ชมรม ( 部活動:bukatsudou)ญี่ปุ่น…ชีวิตนี้ต้องมีชมรม

อ.ปมโปโกะ

ชมรม ที่ญี่ปุ่น

เขาว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่อยู่กันเป็นกลุ่ม จะไปอยู่ที่ไหนก็จะมีการรวมกลุ่มกันอยู่เสมอ อย่างในประเทศไทยก็มี「日本人会」(nihonjin-kai)เป็นสมาคมคนญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อเรื่องต่างๆ คนญี่ปุ่นบางคนย้ายมาอยู่เมืองไทยเหงาๆ ก็ไปสมาคมเพื่อเล่นกีฬากับคนญี่ปุ่นอื่นๆ บ้าง

ชีวิตคนญี่ปุ่นเกี่ยวพันกับชมรมมาก คำว่า ชมรม ในภาษาญี่ปุ่น บ้างก็เรียกว่า「サークル」(saakuru:มาจากภาษาอังกฤษว่า circle)บ้างก็เรียกว่า「部活動」(bukatsudou)หรือเรียกว่า「クラブ」(kurabu:มาจากภาษาอังกฤษว่า club)ก็มี  คำเหล่านี้มักหมายถึง ชมรม ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งมักจะได้รับเงินสนับสนุนจากโรงเรียนด้วย

แต่ถ้าเป็นเพียงการรวมกลุ่มชั่วคราวบางครั้งบางคราว หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้เงินสนับสนุนจากที่ไหน ก็อาจจะเรียกว่า「同好会」(doukoukai)แปลง่ายๆ ว่า กลุ่มผู้มีใจรักในสิ่งเดียวกัน

ลองจินตนาการภาพชีวิตคนญี่ปุ่นตั้งแต่เกิด พอเริ่มเข้าโรงเรียนก็จะเริ่มมี ชมรม เด็กผู้ชายมักจะต้องเข้าชมรมเบสบอล ยิ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กน้อย เหมือนยิ่งโดนบังคับให้ต้องเข้าชมรมเพื่อให้ครบทีม และทีมที่ว่านี้ก็จะกลายเป็นทีมตัวแทนโรงเรียนและตัวแทนท้องถิ่นด้วย (บางทีก็มีการแข่งขันกับคนต่างท้องถิ่น)

ส่วนเด็กผู้หญิงก็มักจะต้องเข้าชมรมกีฬาอย่างวอลเล่ย์บอล หรือชมรมเต้นรำ ที่ขึ้นชื่อ คือ ระบำโยซาโค่ย(よさこい:yosakoi) ทางถิ่นเหนือเรียกว่า โซรัน(ソーラン:sooran)เป็นการเต้นรำแนวประยุกต์ดัดแปลงจากการเต้นรำตามเทศกาลเดิมในญี่ปุ่น  ผู้เต้นมักแต่งตัวฉูดฉาดมีไม้ป๊อกแป๊กเป็นอาวุธ เต้นพร้อมเพรียงกัน เวลามีงานของเมืองทีหนึ่งก็จะส่งชมรมเต้นรำนี้ไปแสดง หรือบางทีก็ส่งไปประกวดเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ท้องถิ่นตน

ชมรมเหล่านี้กว่าจะได้เกษียณก็ต้องรอคนใหม่เข้า อย่างชมรมเบสบอล สมัยนี้มีอัตราการเกิดน้อย เด็กญี่ปุ่นบางคนเข้ามัธยมแล้วยังต้องมาประจำทีมโรงเรียนประถม เพราะคนไม่พอ ส่วนชมรมเต้นรำก็มักจะเต้นตั้งแต่เด็ก จนแก่เลย เต้นไปเรื่อยๆ

พอเข้ามหาวิทยาลัย ชมรมก็จะเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ชมรมที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมักจะได้ชื่อว่าเป็น “กลุ่มคณะกรรมการ”(委員会:iin-kai)แต่ละมหาวิทยาลัยมักให้การสนับสนุนชมรมประเภทกีฬา(運動系:undou-kei) อย่างบางมหาวิทยาลัยนั้นแทบไม่เคยได้ยินชื่อเลย แต่กลับมีชื่อเสียงมากในวงการวิ่งมาราธอนเป็นต้น

ชมรมกีฬามักเป็นชมรมที่เข้มงวด ต้องนับถือรุ่นพี่มาก เวลาเจอรุ่นพี่ต้องเคารพเสียยิ่งกว่าอาจารย์ ด้วยกฎเหล็กเหล่านี้ คนที่ไม่ได้อยากเก่งกีฬานั้นมากๆ จึงไม่เข้าชมรมกีฬา หันไปตั้ง「同好会」(doukoukai)แทน แต่ด้วยวินัยที่เข้มงวดนี้ เวลาไปสมัครงาน คนที่สังกัดชมรมกีฬาก็มักจะได้รับเลือก เพราะถือว่ามีวินัย และไม่หัวแข็ง ยอมรับกฎในบริษัทได้ง่าย อีกทั้งยังมีสุขภาพดี

หากเข้าไปอยู่ในชมรมจะทำแค่เฉพาะที่ชอบไม่ได้ อย่างชมรมกีฬาต่างๆ ก็ต้องฝึกเข้มงวดเพื่อเตรียมลงแข่งในรายการกีฬา ชมรมเชียร์(応援団:ouendan)(ในที่นี้หมายถึงชมรมเชียร์ ที่ผู้ชายแต่งชุดนักเรียนเชียร์ไม่ใช่ชมรมเชียร์ลีดเดอร์แบบอเมริกัน) เป็นอีกชมรมที่เข้มงวดและเป็นที่เชื่อถือกันว่ารักษาขนบประเพณีของโรงเรียนไว้มากที่สุด ก็ต้องฝึกส่งเสียง (แหกปาก) ซ้อมโหดยิ่งกว่าชมรมกีฬา (จนคนญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้เริ่มขยาด ถ้าใครเคยอยู่ชมรมเชียร์ ก็จะได้รับการนับถือมาก)

ส่วนชมรมทางด้านศิลปะ(文科系:bunka-kei)เช่น ชมรมละคร ชมรมดนตรี พวกนี้ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ก็จะมีงานที่เรียกว่า「発表会」(happyou-kai:งานแสดงผลงาน)ถ้าเป็นชมรมดนตรีอาจจะจัดเป็น「音楽会」(ongakkai:งานดนตรี)ซึ่งมักจะกำหนดตายตัวว่าจะมีเมื่อไหร่  สมาชิกในชมรมต้องฝึกซ้อมเพื่อจะได้ออกแสดงโดยไม่มีปัญหา ซึ่งก็กดดันเหมือนกัน

ชมรม ดนตรี

ตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นที่ผมรู้จักสังกัดชมรมบัลเล่ต์ของเขต ก็ต้องไปฝึกซ้อมเรื่อยๆ พอช่วงใกล้「発表会」(happyou-kai)ก็ต้องซ้อมหนัก แทบต้องหยุดงานมาเลยทีเดียว แล้ววันแสดงผลงานก็จะชวนคนรู้จักไปดู เหมือนเป็นการแสดงให้รู้ว่าตนเองได้ฝึกซ้อมจนก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้แล้ว  ซึ่งงานแสดงผลงานส่วนใหญ่ ผู้เข้าชมมักไม่ต้องเสียเงิน ถึงตรงนี้คงสงสัยว่าแล้วเงินค่าเช่าสถานที่เอย ค่าสต๊าฟที่มาช่วยงานเอย จะเอามาจากไหน  ส่วนใหญ่ก็ได้คำตอบว่าต้องควักเนื้อจ่ายกันเอง

อีกตัวอย่างคือ ชมรมโน(能:nou)ซึ่งเป็นการแสดงละครอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น คุณป้าที่รู้จักเป็นสมาชิกชมรมนี้ ต้องหาซื้อชุดญี่ปุ่นราคาแพง ต้องรวมเงินกันจ่ายค่าอาหารกลางวันสำหรับบุคคลสำคัญที่เชิญมาเป็นพิเศษ และยังต้องจ่ายค่าอัดวีดีโอการแสดงของตนอีก ราคาไม่น้อย

นับว่าคนญี่ปุ่นจ่ายเงินไปกับการสังกัดชมรมมากทีเดียว เรียกได้ว่า “ถึงไหนถึงกัน” บางคนมามหาวิทยาลัยเพื่อเข้าชมรมเป็นหลักเพราะสายงานบางสายไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย เช่น ชมรมผู้ประกาศข่าว ชมรมละคร ชมรมนักพากษ์เป็นต้น

ชมรมศิลปะอื่นๆ ก็มีเช่น ชมรมภาษาต่างๆ ชมรมถ่ายรูป ชมรมตลก ชมรมจัดดอกไม้(華道:kadou)ชมรมชงชา(茶道:sadou)พวกนี้ัจะไม่ค่อยมีโอกาสแสดงผลงาน จึงใช้งานโรงเรียน(文化祭:bunkasai)ซึ่งจัดช่วงปลายปีตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เป็นที่โชว์ผลงาน  การโชว์ผลงานบางครั้งก็มีส่วนสำคัญเพราะทำให้คนทั่วไปรู้ว่ามีชมรมนี้อยู่ด้วย

ชมรม จัดดอกไม้

ชมรมด้านสังคม(社会系:shakai-kei)มักเป็นชมรมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม ไปเป็นอาสาสมัครดูแลคนแก่ คนพิการ ถ้าว่างบางทีก็จะมีทดลองประสบการณ์เป็นคนแก่ คนพิการ

ชมรมอีกกลุ่มคือด้านสังสรรค์(イベント系:ibento-kei)เป็นชมรมที่คนมารวมกันเพื่อจัดงานเลี้ยง ไปเฮฮาปาร์ตี้กัน มักเน้นการเที่ยวเตร่เป็นหลัก ชมรมแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่น สมาชิกมักเป็นขาจรแต่มีจำนวนมาก ใครว่างก็มางาน โดยมีสมาชิกหลักเป็นคนจัดเตรียมพื้นที่ และเชิญสมาชิกขาจรมา

ชมรม ปาร์ตี้

คนญี่ปุ่นบางกลุ่มมักใช้ช่วงเวลานี้ทำความรู้จักกับเพื่อนต่างคณะ หรือหาแฟน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ แต่ก็เคยมีข่าวที่ว่าเจ้าของชมรมเชื้อเชิญสมาชิกขาจรมาแล้วลวนลาม เป็นปัญหาของมหาวิทยาลัยไป

สาเหตุหนึ่งที่คนญี่ปุ่นสนิทในชมรมมาก เพราะการจะเข้าชมรมหนึ่งๆ มักต้องเริ่มจากความชอบ เมื่อชอบสิ่งเดียวกันก็มักจะเริ่มคุยภาษาเดียวกัน มีความสุขในแบบเดียวกันได้ ต่างจากการทำงานหรือการเรียนที่ชอบบ้างไม่ชอบบ้างแต่ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่

ชีวิตของคนญี่ปุ่นขาดชมรมไม่ได้ แม้ว่างานจะยุ่งแค่ไหนก็ต้องพยายามสังกัดชมรม เพื่อจะได้พบปะกับเพื่อนคอเดียวกัน อีกทั้งชมรมยังเป็นเหมือนบันไดสานฝันสำหรับตัวเอง เช่น คนที่คิดจะไปเป็นผู้ประกาศข่าว ถ้ามีประสบการณ์ในชมรมผู้ประกาศข่าวมาก่อน ก็จะได้รับเลือกง่ายกว่าคนที่ไม่เคยอยู่ชมรมนี้

แต่บางครั้ง ชมรมก็เหมือนเป็นงานอันดับที่สองที่มีหน้าที่ที่จะต้องไป แม้ว่าความอยากอาจจะมอดไปแล้ว ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นคนใดที่ไม่เคยเข้าชมรมเลยก็อาจจะถูกมองว่าแปลกได้.

 

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top