ภาษาญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องของ รสชาติ 味(aji)ตอนที่ 2
โดย อ.ปมโปโกะ
คราวที่แล้ว พูดถึงรสสองรสคือ เผ็ด(辛い:karai)และหวาน(甘い:amai)ไปแล้ว สำหรับรสต่อมาคือ รสเค็ม เนื่องจากว่าบางคนพูดเป็น “คาไร่” บ้าง “ชิโอะคาไร่” บ้าง
จึงมีอีกคำเกิดตามหลังมาคือ「しょっぱい」(shoppai)คำนี้ใช้กับความเค็มที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเกลือ เช่น น้ำปลาของเรา บางทีจะใช้ว่า “ชิโอะคาไร่” ก็กระไรอยู่ เพราะน้ำปลาไม่ใช่เกลือ
สำหรับรสเปรี้ยว(酸っぱい:suppai)ส่วนใหญ่เป็น รสชาติ ของผลไม้
ผลไม้ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีรสค่อนข้างเปรี้ยว แต่เนื่องจากคนญี่ปุ่นไม่ค่อยกินผลไม้ที่หวานมากๆ เลยกลายเป็นว่าผลไม้ที่หวานอมเปรี้ยวของเรา คนญี่ปุ่นจะว่ามันหวาน ส่วนหวานอมเปรี้ยวของเขาสำหรับเรามันเปรี้ยวแล้ว
ตัวอย่างเช่น「アセロラ」(aserora)ผลไม้จากต่างแดนที่มีโอกาสได้กินแต่น้ำ น้ำอเซโลล่าขายดีที่ญี่ปุ่นเพราะเชื่อว่ามีวิตะมินซีสูงมาก รสก็หวานอมเปรี้ยว (เขาว่างั้น) แต่ถ้าเชื่อลิ้นผม ผมขอบอกว่ามันไม่หวานเลย ออกเปรี้ยวเหมือนมะยม
อาหารที่เปรี้ยวของญี่ปุ่นคือ ซูชิ เพราะในซูชิจะใส่น้ำส้มสายชู(お酢:osu)ยิ่งเป็นซูชิที่เขาเรียกว่า จิราชิซูชิ(チラシ寿司:chirashi-sushi) หรือข้าวคลุกซูชิก็จะเปรี้ยวมาก
รสสุดท้ายคือขม(苦い:nigai)เป็นรสที่ไม่ค่อยพึงประสงค์ พูดปั๊บส่วนใหญ่ก็นึกถึงรสยา หรือผลไม้ที่ไม่สุกดี เมนูรสขมที่คนชอบกันคือ มะระ
มะระที่ญี่ปุ่นจะเป็นมะระขี้นก เดิมเป็นเมนูที่คนทางใต้แถบคิวชูหรือโอกินาว่านิยมกัน ชื่อที่รู้จักดีคือ「苦瓜」(niga-uri)หรือฟักขม และมีชื่อเล่นเป็นภาษาถิ่นโอกินาว่าว่า「ゴーヤ」(gooya)
อีกอย่างที่ขมคือกาแฟ คนญี่ปุ่นจะกินกาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่นมมากเรียกว่า「ブラック・コーヒー」(burakku-koohii)หรือกาแฟดำ ยิ่งช่วงหน้าร้อนจะนิยมกินมาก เหมือนกินโอเลี้ยงเมืองไทย แต่ว่าจะไม่ค่อยมีรสชาติ
คนญี่ปุ่นบ้ากาเกา(カカオ:kakao)หรือโกโก้ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตช็อกโกแล็ตมาก มีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตผสมกาเกามากจนขม แต่เขาเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ ผมไปซื้อมาลองกินแล้ว ขมจนเกรงว่าจะนอนไม่หลับเพราะมีคาเฟอีนสูงไม่แพ้กาแฟเลย
นอกจากรสชาติหลักทั้ง 5 แล้ว ยังมีรสชาติ “ฝาด” ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า「渋い」(shibui)ได้แก่รสชาเขียว รสผลไม้ที่ยังไม่สุก
คำนี้หากเอาไปพูดถึงคน อาจจะมีความหมายว่า “เค็ม” หรือ งกในภาษาไทย แต่ก็ใช้เป็นคำชมได้เช่นกัน โดยใช้ชมเสื้อผ้าที่ดูสง่า หรือการวางตัวอย่างสง่า ดูเป็นผู้ใหญ่ รสนิยมที่ดูเคร่มขรึม การชมในลักษณะเช่นนี้อาจจะมีต้นตอมาจากประเพณีชงชา เพราะชาฝาดแต่มีรสเป็นเอกลักษณ์
ส่วนรส “มัน” ของไทยต้องแยกให้ออก ระหว่างมันด้วยน้ำมัน กับมันถั่ว
มันน้ำมัน มันเนยจะเรียกว่า「油っこい」(aburakkoi)
ส่วนมันถั่ว มันมันฝรั่งพวกนี้ไม่ได้มันด้วยไขมัน เป็นรสชาติที่ยากจะอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่น
ปกติเวลาพูดถึงรสชาติที่ยากจะระบุว่าเป็นรสอะไรนี้ นิยมใช้คำว่า「旨い」(umai)ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าแปลว่าอร่อยเหมือน「美味しい」(oishii)แต่จริงๆ แล้วเป็นชื่อรสหนึ่งซึ่งมีความกลมกล่อม เมื่อเอ่ยถึงรสนี้ คนญี่ปุ่นมักนึกถึงสาหร่ายคมบุ(昆布:kombu)หรือน้ำซุปที่ต้มจากผักหรือเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า「だし」(dashi)
บ้างก็ว่าเป็นรสชาติของผงชูรส(科学調味料:kagaku-choumiryou;科学:kagaku:วิทยาศาสตร์;調味料:choumiryou:เครื่องปรุง)นั่นแหละ ซึ่งในระยะหลังๆ ก็มีการแอนตี้การใส่ผงชูรสไม่แพ้ที่เมืองไทย จนหลายๆ ร้านติดป้าย「無化調」(mukachou) “ไม่ใส่ผงชูรส”
นอกจากรสชาติเหล่านี้แล้ว ยังมีคำศัพท์ซึ่งอธิบายความอร่อยของอาหารต่างๆ นานา เช่น
「まろやか」(maroyaka)หมายถึง รสนุ่ม (นึกภาพเหมือนอาหารละลายในปาก)
「歯応え」(hagotae)หมายถึงความกรุบ เคี้ยวมัน
「ぱりぱり」(paripari)หมายถึงความกรอบร่วน เช่น เวลากินมันฝรั่งทอด
「粘り」(nebari)หรือ「ねばねば」(nebaneba)หมายถึงความหนืด เช่น เวลากินถั่วหมักนัตโต
ส่วนถ้าเป็นความเหนียวของเนื้อสัตว์จะเรียกว่า「粘っこい」(nebakkoi)
ถ้าแข็งก็เรียกว่า「硬い」(katai)
ตรงข้ามกับความนุ่ม「柔らかい」(yawarakai)
ส่วนคำว่า “อะจิ” นอกจากยังเอาไปพ่วงท้ายชื่อสารพัดชื่อให้มีความหมายว่า “รส…” ด้วย เช่น ไอศครีมทั้งหลายทั้งแหล่ เช่น
「バニラ味」(banira-aji:รสวานิลลา)
「チョコ味」(choko-aji:รสช็อคโกแลต)
「イチゴ味」(ichigo-aji:รสสตรอเบอรี่)
「コーヒー味」(koohii-aji:รสกาแฟ)
「抹茶味」(matcha-aji:รสชาเขียว)เป็นต้น
ที่ญี่ปุ่นไอศครีมโคนเขาจะเรียกว่า「ソフトクリーム」(sofuto-kuriimu)หรือซอฟต์ครีมนั่นเอง ที่น่าสนใจคือแต่ละท้องที่ก็จะงัดเอาของดีของท้องถิ่นมาทำเป็นซอฟต์ครีม แล้วติดป้ายว่าหากินได้เฉพาะที่เมืองนี้เท่านั้น
เช่น จังหวัดยามางาตะ มีชื่อเสียงเรื่องลูกแพร์พันธุ์ลาฟรันซ์ ก็จะมีซอฟต์ครีม “ลาฟรันซ์อาจิ” รสอื่นๆที่น่าสนใจเช่น
「黒ゴマ味」(kurogoma-aji:รสงาดำ)
「芋味」(imo-aji:รสมันเทศ) ส่วนที่น่าตกใจก็มีเช่น
「わさび味」(wasabi-aji:รสวาซาบิ)กินแล้วคงฉุนพิลึก
ถึงคำว่า “อะจิ” จะเอาไว้พ่วงชื่อรสต่างๆ เช่น รสทุเรียน ก็บอกว่า「ドリアン味」(dorian-aji)ได้แต่นมสารพัดรสของไทยเราจะไม่เรียกว่าเป็นนมรสโน้นรสนี้ แต่จะนิยมเรียกโดยพ่วงคำว่า「オ・レ」(o-re)ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “au lait” หมายถึง ผสมนม
เข้าใจว่าเริ่มตั้งชื่อตาม 「カフェ・オ・レ」(kafe-o-re)ซึ่งเป็นกาแฟใส่นม (หรือนมรสกาแฟ)
พอใส่รสสตรอเบอรี่เข้าไปก็เรียกว่า「イチゴ・オ・レ」(ichigo-o-re)
ใส่กล้วยเข้าไปก็เป็น「バナナ・オ・レ」(banana-o-re)
ใส่ชาเขียวลงไปก็เป็น「抹茶・オ・レ」(matcha-o-re)
ส่วนนมรสช็อคโกแลตที่นี่เรียกว่า「チョコ・オ・レ」(choko-o-re)
ซึ่งจะไม่ค่อยมี เพราะปกติมีเครื่องดื่มประเภทโกโก้(ココア:kokoa)อยู่แล้ว.
บทความน่ารู้จาก อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้ คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะยาว
- เรียนต่อญี่ปุ่น หลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระยะสั้น
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น
ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com
ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย >> https://bit.ly/jed-line