การเรียนด้าน วิศวกรรมโยธา ที่ญี่ปุ่น
ดร.ชฎิล จุฑาจินดาเขต (ชะดิน)
การศึกษา | ปริญญาเอก วิศวกรรมโยธาและทรัพยากรโลก
Department of Civil and Earth Resources Engineering, Graduate School of Engineering |
สาขาวิจัย | เขื่อนและการจัดการ มุ่งเน้นในเรื่องการไหล การกัดเซาะและทับถมของตะกอนบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือเขื่อน |
นักเรียนทุน | นักเรียนทุน ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) |
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
แรงจูงใจ
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะถูกล้อมรอบด้วยทะเล อีกทั้งยังมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ลักษณะอากาศที่ญี่ปุ่น หน้าร้อนจะร้อนมาก (แทบจะร้อนกว่าประเทศไทย) ส่วนหน้าหนาวก็จะมีหิมะตก ทำให้ประเทศญี่ปุ่นนั้นประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายๆ รูปแบบ อาทิ แผ่นดินไหว พายุมรสุม น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ซึนามิ ดินถล่ม ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ ต้องหาวิธีป้องกันหรือบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆเหล่านี้เพื่อการอยู่รอด ดังนั้นในทางวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการพัฒนาและก้าวหน้าอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก นี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจที่จะมาศึกษาระดับปริญญาเอกต่อที่ญี่ปุ่นครับ
พื้นฐานการเรียน
ก่อนอื่นผมขอแนะนำตัวคราวๆก่อนนะครับ ผมชื่อ ชฎิล จุฑาจินดาเขต (ชะดิน) เป็นเด็กต่างจังหวัดครับ ด้วยความโชคดีและหัวดีนิดหน่อย ทำให้สอบเอนทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วผมก็เลือกเข้าภาควิชา วิศวกรรมโยธา เรียนจบตามกำหนดครับ 4 ปี ผมจบด้วยเกรดไม่เยอะ ไม่ถึงระดับเกียรตินิยม แต่ก็ด้วยโชคอีกทำให้ผมได้รับทุนเพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology, AIT) หรือเรียกย่อๆว่า เอไอทีครับ ระดับปริญญาโทผมเข้าไปเรียนในภาควิชาวิศวกรรมน้ำและการจัดการ (Water Engineering and Management) เรียนปริญญาโท ที่เอไอที 2 ปีจบครับ จากนั้นผมก็ได้รับทุนเพื่อมาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และตอนนี้ผมเรียนอยู่ที่นี้เป็นปีที่ 3 แล้วครับ (ใกล้จบกลับไทยแล้ว…เย่ๆๆ)
ทุนการศึกษาญี่ปุ่น
การมาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเท่าที่ผมทราบ นักเรียนที่มาเรียนที่นี้แบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ ได้รับทุนการศึกษามา กับ ใช้ทุนตัวเองมา และผมก็อยู่ในกลุ่มได้รับทุนการศึกษาครับ ทุนการศึกษาเพื่อมาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นก็มีหลายประเภทอีกแหละครับ ตัวอย่างเช่น ทุนก.พ. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และอื่นๆ อีกมากมาย ผมได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ เมื่อก่อนเรียกกันว่า ทุนมอน (ย่อมาจากมอนบูโช) แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นทุนเม็กซ์ (MEXT Scholarship) แล้วครับ
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นก็มี 2 พวกอีกแหละครับ คือ พวกเก่งขั้นเทพ (ขอผ่านทางสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย) ส่วนมากเด็กกลุ่มนี้จะมาเข้าเรียนที่ญี่ปุ่นตอนเดือน 4 (เมษา) และอีกประเภท คือทุนเรคคอมเมนด์ (Recommended) ไม่ต้องเก่งขั้นเทพ โดยสมัครผ่านทางมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นโดยตรง เด็กกลุ่มนี้จะมาเรียนที่ ญี่ปุ่นช่วงเดือน 10 (ตุลา)
และแน่นอนผมไม่ได้เก่งขั้นเทพ ดังนั้นผมจึงส่งใบสมัครไปตาม มหาวิทยาลัยต่างๆ ในญี่ปุ่น ระหว่างที่ผมเรียนอยู่ที่เอไอที ปรากฎว่า อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ตอบรับผมเป็นอย่างดี ทำให้ผมได้มีโอกาสมาศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยเกียวโต ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและทรัพยากรโลก (Department of Civil and Earth Resources Engineering, Graduate School of Engineering, Kyoto University) ผมจึงได้บินมาเหยียบญี่ปุ่นครั้งแรกของชีวิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2006 ครับ
วิศวกรรมโยธา ของญี่ปุ่น
มารู้จัก วิศวกรรมโยธา กันคร่าวๆก่อนละกันนะครับ วิศวกรรมโยธาก็คือการออกแบบ การก่อสร้างและการจัดการ ระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น อาคารบ้านเรือน ตึกสูง ระบบขนส่งไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน สนามบิน สะพาน อุโมงค์ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ระบบระบายน้ำครัวเรือนและน้ำฝน เป็นต้น อีกทั้งยังรวมไปถึงโครงสร้างหรืออาคารเพื่อป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เช่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรวมไปถึงซึนามิ โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว เป็นต้น
อย่างที่ทราบกันว่า ประเทศญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงกว่าประเทศไทยมาก ดังนั้นการออกแบบ การก่อสร้างและการจัดการ ของญี่ปุ่นค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง ในปัจจุบันวิศวกรโยธาไทยเริ่มมีความสนใจและศึกษาในเรื่องแผ่นดินไหวและซึนามิกันมากขึ้น การออกแบบและการจัดการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของประเทศไทยนั้น เท่าที่ผมได้มีโอกาสได้ทำงานวิจัยที่จุฬาฯ และเอไอทีนั้น โดยส่วนมากจะใช้คอมเมอเชียลซอฟแวร์ (Commercial Software) ที่ได้ถูกพัฒนามาจากต่างประเทศ ซึ่งข้อดีของการใช้คอมเมอเชียลซอฟแวร์คือใช้ง่ายสะดวกได้ผลค่อนข้างเป็นที่พึงพอใจ แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถปรับแก้โปรแกรมการคำนวณบางอย่างได้
แต่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเค้าจะพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ เค้าจะเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เองเพื่อสามารถปรับแก้การคำนวณหรือกำหนดข้อจำกัดให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ในประเทศเค้าได้ ดังนั้นส่วนมากการวิจัยทางด้านวิศกรรมโยธาที่เน้นการออกแบบและการจัดการที่ญี่ปุ่น จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงทฤษฎี ข้อกำหนดและหลักการ จริงๆของความรู้นั้นๆที่เราศึกษา เมื่อจบไปทำให้เราสามารถนำความรู้ต่างๆเหล่านี้ไปดัดแปลงประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศไทยได้ด้วย (จะได้ไม่ต้องง้อคอมเมอเชียลซอฟแวร์ต่างประเทศไงครับ)
การเรียนในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น
การศึกษาที่ญี่ปุ่นค่อนข้างแตกต่างจากการศึกษาที่ประเทศไทยครับ ส่วนมากนักเรียนญี่ปุ่น พอจบปริญญาตรีแล้วก็จะต่อระดับปริญญาโทเลยอัตโนมัติ เด็กป.ตรี ปี 4 ที่ญี่ปุ่นทุกคนต้องเลือกแล็บที่จะเข้าไปศึกษาครับ ซึ่งแต่ละคนต้องทำงานวิจัยหนึ่งอย่างก่อนจบ คล้ายๆ ซีเนียร์โปรเจคต์ที่ไทย ทำเป็นกลุ่มๆละ 3-4 คนแหละครับ แต่ละแล็บที่ญี่ปุ่นจะประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์ 1 คน รองศาสตราจารย์ 1 คน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อย่างน้อย 1 คน นักเรียนอีกจำนวนหนึ่งทั้งระดับ ป.เอก ป.โท และก็ ป.ตรี ปี4 ครับ รวมๆ ก็ประมาณ 10-20 คนครับ
การทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่น ก็เป็นแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้องครับ อาจารย์แต่ละคนก็จะรับผิดชอบนักเรียนเป็นคนๆไปครับ เหมือนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานั้นแหละครับ อย่างที่บอกการศึกษาที่ ญี่ปุ่นมี 2 เทอมครับ เทอมแรกเปิดต้นเดือน 4 (เมษา) ครับ จนถึง ประมาณปลายเดือน 7 (กรกฎา) แล้วก็จะปิดเทอม 2 เดือน ไปเปิดเทอมสอง ประมาณต้นเดือน 10 (ตุลา) จนถึงประมาณกลางเดือน 2 (กุมภา) ครับ แต่เด็กนักเรียน ป.เอก ที่นี้ไม่มี ปิดเทอมครับ ฮาฮา ทำแล็บไปเรื่อยๆ
เนื่องจากผมเข้ามาเรียนทางด้านวิศวกรรมโยธา ในแล็บจะใช้คอมพิวเตอร์โมเดลลิ่ง จึงไม่มีการทดลอง มีแต่คอมพิวเตอร์ครับ บรรยากาศในแล็บผม แต่ละคนก็จะมีโต๊ะที่นั่งเป็นของตัวเอง มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการทำงานวิจัยให้ ส่วนเรื่องโปรแกรมเถื่อนอะไรที่เอามาจากไทยนั้น อย่าได้เอาลงเครื่องที่แล็บญี่ปุ่นนะครับเพราะเค้าจะตรวจเจอ (ผมเคยทำระบบอินเตอร์เน็ทที่แล็บพังมาแล้วครับ ฮาฮา)
ที่แล็บ จะมีสัมนาทุกสัปดาห์ครับ อาจารย์แต่ละท่านในแล็บจะผลัดกันมาสอนเพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้นั้นๆ ไปใช้ในงานวิจัยของตัวเอง และรุ่นพี่จะสอนงานให้กับรุ่นน้อง ส่วนเรื่องการลงเรียนวิชาต่างๆ ก็ต้องลงหน่วยกิตให้ครบตามกำหนดครับ วิชาส่วนใหญ่ที่มหาลัยเกียวโตสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษก็มีครับ ดังนั้นผมจึงเลือกลงเรียนในวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และลงบางวิชาที่สนใจจริงๆ ที่สอนเป็นภาษาญี่ปุ่น ทุกวิชาที่ผมเลือกเรียน ไม่มีการสอบกลางภาคและปลายภาค อาจารย์จะให้คะแนนจากการเข้าเรียน การพรีเซนงาน และการส่งรายงาน และแล้วการเก็บจำนวนหน่วยกิตผมก็เสร็จในช่วง 1 ปีแรกที่ผมเข้ามาเรียนที่นี้ครับ
มีวิชาหนึ่งที่น่าสนใจครับ ผมคิดว่าวิชานี้มีทุกมหาลัยในญี่ปุ่น คือวิชาฝึกงาน หรือ เรียกว่าอินเทิร์นชิป (Internship) ผมได้มีโอกาสในการไปฝึกงานที่บริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมโยธาในญี่ปุ่นที่ทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมแหล่งน้ำประมาณ 3 เดือน ได้เงินเดือน ได้หน่วยกิต แถมได้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจหลายๆอย่างด้วยครับ
นักเรียนปีสุดท้ายของแต่ละระดับ ก็คือ ป.ตรีปี 4 ป.โทปี 2 และ ป.เอกปี3 ที่กำลังจะจบการศึกษาในปีนั้นๆ จะต้องเริ่มทำการเสนอผลงานและความก้าวหน้าของตัวเองทุกๆเดือนครับ คนเข้าฟังก็นักเรียนและอาจารย์ในแล็บด้วยกันนี้แหละครับ พรีเซนทุกเดือนไปเรื่อยๆจนจบการศึกษา โดยแต่ละครั้งก็จะมีคำถามและข้อปรับปรุงจากอาจารย์หรือนักเรียนคนอื่นๆ เป็นการฝึกวิธีการนำเสนอผลงานและการตอบคำถามไปในตัวครับ
เรื่องหัวข้องานวิจัยก็ต้องคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาและรุ่นพี่ๆที่แล็บครับ แต่ก่อนที่เราจะสมัครมาเรียนที่นี้ก็ควรจะต้องมีหัวข้องานวิจัยที่สนใจที่จะทำก่อนเพื่อดูว่าจะสอดคล้องกับแล็บที่เราจะเข้ามาศึกษาหรือไม่ แต่ก็นั่นแหละครับ พอมาถึงและเริ่มทำจริงๆ หัวข้องานวิจัยของผมก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆให้สอดคล้องกับข้อจำกัดต่างๆและสามารถทำได้จริงที่นี่
งานวิจัยผมและเพื่อนที่แล็บส่วนมากทำเป็นโมเดลโดยใช้คอมพิวเตอร์ครับ มีการประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของโมเดลในโครงการต่างๆที่สร้างในญี่ปุ่น เช่น ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับเขื่อน จึงได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลตามเขื่อนต่างๆในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น และข้อกำหนดจำนวนผลงานวิจัยที่ต้องตีพิมพ์ในระดับป.เอกเพื่อที่จะจบการศึกษา แต่ละแล็บก็จะมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ต้องตีพิมพ์งานวิจัยอย่างน้อย 3 เรื่องครับ (แต่แล็บผมแค่ 1 ก็โอแหละ หุหุ) ส่วนเรื่องเสนอผลงาน ผมได้มีโอกาสไปพรีเซนที่เมืองไทย 2 รอบครับ แล็บออกตังค์ให้ เรียกได้ว่า กลับบ้านฟรีครับ การไปเสนอผลงานวิจัยในญี่ปุ่นก็ไปบ่อยเหมือนกันครับ ก็ไปฟรีอีกเช่นกัน หุหุ
การใช้ชีวิตนักศึกษาญี่ปุ่น
เปลี่ยนเรื่องมั่งดีกว่าเดี๋ยวจะเครียดกันซะก่อน มาเรื่องเพื่อนๆในแล็บมั้งครับ เด็กญี่ปุ่นก็พูดภาษาญี่ปุ่น น้อยคนนักที่จะพูดภาษาอังกฤษกับผม ดังนั้นช่วงมาอยู่นี้ใหม่ๆ ค่อนข้างลำบากเพราะผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้วครับ เล่นเอาแขนลีบไปเลย (พูดภาษามือ ฮาฮา)
เป็นธรรมเนียมของญี่ปุ่นครับก่อนเข้าแล็บก็ต้องพูดสวัสดี โคนิจิวะ (สวัสดีตอนบ่าย) ถ้ามาเช้าหน่อยก็ โอฮะโยโกะไซมัส (สวัสดีตอนเช้า) ส่วนมากผมก็ โคนิจิวะ แหละครับ เพราะกว่าจะเข้าแล็บได้ไม่เที่ยงก็บ่าย ก่อนกลับบ้านก็ต้องพูด โอซึกะเระซะมาเดส (เหนื่อยมาทั้งวันแหละ) อะไรประมาณนั้นครับ
เรื่องข้าวเที่ยง กับข้าวเย็น ปกติพอถึงเวลาก็จะพากันไปกินกับเพื่อนๆในแล็บ บางทีอาจารย์ก็จะไปกินด้วยกันที่โรงอาหารมหา’ลัย ช่วงปีแรกๆที่ผมมาอยู่ผมก็ไปกินข้าวที่โรงอาหารกับเพื่อนๆและอาจารย์ในแล็บแหละครับ แต่พอหลังๆมา ทำกับข้าวไปกินเองที่แล็บประหยัดได้เยอะเลยครับ แถมอร่อยถูกปากอีกด้วย บางครั้งก็ทำต้มยำกุ้งไปให้เพื่อนๆที่แล็บชิม แล้วก็จะเห็นคนญี่ปุ่นแลบลิ้นหน้าแดง บอกว่า คะไร้ (เผ็ดครับ) ฮาฮา
นอกจากไปกินข้าวที่โรงอาหารด้วยกันแล้ว ที่แล็บก็ยังไปกินเลี้ยงด้วยกันบ่อยอีกด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ เลี้ยงส่ง เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงสอบเสร็จ และโอกาสต่างๆอีกมากมาย เครื่องดื่มหลักอย่างเป็นทางการของคนที่นี้ก็เบียร์แหละครับ กินกันอย่างกับน้ำ อ้อ…และสิ่งที่ต่างกับระบบการเรียนการสอนประเทศไทยอีกอย่างก็คือ อาจารย์กินเหล้ากินเบียร์กับนักเรียนได้ ผมว่ามันก็มีข้อดีนะครับ คือทำให้เราสนิทกับอาจารย์มากขึ้น จะทำให้เรากล้าเข้าหาอาจารย์มากขึ้นด้วย
ตัวอย่างงาน วิศวกรรมโยธา ของญี่ปุ่น
ทุกๆปีที่แล็บจะมีการไปเที่ยวกันต่างจังหวัดครับ แล็บผมก็ไปดูงานทางด้านวิศวกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไปดูเค้าก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าชินกันเซน ดูสะพาน การก่อสร้างสนามบินในทะเล และ ไปเขื่อนต่างๆ ในญี่ปุ่นครับ ผมเรียนทางด้านเขื่อนดังนั้นผมจึงได้มีโอกาสไปดูและศึกษาเขื่อนต่างๆในประเทศญี่ปุ่นครับ (เรียกได้ว่าไปดูเขื่อนที่ญี่ปุ่นมามากกว่าเขื่อนที่ไทยอีกครับ) ระบบการก่อสร้างและดูงานที่ญี่ปุ่นค่อนข้างปลอดภัยมากครับ ไซท์งานก่อสร้างที่ญี่ปุ่นมีคนงานไม่เยอะเหมือนบ้านเรา ส่วนมากเค้าจะใช้พวกเครื่องจักรกลทำแทนครับ
บางอย่างพอไปดูงานแล้วถึงกับทึ่งว่าเค้าทำได้ยังไง เช่น เมื่อเกิดปัญหาตะกอนทับถมทำให้เขื่อนเสียปริมาตรในการกักเก็บน้ำ ดังนั้นเค้าจึงทำการฟลัชชิ่ง (Flushing) เพื่อระบายตะกอน โดยเปิดประตูน้ำให้น้ำไหลออกจากเขื่อนไปพร้อมกับตะกอนจนน้ำหมดเขื่อน แล้วขุดท้องเขื่อนด้วยรถเแมคโคร
หรือการสร้างสนามบินที่โตเกียว ชื่อ ฮาเนะดะ ในทะเล และสนามบินนี้ไปขวางทางเดินของปากแม่น้ำ ถ้าก่อสร้างด้วยการถมเหมือนปกติ จะทำให้ระบบการไหลของแม่น้ำนั้นเปลี่ยนไป วิศวกรจึงต้องออกแบบให้โครงสร้างบางส่วนเป็นโครงเหล็กใต้น้ำแทนการถม และต้องใช้เหล็กจำนวนมหาศาล ดังนั้นรัฐบาลจึงสั่งให้หยุดการก่อสร้างที่ใช้เหล็กอื่นๆ เพื่อนำเหล็กมาใช้ในการก่อสร้างสนามบินดังกล่าว เป็นต้น
การมาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นจึงทำให้ผมได้มีโอกาสในการเปิดโลกทัศน์และมุมมองในทางวิศวกรรมโยธามากยิ่งขึ้นครับ อีกทั้งการมาที่นี้ทำให้ผมได้เพื่อนทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทยที่มาเรียนที่นี้มากขึ้นอีกด้วย นักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีค่อนข้างเยอะและเราก็มีสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่นครับ จัดทำกิจกรรมต่างๆให้ทำร่วมกันตลอดทั้งปี เช่น การประชุมวิชาการ สกีทริป เป็นต้น ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นด้วย คนไทยไม่ทิ้งกันไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร ผมก็สามารถปรึกษาเพื่อนๆคนไทยที่นี่ได้ และผมจะได้รับคำแนะนำดีๆกลับมาเสมอ
สุดท้ายผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนที่ให้น้องๆเพื่อนๆหรือพี่ๆ ที่กำลังคิดจะมาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในมุมมองของวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม (เน้นทางด้านโยธามากกว่า) นะครับ โยโรชิคุโอเนะไงชิมัส…
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Jeducation Guide Book 2010
สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปทำซ้ำหรือเผยแพร่ในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://all-free-download.com/free-photos/download/bridge_span_concrete_213891.html *
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
ติดต่อสอบถามเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
พูดคุยกับทีมเจ๊เอ๊ด คลิกที่นี่