miutility

สาธารณูปโภค ในญี่ปุ่น
สำหรับนักศึกษาที่พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย หรือหอพักที่ทางสถาบันจัดไว้ให้ ข้อมูลเกี่ยวกับการขอติดตั้งระบบสาธารณูปโภคอันได้แก่ ไฟฟ้า ประปา และแก๊ส อาจจะไม่จำเป็นเท่าใดนัก แต่สำหรับผู้ที่พักอาศัยในอพาร์ทเมนท์ หรือบ้านเช่าของเอกชนแล้ว จำเป็นที่จะต้องทราบข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้วย เนื่องจากนักศึกษาอาจจะต้องดำเนินการด้วยตนเอง

ไฟฟ้า
ปกติแล้ว กระแสไฟฟ้าในห้องพักจะถูกปิดไว้ด้วยเบรคเกอร์ เมื่อจะย้ายเข้าห้องพัก ควรจะโทรศัพท์ติดต่อกับบริษัทการไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ ๆ เมื่อได้รับคำแนะนำจากบริษัทแล้ว จึงค่อยยกเบรคเกอร์เพื่อจ่ายกระแสไฟ นอกจากนั้นที่เบรคเกอร์หรือที่ตู้ใส่จดหมาย จะมีแบบฟอร์มแจ้งการใช้ไฟฟ้าติดอยู่ ให้อ่านคำอธิบายและกรอกชื่อ ที่อยู่ วันเริ่มใช้ ฯลฯ ลงในแบบฟอร์ม และส่งไปยังบริษัททางไปรษณีย์

แรงดันไฟฟ้าในญี่ปุ่นเท่ากับ 100 โวลท์ แต่เนื่องจากความถี่คลื่นไฟฟ้าจะมีความแตกต่างกัน ระหว่างภาคตะวันตกเช่น เกียวโต โอซาก้า นาโกย่าจะเท่ากับ 60 เฮิร์ส แต่ภาคตะวันออกจะเท่ากับ 50 เฮิร์ส ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระวังเมื่อใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยจะไม่สามารถใช้กับกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นได้ นอกจากจะใช้หม้อแปลงไฟฟ้า

ในกรณีที่ใช้กระแสไฟมากเกินไป เบรคเกอร์จะตัดไฟโดยอัตโนมัติ นักศึกษาจะต้องปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปิดอยู่ให้หมด แล้วค่อยยกเบรคเกอร์ขึ้นเพื่อจ่ายไฟอีกครั้ง เบรคเกอร์บางชนิดที่เป็นแบบเก่าอาจจะต้องเปลี่ยนฟิวส์ ดังนั้นจึงต้องระวังไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันมากเกินไป


ประปา

เมื่อจะใช้น้ำประปา ก็จะต้องเปิดวาวล์จ่ายน้ำซึ่งจะถูกปิดไว้ และจะต้องโทรศัพท์แจ้งชื่อ ที่อยู่และวันที่เริ่มใช้น้ำกับสำนักงานประปาเขตที่อยู่ใกล้ ๆ น้ำประปาในญี่ปุ่นนั้นสะอาดและถูกสุขลักษณะ ดังนั้นน้ำประปาจึงเป็นน้ำที่ดื่มได้ และนอกจากค่าน้ำประปาที่คุณต้องจ่ายตามปริมาณที่ใช้แล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียด้ว


แก๊ส

ประเภทของแก๊สที่ใช้ในญี่ปุ่นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ในการจะใช้แก๊ส จะต้องโทรศัพท์ติดต่อบริษัทแก๊สเพื่อมาติดตั้งหรือจ่ายแก๊สให้ และควรให้บริษัทแก๊สตรวจเช็คสภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนด้วยว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ และเนื่องจากชนิดของแก๊สที่ใช้ก็มีหลายประเภท ดังนั้นหากจะซื้อเครื่องใช้ที่ต้องใช้แก๊ส จะต้องตรวจสอบดูด้วยว่าสามารถเข้ากันได้กับแก๊สชนิดที่คุณใช้อยู่หรือเปล่า

ในกรณีที่มีกลิ่นแปลก ๆ คล้ายแก๊สรั่ว ให้รีบปิดอุปกรณ์ที่ใช้แก๊สอยู่ และปิดวาล์วจ่ายแก๊ส เปิดประตู หน้าต่างให้แก๊สระบายออกไป ดับบุหรี่หรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดไฟ แล้วโทรแจ้งบริษัทแก๊สโดยด่วน


ขยะ

ระบบกำจัดขยะในญี่ปุ่นเป็นไปอย่างมีระเบียบ และคนญี่ปุ่นก็ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักรักษาความสะอาดของส่วนรวมตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่นึกจะทิ้งอะไรที่ไหนก็ได้ปนเปกันไปทุกชนิด ในทุกพื้นที่ (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ) ของญี่ปุ่น จะมีการกำหนดวิธีจำแนกขยะทิ้งอย่างเป็นระบบ กำหนดชนิดของถุงใส่ขยะ กำหนดวันทิ้งขยะแต่ละชนิด รวมไปถึงต้องทิ้งขยะในที่ที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นรถเก็บขยะก็จะมาเก็บขยะเหล่านั้นไป ซึ่งกฎระเบียบและวันเวลาในการเก็บขยะนี้ จะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งนักศึกษาควรจะถามไถ่จากเพื่อนบ้าน หรือเจ้าของห้องเช่าเพื่อที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังรณรงค์การรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

ประเภทของขยะ
การแบ่งประเภทของขยะและวันเก็บขยะจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขต ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือขยะที่เผาได้ ขยะที่เผาไม่ได้และขยะที่มีขนาดใหญ่

ขยะที่เผาได้
เช่น เศษอาหาร , เศษกระดาษ , ผ้า , บุหรี่ , ไม้ ฯลฯ จะต้องใส่ในถุงขยะค่อนข้างใส พอที่จะมองเห็นขยะที่อยู่ภายใน ( ถุงใส่ขยะจะถูกกำหนดให้ใช้ตามแต่ละพื้นที่ ถุงขยะที่กำหนดจะสามารถซื้อได้ตามซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป) และมัดปากถุงให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น ปกติแล้วขยะที่เผาได้จะมีรถเก็บขยะมาเก็บ ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ขยะที่เผาไม่ได้
เช่น พลาสติก , แก้ว , กระเบื้อง , เหล็ก , ยาง , หลอดไฟ , อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ฯลฯ วัตถุที่เป็นอันตรายจะต้องใส่ในถุงใสที่มองเห็นภายใน และไม่ฉีกขาดได้ง่าย เข็ม , มีด หรือวัตถุมีคม จะต้องใส่ไว้ในขวดหรือกระป๋องและปิดฝาไว้ หลอดไฟจะต้องห่อด้วยกระดาษและเขียนกำกับไว้ว่า ” อันตราย ” ด้วย ปกติแล้วขยะที่เผาไม่ได้ จะมีรถขยะมาเก็บสัปดาห์ละครั้ง

ขยะที่มีขนาดใหญ่
เช่น เฟอร์นิเจอร์ , จักรยาน , เครื่องใช้ไฟฟ้า การเก็บขยะที่มีขนาดใหญ่นี้ จะต้องทำเรื่องแจ้งล่วงหน้า ไปยังเทศบาล สำนักงานทำความสะอาดในเขตที่คุณอยู่

ขยะรีไซเคิล
ในบางเขตจะต้องแยกขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีกด้วย เช่น ขวดเครื่องดื่ม , กระป๋องน้ำอัดลม , กระป๋องใส่อาหาร , หนังสือพิมพ์และกระดาษเป็นต้น ขยะรีไซเคิลปกติแล้วจะเก็บสัปดาห์ละครั้ง


การชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ใบแจ้งการชำระค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส จะส่งมาทุก ๆ เดือน สำหรับค่าน้ำจะส่งมาทุก ๆ สองเดือน ซึ่งจะต้องชำระเงินภายในกำหนดที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ หากเกินกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ วิธีการชำระเงินนั้นสามารถทำได้โดย

  • ชำระที่สำนักงานสาขาโดยตรง
  • ชำระที่สำนักงานสาขาโดยตรง
  • ชำระที่ร้านคอนวีเนียนสโตร์ ( Con-bi-ni ) โดยนำใบแจ้งหนี้ที่มีบาร์โค้ดไปจ่ายที่ร้านใกล้ ๆ บ้าน ปกติร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ มักจะปิดดึก จึงค่อนข้างสะดวกสำหรับคนที่กลับบ้านดึก
  • ชำระโดยหักผ่านบัญชีธนาคารที่คุณเปิดบัญชีไว้โดยอัตโนมัติ

ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม-ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-267-7726 ต่อ 101-104
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top