การเรียนด้าน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ญี่ปุ่น
ผู้เขียน : ศุภสิทธ์ มนต์ประทานชัย
การศึกษา | ปริญญาเอก วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ Graduate School of Arts and Sciences Tokyo University |
สาขาวิจัย | Software Design and Development |
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
แรงจูงใจ
ต้องยอมรับว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศน์ (IT – Information Technology) ที่มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด การทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับเล็กอย่างธุรกิจในครอบครัว ไปจนถึงระดับใหญ่อย่างองค์กรหรือโรงงานอุตสาหกรรม ล้วนจะต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการจัดการหรือควบคุมทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ในหลายบริษัทจะมีแผนก IT อยู่ด้วย ถึงแม้บริษัทนั้นจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคอมพิวเตอร์ก็ตาม และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนต้องการจะเข้าศึกษาต่อในสาขานี้ และปัจจุบันสาขานี้ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอีกมากทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หลายคนอาจจะนึกถึงประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา แต่จากประสบการณ์ของผม พบว่าที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านนี้อยู่ในระดับสูงพอสมควร ดังจะเห็นได้จากนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้าน IT ที่นำเข้ามาในประเทศไทยหรือส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลายอย่างถูกคิดค้นและพัฒนามาจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยในสาขานี้ค่อนข้างมาก ทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการขององค์กรภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงการวิจัยในระดับอุดมศึกษาภายในสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างกว้างขวาง
การเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในญี่ปุ่น
เกือบจะทุกมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง จะมีหลักสูตรสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท หรือเอก แต่ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อสาขาวิชาว่าเทคโนโลยีสารสนเทศน์ (Information Technology) หรือวิทยาศาสตร์สารสนเทศน์ (Information Sciences) มากกว่าชื่อตรงๆ อย่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Sciences) แบบที่คุ้นหูในเมืองไทย ทั้งๆ ที่สาขาหลักสูตรเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น อย่างที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ก็มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ให้เลือกเรียนหลากหลายสาขา ซึ่งแต่ละสาขาก็จะกระจายอยู่ในหลายๆ ภาควิชาในหลายๆ คณะ เช่นสาขาเกี่ยวกับเน็ตเวิร์กหรือกราฟฟิก จะพบได้ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟท์แวร์ จะพบได้ในคณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศน์ เป็นต้น
การตั้งหัวข้อวิจัย
ในการศึกษาต่อปริญญาโท-เอกในสาขานี้ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนอื่นจะต้องมีห้องวิจัย (Laboratory) สังกัด ซึ่งในหนึ่งห้องวิจัยจะมีอาจารย์ดูแลหนึ่งถึงสองคน (และจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเราด้วย) ในปีการศึกษาแรกๆ ก็จะต้องเลือกเข้าเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ (Course work) ตามความสนใจของตนเอง เพื่อใช้เป็นข้อมูลและเครื่องมือในการทำวิจัย ระหว่างนั้นก็จะต้องคิดหัวข้อวิจัย ว่าเราจะวิจัยเรื่องอะไร อย่างไร ในแนวทางแบบไหน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นคนคอยแนะนำอยู่ตลอด
การลงมือวิจัย
เมื่อได้หัวข้อวิจัยแล้วก็เริ่มลงมือทำการวิจัย ซึ่งการวิจัยในศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ ค่อนข้างจะแตกต่างจากศาสตร์อื่นๆ เช่น เราจะต้องเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดลองต่างๆ ในสาขาวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับสาขาคอมพิวเตอร์ เราสามารถทำการทดลองได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในห้องวิจัย หรือเราสามารถจำลองโมเดลต่างๆ ได้ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ แต่เราจำเป็นต้องลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลหรือสังเกตุการณ์ สำหรับวิศวกรรมโยธา วิศกรรมสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่สาขาอื่นๆ ในวิศวกรรมศาสตร์ด้วยกัน
เนื่องจากแต่ละห้องวิจัยจะมีขอบเขตของงานวิจัยและสิ่งที่สนใจที่จำกัดและไม่กว้างนัก เพื่อให้เกิดจุดเด่นของตนเอง ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ญี่ปุ่น ก่อนอื่นจะต้องรู้ก่อนว่าตนเองชอบหรือสนใจในด้านไหนของคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ สาขาที่มีเปิดสอนในหลายๆ มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็จะครอบคลุมด้านเหล่านี้เช่น คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก การประมวลผลภาพ (Image Processing) คอมพิวเตอร์กราฟฟิกและแอนิเมชั่น การออกแบบและพัฒนาซอฟท์แวร์ การประมวลผลเชิงภาษา (Language Processing) เอไอและโรโบติก (AI & Robotics) เป็นต้น ส่วนสาขาปลีกย่อยอื่นๆ เช่น อัลกอริทึม ดาต้าไมนิ่ง (Data Mining) ภาษาการเขียนโปรแกรม (Programming Languages) อาจจะไม่ค่อยพบในหัวข้อของห้องวิจัยต่างๆ แต่ทั้งนี้เราก็สามารถเลือกห้องวิจัยที่เกี่ยวข้องมากที่สุดได้ โดยพิจารณาจากหัวข้องานวิจัยในรายละเอียด รวมไปถึงงานตีพิมพ์ต่างๆ
เมื่อเลือกห้องวิจัยได้แล้ว ก็จะต้องติดต่อไปทางอาจารย์ประจำห้องวิจัยนั้นๆ เพื่อบอกว่าเราสนใจที่จะเข้าศึกษาต่อที่ห้องวิจัยนี้ พร้อมทั้งแนบรายละเอียดของสิ่งที่ตนเองสนใจ รวมทั้งขอบเขตของหัวข้องานวิจัยของตัวเองอย่างกว้างๆ ไปด้วย (โดยรวมเรียกว่า Proposed Study) หากหัวข้อน่าสนใจและตรงกับงานวิจัยของห้องวิจัยนั้นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะตอบรับสูง หากตอบรับมาแล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นการดำเนินการทางด้านธุรการต่างๆ ที่ทางคณะและมหาวิทยาลัยที่ห้องวิจัยนั้นสังกัดอยู่ จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบ
การสอบเข้า
ในช่วงแรกจะมีสถานภาพเป็นนักเรียนวิจัย (Research Student) ก่อน หลังจากนั้นจะต้องทำการสอบเข้าพร้อมกับนักศึกษาญี่ปุ่น เพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอก ทั้งนี้รายละเอียดและวิธีการเข้าศึกษาในแต่ละคณะและแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนของการสอบเข้านั้น เหมือนกันกับสาขาวิชาอื่นๆ เพียงแค่เนื้อหาของข้อสอบจะประกอบด้วยหลายๆ วิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ อาทิเช่น คณิตศาสตร์ (เน้นเรื่องแคลคูลัสและเมตริกซ์) ฟิสิกส์ (เน้นเรื่องวงจรไฟฟ้า) ความรู้พื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้เรียนมาในระดับปริญญาตรี รวมไปถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
ฉะนั้นควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยศึกษาและทบทวนในเชิงลึก รวมทั้งหาข้อสอบเก่ามาลองทำเพื่อเป็นแนวทาง ในบางคณะหรือบางมหาวิทยาลัย อาจจะมีการสอบนำเสนอ (Presentation) ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนองานวิจัยที่เคยทำมาในระดับปริญญาตรี เนื่องจากนักศึกษาญี่ปุ่นระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ทุกคนจะต้องทำงานวิจัยหนึ่งเรื่อง แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติ สามารถนำเสนอเป็นโครงงานที่เกี่ยวข้องเช่น Senior Project ได้
สำหรับการวิจัยทางสาขาด้านคอมพิวเตอร์นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกของแต่ละสาขาปลีกย่อย เช่น ทางด้านเน็ตเวิร์ก ต้องการจะเพิ่มความเร็วในการติดต่อสื่อสารกันของคอมพิวเตอร์ในระบบโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาดังกล่าว อาจจะเป็นการปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหาที่เคยมีคนนำเสนอมาแล้ว การต่อยอดงานวิจัยอื่นๆ การผสมผสานหลายๆ วิธีแก้ปัญหาเข้าด้วย หรือแม้แต่การคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาขึ้นมาใหม่ เมื่อคิดวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว ก็จะต้องลงมือทำการทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้นการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างเครื่องมือหรือจำลองวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ ให้เป็นรูปธรรม
ถ้าผลการทดลองไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือคิดวิธีการแก้ปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำการทดลองอีก จนกระทั่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และบรรลุจุดประสงค์ของการแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ กระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการวิจัยทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากการเรียนในระดับปริญญาตรีอยู่พอสมควร ถึงจะมีวิชาปฏิบัติการ เช่นวิชาการเขียนโปรแกรม (Programming) วิชาวิเคราะห์วงจรตรรกะ (Logic Circuit Analysis) หรือวิชาการสังเคราะห์วงจรสำเร็จรูป (IC – Integrated Circuit Synthesis) แต่ก็เป็นเพียงแค่การคิดหาคำตอบเพื่อแก้โจทย์ที่ได้รับ ไม่ใช่การวิจัยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาจริง
การเรียบเรียงงานวิจัย
เมื่อได้หัวข้อวิจัย ได้ผลของงานวิจัยแล้ว ก็จะต้องนำผลนั้นมาเรียบเรียงเป็นลำดับ โดยการกล่าวถึงที่มาและปัญหาที่ต้องการแก้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยพื้นฐาน วิธีการแก้ปัญหาที่นำเสนอ การสร้างโปรแกรมหรือเครื่องมือในการทดสอบ การทดลองและประเมินผล โดยจัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ (Thesis) หนึ่งเล่ม และจะต้องมีการสอบการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย สำหรับปริญญาโทโดยทั่วไป เพียงแค่มีผลงานวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่มก็ถือว่าเพียงพอ แต่สำหรับปริญญาเอก ส่วนใหญ่จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ลงในเอกสารเชิงวิชาการ (Journal) รวมไปถึงจะต้องมีการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการต่างๆ (Academic Conferences) ทั้งนี้ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย
โดยภาพรวมแล้ว การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือเอก ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น จัดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศ ทั้งความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัด ความต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขององค์กรต่างๆ (ไม่จำกัดเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น) รวมไปถึงระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง จึงทำให้มีนักศึกษาที่สนใจเข้าศึกษาต่อทางด้านนี้จำนวนไม่น้อยและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนักศึกษาญี่ปุ่นเองและนักศึกษาต่างชาติ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://all-free-download.com/free-photos/download/computer_main_board_chips_235975.html
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่