ป้อม ตำรวจที่ญี่ปุ่น

ป้อมตำรวจ(交番:こうばん kouban)ตั้งอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ จะมีถี่มาก โดยปกติอาจจะเป็นอาคารอย่างง่ายๆ หรืออาจจะเป็นคูหาที่เช่ามาอีกที (กรณีในรูปถ่ายด้านล่าง เป็นการเช่าคูหาทำเป็นป้อม ในชั้นบนเป็นอพาร์ตเมนต์ของอาคารตามปกติ)

สถานที่ตั้งป้อมตำรวจมักจะอยู่ใกล้สถานที่สำคัญของชุมชน เช่น ใกล้สถานีรถไฟ หรือ ทางรถไฟ (คาดว่าเป็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก) บ้างก็อยู่ใกล้โรงพยาบาล สี่แยก

ที่น่าแปลกคือ คำว่า KOBAN เป็นคำศัพท์ที่ญี่ปุ่นกำหนดให้ทับศัพท์โดยไม่แปลเป็นภาษาอังกฤษ  และเป็นคำศัพท์ที่แนะนำให้คนต่างชาติจำในคู่มือการดำรงชีพในญี่ปุ่น มากกว่าจะยอมแปลเป็นคำว่า police box

สมัยนี้ KOBAN แต่ละจังหวัดก็มีป้ายไม่เหมือนกัน บางแห่งก็มีตัวมัสก็อต หรือสัตว์สัญลักษณ์ บางแห่งก็ไม่มี หรือมีแตกต่างกันไป

โดยปกตินาย ตำรวจที่ญี่ปุ่น จะไม่มีหน้าที่โบกรถ ทำหน้าที่เป็นตำรวจจราจร ซึ่งทั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะความมีวินัยของคนญี่ปุ่น นายตำรวจจะมีหน้าที่เกี่ยวกับจราจรในช่วงเทศกาลเท่านั้น เช่น หากมีใครจะเดินพาเหรดกลางถนน หรือ ช่วงเทศกาลที่มีการปิดถนนชั่วคราว ตำรวจจะเป็นผู้เคลียร์พื้นที่ถนนส่วนหนึ่ง และคอยดูความปลอดภัยในที่ที่อาจเกิดเหตุชุลมุนได้ง่ายอีกส่วนหนึ่ง

 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนรับผิดชอบของหน่วยงานเอง เช่น คนโบกสัญญาณในเขตก่อสร้างชั่วคราว ซึ่งทางหน่วยงานจะหามาเอง ตำรวจจึงไม่ต้องมาดูแลในจุดนี้

โดยปกติ ตำรวจญี่ปุ่น จะมีเขตประจำการอยู่ แต่มีการผลัดเวียนเปลี่ยนป้อมกันไป และจะมีจักรยานคู่ใจ เอาไว้ขี่ลาดตระเวณส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งจะขับรถตำรวจเรียกว่า「パトロールカー」(patoroo-ru-kaa:patrol car)หรือย่อว่า「パトカー」(patokaa) ลาดตระเวณเขตที่ตนเองดูแล

จักรยาน ตำรวจที่ญี่ปุ่น

ในวันหยุดของประเทศ จะมีการประดับธงญี่ปุ่นไว้หน้าป้อมตำรวจ อย่างเช่นในรูปตรงกับวันหยุดของประเทศจึงประดับธงญี่ปุ่นไว้หน้าป้อมด้วย

 

ป้อม ตำรวจที่ญี่ปุ่น

 

เมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้น ในญี่ปุ่น จะกดโทรศัพท์เรียก 110 สามารถเรียกได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ตำรวจที่ญี่ปุ่น โดยปกติจะไม่แต่งชุดตำรวจออกจากบ้านแบบตำรวจไทย แต่จะแต่งสูทเหมือนไปทำงานบริษัทตามปกติ จะแต่งชุดตำรวจก็ต่อเมื่อต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่  ตำรวจที่อยู่ในสำนักงานอาจจะไม่แต่งเครื่องแบบก็ได้

สาเหตุที่ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบออกมาจากบ้าน อาจจะเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นนิยมแยกเรื่องส่วนตัวกับภาระผูกพันจากกัน อย่างในเมืองไทย ถ้าคนข้างบ้านเป็นตำรวจก็จะรู้จักและให้ความเกรงใจในฐานะเป็นตำรวจ อาจจะทำให้ทำำงานได้ยาก ไม่สะดวก  ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจจะปฏิเสธไม่ให้ถ่ายรูป  เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จก็จะเปลี่ยนเป็นชุดสูทตามปกติกลับบ้าน

อาวุธของตำรวจญี่ปุ่นโดยปกติจะไม่พกปืน  มีเพียงกระบองซึ่งถูกออกแบบให้พับเก็บได้ และกุญแจมือ ตำรวจหลายๆ นายได้รับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ เช่น ยูโด คาราเต้มาอย่างดี แต่เมื่อวัยล่วงเลยไป ก็อ้วนป่องพอๆ กับตำรวจไทยเหมือนกัน ตำรวจบางท่านจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิทยุมือถือ ปาล์ม ไว้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในศูนย์ข้อมูล

หน้าที่ของตำรวจอาจจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ที่ป้อมตำรวจจะมีแผนที่เขตและเขตรอบพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อช่วยในกรณีถามทาง นอกจากงานลาดตระเวณ งานประจำป้อมตามปกติแล้ว บางครั้งก็จะออกไปตั้งจุดตรวจ เช่น คอยเตือนบรรดาผู้ขี่จักรยานให้เปิดไฟหน้าในยามดึก หรือจับพิรุธ เพราะในเมืองมีปัญหาเรื่องจักรยานหายบ่อยมาก (ยิ่งถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติก็อาจจะถูกเพ่งเล็งมากหน่อย เพราะจักรยานที่ญี่ปุ่นแพง และนักเรียนต่างชาติมักอยู่กันไม่นาน อาจมีแรงจูงใจให้ขโมยจักรยานที่วางทิ้งไว้ง่ายกว่าคนญี่ปุ่น)

เท่าที่สอบถามมาเจ้าหน้าที่ไม่มีการปรับโดยตรง ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็มักจะเชิญไปที่สถานีตำรวจเลย หลังจากนั้นก็เป็นมาตรการภายในสถานีตำรวจ ที่เราไม่อาจทราบ

ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต มีปัญหาเรื่องการลักขโมยอยู่บ่อย คนที่ลักขโมยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนแก่ซึ่งก็มีเงินจ่าย แต่อาจจะอยากลักขโมยเพื่อความตื่นเต้นจนติดเป็นนิสัย ในซุปเปอร์มาร์เก็ต จะมีคนอีกสายงานหนึ่งเรียกว่า「ジーメン」(G-men:government men)เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้น เรียกคนที่ทำหน้าที่คล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบ ปะปนกับลูกค้า คอยจับพิรุธคนขโมย

การทำงาน ตำรวจที่ญี่ปุ่น

เมื่อจับได้ปกติก็มักจะเพียงว่ากล่าวตักเตือน แต่ถ้าบ่อยเข้าถึงจะเรียกตำรวจมาพาไปลงคดีความ  จีเม็นที่จริงแล้วอาจจะไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลเหมือนชื่อ อาจเป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนในการจับพิรุธในบริษัทเอกชนที่ทางซุปเปอร์มาร์เก็ตจ้างมาอีกต่อหนึ่ง

ย้อนกลับมาพูดเรื่องป้อมตำรวจ ปกติแล้วป้อมตำรวจจะไม่มีห้องฝากขัง แม้ว่าหน้าป้อมจะมีป้ายประกาศหาคน หรือแจ้งจับใครอยู่ แต่เมื่อจับผู้ต้องหาซึ่งเรียกว่า「容疑者」(yougisha)ได้ก็จะถูกส่งตัวไปสถานีตำรวจซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เรียกว่า「警察著」(keisatsucho)ที่นี่จะมีห้องขัง หรือห้องฝากขังเรียกว่า「留置場」(ryuuchijou)ขาจรก็มักจะเป็นกรณีทะเลาะวิวาทประจำวัน หรือคนเมาเหล้า

หากมีคดีสะเทือนขวัญ ภาระงานก็จะถูกโอนไปอยู่กับสถานีที่ใหญ่กว่าหากเรื่องถึงศาลมีการตัดสินความเป็นที่เรียบร้อยก็อาจจะถูกส่งตัวไปอยู่ในคุก ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า「監獄」(kangoku:เรือนจำ)ถ้าเป็นคดีที่ไม่ใหญ่โต โดยปกติจะอะลุ้มอล่วยให้ “รอลงอาญา” ไว้และมีรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะ โดยระหว่างนั้นก็อาจจะยึดเอกสาร หรือใบประกอบการเพื่อจำกัดบริเวณ

 

ศัพท์เพิ่มเติม

巡回            (junkai)             การลาดตระเวณ

懲役            (choueki)           การจำคุก

罰金            (bakkin)            ค่าปรับ

執行猶予      (shikkou yuuyo)  การรอลงอาญา

警官            (keikan)            เจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อจาก警察官(官:kan:เจ้าหน้าที่)

巡査            (junsa)              ตำรวจ (โดยปกติ หมายถึง พนักงานตำรวจปกติที่ปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องแบบ)

お巡りさん   (o-mawari-san)   คุณตำรวจ (คำเรียกเพื่อความสนิทสนม)

警察            (keisatsu)          ตำรวจ (หน่วยงาน)  เจ้าหน้าที่ตำรวจ

派出所                  (hashutsujo)                ป้อมตำรวจ (เป็นคำเก่าของ「交番」)

 

 

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับ อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top