เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น

ขั้นตอนการ เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น
ผู้เขียน : ผศ.ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น

เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น

นี่อาจจะเป็นข้อเสียของการศึกษาไทย ที่หลายๆ สถาบันยังคงเน้นการฟังบรรยาย และสอบวัดผลเพื่อจบคอร์สในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก จนคนที่เรียนจบมาแล้วก็ยังเชื่อว่า การศึกษาคือการนั่งฟังการบรรยาย แล้วสอบตอนปลายภาคเป็นอันจบกัน ด้วยความเคยชิน

หลายๆ คนจึงเชื่อว่าเมื่อเข้าไปศึกษาในระดับปริญญาโทแล้ว บรรยากาศก็คงไม่ต่างกัน ซึ่งนั่นถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก

การ เรียนปริญญาโท ไม่ว่าในประเทศไทยหรือญี่ปุ่นนั้นเน้นการวิจัยเพื่อรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ไม่ใช่การเรียนตามตำรา

ว่ากันง่ายๆ ก็เหมือนกับการรวบรวมความรู้ที่มี มาประยุกต์ทำงานชิ้นหนึ่งส่ง เช่นการทำโปรเจ็คของนักศึกษาคณะวิศวะ หรือการทำละครวิทยานิพนธ์สำหรับนักศึกษาที่เรียนละคร

เมื่อหลักสูตรการเรียนระดับปริญญาตรีบ้านเรา ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นว่าจบแล้วต้องมีผลงานเป็นของตน พอเข้าไปศึกษาระดับปริญญาโทแล้วจึงเกิดอาการทุกข์ถนัด กว่าจะปรับตัวให้เข้ากับแนวทางการเรียนแบบใหม่ก็กินเวลานาน และไม่จบเอาง่ายๆ

ข้อเสียที่ตามมาคือ วิทยานิพนธ์ขาดความสมบูรณ์ และอาจมีเรื่องทุนทรัพย์เข้ามาเกี่ยวจนต้องทิ้งไปเลย

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะสมัครทุนหรือจะใช้ทุนส่วนตัวไปเรียนต่อในระดับสูง ก็พึงปรับตัวคุณให้พร้อมดังต่อไปนี้

1️⃣ ขั้นแรก.. เข้าใจระบบการศึกษาของญี่ปุ่น

การ เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น

ในขั้นแรก คุณควรเข้าใจระบบการศึกษาของญี่ปุ่นก่อน นักศึกษาที่ญี่ปุ่นในระดับปริญญาตรีก่อนจบมักจะต้องทำโปรเจ็คส่ง เรียกว่า “ซทสึเงียวรมบุง” หรือ “โชรมบุง” เป็นรายงานชิ้นใหญ่ที่จะโชว์ความสนใจในศาสตร์ที่ตนเรียน งานชิ้นนี้ไม่ค่อยมีผลต่อเกรดเฉลี่ย แต่จะเป็นผลงานที่สามารถนำไปโชว์เวลาไปสอบในระดับปริญญาโทได้

เมื่อจะเข้าสอบเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโท หลายๆ สถาบันจะขอดู “ซทสึเงียวรมบุง” ให้รู้ว่า อย่างน้อย นักศึกษาคนนี้ได้มีการค้นคว้า หรืออ่านงานอะไรมาบ้าง

ในจุดนี้ถือเป็นข้อด้อยสำหรับนักศึกษาของไทยที่ไม่มีการทำโปรเจ็คในหลักสูตร ไม่มีอะไรจะเอาไปโชว์ได้ ซึ่งถ้าคุณไม่มีผลงานที่อ้างอิงว่าคุณก็อ่านงานวิจัย หรือเข้าใจศาสตร์ของคุณดีพอ คุณก็จะต้องเริ่มค้นหาแล้วว่าคุณสนใจอะไร มันน่าวิจัยมากน้อยแค่ไหน

ขั้นตอนต่อไปคืออ่านงานวิจัยเพื่อให้รู้แน่ว่า สิ่งที่คุณสนใจ จริงๆ แล้วยังไม่มีใครให้คำตอบกับคุณได้ ถ้าคุณอ่านแล้วพอใจกับคำตอบที่ได้ นั่นคือ หัวข้อนั้นก็จบกัน ถึงคุณดื้อทำไปคุณก็จะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะคุณจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรใหม่เกินไปกว่าคำตอบจากงานวิจัยเก่าๆ

2️⃣ ขั้นที่สอง.. อ่านงานวิจัย

ขั้นตอนต่อมาคือ การอ่านงานวิจัย  หลายๆ คนมักละเลยขั้นตอนนี้ จู่ๆ ก็อยากได้ทุน จู่ๆ ก็อยากไปเรียน แต่ว่าไม่มีฐานความรู้ เข้าใจผิดว่าสิ่งที่คุณไม่รู้จะไปหาคำตอบได้ตอน เรียนปริญญาโท  ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่ใช่อย่างนั้น

อย่างผมเอง ตอนสอบเข้าปริญญาโท ข้อสอบบ่งบอกให้รู้ว่าทุกคนที่จะเข้าปริญญาโทได้ต้องมีพื้นฐานมาในระดับหนึ่ง ซึ่งพื้นฐานตรงนั้นหากไม่ได้เรียนตอนป.ตรี ก็ต้องไปขวนขวายรู้มาก่อน  เมื่อเข้าปริญญาโทไปแล้ว สิ่งที่สอบไปจะกลายเป็นพื้นฐานที่อาจารย์ที่สอนวิชาบรรยายจะไม่กล่าวถึงอีก

ดังนั้น การสอบเข้าป.โท คุณจึงต้องเตรียมความรู้พื้นฐานพอสมควร และหนึ่งในวิธีการเตรียมความรู้ก็คือการอ่านงานวิจัย

งานวิจัยจะหาอ่านได้จากไหน วิธีที่ง่ายที่สุดคือสอบถามอาจารย์ที่เรียนด้วยในระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะวิชาที่คุณคิดว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณอยากรู้มากที่สุด อาจารย์จะแนะนำบทความวิชาการให้คุณไปลองอ่าน  สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปคือหาคีย์เวิร์ดจากงานวิจัยนั้นเพื่อไปเสิร์ชหางานวิจัยเพิ่ม ซึ่งในยุคนี้ก็เริ่มหาง่ายขึ้นตามอินเตอร์เน็ต หรือหาจากบรรณานุกรมในบทความวิชาการที่คุณมีอยู่

แต่จะมีข้อเสียคือ คุณจะไม่รู้ภาพรวมของการวิจัยในสายของคุณ ดังนั้น คุณก็ควรจะลองไปหยิบจับวารสารวิชาการสายของคุณมาดูด้วยว่าเขาวิจัยอะไรกัน แล้วทำเรื่องอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้คุณต้องพึ่งพาอาจารย์ตอนเรียนป.ตรีพอสมควร  อาจารย์หลายๆ ท่านก็ยินดีให้ข้อมูลกับคุณ

3️⃣ ขั้นที่สาม.. เขียนหัวข้อและแผนการวิจัย
The University of Tokyo เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น
The University of Tokyo

ขั้นตอนต่อไปจึงจะเป็นขั้นตอนการเขียนหัวข้อ และแผนการวิจัย ที่หลายๆ คนอยากจะปลุกเสกขึ้นมาง่ายๆ

ในขั้นตอนนี้ คุณก็ต้องพยายามนำเสนอความคิดของคุณถึงความสำคัญของปัญหาที่คุณพบและอยากวิจัยต่อยอด มีการอ้างงานวิจัยที่คุณเคยอ่านมาบ้าง

จุดนี้ถ้าคุณทำได้ดี คุณจะสบายและลอยตัวมากเวลาที่เข้าไปเรียนป.โท เพราะการเรียนป.โทส่วนใหญ่มีเวลาเพียง ๒ ปี คุณต้องพยายามรวบรวมข้อมูล และสรุปวิธีวิจัยให้ได้ภายใน ๑ ปี ในระหว่างที่เรียนรู้ศาสตร์ข้างเคียงเพิ่มเติม

แต่ถ้าคุณทำได้ไม่ดี แต่อาจารย์เห็นแววแล้วว่าคุณพอจะวิจัยได้ คุณก็ต้องมาตั้งคำถามใหม่เมื่อเข้ามาแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป

ช่วงเวลาปีแรกที่ เรียนปริญญาโท จะเป็นช่วงเวลายุ่งยากสำหรับคุณ เพราะต้องเข้าฟังบรรยายวิชาที่เข้มข้นมากกว่าเดิม แล้วก็ต้องสรุปหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้ได้

ในขั้นตอนนี้ถ้าคุณไม่เคลียร์กับชีวิตว่าคุณจะมาหาคำตอบอะไร ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คุณจะเหนื่อย และเซ็งที่เข้ามาเรียนผิดที่  ผิดสาย (จริงๆ ไม่ได้ชอบ แต่ว่าต้องรีบเขียนส่งๆ ไป)

คนที่สมัครทุนแล้วมีปัญหาขอคืนทุนเพราะพึ่งคิดได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ  สู้ไปทำงาน ไปแต่งงาน อยู่เมืองไทย ฯลฯ ดีกว่าก็มีไม่น้อย ทั้งหมดก็มาจากความเข้าใจผิด และการไม่เตรียมตัวในขั้นตอนที่ผ่านมา

4️⃣ ขั้นที่สี่.. ตามล่าหาสำนัก

ขั้นตอนต่อมาคือ การตามหาสำนัก คือ อาจารย์ที่ปรึกษาและมหาวิทยาลัย  เนื่องจากการวิจัยคือการศึกษาในเชิงลึก อาจารย์ที่ไม่ได้วิจัยสายนั้นๆ ก็จะไม่ค่อยรู้เรื่อง และคุมวิทยานิพนธ์ให้คุณไม่ได้ การคุมวิทยานิพนธ์คือการให้เครดิตกับคุณด้วย อาจารย์ที่ไม่ตรงสายแต่มาคุมวิทยานิพนธ์ให้คุณ ก็จะทำให้เครดิตคุณเสีย

อีกอย่างคือ ในการ เรียนปริญญาโท จะมีวิชาสัมมนาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีทุกอาทิตย์ ถ้าคุณเลือกไม่ตรงสาย คุณก็ต้องทนฟังคนอื่นนำเสนองานวิจัยที่ไม่เกิดประโยชน์กับคุณ  ดังนั้น..

อาจารย์ที่คุณจะเลือกเป็นที่ปรึกษา ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกให้ตรงสายมากๆ   หลายๆ คนยังอยากเลือกมหาวิทยาลัยก่อน แต่โดยวิธีที่ถูกต้องแล้วควรเลือกอาจารย์ก่อน แล้วค่อยดูว่าอาจารย์ท่านอยู่ที่ไหน พอจะเข้าได้หรือไม่ 

แต่ถ้าอยากเลือกมหาวิทยาลัยก่อนเพราะบางมหาวิทยาลัยมีแค่ถึงป.โท ถ้าจะเรียนป.เอกต้องไปหาใหม่อีก หรือเพราะมหาวิทยาลัยนั้นค่าใช้จ่ายแพง ระบบการศึกษาไม่ดี หรือเหตุผลส่วนตัวเช่น ฉันจะต้องจบม.ดัง ฉันต้องอยู่ในเมือง ก็ไม่ว่ากัน คุณก็ต้องบวกลบคูณหารเอาเองว่าใครเหมาะกับคุณที่สุด

อาจารย์ก็เป็นคนไม่ใช่พระเจ้า มีรักโลภโกรธหลง อาจารย์บางคนอ่อนเทคโนโลยี ไม่ใช้เมล์ ใช้แต่จดหมาย หรือบางคนชอบแต่นักเรียนต่างชาติชาติอื่นๆ ไม่สนคนไทย อะไรเหล่านี้ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่คุณควรรู้ไว้ประดับตัวด้วย

เพราะในการทำวิทยานิพนธ์ คุณต้องอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษา ต้องทนฟังเสียงบ่น ต้องรองรับอารมณ์ หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขไปอีกนาน เผลอๆ อาจารย์จะมีอิทธิพลต่อคุณต่อไปถึงขั้นเข้าทำงาน หรือรู้จักกันไปจนตาย  หากไม่มีปัญหาเรื่องนิสัยไม่เข้ากันแล้วก็ย่อมมีความสุขมากกว่า การต้องทำวิจัยกับคนที่ไม่ชอบหน้า

คนที่ผ่านขั้นตอนมาถึงตรงนี้ก็คงรู้แล้วล่ะว่า เรื่องมากขนาดนี้แล้วยังอยากจะ เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น รึเปล่า หรือว่าควรจะไปทำอย่างอื่น ถ้าคิดว่าใช่แล้ว นี่คือทางที่กำลังจะไป

5️⃣ ขั้นที่ห้า.. หาข้อมูลการเปิดรับสมัคร
Kyoto University เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น
Kyoto University

ขั้นตอนต่อไป ก็คือการหาข้อมูลเรื่องการรับเข้าศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ที่เราอยากไปวิจัยด้วย เปิดรับสมัครเมื่อไหร่

โดยปกติ การเตรียมการจะใช้เวลาประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปี  ช่วงเดือนสิงหาคมกันยายนเป็นช่วงที่คุณต้องเฝ้าระวัง เพราะจะเป็นช่วงที่แต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดรับสมัครสอบเข้าปริญญาโทสำหรับเข้าศึกษาต้นเดือนเมษายน

ขั้นตอนการยื่นเอกสารจะไปสิ้นสุดช่วงเดือนธันวาคม หากต้องไปสอบข้อเขียนหรือสัมภาษณ์ก็ต้องเดินทางไปสอบช่วงมกราคมหรือกุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจจะมีข้อดีที่ตรวจเพียงเอกสาร  หรือถ้าหลักสูตรไหนเปิดรับเข้าช่วงเทอมปลายด้วยก็จะเริ่มรับสมัครช่วงปลายเดือนเมษายนด้วย

แต่สิ่งที่คุณควรเตรียมก่อนหน้านั้นแล้วคือ ผลสอบต่างๆ ที่หลายๆ สถาบันมักจะขอให้ยื่นด้วย เช่น ผลสอบ TOEFL, TOEIC วัดความรู้ภาษาอังกฤษ (คนญี่ปุ่นมีมาตรฐานภาษาอังกฤษที่ต่ำกว่าของไทย ดังนั้น  เงื่อนไขคะแนนภาษาอังกฤษจะไม่ค่อยมีผลกับคุณเท่าไหร่)

ผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่ต้องยื่นผลสอบระดับที่ 1 เป็นหลัก เพราะเขาดูคะแนนไม่ได้ดูว่าสอบผ่านหรือไม่)

 

แต่หากคุณยังไม่รู้ว่าที่จะไปใช่ที่คุณอยากเรียนหรือไม่ โดยปกติคนญี่ปุ่นเขาก็มีวิธีแก้ไข คือการเข้าสมัครไปเป็น “นักศึกษาวิจัย” คำนี้ที่ญี่ปุ่นนิยมเรียกว่า “เค็งคิวเซ” คือผู้ที่เรียนรู้เพื่อจะไปทำวิจัยต่อไป (นักศึกษาวิจัยไม่ใช่นักวิจัย สถานภาพยังเป็นนักเรียนแต่ไม่ใช่นักเรียนภาคปกติของมหาวิทยาลัย)

 

“นักศึกษาวิจัย” สามารถลงเรียนวิชาร่วมกับนักศึกษาภาคปกติได้จำนวนหนึ่ง เหมือนเป็นการชิมลาง  ระบบ “นักศึกษาวิจัย” นี้มีสำหรับนักศึกษาที่ต้องการมาทดลองเรียน หาความรู้เพิ่มด้านใดด้านหนึ่งโดยที่จะไม่ได้วุฒิอะไร

นักศึกษาที่ญี่ปุ่นหลายคนนิยมมาเป็นนักศึกษาวิจัยก่อนเข้าสอบป.โท เพราะเป็นการเตรียมความพร้อม และทำความรู้จักกับอาจารย์ที่สอนในสถาบันนั้น การเตรียมความพร้อมที่ว่าก็รวมไปถึงการหาหัวข้อวิจัยด้วย

ข้อดีของการเป็น “นักศึกษาวิจัย” คือ จ่ายเงินน้อยกว่านักศึกษาภาคปกติ และการเป็นนักศึกษาวิจัยก่อนจะทำให้อาจารย์เห็นหน่วยก้าน จะช่วยให้เวลาสอบถึงแม้จะพลาดในบางจุด อาจารย์ก็อาจจะรับเข้าเป็นนักศึกษาป.โทได้ง่ายกว่าผู้สมัครสอบโดยตรง

อีกอย่างคือ สามารถพิจารณาวิธีการเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ก่อนเข้าสังกัดจริง หากไม่เหมาะกับเราก็สามารถเปลี่ยนคนได้ (โดยปกติเมื่อเข้าไปเรียนป.โทแล้ว จะไม่นิยมเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา)

ข้อเสียคือ ต้องเสียเวลารอสอบ และช่วงที่เป็นนักศึกษาวิจัยก็จะได้วีซ่าที่ทำงานพิเศษเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพได้น้อยกว่านักศึกษาภาคปกติ  สำหรับนักเรียนที่สอบทุนรัฐบาล หรือนักเรียนทุนส่วนตัวที่สมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิจัยจะใช้ช่วงเวลานี้เรียนภาษาญี่ปุ่นและปรับตัวให้เข้ากับสังคมในระดับปริญญาโทมากขึ้น

Keio University เรียนปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น
Keio University

สภาพหลังจากที่เข้าไป เรียนปริญญาโท แล้ว โดยรวมคือ การฟังบรรยายวิชาเฉพาะทางที่ไม่มีสอนในระดับปริญญาตรี และมักวัดผลจากรายงานปลายภาคซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการอ้างอิงงานวิจัย และรวบรวมความคิด  วิชาที่มีการสอบวัดผลแบบสมัยปริญญาตรีนั้นมีน้อย และมีวิชาสัมมนา ที่จะต้องร่วมแสดงความคิดเห็นในงานวิจัยของคนอื่น และพรีเซนต์งานวิจัยของตัวเอง

โดยปกติการ เรียนปริญญาโท ไม่เน้นที่เกรด และให้เกรด A, B เป็นหลัก ถ้าได้เกรด C ถือว่าสอบตกในวิชานั้นๆ  จะมีผลต่อการนับหน่วยกิต หรือทุนการศึกษา  หากเป็นสายวิทย์ มักจะมีห้องแล็บวิจัยด้วย ดังนั้นก็อาจจะมีหน้าที่รับผิดชอบงานในห้องแล็บที่ได้รับมอบหมาย เป็นการเรียนรู้การทำงาน (ซึ่งไม่มีการประเมินผล)

 

ที่ญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับ “การเป็นลูกมือ” มาก  นักศึกษาที่ไม่เคยเป็นลูกมือในงานวิจัย (ถึงแม้หัวข้อนั้นจะไม่เกี่ยวอะไรกับเราก็ตาม) จะถือว่าขาดประสบการณ์ และอาจารย์จะประเมินผลให้ต่ำ เวลาที่มีการขอทุน

นอกจากนี้ เนื่องจากระบบการสมัครงานเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยตามสถาบันของญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับจดหมายแนะนำจากอาจารย์เป็นอย่างมาก ดังนั้นหากไม่เป็นลูกมือเลย ถึงแม้ว่าจะทำคะแนนในวิชาเรียนได้ดี ก็อาจจะไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงาน

นักศึกษาปริญญาโทและเอกของที่ญี่ปุ่นจึงต้องแบ่งเวลาทั้งเพื่อทำวิจัยของตนเอง และทำวิจัยหรือช่วยงานอาจารย์ประจำห้องวิจัย และอาจต้องเตรียมงานสำหรับพรีเซนต์ในการประชุมวิชาการเพื่อเสนอผลงานวิจัยของตัวเอง

ใครที่คาดหวังว่าจะมาเรียนแล้วไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่ จึงเป็นไปได้ยากมาก เพราะแม้ในช่วงปิดเทอม ก็อาจจำเป็นต้องไปทำงานที่ห้องวิจัยตามปกติ  นอกจากนี้ ยังควรเจียดค่าใช้จ่ายสำหรับการไปฟังประชุมวิชาการตามที่ต่างๆ เพื่อรับฟังความคืบหน้าของการวิจัยในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตน

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2009
สงวนลิขสิทธิ์
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

ค้นหาข้อมูลอาจารย์ที่ปรึกษา >>researchmap.jp/search
ค้นหาข้อมูลงานวิจัยในญี่ปุ่น
>> https://ci.nii.ac.jp/
>> KAKEN Database
>> https://qross.atlas.jp/

 

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-267-7726
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top