เรียนอยู่ที่ ญี่ปุ่น อยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเก่งภาษาญี่ปุ่นขึ้นแบบพุ่งปรี๊ดอย่างแน่นอน !!!
หลายคนอาจจะคิดอย่างนั้นใช่ไหมคะ
แต่…ไม่ใช่ทุกคนค่ะ
มีนักเรียนไทยในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นก็จริง
แม้จะได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นเพิ่มจากบทเรียนในโรงเรียนทุกวันๆ ก็ตาม
แต่ใช้ภาษาญี่ปุ่นแค่ในห้องเรียน
ชีวิตประจำวันนอกห้องเรียน ส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อนคนไทย
ไม่ค่อยหาโอกาสใช้ภาษาญี่ปุ่นที่เรียนมาเท่าไหร่นัก
แน่นอนว่า…สภาพแวดล้อมในญี่ปุ่น
ทำให้พัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นมากกว่าอยู่เมืองไทย
แต่ใครจะพัฒนาได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละคนค่ะ
ไหนๆ ก็มีโอกาสได้มาใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นทั้งที
ใช้โอกาสนี้ พัฒนาภาษาญี่ปุ่นให้เต็มที่ดีกว่านะคะ
บทความนี้ รวบรวม 10 เทคนิคการฝึกภาษาญี่ปุ่นแบบง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน
ด้วยการเปลี่ยนเพียงนิดเดียว ทำให้ติดเป็นนิสัย
ภาษาญี่ปุ่นเก่งขึ้นได้แบบไม่ต้องเสียสตางค์เพิ่ม
1. อยู่บ้าน เปิดทีวีไว้
ถ้าที่ห้องพักมีทีวี ควรเปิดทีวีไว้ค่ะ แม้จะไม่ได้นั่งดูอย่างจริงจังก็ตาม เป็นการฝึกหูให้เคยชินกับภาษาญี่ปุ่น
ฟังไม่ออกไม่ต้องกังวล ฟังๆ ไป เรียนๆ ไป อยู่ดีๆ เราจะฟังออกได้เองแบบที่ไม่ทันรู้ตัว หรือระหว่างที่เรียนอยู่ จู่ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เอ๊ะ ประโยคแบบนี้เคยได้ยินบ่อย ๆ นี่
นอกจากนั้น รายการโทรทัศน์ของ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะละครมักจะมี 字幕 (じまく : jimaku) หรือซับไตเติ้ล คำบรรยายภาษาญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เมื่อกดปุ่มรีโมทคำว่า 字幕 ก็จะมีคำบรรยายขึ้นมาให้อ่านค่ะ บางคนอาจจะรู้สึกเกะกะลูกตา แต่บางคนบอกว่าเป็นการฝึกทักษะทั้งการอ่านและการฟังไปพร้อมๆ กัน
อ๊ะ… อย่าเพิ่งท้วงว่า เปิดทีวีไว้จะเสียค่าไฟเยอะ การดูรายการโทรทัศน์ นอกจากจะได้ฝึกภาษาแล้ว ยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากค่ะ โดยเฉพาะรายการวาไรตี้ของญี่ปุ่น นอกจากจะดูง่าย สนุก ยังสอดแทรกสาระความรู้ดีๆ มากมาย
2. ระหว่างเดินทาง ฟังบทสนทนาภาษาญี่ปุ่น
การเรียนภาษาญี่ปุ่นไม่ว่าจะระดับไหน ส่วนใหญ่จะมีบทสนทนาภาษาญี่ปุ่นให้ฝึกฟัง ให้โหลดไฟล์ใส่มือถือเอาไว้ฟังแทนเพลง ฟังระหว่างเดินทางไปโรงเรียนทุกวันๆ เป็นการทบทวนบทเรียนไปในตัว
3. กวาดสายตา อ่านแต่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
ป้ายในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ มักจะมีสองภาษาคืออังกฤษและญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่หลายคนมักจะเห็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นธรรมชาติที่สายตาเรามักจะพุ่งไปหาสิ่งที่อ่านออกก่อน
ฉะนั้น ฝึกอ่านป้ายต่างๆ ด้วยภาษาญี่ปุ่นกันค่ะ รวมไปถึงตามสถานีรถไฟ เช่น ชื่อสถานีรถไฟ สายรถไฟต่างๆ
อ่านตัวคันจิไม่ออกไม่เป็นไร ดูภาษาอังกฤษประกอบไปด้วย จะช่วยให้จำคันจิได้แม่นขึ้น และจำได้ว่าคันจิตัวนั้น สามารถออกเสียงได้แบบไหนบ้าง
บนรถไฟ รถเมล์ ก็มักจะมีป้ายโฆษณาติดไว้เพียบ พยายามกวาดสายตาอ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ เป็นการฝึกทักษะการอ่านไปในตัว แรกๆ อ่านไม่ออกสักกะติ๊ด ไม่ต้องตกใจค่ะ เรียนๆ ไปอยู่ดีๆ อ่านได้เฉยเลย
4. เปลี่ยนภาษาบนมือถือ
บอกลาภาษาไทยหรืออังกฤษ แล้วเปลี่ยนการตั้งค่าภาษาที่ใช้ในมือถือ รวมถึงบรรดา social media อย่าง Facebook ให้เป็นภาษาญี่ปุ่นไปเลย เชื่อเถอะค่ะ มือถือหรือเฟสบุ้คเนี่ย ถ้าเราใช้จนเคยชินแล้ว พอเดาๆ ได้ค่ะว่าปุ่มนั้นหมายถึงอะไร
การเปลี่ยนการตั้งค่าเหล่านี้ให้เป็นภาษาญี่ปุ่น จะทำให้เราได้รู้คำศัพท์บนโลกเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ที่ไม่มีสอนในโรงเรียนสอนภาษา
การตั้งค่า หรือ setting ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 設定 (せってい:settei)
5. โหลดแอปภาษาญี่ปุ่นมาใช้
แอพลิเคชั่นของญี่ปุ่นที่ให้โหลดฟรีมีมากมาย โหลดเลยค่ะ
เช่น พวกแอพที่ใช้ในชีวิตประจำวันไป อย่างค้นหาเส้นทางรถไฟ แทนที่จะใช้แต่ hyperdia เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษยอดฮิต เปลี่ยนมาใช้แอพเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นแทน
แอพพยากรณ์อากาศ แอพร้านอาหาร แอพอ่านข่าว
แอพสำหรับเรียนภาษาญี่ปุ่น ดิกชันนารี เกมภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ โหลดมาลองดูเลยค่ะ ไม่เวิร์คก็ลบทิ้ง
6. หาโอกาสพูดคุยให้เยอะไว้ก่อน
นักเรียนบางคนอาจจะบ่นว่า เรียนในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น มีแต่คนต่างชาติ ไม่มีโอกาสได้คุยกับคนญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามัวแต่กังวลว่าคุยกับเพื่อนต่างชาติ แล้วจะใช้ไวยากรณ์ผิดๆ เลยไม่อยากคุย สุดท้ายแล้ว จะไม่ได้ทั้งเพื่อนและภาษาญี่ปุ่นนะคะ
อย่ามัวแต่คิดว่าจะต้องหาเพื่อนญี่ปุ่นเพื่อฝึกภาษา เพราะถ้าหาไม่ได้ ก็จะไม่ได้ฝึกอย่างนั้นหรือคะ อุตส่าห์อยู่ในญี่ปุ่นทั้งที มีคนญี่ปุ่นให้พูดให้คุยเยอะแยะค่ะ มีโอกาสให้คุยตอนไหน ก็คุยไปเถ๊อะ อย่ามัวแต่คิดเยอะ
ไปซื้อกับข้าว แทนที่จะซื้อแต่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว ลองซื้อผักจากร้านขายผักแถวบ้านดู ถามนู่นถามนี่ นี่เรียกว่าอะไรคะ เอาไปทำอะไรกินได้บ้างครับ ฯลฯ ส่วนใหญ่ร้านบ้านๆ เนี่ยล่ะค่ะ ที่จะสร้างมิตรภาพได้ไม่ยาก ยิ่งเค้ารู้ว่าเป็นนักเรียนต่างชาติ คนขายจะใจดี บางทีมีของแถมให้อีกต่างหาก
ที่ฝึกพูดสำหรับสาวๆ อีกแห่ง คือเคาท์เตอร์เครื่องสำอางค่ะ ใจกล้าๆ เข้าไปเลยค่ะ พนักงานขายจะชวนเช็คหนังหน้า ตรวจสภาพผิวอะไรก็ทำไป ถือว่าเป็นการพูดคุยเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นนอกห้องเรียน แต่ถ้าใจอ่อน หลวมตัวจ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไปก้อนโต อย่ามาว่ากันนะคะ คิดจะฝึกภาษาด้วยวิธีนี้ ต้องมีใจที่สตรอง!!!
7. ฝึกฟังไป พูดไป
เทคนิคการฝึกพูดที่ดีอย่างหนึ่ง เรียกว่า shadowing คือการฟังไปพูดไป
หูได้ยินอะไรมาปั๊บ ปากก็พูดออกไปปุ๊บ โดยพยายามเลียนแบบน้ำเสียง จังหวะของประโยคที่ได้ยินมา จะพูดผิดพูดถูก พูดไม่ทันไม่เป็นไรค่ะ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ
วิธีการนี้ คงไม่เหมาะกับการเดินทางด้วยรถไฟหรือรถเมล์เท่าไหร่นะคะ เพราะจะไปรบกวนโสตประสาทชาวบ้านข้างเคียง แต่ชีวิตในญี่ปุ่น เราจะเดินกันเยอะอยู่แล้ว ใช้เวลาช่วงที่เดินเนี่ยล่ะค่ะ ใส่หูฟังไป เดินไป บ่นพึมพำไปเบาๆ หรือหาเวลาว่างๆ ตอนไหนฝึกตามสะดวก
8. ฝึกคิดเป็นภาษาญี่ปุ่น
คนเราคิดอยู่ตลอดเวลาค่ะ จากปรกติที่คิดเป็นภาษาไทย ลองฝึกคิดเป็นภาษาญี่ปุ่นดูค่ะ
แรกๆ ยังคิดเป็นประโยคไม่ได้ ให้คิดเป็นคำ เป็นวลี อยู่ในสมอง ฝึกไปบ่อยๆ จะสามารถคิดเป็นภาษาญี่ปุ่นได้
และช่วยให้เราสามารถนึกและพูดออกไปเป็นภาษาญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยอยู่ในหัวค่ะ
9. แปะคำศัพท์ไว้รอบตัว
เทคนิคบ้านๆ ที่บอกต่อๆ กันมายาวนาน แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันยังได้ผลอยู่
เขียนคำศัพท์ทั้งคันจิและฮิรางานะ แปะไว้ที่ของสิ่งนั้น หรือแปะคำศัพท์สำคัญๆ ไว้ตามกำแพง ช่วยให้จดจำคำศัพท์ได้จากการที่เห็นอยู่บ่อยๆ
ถ้าไม่อยากแปะ ก็อาจจะเปลี่ยนวิธี เช่น มีสมุดบันทึกจดคำศัพท์ หรือทำ การ์ดคำศัพท์แบบเด็กญี่ปุ่นพกติดตัวไว้ หยิบขึ้นมาอ่านทบทวนในเวลาว่างๆ
การรู้คำศัพท์ให้มากๆ จะทำให้เราสามารถสื่อสารได้ตรงกับที่ใจต้องการมากขึ้นค่ะ
10 จดบันทึกเป็นภาษาญี่ปุ่น
ปิดท้ายด้วยการเขียนค่ะ อย่าเพิ่งโวยว่า โอย…เรียนทุกวัน ก็มีการบ้านเยอะแยะแล้ว จะให้เขียนอะไรอีก การจดบันทึกเป็นภาษาญี่ปุ่น จะทำให้เราฝึกถ่ายทอดภาษาญี่ปุ่นออกมาในทันทีทันใด
เวลาเราจดบันทึกภาษาไทย นึกอะไรได้ก็เขียนๆ ลงไปใช่ไหมคะ บันทึกภาษาญี่ปุ่นก็เช่นกันค่ะ นี่ไม่ใช่ทำการบ้านส่งครู ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดไวยากรณ์ นึกปั๊บก็เขียนปุ๊บ นึกคันจิไม่ออกก็เขียนตัวฮิรางานะแทน นึกศัพท์ไม่ออก จะเปิดดิกชันนารีสักหน่อยก็ได้ แต่ถ้ายากเกินไป ใส่ภาษาอังกฤษหรือไทยลงไปเลย อย่าทำให้เป็นเรื่องยาก เดี๋ยวจะไม่อยากทำต่อ
จดบันทึกประจำวันไปทีละนิด ทีละหน่อย เท่าที่จะเขียนได้ทุกๆ วัน นอกจากจะได้ฝึกภาษาแล้ว ยังจะได้บันทึกไว้อ่านเล่นในอนาคตอีกด้วย พอกลับมาอ่านดูอีกครั้ง จะเห็นได้เลยค่ะว่าภาษาญี่ปุ่นเราพัฒนามากขึ้นแค่ไหน
10 ข้อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นค่ะ อยู่ที่เมืองไทยก็สามารถนำมาปรับใช้ได้
แต่ละคนต้องลองหาเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ที่สำคัญคือ ต้องพยายามหาโอกาสใช้ภาษาญี่ปุ่นให้มากที่สุดนะคะ
::::::::::::::::::::::::::::::
ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง เปิดตั้งแต่ปีค.ศ.1999 ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน สมัครเรียนกับโรงเรียนที่เจเอ็ดดูเคชั่นเป็นตัวแทน เหมือนการสมัครเรียนกับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นโดยตรง ไม่คิดค่าดำเนินการใดๆ
รับรองโดยสมาคมไทยแนะแนวการศึกษานานาชาติ (TIECA)
ติดต่อสอบถาม – สมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น
อาคารลิเบอร์ตี้สแควร์ (ปากซอยคอนแวนต์) เลขที่ 287 ชั้น 23 ห้อง 2303 ถนนสีลม เขตบางรัก กทม. 10500
สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง / MRT สีลม
โทร. 0-2267-7726 ต่อ 111-112
โทรสาร. 0-2631-2040 email : school@jeducation.com
สอบถามรายละเอียด คลิกเลย >> http://bit.ly/jed-line