ฤดูร้อนญี่ปุ่น อยู่ให้รอดหน้าร้อนนี้ 「夏を生き残る natsu-o-ikinokoru」ตอนที่ 1
โดย อ.ปมโปโกะ
ฤดูร้อนญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นชอบเชื่อกันว่าคนไทยจะทนร้อนได้ดีกว่าพวกเขา เพราะเราเป็นพลเมืองประเทศเขตร้อน(熱帯の国:nettai no kuni) แต่จริงๆ แล้วหน้าร้อนเขานี่หนักหนาเอาการครับ นอกจากอุณหภูมิที่เคยสบายๆ จะขึ้นไปถึง 40 องศาแล้ว ความชื้นยังเยอะมากด้วย
แม่ผมมาเที่ยวญี่ปุ่น ท่านตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศนี้นี่ท่าทางจะชื้นมาก เพราะมีเห็ดสารพัดชนิดให้เลือกกินได้ ซึ่งท่านก็เดาถูก เห็ดที่ปลูกที่เมืองไทยเป็นเห็ดเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็เป็นเห็ดญี่ปุ่นนี่แหละครับ ไม่ต้องทำโรงเพาะก็มีขึ้นทั่วไป เพราะอากาศชื้นมากในช่วงหน้าร้อนนี่เอง
แต่ความชื้นก็ต่างไปตามภูมิภาค อย่างโตเกียวนี่ถือว่าร้อนชื้น หรือร้อนอบอ้าว(蒸し暑い:mushi-atsui)เหมือนอยู่ในเตาอบหรือห้องซาวน่า ส่วนเกียวโตเป็นเมืองในแอ่งกระทะจะร้อนแบบแห้งๆ เหมือนอยู่ในเตาปิ้ง แล้วแดด(日当たり:hi-atari)ที่ญี่ปุ่นก็แรงมาก สงสัยดวงอาทิตย์จะอยู่ใกล้มากกว่าเมืองไทย ทำเอาแม่บ้านชาวไทยบ่นอุบ ต้องหาครีมกันแดด(日焼け止め薬:hiyake-dome kusuri)มาทากันก่อนที่ตัวจะดำยิ่งกว่าเดิม
แม้ว่าอากาศจะร้อน แต่หน้าร้อนก็เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นใช้เป็นช่วงสังสรรค์กันตั้งแต่ดั้งแต่เดิม เขาว่าเป็นฤดูแห่งเทศกาล(祭り:matsuri) ซึ่งเทศกาลหลักๆ คือ ประเพณีแต่ละท้องถิ่น ที่ดังๆ คือ กิองมัตสึริ(祇園祭:gion-matsuri) การจุดไฟส่งวิญญาณบรรพชนบนภูเขา 5 ลูก(大文字送り火:daimonji-okuribi)ที่เกียวโต เนบูตะ(ねぶた祭り:nebuta-matsuri)ที่อาโอโมริ ประเพณีเอสา(エイサー)ที่โอกินาว่า เป็นต้น ท้องถิ่นใดที่ไม่มีประเพณีดั้งเดิมก็จะพยายามหากิจกรรมแนวเทศกาลมาสร้างความครึกครื้นให้ท้องถิ่น เช่น เมืองโกเบก็จะมีการเดินพาเหรดแบบฝรั่ง ที่โตเกียวมีพาเหรดระบำแซมบ้าเหมือนคาร์นิวัลในบราซิล
เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงสารท(お盆:obon)ถือเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นพากันกลับบ้านเกิด(帰省:kisei:การกลับไปบ้านเกิด)ไปไหว้บรรพบุรุษ หลายๆ บริษัทก็จะให้หยุดนานเป็นอาทิตย์ จึงมีโอกาสได้สังสรรค์เต็มที่
ตามแต่ละท้องถิ่นก็จะจัดงานเทศกาลดอกไม้ไฟ(花火大会:hanabi-taikai)และเทศกาลโอบ้ง(お盆祭り:obon-matsuri)ตามที่ต่างๆ คนก็จะแต่งชุดยุกาตะ(浴衣:yukata) หรือผู้ชายอาจจะแต่งชุดแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “จิมเบ”(甚平:jimbei) ไปชมดอกไม้ไฟ หรือไปร่วมรำวงบงโอโดริ(盆踊り:bon-odori)กัน เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีสีสันมากที่สุดของญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นช่างแอ๊คทีฟมาก ยอมเบียดเสียดกันเพื่อไปดูเทศกาลต่างๆ เรื่องนี้ต้องระวังมาก เพราะคนเบียดมากนอกจากจะร้อนจนอาจจะเป็นลม(失神:shisshin)ล้มพับไป ดีไม่ดีอาจจะถูกเหยียบตายได้ดังที่เคยมีปรากฏว่าคนล้มกันเป็นโดมิโน่ แล้วคนที่อยู่ล่างสุดตายมาแล้ว
บางคนไม่อยากเบียดเสียดกับคนในประเทศก็หันไปเที่ยวต่างประเทศกัน ช่วงก่อนเข้าโอบ้งสนามบินจะแน่นมาก และเครื่องจะดีเลย์เป็นปกติเพราะผู้โดยสารมากจนเช็คอินไม่เสร็จ ใครจะไปเมืองไทยหรือต่างประเทศช่วงนี้จะต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าเป็นเดือน แล้วเวลาไปขึ้นเครื่องบินก็ควรไปก่อนเวลานานๆ เพราะจะต้องต่อแถวยาว
เนื่องจากเมืองไทยเราเป็นเมืองร้อนใช่ไหมครับ คนไทยเลยไม่ค่อยเล่นกีฬากลางแจ้ง แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นกีฬากลางแจ้งเป็นที่นิยมมาก เช่น เบสบอล เทนนิส ทีนี้พอเข้าหน้าร้อน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะงดเล่นแต่อย่างไร เขายังซ้อมกันเป็นปกติ โดยเฉพาะนักเรียนม.ปลายนั้นจะมีการแข่งขันเบสบอลชิงแชมป์ ใครได้แข่งรอบชนะเลิศก็จะได้ไปแข่งที่โคชิเอ็ง(甲子園:koushien)ซึ่งเป็นสนามเบสบอลระดับตำนานของญี่ปุ่น เขาจึงฝึกฝนกันเป็นบ้าเป็นหลัง
ทีนี้ช่วงนี้ก็เลยจะมีข่าวเรื่องคนเป็นโรคร้อนตาย(熱射病:nesshabyou)กันมาก ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่เล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะร่างกายขาดน้ำ ส่วนคนธรรมดา คนแก่ๆ ที่ร้อนตายก็มีไม่น้อย มองแบบคนไทยคงจะรู้สึกว่าร้อนอย่างนี้ไม่ควรออกไปตากแดดเล่นกันเลย หลังบ่ายสามแล้วค่อยเล่นก็ได้
การแข่งขันเบสบอลระดับชาติของนักเรียนม.ปลายจะเป็นที่จับตามองมาก สถานีโทรทัศน์ NHK จะทำการถ่ายทอด แล้วก็เป็นประจำของทุกปีคือ ในเวลาเที่ยงของวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดสงครามโลก จะมีการยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย(黙祷:mokutou)ให้กับผู้ที่เป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิม่า
ผมเคยไปบ้านเพื่อนวันนั้นแล้วจู่ๆ เขาก็ตะโกนว่าให้ไว้อาลัย แล้วก็นิ่งเงียบกันไป ในสนามเบสบอลทั้งคนแข่งทั้งผู้ชมก็สงบนิ่ง มีเพียงเสียงหวอดดังบอกเวลาเท่านั้น แต่ทางทีมฮิโรชิม่าได้ยื่นขอให้เปลี่ยนเวลาเป็นการสงบนิ่งในช่วงเช้า 8 โมงของวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาจริงที่ระเบิดปรมาณูลูกแรกตกลงที่ฮิโรชิม่า จึงมีการเปลี่ยนเวลาไว้อาลัยมาเป็นวันที่ 6 สิงหาแทน
แม้ว่าอากาศหน้าร้อนที่นี่จะร้อนมาก แต่คนญี่ปุ่นก็จะแต่งตัวรัดกุม โดยเฉพาะคนทำงานจะนิยมใส่สูทหน้าร้อนอีกชั้นเพื่อให้ดูภูมิฐาน เห็นแล้วร้อนแทน ส่วนคนธรรมดาก็จะสวมเสื้อแขนสั้น คนที่อายุมากหน่อยก็ไม่นิยมใส่กางเกงขาสั้น เวลาออกไปไหนก็จะพกหมวกไปด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นค่าแท็กซี่แพงมาก กว่าจะเดินไปถึงสถานีหรือป้ายรถเมล์ก็คงเป็นโรคร้อนตาย(熱射病:nesshabyou)กันพอดี รัฐบาลเลยต้องหันมารณรงค์ให้สวมเสื้อ「クールビズ」(kuuru-bizu)ที่ใช้ผ้าบาง สวมสบายทำงานให้เหมาะกับสภาวะโลกร้อน ตอนหน้าจะพูดถึงวิธีคลายร้อนของที่นี่ครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line