การเรียนด้าน พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีชีวมวล

แชมป์ กับการเรียน พลังงานทดแทน

คุณธัชนันต์ สมานมูลย์ (แชมป์)

การศึกษา ปริญญาเอก วิทยาศาสตร์เครื่องกลและวิศวกรรม (Mechanical Science and Engineering)
Graduate School of Engineering
มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า
นักเรียนทุน ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) 2011 – 2014

 

แรงจูงใจ

พลังงานทดแทน และ เทคโนโลยีชีวมวล หรือภาษาอังกฤษที่ว่า Renewable Energy and Biomass Technology คือการนำของเหลือทิ้งจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา นำมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีชีวมวล ทำให้เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อรองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นและลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานเดิม คือ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยลดภาวะโลกร้อน

 

ความรู้พื้นฐาน

การเรียนด้านพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีชีวมวล เป็นการเรียนสาขาเฉพาะทางที่ใช้ความรู้พื้นฐานจากวิศวกรรมเคมี บวกกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เคมี และชีววิทยา ดังนั้นน้องๆที่มีความสนใจศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านสาขาวิชานี้ ควรมีพื้นฐานความรู้วิชาที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในปัจจุบัน มีงานวิจัยที่กว้างขวางมากขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพในหลายๆด้าน นอกจาก งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีชีวมวล ก็มีงานวิจัยในส่วนของสังคมศาสตร์ คือการวางแผนยุทธศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ของชีวมวล อีกด้วย

 

ฝึกทำงานวิจัย

ในส่วนนี้ขอพูดถึงการทำวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนะครับ คือ การมาศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษานั้น ที่ญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานวิจัยด้วยตนเองเป็น ศึกษาหาข้อมูล และทำการทดลองเองได้ โดยจะอาศัยหลักการ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง และมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำเท่านั้น ในกรณีที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่ใจดี อาจได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรายบุคคล ดังนั้นเราจะต้องเพิ่งพาตนเองสูง การที่มีความรู้พื้นฐานที่ดีและหลากหลาย ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเป็น จะช่วยให้เราสามารถทำงานวิจัย และเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา หรือ ป.โท ป.เอก ที่ญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทำไมถึงเลือกมาเรียนที่ญี่ปุ่น

ผมจบปริญญาตรีวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท เมื่อจบปี 4 เทอม 1 จึงได้ไปสมัครศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่วิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการคัดเลือก เมื่อจบปริญญาตรีจึงเรียนต่อปริญญาโทเลย

การศึกษาระดับปริญญาโทนั้น นักเรียนแต่ละคนจะต้องมีหัวข้องานวิจัยของตนเอง ผมเองสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีชีวมวลอยู่แล้ว จึงเสนอที่จะทำงานวิจัยด้านนี้ ประกอบกับเพื่อนสนิทของอาจารย์ที่ปรึกษา  (หรือก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกของผมเอง) ท่านทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวมวลโดยตรง และมีโครงการเปิดรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเพื่อทำวิจัยเทคโนโลยีชีวมวล ที่มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ผมจึงสมัครและในที่สุดได้รับคัดเลือก ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 1 ปี (ปี ค.ศ. 2008-2009)  ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผมได้รู้จักและได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก ทำให้ผมอยากมาเรียนที่ญี่ปุ่น และเมื่อเรียนจบปริญญาโท ผมจึงอยากศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก

 

เลือกเรียนที่ไหนดี

คำถามยอดฮิต ที่ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะเรียนสาขาอะไร อยากทำวิจัยเรื่องอะไร สาขาทางวิศวะ โดยเฉพาะทางด้านเคมีและวิศวกรรมเคมี วัสดุศาสตร์ และพลังงานนั้น บอกไม่ได้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยไหนดังด้านไหน   แต่คงต้องศึกษาให้ลึกไปเรื่องๆไปว่า มีอาจารย์ท่านไหน มหาวิทยาลัยไหน เก่งและเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆบ้าง

 

ซึ่งจากประสบการณ์ตั้งแต่เรียนมา จบการศึกษา และทำงาน (ปัจจุบันทำงานแล้วครับ จากอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอก ท่านก็เปลี่ยนมาเป็นหัวหน้างานของผม)

แต่ละมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ก็มีการแข่งขันด้านงานวิจัยกันมากมาย แม้แต่งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวมวลที่ผมทำงานอยุ่ มหาวิทยาลัยใหญ่ๆทั่วญี่ปุ่น ก็มีการทำงานวิจัยทางด้านนี้ทั้งนั้น จะแตกต่างก็ในส่วนของรายละเอียดและความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือการทำการทดลอง และเครื่องมือวิเคราะห์ ซึ่งคงต้องศึกษาหาข้อมูลตามแต่ละห้องแล็บ แต่ละมหาวิทยาลัย  โดยในเว็บไซต์ของแล็บนั้นๆส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดเบื้องต้นอยู่ จากนั้น ถ้าอยากจะรู้ลึกในรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละแล็บ อาจจะลองโพสท์ถามเข้าไปในเว็บบอร์ดของ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น www.tsaj.org ได้ครับ

 

ผมเอง โดยพื้นฐานไม่ใช่คนเรียนเก่ง แม้จะเรียนจบป.ตรีตามเกณฑ์ 4 ปี แต่เกรดไม่ได้เฉียดเกียรตินิยมอะไร เน้นที่เกรดนิยมซะมากกว่า ครั้นเมื่ออยากจะเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น จะไปสอบชิงทุน ก็คงจะยาก จะเรียนด้วยทุนตนเอง ก็น่าจะลำบากเพราะค่อนข้างแพง (ค่าเงินสูงกว่าที่ไทย) ดังนั้นหนทางที่พอจะเป็นไปได้คือ ทุนแนะนำ หรือ ทุนเรคคอมเมน (Recommended)  เพื่อรับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ MEXT scholarship โดยสมัครผ่านมหาวิทยาลัยนั้นๆที่ญี่ปุ่นได้โดยตรง

 

เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว จะต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยที่เราสมัครโดยตรงนั้นที่เดียว จะต่างกับประเภทสอบชิงทุน MEXT จากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศต่างๆ ที่ทุนจะติดตามตัวผู้ที่สอบชิงทุนได้ โดยสามารถเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการจะไปศึกษาได้  เนื่องจากผมเองได้เคยร่วมทำงานวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษาระดับป.เอกเมื่อครั้งมาแลกเปลี่ยนทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า อีกทั้ง อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่านในระดับป.โทและป.เอก ก็มีความสัมพันธ์ในงานวิจัยกันอย่างดี ดังนั้น การสมัครเพื่อรับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทางมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า จึงทำให้ได้รับคัดเลือก และศึกษาที่ Department of Mechanical Science and Engineering, Graduate School of Engineering, Hiroshima University, 2011-2014.

 

ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับการตัดสินใจ เลือกเรียนที่ไหนดี

นอกจากกลุ่มมหาลัยรัฐชื่อดังเจ็ดแห่งในญี่ปุ่น อันได้แก่ University of Tokyo, Kyoto University, Osaka University, Nagoya University, Hokkaido University, Tohoku University, Kyushu University ที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะนักเรียนญี่ปุ่น ที่จะแข่งขันเพื่อเข้าเรียน รวมถึงมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Tokyo Institute of Technology หรือ มหาวิทยาลัยเอกชน อย่าง Waseda University และ Keio University  แล้ว Hiroshima University ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อยู่ในอันดับที่12 ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วญี่ปุ่น (รัฐและเอกชน รวมกัน) มีคณะหลากหลายให้เลือกเรียน ทั้ง Medical Science, Social Science และ Science Technology กระจายอยู่ตามแคมปัสทั้งสามแห่งของมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า(ชื่อเล่นว่า ฮิโรได) ปัจจุบันการแข่งขันเพื่ออันดับที่ดีขึ้นของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมีสูงมาก การเพิ่มปริมาณนักเรียนต่างชาติ ก็มีผลทำให้ranking  ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ทางมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ก็มีนโยบายการเพิ่มจำนวนทุนสำหรับนักเรียนต่างชาติมากขึ้นในทุกๆปี โดยสามารถศึกษารายละเอียดแต่ละทุนของมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ได้ที่ www.hiroshima-u.ac.jp  สำหรับผมที่เลือกเรียนที่ฮิโรได เพราะเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว แต่ประกอบกับความโชคดี ที่ อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับป.เอก เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยีชีวมวลคนหนึ่งของญี่ปุ่น อีกทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตชูโกกุ (ฮิโรชิม่า, โอกายาม่า, ยามากุจิ, ชิมะเนะ และทตโตริ) มีการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากชีวมวล เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น มีBiomass Town ที่เขตนี้ ใช้พลังงานทดแทนจากการเปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงานเพื่อใช้ในเมืองนั้น รวมถึง สถาบันวิจัยแห่งชาติของญี่ปุ่น หรือ AIST เขตชูโกกุ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้าน Biomass Application Technology โดยตรง ก็ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาการผลิตพลังงานจากชีวมวลจริงในระดับอุตสาหกรรม

 

การเรียนในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น

สำหรับระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะใช้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถเรียนได้ เพราะใช้ภาษาอังกฤษ สื่อสารทำงานวิจัย คุยงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้  ส่วนในเรื่องของการทำงานวิจัย ในแต่ละคณะ แต่ละภาควิชา จะมีห้องแลปแยกย่อยลงไปอีก ซึ่งแต่ละแลป ก็จะมีหัวข้อหลักของงานวิจัยที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป โดยในแต่ละแลปก็จะประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์ หัวหน้าห้องแลป 1 คน รองศาสตราจารย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และนักเรียน โดยนักเรียนก็จะมี ป.เอก ป.โท และ ป.ตรี ปี4 ปริมาณสมาชิกก็แตกต่างกันไปในแต่ละแลป

 

นักเรียนญี่ปุ่นเมื่อจบป.ตรี ปี 3 แล้วจะเลือกเข้าห้องแลป ที่มีการทำงานวิจัยที่ตนเองสนใจ และทำวิจัย 1 เรื่องในช่วงชั้นปีที่ 4 เพื่อจบป.ตรี และมักจะเรียนต่อป.โทเลย ดังนั้นในแลป ก็จะเหมือนบ้านหลังใหญ่ของสมาชิก ที่จะอยู่กันอย่างน้อย 3 ปี ยกเว้นนักเรียนต่างชาติ ที่เข้ามาเรียนแค่ป.โท ก็อยู่ด้วยกัน 2 ปี

 

ดังนั้น สมาชิกในแลป ก็จะสนิทกัน มีความเป็นกันเอง และการทำงานในแลป ก็จะเป็นระบบ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง โดยมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ ในทุกๆสัปดาห์จะมีการประชุมกลุ่ม1ครั้ง เพื่อรายงานความก้าวหน้ากับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งนี่ก็เป็นข้อดี ที่เราจะได้ปรึกษาปัญหาการทำงานวิจัยของเรากับอาจารย์ และระดมความคิดจากสมาชิกในกลุ่ม ช่วยกันแก้ไขปัญหา และชี้แนะแนวทางในการทำวิจัย ดังนั้นความขยัน ทุ่มเท และความสัมพันธที่ดีกับอาจารย์ที่ปรึกษา จะเป็นหนทางที่ทำให้เราจบการศึกษา นอกจากนี้ ทุกสัปดาห์จะมีสัมนาของห้องแลป ที่จะให้สมาชิกในแลปแต่ละคนผลัดเปลี่ยนกันมานำเสนองานวิจัยของตัวเอง กับนำเสนองานวิจัยอื่นที่ได้ทำการศึกษามา

สำหรับห้องแลปผมนั้น นักเรียนญี่ปุ่นป.โทปี2 จะพรีเซนต์งานวิจัยตนเองในสัมนา 2 ครั้ง คือ ภาคภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ นักเรียนป.เอก จะพรีเซนต์งานตนเอง ใช้เวลาเป็น2เท่าของป.โท ก็จะโดนถามมากหน่อย แต่มันก็ช่วยฝึกฝนการพรีเซนต์งานของเราได้ดี ดังนั้น เมื่อเวลาไปพรีเซนต์งานในการประชุมวิชาการ ก็จะไม่รู้สึกประหม่า และพร้อมรับมือกับทุกคำถาม

มาเปลี่ยนเป็นเรื่อง ที่ไม่เครียดกันบ้างดีกว่า อย่างที่บอกไป ห้องแลปเหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ของสมาชิก ดังนั้น ก็จะมีงานเลี้ยงต้อนรับสมาชิกใหม่ เลี้ยงส่งคนที่จบการศึกษา ปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือแม้กระทั่ง ปาร์ตี้ เพราะอยากจะปาร์ตี้ การปาร์ตี้กับสมาชิกในห้องแลปนี่ สนุกมากจริงๆ ทุกคนจะดื่มกัน การดื่มเหล้าที่ญี่ปุ่นไม่ถือว่าผิด ถ้าคุณอายุ 20 ปีบริบรูณ์ขึ้นไป แต่ถ้าใครไม่ดื่ม ก็ไม่เป็นไรนะ ร่วมสนุกปาร์ตี้กันได้ ไม่มีการบังคับดื่มอะไร แต่ที่แน่ๆ ดื่มแล้วไม่ขับ แน่นอน เพราะบทลงโทษรุนแรงมาก ดังนั้นถ้าเราไม่ดื่ม เรานี่แหละ อาจต้องดูแลสมาชิกแลปที่ดื่ม ดังนั้น ดื่มด้วย จะดีกว่า ฮ่าฮ่าฮ่า นอกจากนี้ทุกๆปี ก็จะมี การจัดทริป ไปสัมนานอกสถานที่ ด้วยกัน โดยแบ่งเป็นปีละ2ครั้ง คือ ช่วงซัมเมอร์ และปลายปี โดยในบางครั้ง บางปี ก็จะไปจัดร่วมกับห้องแลปจากมหาวิทยาลัยอื่น ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่จากที่อื่นๆด้วย

 

การใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น

นอกจากการเรียนที่ต้องทุ่มเทแล้ว การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ก็สำคัญ เพราะโดยพื้นฐาน คนญี่ปุ่นจะจริงจังกับการทำงานมาก มากถึงระดับที่ว่า ต้องมาแลป9โมงเช้า และกลับบ้านหลังจากอาจารย์กลับแล้ว ซึ่งอันนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละห้องแลป ดังนั้นเราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นฐานหรือสังคมของห้องแลปนั้นๆ และด้วยความโชคดี ที่อาจารย์ผมท่านไม่ได้เคร่งครัดตรงจุดนี้มาก แต่ขอให้มีงานส่งตามที่ได้รับมอบหมายและตามกำหนด

 

การเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น ก็เป็นส่วนหนึงที่ทำให้การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นง่ายและสะดวกขึ้น อาจจะไม่ต้องเก่ง แค่พอสั่งอาหาร สอบถามข้อมูลต่างๆได้ ก็เพียงพอกับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นแล้ว แต่ถ้าใครมีความสามารถทางภาษาที่มากกว่านั้น ก็จะยิ่งดี การฝึกภาษาญี่ปุ่นที่ดีคือการมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่น เพราะเราจะได้ฝึกการพูดคุย ในภาษาที่ไม่เป็นทางการ หรือจะเรียกว่าภาษาที่เค้าพูดกันทั่วไปก็ได้ เพราะภาษาญี่ปุ่นแบบทางการ หรือแบบสุภาพๆนั้น มีให้เรียนในคลาสญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

การมีกิจกรรมยามว่าง ระหว่างการเรียนที่ญี่ปุ่น ก็สำคัญ เราควรหากิจกรรมที่ใช่ ที่ชอบ ไว้บ้าง เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียน เพราะเรามาอยู่ต่างประเทศ จะให้กลับไปพักผ่อนที่ไทยบ่อยๆ ก็คงจะไม่ดีนัก เพราะการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะป.เอก ที่ญี่ปุ่น ไม่มีปิดเทอม  ดังนั้น เมื่อมีวันหยุด วันว่าง ผมมักจะออกไปเที่ยว เที่ยวทั่วญี่ปุ่นเลยครับ ได้เปิดโลกกว้าง ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้เพื่อนญี่ปุ่น ได้เรียนรู้ว่าคนญี่ปุ่นชอบหรือไม่ชอบอะไร เราจะได้ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ประมาณว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เราจะได้มีความสุขในการเรียนและการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

 

การมาเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ผมได้เปิดโลกกว้างมากมาย ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดน ปัจจุบันนี้ แม้เรียนจบแล้ว ก็ยังคงทำงานต่ออยู่ที่ มหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า เพราะชื่นชอบการทำงานระบบญี่ปุ่น

 

อาจเป็นเพราะผมเองค่อนข้างสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้แล้ว ปรับทัศนคติมุมมองต่างๆ ให้สามารถเข้าใจความคิดของคนญี่ปุ่นได้ จึงทำงานที่ญี่ปุ่นได้อย่างมีความสุข ท้ายนี้อยากฝากข้อคิด เล็กน้อยให้น้องๆที่สนใจอยากมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมทำให้คนในแต่ละชนชาติ มีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติตามแบบแผนคนญี่ปุ่น จะทำให้เค้ายอมรับเราครับ แต่ยังไง ก็คงต้องมีผลงาน และความมุ่งมั่นแสดงให้เค้าเห็นด้วยนะครับ

 


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น

เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน

สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง  ไม่มีค่าดำเนินการใดๆ

รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)

ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

เพิ่มเพื่อน

Scroll to Top