ภาษาญี่ปุ่นในยิม , ฟิตเนสที่ญี่ปุ่น
อ.ปมโปโกะ
อยู่ว่างๆ นานๆ ควรจะออกไปยืดเส้นยืดสายกันบ้างครับ ที่ญี่ปุ่นตามเมืองใหญ่ๆ คนบางคนมักจะออกมาจ๊อกกิ้งกันตอนดึกๆ บ้างก็พาสุนัขมาเดินเล่น ต่างจากเมืองไทยที่มักจะทำกันตอนเช้ามืด ถ้าบ้านใกล้ยิม หรือฟิตเนสเซนเตอร์ที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “ฟิตเนส「フィットネス」” ก็ควรหาโอกาสไปบ้าง
ภาษาญี่ปุ่นเรียกฟิตเนส ว่า「ジム」(gym)หรือ「スポーツクラブ」(sport club)เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ถ้าเรียกว่าฟิตเนส บางคนเขาจะไม่เข้าใจครับ
หน้าตาของยิม หรือ ฟิตเนสที่ญี่ปุ่น ก็เหมือนๆ บ้านเรา มีสระว่ายน้ำ มีเครื่องออกกำลังกายและมีห้องที่เรียกว่า สตูดิโอ ภาษาญี่ปุ่นจะเพี้ยนเป็น「スタジオ」(sutajio)เป็นห้องโถงกว้างสำหรับออกกำลังกาย พวกเต้นแอโรบิกและอื่นๆ เข้ายิมแต่ละครั้งก็จะได้ศัพท์ภาษาญี่ปุ่นติดตัวมาด้วย แล้วภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนรอบตัวเรา จนเราจำได้เอง ถือเป็นการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นอีกทาง
ก่อนจะเข้าไปใช้บริการ ฟิตเนสที่ญี่ปุ่น ขั้นตอนแรกก็ต้องสมัครเป็นสมาชิก หรือ「会員」(kai-in)บ้างก็เรียกแบบฝรั่งว่า「メンバー」(member)สนนราคาส่วนใหญ่จะเสียค่าบริการ 10,000 เยน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน คิดแล้วก็อาจจะแพงกว่าเมืองไทย แต่สำหรับค่าครองชีพที่นี่ คงไม่แพงมาก
ยิ่งได้ยิมใกล้บ้าน หรือที่โนเนมหน่อยค่าบริการก็อาจจะถูกกว่านี้ ดูเหมือนว่าอะไรที่เสียเงิน เรามักจะกระตือรือร้นกับมัน ถ้าฟรีคงผัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมไปออกกำลังกายแน่ๆ แต่พอจ่ายแพงอย่างนี้ เลยกระตุ้นให้ผมหาเวลาไปใช้ประจำ ไม่งั้นเงินจะสูญเปล่า
ขั้นตอนการใช้ยิมคือ เมื่อมาถึงก็ไปที่ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว(衣替室:koromogae-shitsu)ที่นี่ใครจะโป๊ยังไงก็ไม่สน เลยเปลี่ยนสะดวก ไม่ต้องรอเข้าห้องเปลี่ยนแบบเมืองไทย
พอเปลี่ยนเป็นชุดเหมาะกับการออกกำลังกายแล้วก็ไปยืดเส้น เรียกตามศํพท์ภาษาอังกฤษว่า「ストレッチ」(stretch)บางทียืดไปยืดมาก็ง่วงขึ้นมาเลยครับ ยิ่งวันไหนทำงานหนักๆ มา ง่วงมาก พอดียิมที่ไปมีที่ให้แผ่หลาได้ประมาณ 9 คน ถ้าผมนอนนานไปก็อาจจะมีสต๊าฟมาปลุกได้ เลยต้องทำพอประมาณ
เสร็จแล้วใครจะใคร่ปั่นจักรยานหรือจะไปวิ่งบนเลนก็แล้วแต่ความชอบ หรือจะไปยกน้ำหนักที่เรียกว่า「ウェートトレーニング」(weight-training)ก็ได้่
ในส่วนนี้ผมจะขอละที่จะพูดถึง เพราะไม่ต่างจากของไทย ถ้าใช้เครื่องไม่เป็นก็เรียกสต๊าฟมาช่วยอธิบาย ซึ่งถ้าอ่อนภาษา ปกติเรามักจะทู่ซี้ทำไปเรื่อยๆ หรือแอบดูชาวบ้านว่าเขาทำกันอย่างไร แล้วทำตาม
มาถึงส่วนที่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น คือ คลาสต่างๆ ในสตูดิโอ ยิมแต่ละที่จะสรรหาคลาสแปลกๆ มาให้ลองทำให้ไม่เบื่อ หรือบางคลาสน่าสนใจมากก็เป็นจุดขายไปด้วยในตัว คลาสพื้นฐานๆ ก็มี เต้นแอโรบิก (エアロビクス:earobikusu)เป็นการออกกำลังกายที่เรียกว่า「有酸素運動」(yuusanso undou)แบบหนึ่ง แปลง่ายๆ คือ ออกกำลังกายแบบมีออกซิเจนซึ่งรวมไปถึงการวิ่ง การว่ายน้ำด้วย
ยิมแต่ละที่ก็จะมีหลายคลาส ยิมที่ผมไปคนแก่เยอะหน่อยคลาสเลยเป็นคลาสง่ายกับระดับกลาง บางคลาสก็มีอุปกรณ์ประกอบเช่น แท่นวางขา เรียกว่า「ベンチ」(benchi)หรือมีบอลทรงตัว เรียกว่า「ボール」(booru)บ้างก็มีประยุกต์การเต้นอื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น คอมแบต ครูนำเต้นก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นปาวๆ ซ้าย ขวา หน้า หลัง แรกๆ ถ้าจับภาษาญี่ปุ่นไม่ทันก็จะเต้นผิดจังหวะ
คลาสอีกคลาสที่น่าสนใจคือพวก โยคะ(ヨガ:yoga)ก็ฮิตตามฝรั่งกันมา เพราะมีทั้งโยคะดั้งเดิมและพาวเวอร์โยคะ หรือปิลาติสด้วย คลาสเหล่านี้ได้รับความสนใจไม่แพ้ที่เมืองไทย เพราะฝึกง่ายแล้วก็ได้ผ่อนคลาย
ศัพท์สำคัญประจำคลาสคือ「吐く」(haku)และ「吸う」(suu)หมายถึงหายใจออก หายใจเข้าตามลำดับ เพราะการฝึกโยคะให้ความสำคัญกับการหายใจ ส่วนคลาสที่เป็นที่นิยมสำหรับคนเฒ่าคนแก่อีกคลาสคือ「太極 」(taikyoku)หรือ มวยไทเก็กของจีนนั่นเอง
นอกจากคลาสเต้นและโยคะแล้ว ยังมีคลาสเต้นที่เรียกว่า「カルチャー・ダンス」(culture dance)ซึ่งต่างจากการเต้นลีลาศที่เรียกว่า「社交ダンス」(shakou-dansu) โดย culture dance ที่ว่านี้ จะเป็นการเต้นแบบต่างๆ เช่น การเต้นระบำฟลาเมงโก้「フラメンコ」(furamenko)ระบำฮาวาย หรือ ฮูล่าแดนซ์「フラダンス」(huradansu)รวมไปถึงการเต้นแนวฮิปฮอป ซึ่งเรียกว่า「ストリートダンス」(sutoriitodansu)หรือ street dance ที่เรามักนึกถึงภาพคนผิวดำเต้นตามถนน
ทางด้านสระว่ายน้ำ ส่วนใหญ่สระว่ายน้ำที่ญี่ปุ่นจะบังคับให้ใส่หมวก ใส่แว่นก่อนลงสระ แม้แต่คนผมสั้นก็ต้องใส่หมวกเพราะจะได้กันผมร่วง มีบริการสอนว่ายน้ำให้ฟรี สลับหมุนเวียนทั้งสี่ท่า คือ ฟรีสไตล์ หรือ ครอล (crawl แปลว่า คลาน)(クロール:kurooru) บัตเตอร์ฟลาย(バタフライ:batafurai)กรรเชียง(背泳ぎ:seoyogi) และท่ากบ(平泳ぎ:hiraoyogi)
แล้วก็มีลู่สำหรับให้เดินในน้ำ (บางทฤษฎีบอกว่าการเดินในน้ำนั้นได้ออกกำลังกายมากกว่าการว่ายน้ำ และยังช่วยให้คนที่ขาไม่ดีเดินได้ง่ายขึ้น)
การออกกำลังกายปกติ ใช้ว่า「運動」(undou)เป้าหมายการออกกำลังกายแต่ละคนก็ต่างกันไป เช่นบางคนอาจต้องการพัฒนา หรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งใช้สำนวนว่า「体を鍛える」(karada o kitaeru)ที่จริงผมอยากจะเรียกว่าเป็นการ “เพาะกาย” แต่ต้องระวังเพราะในที่นี้ใข้ในความหมายกว้างๆ เหมือนการเสริมสร้างร่างกาย หรือ อาจจะตรงกับคำว่า “เล่นเวต” ของไทย ไม่ได้มีความหมายเฉพาะไปที่กีฬาเพาะกาย บ้างก็มาเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือไดเอ็ต(ダイエット:dai-etto)
สำหรับผู้สูงอายุนิยมมาสปอร์ตคลับเพื่อควบคุมร่างกายไม่ให้ “ทรุดโทรม”(衰える:otoroeru) ก่อนออกกำลังกายก็จะวัดความดันเลือด(血圧:ketsuatsu)และชีพจร(脈:myaku)ที่นี่มักมีที่วัดไขมันในร่างกาย(体脂肪:tai-shibou;脂肪:shibou:ไขมัน)ด้วย ผมก็นิยมวัดเดือนละครั้ง วัดแล้วกังวลทุกทีว่าเมื่อไหร่มันจะลด
ออกกำลังกายเสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ แช่น้ำร้อนตามแบบญี่ปุ่น บางคนที่บ้านไม่มีห้องอาบน้ำ ก็จะมาใช้บริการที่นี่ เนื่องจากคนในเมืองนิยมไปอาบน้ำที่ยิมมากขึ้น เพราะเป็นสมาชิกอยู่แล้ว เลยเป็นผลพวงให้โรงอาบน้ำในเมืองใหญ่ๆ เริ่มน้อยลงเพราะวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป
บางที่ดีหน่อยก็มีห้องอบไอน้ำ หรือซาวน่าให้ บางที่ก็มีเครื่องอาบแดดหรือ tanning machine ให้สำหรับคนที่ชอบอาบแดดให้ผิวเกรียม (คนญี่ปุ่นบางคนหน้าหนาวผิวยังเกรียมเลยครับ เพราะเขาใช้เจ้าเครื่องนี้นี่เอง) หรือ ก่อนกลับบ้านจะไปใช้เก้าอี้นวด หรือเก้าอี้ที่ปล่อยโอโซนให้สูดก็ได้ ถือเป็นการผ่อนคลายหลังจากที่ออกกำลังมาเหนื่อยๆ
คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line