาคารคือ Terminal 1 และ 2 ห่างกันประมาณ 1.5 กิโลเมตร สามารถเดินทางเชื่อมระหว่างกันได้โดย Shuttle Bus ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

Airport Code : NRT

Website : Narita International Airport

Kansai International Airport : OSAKA

kansai

ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ
คันไซเป็นท่าอากาศยานใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวโอซาก้า ห่างจากฝั่งทะเล 5 กม. และห่างจากโอซาก้าราว 60 กม.

Airport Code : KIX

Website : Kansai International Airport

Central Japan International Airport ( Centrair ) NAGOYA

centrair

เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ อยู่ห่างจากเมืองนาโงย่าประมาณ 40 กม. ถือเป็นสนามบินนานาชาติแห่งสำคัญของภูมิภาคจูบุ เปิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2005 เพื่อรองรับงานนิทรรศการระดับโลก EXPO 2005 AICHI

Airport Code : NGO

Website : Central Japan International Airport

 

 


 

แบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
ก่อนจะถึงญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่สายการบินจะแจกแบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น และใบแสดงสินค้าของศุลกากรให้คุณกรอกตั้งแต่อยู่บนเครื่อง ทางด้านบนของแผ่นเล็กซ้ายมือ (ในภาพ) จะเขียนว่า EMBARKATION CARD FOR FOREIGNER หมายถึง บัตรขาออกของชาวต่างชาติ ส่วนทางด้านบนของแผ่นใหญ่ทางขวามือจะเขียนว่า DISEMBARKATION CARD FOR FOREIGNER คือบัตรขาเข้าสำหรับชาวต่างชาติ

กรอกข้อความด้วยภาษาอังกฤษและลงลายมือชื่อแบบเดียวกับในหนังสือเดินทาง

tmbig

คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย

การกรอกข้อความสำหรับบัตรขาเข้า ( แผ่นใหญ่ด้านขวามือ )

Family Name = นามสกุล เขียนให้ตรงกับหนังสือเดินทาง
Given Name = ชื่อตัว เขียนให้ตรงกับหนังสือเดินทาง
Nationality = สัญชาติ กรอก Thai
Date of Birth = วันเดือนปีเกิด ใส่เป็นตัวเลข 2 หลัก , ปีเกิดใช้ปี ค.ศ.
MALE / FEMALE = เพศชาย วงเลข 1 , เพศหญิง วงเลข 2
Home Address = ที่อยู่ในประเทศไทย
Occupation = อาชีพ กรณีที่เป็นนักเรียนกรอก Student
Address in Japan = ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น กรอกที่อยู่ที่เราจะไปพักให้ละเอียด
Passport No. = หมายเลขหนังสือเดินทาง
Flight No./ Vessel = เที่ยวบินที่โดยสารมา เช่น JL 703
Intended Length of stay in Japan = ระยะเวลาที่จะอยู่ในญี่ปุ่น อย่ากรอกนานเกินกว่าระยะเวลาของวีซ่าที่ได้รับอนุญาต
Port of Embarkation = ท่าอากาศยานที่เดินทางมา เช่น Bangkok
Purpose of visit = วัตถุประสงค์ในการมาญี่ปุ่น เขียนให้ตรงกับประเภทวีซ่าที่ได้รับ
Signature = ลายเซ็นต์ แบบเดียวกับที่เซ็นต์ในหนังสือเดินทาง

ขั้นตอนการเข้าประเทศญี่ปุ่น

welcome

เมื่อเครื่องจอดสนิทแล้ว ก่อนลงจากเครื่องอย่าลืมตรวจเช็คสิ่งของสัมภาระที่หิ้วขึ้นเครื่องมาด้วย จากนั้นจึงลงจากเครื่องเดินไปตามลูกศร ซึ่งจะผ่านด่านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด่านกักกันโรคระบาด ( Quarantine Declaration )

ปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องกรอกแบบสอบถามที่ด่านนี้

ด่านตรวจคนเข้าเมือง ( Immigration Inspection )

immigration2 immigration

ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีช่องต่าง ๆ หลายช่อง โดยแยกช่องสำหรับคนญี่ปุ่น ช่องสำหรับลูกเรือ และช่องสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องเข้าไปต่อคิวที่ช่อง Foreign passports นี้

เมื่อถึงคิวของนักศึกษา ให้ยื่นหนังสือเดินทาง พร้อมแบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมืองที่กรอกเสร็จเรียบร้อยแล้วแก่เจ้าหน้าที่ ที่นี่เจ้าหน้าที่จะสอบถามรายละเอียดบางอย่างเช่น วัตถุประสงค์ในการมาญี่ปุ่น , ที่พักในญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาควรจะเตรียมใบรับรองการเข้าศึกษาจากสถาบัน , ใบรับรองสถานภาพการอยู่อาศัย , หรือจดหมายรับรองที่พักในญี่ปุ่นไว้ให้เรียบร้อย เผื่อแสดงเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตรวจเช็ค หากไม่มีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่จะประทับตราซึ่งจะระบุสถานภาพการอยู่อาศัย และระยะเวลาที่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น โดยจะนับจากวันที่ประทับตรานี้เป็นต้นไป

ลานรับกระเป๋าสัมภาระ ( Baggage Claim )

baggage

เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็จะไปรับกระเป๋าสัมภาระที่ช่องสายพาน ซึ่งระบุสายการบินและเที่ยวบินที่นักศึกษาโดยสารมา มีรถเข็นไว้ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด่านกักกันพืชและสัตว์ ( Plants and Animal Quarantine Inspection )

plants

สำหรับผู้ที่นำสัตว์หรือพืชเข้ายังประเทศญี่ปุ่น ก็จะต้องผ่านการตรวจเช็คและควบคุมเชื้อโรค ของพืชและสัตว์ก่อนที่จะไปยังด่านศุลกากร

ศุลกากร ( Customs Inspection )

custom

ก่อนที่จะนำกระเป๋าออกจากสนามบิน เพื่อเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้น จะต้องผ่านด่านศุลกากร ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนสีแดงสำหรับผู้ที่มีสิ่งของต้องสำแดง กับส่วนสีเขียวสำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง

เจ้าหน้าที่จะตรวจเช็คสิ่งของที่นำเข้าประเทศว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามหรือไม่ รวมถึงจำนวนสิ่งของที่นำเข้าบางอย่างที่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้า เช่น เหล้า บุหรี่ น้ำหอม ของที่ระลึก หากตีราคารวมกันแล้วเกินกำหนดก็จะต้องเสียภาษี เมื่อออกจากด่านศุลกากรแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีการเข้าเมือง

ห้องผู้โดยสารขาเข้า (Arrival Lobby )

lobby

เมื่อผ่านด่านทั้งหมดออกมาแล้ว จะออกมาที่ห้องผู้โดยสารขาเข้า ซึ่งผู้มารับมักจะชูป้ายชื่อคอยอยู่ที่บริเวณนี้ แต่ถ้าไม่มีคนมารับ นักศึกษาสามารถเดินทางเข้าเมืองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น รถไฟ , รถลิมูซีนบัส หรือแท็กซี่ ซึ่งที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้านี้ จะมีเคาเตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสารต่าง ๆ อยู่ด้วย

ticket_counterเคาท์เตอร์ขายตั๋วรถไฟ jrป้ายบอกทางไปขึ้นรถไฟ
limusinebusเคาท์เตอร์ขายบัตรรถลิมูซีนบัส mapแผนที่บอกเส้นทาง

 

Scroll to Top