ภาษาญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องของ รสชาติ  味(aji)ตอนที่ 2

โดย อ.ปมโปโกะ

รสชาติ ต่างๆในภาษาญี่ปุ่น

คราวที่แล้ว พูดถึงรสสองรสคือ เผ็ด(辛い:karai)และหวาน(甘い:amai)ไปแล้ว  สำหรับรสต่อมาคือ รสเค็ม เนื่องจากว่าบางคนพูดเป็น “คาไร่” บ้าง “ชิโอะคาไร่” บ้าง

จึงมีอีกคำเกิดตามหลังมาคือ「しょっぱい」(shoppai)คำนี้ใช้กับความเค็มที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเกลือ เช่น น้ำปลาของเรา บางทีจะใช้ว่า “ชิโอะคาไร่” ก็กระไรอยู่ เพราะน้ำปลาไม่ใช่เกลือ

รสชาติ เกลือ โชยุ

สำหรับรสเปรี้ยว(酸っぱい:suppai)ส่วนใหญ่เป็น รสชาติ ของผลไม้
ผลไม้ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีรสค่อนข้างเปรี้ยว แต่เนื่องจากคนญี่ปุ่นไม่ค่อยกินผลไม้ที่หวานมากๆ เลยกลายเป็นว่าผลไม้ที่หวานอมเปรี้ยวของเรา คนญี่ปุ่นจะว่ามันหวาน ส่วนหวานอมเปรี้ยวของเขาสำหรับเรามันเปรี้ยวแล้ว

ตัวอย่างเช่น「アセロラ」(aserora)ผลไม้จากต่างแดนที่มีโอกาสได้กินแต่น้ำ น้ำอเซโลล่าขายดีที่ญี่ปุ่นเพราะเชื่อว่ามีวิตะมินซีสูงมาก รสก็หวานอมเปรี้ยว (เขาว่างั้น) แต่ถ้าเชื่อลิ้นผม ผมขอบอกว่ามันไม่หวานเลย ออกเปรี้ยวเหมือนมะยม

อาหารที่เปรี้ยวของญี่ปุ่นคือ ซูชิ เพราะในซูชิจะใส่น้ำส้มสายชู(お酢:osu)ยิ่งเป็นซูชิที่เขาเรียกว่า จิราชิซูชิ(チラシ寿司:chirashi-sushi) หรือข้าวคลุกซูชิก็จะเปรี้ยวมาก

รสสุดท้ายคือขม(苦い:nigai)เป็นรสที่ไม่ค่อยพึงประสงค์ พูดปั๊บส่วนใหญ่ก็นึกถึงรสยา หรือผลไม้ที่ไม่สุกดี เมนูรสขมที่คนชอบกันคือ มะระ

มะระที่ญี่ปุ่นจะเป็นมะระขี้นก เดิมเป็นเมนูที่คนทางใต้แถบคิวชูหรือโอกินาว่านิยมกัน ชื่อที่รู้จักดีคือ「苦瓜」(niga-uri)หรือฟักขม และมีชื่อเล่นเป็นภาษาถิ่นโอกินาว่าว่า「ゴーヤ」(gooya)

รสชาติ ฟักขม

อีกอย่างที่ขมคือกาแฟ คนญี่ปุ่นจะกินกาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่นมมากเรียกว่า「ブラック・コーヒー」(burakku-koohii)หรือกาแฟดำ ยิ่งช่วงหน้าร้อนจะนิยมกินมาก เหมือนกินโอเลี้ยงเมืองไทย แต่ว่าจะไม่ค่อยมีรสชาติ

คนญี่ปุ่นบ้ากาเกา(カカオ:kakao)หรือโกโก้ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตช็อกโกแล็ตมาก มีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตผสมกาเกามากจนขม แต่เขาเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ ผมไปซื้อมาลองกินแล้ว ขมจนเกรงว่าจะนอนไม่หลับเพราะมีคาเฟอีนสูงไม่แพ้กาแฟเลย


นอกจากรสชาติหลักทั้ง 5 แล้ว ยังมีรสชาติ “ฝาด” ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า「渋い」(shibui)ได้แก่รสชาเขียว รสผลไม้ที่ยังไม่สุก

คำนี้หากเอาไปพูดถึงคน อาจจะมีความหมายว่า “เค็ม” หรือ งกในภาษาไทย แต่ก็ใช้เป็นคำชมได้เช่นกัน โดยใช้ชมเสื้อผ้าที่ดูสง่า หรือการวางตัวอย่างสง่า ดูเป็นผู้ใหญ่ รสนิยมที่ดูเคร่มขรึม การชมในลักษณะเช่นนี้อาจจะมีต้นตอมาจากประเพณีชงชา เพราะชาฝาดแต่มีรสเป็นเอกลักษณ์

รสชาติ ชา

ส่วนรส “มัน” ของไทยต้องแยกให้ออก ระหว่างมันด้วยน้ำมัน กับมันถั่ว
มันน้ำมัน มันเนยจะเรียกว่า「油っこい」(aburakkoi)
ส่วนมันถั่ว มันมันฝรั่งพวกนี้ไม่ได้มันด้วยไขมัน เป็นรสชาติที่ยากจะอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่น

ปกติเวลาพูดถึงรสชาติที่ยากจะระบุว่าเป็นรสอะไรนี้ นิยมใช้คำว่า「旨い」(umai)ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าแปลว่าอร่อยเหมือน「美味しい」(oishii)แต่จริงๆ แล้วเป็นชื่อรสหนึ่งซึ่งมีความกลมกล่อม เมื่อเอ่ยถึงรสนี้ คนญี่ปุ่นมักนึกถึงสาหร่ายคมบุ(昆布:kombu)หรือน้ำซุปที่ต้มจากผักหรือเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า「だし」(dashi)

บ้างก็ว่าเป็นรสชาติของผงชูรส(科学調味料:kagaku-choumiryou;科学:kagaku:วิทยาศาสตร์;調味料:choumiryou:เครื่องปรุง)นั่นแหละ ซึ่งในระยะหลังๆ ก็มีการแอนตี้การใส่ผงชูรสไม่แพ้ที่เมืองไทย จนหลายๆ ร้านติดป้าย「無化調」(mukachou) “ไม่ใส่ผงชูรส”

นอกจากรสชาติเหล่านี้แล้ว ยังมีคำศัพท์ซึ่งอธิบายความอร่อยของอาหารต่างๆ นานา เช่น
「まろやか」(maroyaka)หมายถึง รสนุ่ม (นึกภาพเหมือนอาหารละลายในปาก)
「歯応え」(hagotae)หมายถึงความกรุบ เคี้ยวมัน
「ぱりぱり」(paripari)หมายถึงความกรอบร่วน เช่น เวลากินมันฝรั่งทอด
「粘り」(nebari)หรือ「ねばねば」(nebaneba)หมายถึงความหนืด เช่น เวลากินถั่วหมักนัตโต

ส่วนถ้าเป็นความเหนียวของเนื้อสัตว์จะเรียกว่า「粘っこい」(nebakkoi)
ถ้าแข็งก็เรียกว่า「硬い」(katai)
ตรงข้ามกับความนุ่ม「柔らかい」(yawarakai)

ส่วนคำว่า “อะจิ” นอกจากยังเอาไปพ่วงท้ายชื่อสารพัดชื่อให้มีความหมายว่า “รส…” ด้วย  เช่น ไอศครีมทั้งหลายทั้งแหล่ เช่น
「バニラ味」(banira-aji:รสวานิลลา)
「チョコ味」(choko-aji:รสช็อคโกแลต)
「イチゴ味」(ichigo-aji:รสสตรอเบอรี่)
「コーヒー味」(koohii-aji:รสกาแฟ)
「抹茶味」(matcha-aji:รสชาเขียว)เป็นต้น

ที่ญี่ปุ่นไอศครีมโคนเขาจะเรียกว่า「ソフトクリーム」(sofuto-kuriimu)หรือซอฟต์ครีมนั่นเอง ที่น่าสนใจคือแต่ละท้องที่ก็จะงัดเอาของดีของท้องถิ่นมาทำเป็นซอฟต์ครีม แล้วติดป้ายว่าหากินได้เฉพาะที่เมืองนี้เท่านั้น

เช่น จังหวัดยามางาตะ มีชื่อเสียงเรื่องลูกแพร์พันธุ์ลาฟรันซ์ ก็จะมีซอฟต์ครีม “ลาฟรันซ์อาจิ” รสอื่นๆที่น่าสนใจเช่น

「黒ゴマ味」(kurogoma-aji:รสงาดำ)
「芋味」(imo-aji:รสมันเทศ) ส่วนที่น่าตกใจก็มีเช่น
「わさび味」(wasabi-aji:รสวาซาบิ)กินแล้วคงฉุนพิลึก

ถึงคำว่า “อะจิ” จะเอาไว้พ่วงชื่อรสต่างๆ เช่น รสทุเรียน ก็บอกว่า「ドリアン味」(dorian-aji)ได้แต่นมสารพัดรสของไทยเราจะไม่เรียกว่าเป็นนมรสโน้นรสนี้ แต่จะนิยมเรียกโดยพ่วงคำว่า「オ・レ」(o-re)ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “au lait” หมายถึง ผสมนม

นม รสชาติ ต่างๆ

เข้าใจว่าเริ่มตั้งชื่อตาม  「カフェ・オ・レ」(kafe-o-re)ซึ่งเป็นกาแฟใส่นม (หรือนมรสกาแฟ)
พอใส่รสสตรอเบอรี่เข้าไปก็เรียกว่า「イチゴ・オ・レ」(ichigo-o-re)
ใส่กล้วยเข้าไปก็เป็น「バナナ・オ・レ」(banana-o-re)
ใส่ชาเขียวลงไปก็เป็น「抹茶・オ・レ」(matcha-o-re)
ส่วนนมรสช็อคโกแลตที่นี่เรียกว่า「チョコ・オ・レ」(choko-o-re)
ซึ่งจะไม่ค่อยมี เพราะปกติมีเครื่องดื่มประเภทโกโก้(ココア:kokoa)อยู่แล้ว.

 

บทความน่ารู้จาก  อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top