ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์กับ ยาต้านมะเร็ง
คุณสุรเชษฎ์ อิ่มลิ้มทาน (เจ้นท์)
การศึกษา | Department of Bioengineering Graduate School of Engineering, The University of Tokyo |
สาขางานวิจัย | Drug delivery system for cancer therapy |
การเรียนปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
ก่อนอื่น ต้องขอสวัสดีท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านนะครับ ผมสุรเชษฎ์ อิ่มลิ้มทาน เรียกง่ายๆ สั้นว่า “เจ้นท์” ครับ ศึกษาระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยโตเกียวครับ ผมเป็นนักเรียนทุนรุ่นสุดท้ายของทุนการศึกษาพานาโซนิคครับ
ก่อนอื่นขอกล่าวถึงทุนการศึกษานี้นิดนึงนะครับ เพื่อเป็นแนวทางต่อน้องรุ่นต่อๆไป ทุนการศึกษาพานาโซนิค หรือ ที่นักเรียนไทยในญี่ปุ่นเรียกกันสั้นๆว่า “ทุนพานา” นั้น เป็นทุนให้เปล่าเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้ทุนกับนักเรียนทั้งหมดจาก 7 ประเทศ ประเทศไทยเองจะมีเด็กไทยได้รับทุน ปีละ 3 คนเท่านั้นครับ
ทุนพานา เป็นทุนเต็มจำนวน ที่สนับสนุนทั้งเงินเดือน และ ค่าศึกษาเล่าเรียนทั้งหมดครับ ในปีแรก ทุนจะให้นักเรียนสมัครเข้าเป็น นักศึกษาวิจัย (research student / 研究生) ซึ่งในปีแรกนั้น นักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่เตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเลือกไว้ ซึ่งยากมากๆนะครับ น้องๆที่มีโอกาสได้มาเรียน ขอให้ตั้งใจเป็นอย่างมากเลยครับกับการสอบเข้า พร้อมกับเรียนภาษาญี่ปุ่นไปด้วยครับ ส่วนสองปีสุดท้ายคือชีวิตจริงครับ ที่เราจะต้องเรียนและต่อสู้อุปสรรคต่างๆแบบไม่มีสแตนด์อิน และตัวแสดงแทนจนจบปริญญาโทให้ได้ครับ
แต่เป็นที่น่าเสียดายครับ ตั้งแต่ปี 2557 ทุนการศึกษาพานาโซนิคได้ปิดตัวลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ แต่เดี๋ยวก่อนๆๆๆ อย่าเพิ่งเสียดายไป ผมได้ยินแว่วๆมาว่า ตอนนี้ทุนพานาเริ่มเปิดใหม่อีกแล้วครับ แต่เปิดเป็นทุนในประเทศแทน โดยเกิดจากการที่ บริษัท พานาโซนิค ประจำประเทศญี่ปุ่น จับมือกับมหาวิทยาลัยดัง 8 แห่ง ในประเทศญี่ปุ่น แล้วให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกนักเรียนผู้สมัครที่ดีที่สุดมา เพื่อเข้ารอบคัดเลือกรับทุนพานาโซนิค เป็นลำดับถัดไปครับ
ได้ยินแว่วๆมาว่า ทุนนี้สนับสนุนการศึกษาปริญญาโท และเป็นทุนเต็มจำนวนแบบไม่มีข้อผูกมัดแบบเดิมเช่นกันครับ และล่าสุดเลยที่ผมได้ไปคุยกับผู้ดูแลนักเรียนทุนพานา เค้าเปิดเผยข้อมูลมาว่า ปีที่แล้ว เด็กไทยเราได้รับทุนทั้งหมด 2 ทุน จาก 8 ทุนเลยนะครับ เป็นไงหล่ะเด็กไทยเราเจ๋งใช่ไหมหล่ะ ดังนั้นน้องๆที่กำลังมองหาทุนในญี่ปุ่น ยังไงก็ขอให้ลองหาข้อมูลพิจารณาทุนพานา นี้ดูนะครับ
ว่ากันด้วยเรื่อง การพัฒนาตัวนำส่ง ยาต้านมะเร็ง
เอาล่ะหมดไปแล้วสำหรับเรื่องทุนเรามาคุยเรื่องการเรียนกันบ้างดีกว่าเนอะ อันนี้หล่ะของจริงเน้นๆ ศาสตร์ที่ผมเรียนอยู่นั้นผมเชื่อเหลือเกินว่าที่ไทยนั้นยังคงไม่กว้างขวางมากนัก อาจเป็นเพราะด้านองค์ความรู้ บุคลากร และ เครื่องมือสนับสนุนงานวิจัยนั้น ไม่ได้พร้อมเพรียงมากเท่าไร
ศาสตร์ที่ผมกล่าวถึงคือ การพัฒนาตัวนำส่ง ยาต้านมะเร็ง เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือ drug delivery for cancer therapy จุดที่น่าสนใจของศาสตร์นี้คือ มันเกิดจากการรวมวิทยาศาสตร์หลายๆแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ชีววิทยา, เคมีวิทยา, เภสัชศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ และ แพทยศาสตร์ หรือที่คนในวงการนี้เรียกกันว่าเป็น multidisciplinary sciences เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหมหล่ะครับ
เราต้องมีความสนใจ และใส่ใจในงานวิจัยครับ เราถึงจะทำมันออกมาได้ดี
น้องๆบางคนบอกว่า พี่ครับ ผมเรียนชีววิทยามา แล้วจะเรียนได้หรือครับ? ตอบได้เลยว่า “ได้ครับ” ขีดเส้นใต้สามสิบหกเส้น ขอเพียงแค่เราสนใจ ทุกอย่างมันเริ่มกันใหม่ได้ครับ ตัวผมเองผมเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเคมีมา ไม่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับ ชีววิทยา หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับยาเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ผมก็ยังเรียนและเข้าใจในตัวงานวิจัยได้ จุดสำคัญใหญ่ๆเลยคือ เราต้องมีความสนใจ และใส่ใจในงานวิจัยครับ เราถึงจะทำมันออกมาได้ดี และสิ่งที่สำคัญของงานวิจัยนี้คือ มันสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคตไงครับ
ถ้าจะพูดถึงศาสตร์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้น เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าที่ทำวิจัยดังๆจะมีอยู่หลักๆ 2 ที่ครับ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งสองมหาอำนาจนั้นในแต่ละปี ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างฐานงานวิจัยด้านนี้โดยตรงครับ เนื่องจากการวิจัยด้านชีวการแพทย์ ค่อนข้างที่จะมีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ค่อนข้างสูงครับ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ ยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งนี้ก็เพราะ ที่เราทราบๆกันดีอยู่แล้วว่า โรคมะเร็งกลายเป็นโรคยอดฮิตของคนทั้งโลก และมีอัตราการขยายตัวเป็นวงกว้างที่เร็วมากๆ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขา จึงหันมาสนใจงานวิจัยที่พัฒนายาต้านมะเร็งกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการรวมศาสตร์หลายๆแขนงเข้าด้วยกันอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นครับ
ในความเป็นจริงแล้วเนี่ย ถามว่ายาต้านมะเร็งเนี่ยมีอยู่แล้วใช่หรือไม่? คำตอบคือใช่ครับ ยาต้านมะเร็งที่ใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่นั้นมีการคิดค้นมาหลายสิบปี การเลือกใช้ยาเคมีบำบัดที่ถูกต้องทั้งชนิด ปริมาณ และระยะเวลาการให้ยา มีความสำคัญต่อประสิทธิผลของการรักษาโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก เนื่องจากยาเคมีบำบัดจัดเป็นยาอันตราย การได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่หากได้รับยาในปริมาณที่น้อยเกินไปก็อาจไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้
ในการเลือกสูตรยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง อายุ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย โรคประจำตัว ประวัติการรักษามะเร็งในอดีต ผลข้างเคียง การออกฤทธิ์เสริมหรือต้านฤทธิ์ระหว่างยาเคมีบำบัดเมื่อใช้หลายชนิดร่วมกัน โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาเคมีบำบัดเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิด ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว
แต่ทุกอย่างมันมีข้อจำกัดครับ อย่างที่เรารู้ๆกันว่า ยาต้านมะเร็งค่อนข้างเป็นยาที่อันตราย และให้ผลข้างเคียงค่อนข้างสูง อาทิเช่น ผมร่วง, อาเจียน, ร่างกายอ่อนเพลีย, โรคข้างเคียงที่เกิดจากการต้านยา และอื่นๆอีกมากมาย บางเคสคนไข้รับไม่ไหวกับการบำบัดโดยยาต้านมะเร็ง ก็อาจจะเสียชีวิตไว หรือบางเคสอาจจะโชคดีหน่อย ช่วยยืดเวลาการดำรงชีวิตออกมาได้ แต่สุดท้ายแล้วนั้น ร่างกายก็รับการบำบัดโดยยาต้านมะเร็งไม่ไหว ก็ทำให้เสียชีวิตเช่นกัน
ดังนั้นงานวิจัยหลักๆที่ศาสตร์ชีวการแพทย์ทำคือ สังเคราะห์ตัวนำส่งยา (carrier) เพื่อนำส่งยาไปสู่เป้าหมาย นั่นคือมะเร็งได้ตรงจุด โดยที่ไม่ให้ผลข้างเคียงหรือทำลายอวัยวะหรือเซลล์ปกติส่วนอื่นๆของร่างกาย หรือพูดกันง่ายๆ การทำคีโมบำบัด หรือให้ยาต้านมะเร็ง วิธีที่นิยมที่สุดคือ การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งจะสามารถทำให้ยากระจายไปทั่วร่างกายได้รวดเร็ว เพราะ เส้นเลือดมันกระจายอยู่ทั่วร่างกาย
ดังนั้น เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า ยาจะไม่ถูกสะสมในอวัยวะปกติ หรือ เซลล์ปกติ เมื่อเซลล์ปกติโดนทำร้ายด้วยความเป็นพิษของยา มันจึงทำให้เกิด ผลข้างเคียงขึ้นนั่นเอง
งานวิจัยด้านชีวการแพทย์นี้ จึงพยายามที่จะพัฒนาตัวนำส่งยา เพื่อนำส่งยาไปที่เซลล์มะเร็งเท่านั้น หรือที่ภาษาในวงการเรียกว่า Targeted drug delivery โดยที่ตัวนำส่งยาเหล่านี้จะไม่สะสมในเซลล์ปกติ แต่เลือกที่จะสะสมในเซลล์มะเร็งแทน ดังนั้น ผลข้างเคียงต่อคนไข้ก็จะลดลง ทำให้การรักษามะเร็งโดยการใช้ยาสามารถยืดอายุของคนไข้ และลดความทรมานของคนไข้ลงได้
นอกจากยาต้านมะเร็งแล้ว ยังมี therapeutic agents อีกหลายอย่างที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากต่อนักวิจัย ยกตัวอย่างเช่น siRNA, mRNA, pDNA ซึ่งเหล่านี้ เราจะรวมเรียกว่า gene therapy ซึ่งคือการฆ่าเซลล์มะเร็งระดับยีน แนวคิดจะต่างจากยาต้านมะเร็งตรงที่ว่า ยาต้านมะเร็งมีความเป็นพิษสูง จึงทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่ gene therapy จะไปเปลี่ยนแปลงและยับยั้งการขยายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งไม่ให้เติบโต
เอาล่ะครับที่เล่ามาทั้งหมดก็คือ บทสรุปภาพรวมกว้างๆของงานวิจัยทางวิศวกรรมชีวการแพทย์กับยาต้านมะเร็ง ถ้าจะให้มองในมุมมองของผมมันคือสิ่งที่ใหม่มากๆ และท้าทายต่อวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง มันเป็นอะไรที่น่าสนใจในการพัฒนา เพียงแค่เราเปิดใจที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน
แล้วที่ผมเลือกมาเรียนที่ญี่ปุ่น เพราะที่นี่คือ จุดแข็งที่สุดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ของงานวิจัยนี้ครับ
ผมเรียนรู้อะไรมากมายที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนจากที่นี่ ทั้งแนวคิด และกระบวนการทำงานที่จะต้องรวมศาสตร์หลายๆแขนง เข้าด้วยกัน ผมได้รู้ว่างานวิจัยนี้ให้ impact ต่อโลกใบนี้อย่างไร และที่สำคัญ งานวิจัยนี้จะพัฒนาคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้แน่นอนครับ
> ค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัย
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันการศึกษาที่ญี่ปุ่นโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999 แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน
สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง ไม่มีค่าดำเนินการใดๆ
รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)
ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียน
โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com