การเรียน วิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ญี่ปุ่น

วิทยาการคอมพิวเตอร์ คุณวีน

คุณวีนนาท มงคลมาลย์ (วีน) 

การศึกษา ปริญญาเอก
Graduate School of Information Science and Technology
The University of Tokyo
สาขางานวิจัย Computer Vision
นักเรียนทุน Panasonic Scholarship, 2010-2012
Satoyo Scholarship, 2014-2015

การเรียนสาขา Information Science ที่ญี่ปุ่น

ในปัจจุบันคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญทั้งในการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน  มีบริษัททั้งหน้าใหม่และหน้าเก่ามากมาย นำความรู้ในการประมวลผลข้อมูลมาช่วยในการวางแผนและตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ และพวกเราก็มีแอปต่างๆ คอยช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยองค์ความรู้ในด้าน Information Science ทั้งสิ้น ทำให้ศาสตร์ด้านนี้เป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

ประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูง จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูงของโลก และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ดีข้อหนึ่งในการเลือกศึกษาต่อในสาขา Information Science ที่ประเทศญี่ปุ่น

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าสาขาวิชา Information Science คืออะไร

ถ้าให้เปรียบเทียบกับที่ประเทศไทยแล้ว ก็น่าจะใกล้เคียงกับสาขาวิชา วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) มากที่สุด เนื้อหาการเรียนก็คือเกี่ยวกับระเบียบวิธีการประมวลผล การสื่อสาร การจัดเก็บข้อมูลเป็นต้น  ตัวอย่างของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้มากที่สุดก็คือ โปรแกรมเมอร์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระบบคอมพิวเตอร์ โดยมากเราจะพบหลักสูตรของสาขาวิชา Information Science นี้ในชื่อต่างๆ กันออกไป เช่น Information Science, Information Technology, Informatics, Computer Engineering เป็นต้น ถึงแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้สังกัดของคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์แล้ว เราก็อาจจะพบหลักสูตรของ Information Science ที่อยู่ภายใต้คณะอื่นที่มุ่งเน้นการนำไปประยุกต์ใช้กับความรู้ในสาขานั้นๆ ได้อีกด้วย

สำหรับการเรียนในสาขา Information Science ในระดับปริญญาโทหรือเอกที่ญี่ปุ่น โดยทั่วไปก็จะคล้ายๆ กับการเรียนสาขาวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์สาขาอื่นๆ ก็คือนักเรียนจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลักหนึ่งคน และสังกัดแลปวิจัย (Laboratory) ของอาจารย์ ในช่วงแรกก็เข้าเรียนในวิชา Course work ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือกตามความสนใจให้ครบหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในแต่ละหลักสูตร ในขณะเดียวกันก็จะต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานวิจัย ศึกษางานวิจัยอื่นๆ จนไปถึงการคิดหัวข้อวิจัยของตนเอง และดำเนินการทำวิจัย ทำการทดลอง สรุปผล ไปจนถึงตีพิมพ์หรือนำเสนอผลงานวิจัยออกสู่สาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้มักจะทำอยู่ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา และเนื่องจากสาขานี้เป็นสาขาที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมีบางแลปที่จะต้องนำเสนอผลงานหรือประชุมงานกับนักวิจัยของศูนย์วิจัยต่างๆ ด้วย

การเลือกแลปสำหรับเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น จะทำตั้งแต่ก่อนการสมัครเรียน โดยมากแล้วแต่ละแลป ก็จะมีขอบเขตหรือหัวข้องานวิจัยหลักอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ที่ต้องการสมัครเรียนจะต้องรู้ว่าตัวเองสนใจหัวข้อไหนเป็นพิเศษ

เช่น เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) เน็ตเวิร์ก (Network) คอมพิวเตอร์วิชัน(Computer Vision)  คอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphics) หรืออาจจะเป็นเนื้อหาในระดับทฤษฎี เช่นการเข้ารหัสเป็นต้น แล้วค่อยหาว่าอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ อยู่สังกัดของมหาวิทยาลัยใด คณะใดและภาควิชาใด อาจจะค้นจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ว่ามีแลปที่มีความสนใจตรงกับของเรา โดยดูจากรายละเอียดของแต่ละแลปที่ลงไว้ ลองอ่านงานวิจัยของแลปดู นอกจากนี้เราอาจจะขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ที่อยู่ที่ญีปุ่น หรืออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่ไทยประกอบด้วยก็ได้

หลังจากเราเลือกแลปที่ตรงกับความสนใจของเราได้แล้ว ก็ทำการติดต่อไปที่อาจารย์หัวหน้าแลปเพื่อแนะนำตัว และบอกว่าเราสนใจที่จะเรียนต่อที่แลปนี้ ปกติแล้วเรามักจะต้องเขียนรายละเอียดแผนการเรียนและทำวิจัยแบบคร่าวๆ ไปให้ (Study plan) ด้วย  เพื่อให้อาจารย์พิจารณาว่าสิ่งที่เราอยากศึกษาต่อนั้นตรงกับความสนใจของอาจารย์จริงๆ หรือไม่ และเมื่อได้อาจารย์ตกลงรับเราแล้ว ก็มักจะส่งต่อเรื่องการสมัครเรียนให้กับเลขาของแลป หรือเจ้าหน้าที่ของภาควิชาดำเนินการในลำดับถัดไป

ปกติแล้วอาจารย์มักจะรับเด็กต่างชาติเข้ามาในแลปในฐานะนักศึกษาวิจัย (Research Student) ก่อนเพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ มีเวลาเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และได้เตรียมตัวสอบเข้าเรียนได้อย่างเต็มที่ เนื้อหาการสอบนั้นก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละหลักสูตร ซึ่งโดยมากก็จะเป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ไฟฟ้า วงจร และความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์พื้นฐานเช่นอัลกอริทึม เน็ตเวิร์ก เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่ต้องเตรียมตัวสอบนั้นอาจจะขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ภายในแลปและอาจารย์ที่ปรึกษาได้เช่นกัน ตรงจุดนี้จะต่างจากเด็กป.ตรีของญี่ปุ่นที่สามารถเข้าสอบได้เลยโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็น Research student ก่อน แต่สำหรับบางหลักสูตรก็เปิดโอกาสให้สอบเข้าป.โทโดยไม่ต้องผ่านการเป็น Research student ได้เช่นกัน

หลักสูตรระดับปริญญาโทในสาขา Information Science มักเป็นหลักสูตรสองปี และเป็นการเรียนแบบที่กล่าวไปในตอนต้นว่า จะต้องเรียน Course work ไปพร้อมๆ กับทำงานวิจัย โดยเงื่อนไขการจบมักจะต้องการให้เราทำวิจัยเป็น กล่าวคือ ศึกษาปัญหาที่มีในงานวิจัยเดิมและเสนอทางแก้ปัญหานั้นๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาในที่นี้อาจจะเป็นการแก้ปัญหาเดิมที่มีคนแก้ได้อยู่แล้วด้วยวิธีที่ดีขึ้น หรืออาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่เคยมีใครแก้มาก่อน หรืออยู่ในสถานการณ์ใหม่ๆ ก็ได้ โดยการแก้ปัญหาอาจจะเป็นการต่อยอดจากปัญหาเดิมมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาของเรา หรือคิดหาเทคนิคใหม่ๆ ก็ได้เช่นกัน

และนี่ก็คือความท้าทายของการเรียนในระดับป.โทและป.เอก เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าวิธีที่เราเสนอไปนั้นมันจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ได้ การทำวิจัยในระดับป.โทและป.เอกสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไม่ว่าจะสาขาใดก็คงไม่แตกต่างกัน ก็คือเราต้องนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ ขอความเห็นและคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วก็นำไปทดลองดูว่าวิธีแก้ปัญหาเราดีขึ้นจริงๆ หรือไม่ซึ่งขั้นตอนนี้ก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะนำไปนำเสนอผลงานเพื่อเป็นผลงานทั้งของเราและของแลปต่อไป รวมทั้งนำเป็นเขียนเป็น Thesis เพื่อขอจบการศึกษา จุดที่ต่างจากสาขาวิชาอื่นๆ ก็คือ ในสาขานี้มักไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากมายในการทำการทดลอง แค่เพียงมีคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำงานได้แล้ว

ข้อแตกต่างอีกอย่างของการเรียนป.ตรีที่ไทนกับป.โทที่ญี่ปุ่น ก็คือเรื่องของการฝึกงานและหางาน ถึงแม้ว่าในหลักสูตรจะไม่ได้กำหนดว่านักเรียนต้องผ่านการฝึกงาน แต่เด็กญี่ปุ่นจำนวนมากก็จะอาศัยช่วงปิดเทอมหน้าร้อนช่วงป.โทปีหนึ่งในการฝึกงานตามบริษัทต่างๆ ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบระยะสั้น 2-3 วัน ระยะกลาง 2-4 สัปดาห์ หรือระยะยาว 2-3 เดือน เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานในอนาคต และหลังจากเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงก็จะเริ่มกระบวนการหางานไปเรื่อยๆ จนได้รับใบตอบรับเข้าทำงานช่วงเดือนเม.ย. จึงกลับมาเน้นทำวิจัยในเวลาหนึ่งปีที่เหลือ ดังนั้นถ้าใครอยากทำงานต่อหลังเรียนจบแล้วก็ควรจะเตรียมตัวฝึกงานและหางานไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ อาจจะลองขอข้อมูลจากเพื่อนคนญี่ปุ่นในแลปก็ได้

สิ่งที่อยากแชร์เรื่องถัดไปก็คือความสัมพันธ์กับสมาชิกภายในแลป เมื่อเราเข้าไปเป็นสมาชิกแลปใหม่ๆ อาจจะเห็นว่าไม่ค่อยมีเด็กญี่ปุ่นหลายๆ คนอยากจะเข้ามาคุยด้วย อาจจะเพราะเรื่องกำแพงภาษาหรือว่าไม่รู้จะคุยอะไร แต่เชื่อว่าเมื่อเราเข้าไปชวนคุยก็จะคุยกันได้ไม่มีปัญหา ทางออกหนึ่งที่หลายๆ แลปทำก็คือชวนกันไปกินข้าวกลางวันด้วยกันทั้งแลป หรือจัดปาร์ตี้กินเลี้ยงกันหลังงานสำคัญต่างๆ หรือมีกิจกรรมเดินป่าปีนเขาเที่ยวทะเลเป็นต้น โอกาสเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เราสนิทกับเพื่อนในแลปมากขึ้นแล้ว ก็ช่วยให้เราพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาญี่ปุ่นด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่าการศึกษาต่อในสาขา Information Science ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะเป็นสาขาที่ได้รับความนิยม และสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้งานกับสายงานอื่นได้

ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี มีอาจารย์ที่เก่งและมีชื่อเสียงจนมีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนต่อมากมาย อีกทั้งยังมีงบวิจัยด้านนี้สูงและมีการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน นักเรียนในสาขานี้จึงมีทั้งโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับบุคลากรที่มีความสามารถจากเอกชนและภาครัฐ และได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้งานจริงอีกด้วย


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน

สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่มีค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

เพิ่มเพื่อน

Scroll to Top