ชีวิตใหม่ใน โรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น
มาดูกันค่ะว่า ชีวิตนักเรียนใน โรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น เมื่อไปถึงโรงเรียนที่ญี่ปุ่นแล้ว เค้าทำอะไรกันบ้าง
รายงานตัว ทดสอบวัดความรู้ภาษาญี่ปุ่น
โรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น แต่ละแห่งมีกำหนดการเปิดเรียนไม่พร้อมกัน แต่ทุกแห่งจะมีกำหนดการแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น ว่าจะต้องไปที่โรงเรียนวันไหน ต้องทำอะไรบ้าง
เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทราบและจำกำหนดการที่โรงเรียนแจ้งมา และไปโรงเรียนให้ถูกต้องตามวันและเวลาที่กำหนดนะคะ
รายงานตัวที่ โรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น
ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปติดต่อใคร หรือทำอะไรไม่ถูก เพราะนักเรียนใหม่ทุกคนจะมาที่โรงเรียนเหมือนๆกันค่ะ และทางเจ้าหน้าที่หรืออาจารย์ของโรงเรียนจะทราบอยู่แล้วว่า นักเรียนจะต้องมารายงานตัวในวันนั้นๆ
หน้าที่ของเราคือเดินเข้าไปในโรงเรียน แล้วแจ้งชื่อและประเทศให้เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนทราบ ส่วนใหญ่จะมีเอกสารเช็คชื่อนักเรียนค่ะ เราก็มีหน้าที่แค่หาชื่อตัวเองให้เจอ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะอธิบายให้ทราบเองว่าจะต้องทำอะไรต่อไป
ทดสอบวัดความรู้ภาษาญี่ปุ่น
หลังจากที่รายงานตัวแล้ว โรงเรียนบางแห่งจะจัดให้มีการทดสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นในวันเดียวกัน บางแห่งอาจจะมีการปฐมนิเทศก่อนแล้วค่อยนัดมาสอบวันอื่นแล้วแต่กำหนดการ
การทดสอบวัดความรู้ภาษาญี่ปุ่นนี้ จัดขึ้นเพื่อดูว่าความรู้ภาษาญี่ปุ่นทั้งทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน ของนักเรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความรู้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะจัดให้เข้าชั้นเรียนที่เหมาะสม โดยทั่วไปจะมีทั้งการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์
ไม่ว่านักเรียนจะเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแค่ไหน หรือเคยสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นผ่านระดับไหน ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการสอบวัดความรู้ของทางโรงเรียนแต่อย่างใดนะคะ อาจารย์จะเป็นผู้ตัดสินให้เข้าชั้นเรียนไหนของโรงเรียน ขึ้นอยู่กับการสอบวัดความรู้ในวันนี้ล้วนๆ ค่ะ จะมาบอกว่าเคยเรียนหนังสือ Minna no Nihongo จบเล่ม 1 แล้ว ต้องการจะเรียนต่อเล่ม 2 … ไม่สามารถทำได้
โดยส่วนใหญ่ คนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ไทยมาแล้ว เมื่อไปถึงญี่ปุ่นมักจะได้เรียนชั้นที่ต่ำกว่าที่เคยเรียนมา ทั้งนี้เนื่องจาก แม้เราจะทำไวยากรณ์ได้คะแนนดี แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ทักษะการฟังและการพูด ที่ไม่สามารถจะสื่อสารได้เท่าที่ควรจะเป็น
นักเรียนบางคนอาจจะคิดว่า อาจารย์จัดให้เข้าชั้นเรียนที่ต่ำกว่าความรู้ของตัวเองและต้องการจะเปลี่ยนระดับชั้นเรียน กรณีนี้ต้องบอกว่าไม่สามารถทำได้ค่ะ
สิ่งที่จะทำได้คือ เข้าไปเรียนในชั้นเรียนที่ทางอาจารย์กำหนด แล้วพิสูจน์ให้อาจารย์ผู้สอนเห็นว่า “ ตัวเรามีความรู้มากกว่าเพื่อนๆ คนอื่นในห้องเรียนนี้ “
ด้วยการตอบคำถามในห้องได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ทำการบ้านให้ถูกต้องทั้งหมด ทำเทสต์ย่อยในแต่ละวันให้ได้คะแนนเต็ม เพื่อให้อาจารย์เห็นว่า ความรู้ของเราสูงเกินกว่าเพื่อนๆ ในห้องที่เรียนอยู่ด้วยกัน
การที่เรียนอยู่ในห้องนี้จะสร้างความกดดันให้กับเพื่อนคนอื่นๆ เกินไป ฉะนั้น ถ้ามีคลาสในระดับที่สูงกว่า ควรจะจับนักเรียนคนนี้ย้ายไปเรียนชั้นเรียนนั้นเถิด !
แต่ทั้งนี้ หากชั้นเรียนที่อยู่สูงขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ ก็สูงเกินกว่าความรู้ที่เราจะเรียนได้ ไม่มีคลาสเรียนที่เหมาะสมพอดีเป๊ะ ก็ควรทำใจ และเรียนในระดับชั้นนั้นไป ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้เดิมที่เคยเรียนมาค่ะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการฟังและพูด ถ้าไม่ใช่คนที่เคยทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำแล้วล่ะก็ ขอบอกว่าทักษะสองด้านนี้ จะสู้นักเรียนที่เข้าเรียนในญี่ปุ่นมาก่อนไม่ได้เลย
ในช่วงแรกๆ มีหลายคนเข้าไปนั่งฟังอาจารย์สอนแบบไม่เข้าใจเลย ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับหูและปากให้เคยชินกับการใช้ภาษาญี่ปุ่นตลอดเวลา
พิธีเปิดภาคเรียน การปฐมนิเทศ
พิธีเปิดภาคเรียน ที่ โรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่น
โรงเรียนบางแห่งมีพิธีเปิดภาคเรียนในอาคารเรียนของโรงเรียนเอง บางแห่งจัดพิธีเปิดภาคเรียนนอกสถานที่ ฉะนั้น อย่าลืมว่าต้องไปให้ถูกที่นะคะ การแต่งกายในพิธีเปิดภาคเรียนควรแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องถึงกับใส่สูท แต่ต้องไม่ใช่เสื้อยืด ลากรองเท้าแตะ
ในพิธีเปิดภาคเรียนนี้ จะเป็นการกล่าวเปิดภาคเรียนโดยผู้อำนวยการหรืออาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน มีการแนะนำอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน บางโรงเรียนจะกำหนดให้นักเรียนแต่ละชาติส่งตัวแทนออกมากล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ
หากมีเพื่อนร่วมชาติไปด้วยกันหลายคนก็หาอาสาสมัครหรือเป่ายิ้งฉุบกันเองล่ะนะคะ บางโรงเรียนจะให้นักเรียนทุกคนออกมาแนะนำตัวเองสั้นๆ ค่ะ แน่นอนว่าต้องพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ อ้าว…ก็มาเรียนภาษาญี่ปุ่นนี่คะ ณ จุดนี้ ลืมภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษไปได้เลย
การปฐมนิเทศ
การปฐมนิเทศ คือการอธิบายให้ข้อมูลที่นักเรียนจำเป็นต้องทราบในการเข้ามาเป็นนักเรียนของโรงเรียน อธิบายกฎระเบียบต่าง ๆ ของโรงเรียน รวมถึงกฎระเบียบของหอพัก สำหรับผู้ที่พักอยู่ในหอพักของโรงเรียน รวมไปถึงกฎระเบียบที่จำเป็นต้องรู้ในการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น
พิธีเปิดภาคเรียนและการปฐมนิเทศนี้ ส่วนใหญ่จะมีนักเรียนรุ่นพี่เป็นล่ามแปลเป็นภาษาต่างๆ ให้นักเรียนใหม่ฟัง โดยส่วนใหญ่จะมีภาษาอังกฤษ จีน เกาหลีเป็นหลัก รองลงมาก็แล้วแต่ว่านักเรียนชาติไหนที่มีจำนวนมาก สำหรับภาษาไทยก็แล้วแต่ว่าที่โรงเรียนมีนักเรียนไทยมากน้อยแค่ไหนนะคะ
หลังจาก 3 กำหนดการหลักนี้แล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นการไปลงทะเบียนแจ้งที่อยู่กับทางเขต ทำประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งโดยทั่วไป ทางโรงเรียนจะแจ้งให้นักเรียนทราบว่าต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โรงเรียนที่มีรุ่นพี่นักเรียนไทยเรียนอยู่ รุ่นพี่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำกับรุ่นน้องที่มาใหม่ต่อ ๆ กันไป
อ่อ สำหรับผลการทดสอบวัดความรู้ภาษาญี่ปุ่น ทางโรงเรียนจะติดประกาศไว้ว่า นักเรียนแต่ละคนจะได้เรียนชั้นไหน ห้องไหน เวลาเรียนช่วงไหน ( ช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย ) เราก็ไปดูบอร์ดประกาศ ตามวันและเวลาที่โรงเรียนแจ้งให้ทราบ หลังจากที่รู้ว่าเรียนระดับไหน อาจารย์จะแจ้งให้ทราบเองค่ะว่า เราจะต้องซื้อหนังสือเรียนอะไรตามระดับชั้น พร้อมกับเข้าเรียนในชั้นที่ทางโรงเรียนกำหนดให้ค่ะ
โรงเรียนโดยส่วนใหญ่ ระดับชั้นต้น-กลาง จะเรียนช่วงบ่าย
ระดับชั้นกลางสูง – สูง จะเรียนช่วงเช้า
เริ่มต้นชีวิตนักเรียน
เริ่มต้นชีวิตนักเรียนในโรงเรียนสอนภาษาที่ญี่ปุ่นกันแล้ว
เวลา 1 ปี , 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี ถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมากค่ะ สำหรับการเรียนภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่งให้เก่งได้
อย่าลืมว่าก่อนมาที่ญี่ปุ่น เรามีเป้าหมาย มีความฝัน มีความตั้งใจไว้อย่างไร ?
ทำความฝัน เป้าหมายให้เป็นจริง
ตั้งใจเรียนและใช้เวลาในญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้คุ้มค่านะคะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว >> https://jeducation.com/main/long-term/
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-2677726
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line