ร้านขายผัก  (八百屋:yaoya)ตอนที่ 1
โดย อ.ปมโปโกะ 

ร้านขายผัก ที่ญี่ปุ่น

ร้านขายผัก(八百屋:yaoya)เป็นที่อีกที่หนึ่งที่จะทำให้เราเรียนรู้ศัพท์ภาษาญี่ปุ่นได้ง่ายๆ เพราะ ร้านขายผัก มักจะมีป้ายบอกชื่อผัก หรือพันธุ์ชัดเจน รวมทั้งบอกราคาด้วย เวลาขายก็จะขายเป็นมัด หรือเป็นกอง หรือเป็นลูกไม่ต้องเสียเวลาชั่ง ไม่ต้องกลัวจะโกงน้ำหนัก ราคาทั่วไปก็เป็นราคาต่อหน่วย ( บางทีไม่เขียนว่า “กิโลละ” แต่แอบเขียนตัวเล็กๆ ว่า “ครึ่ง” หลอกให้คนมาซื้อ)  ยกเว้นบางอย่าง ยิ่งซื้อมากยิ่งขายถูก

ร้านขายผัก 1

แม้ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต(スーパー:suupaa)ที่ญี่ปุ่นจะมีมาก แต่ร้านขายผักบางร้านก็ขายดีมากกว่าซุปเปอร์เสียอีก เนื่องจากสามารถหาผักราคาถูกมาขายให้คนในท้องที่ได้  อย่างร้านที่ผมไปราคาค่อนข้างถูกมาก ตามซุปเปอร์เองก็อาจจะไม่ได้ราคานี้ หรือถ้าใครซื้อได้ถูกกว่านี้ก็ถือว่าโชคดีมาก

ที่เราท่องศัพท์ ร้านผัก「八百屋」(yaoya)ขาย「野菜」(yasai:ผัก)ร้านผลไม้「果物屋」(kudamono-ya)ขาย「果物」(kudamono:ผลไม้)ก็จริงครึ่งไม่จริงครึ่ง เพราะในความจริงแล้ว ร้านผักส่วนใหญ่ก็จะขายผลไม้ด้วย

ฉะนั้นถ้าคุณจะไปซื้อ kudamono ที่ yaoya ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  เดิมทีความหมายของ yaoya นั้นก็หมายถึง “ร้านขายของชำ” คือขายของต่างๆ  แต่ในปัจจุบันจะใช้เรียกร้านขายผักเป็นหลัก

ร้านขายผัก 2

ผักที่ญี่ปุ่นราคาค่อนข้างขึ้นๆ ลงๆ ผักหลายชนิดที่ราคาถูกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศเช่น จีน เพราะมีค่าแรงถูก แต่บางชนิดก็มีกำแพงภาษีบังคับให้ต้องเป็นผักของญี่ปุ่นเท่านั้น

ช่วงหน้าหนาว ผักจะมีราคาแพง แต่มีข้อดีคือจะเก็บไว้ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว สามารถทยอยกินได้  แต่ถ้าเป็นหน้าร้อน คนขายก็ต้องพยายามขายให้หมดไวๆ จะได้ไม่เน่าก่อนขาย ราคาจึงถูก  เรื่องราคาผักที่สูงลิ่วนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ อย่างผมเองอยู่เมืองไทย ก็ยังไม่เคยเห็นใครขายผักแบบแบ่งเสี้ยวขาย เพราะของบัานเรายังถูก

ด้วยราคาที่สูงลิ่ว อาหารกล่องก็ดี หรืออาหารตามร้านจึงมักจะมีผักน้อยมาก ใครมาอยู่ญี่ปุ่นต้องระวังจะเป็นโรคซึมเศร้าเพราะขาดวิตะมินและเกลือแร่จากผัก  แอบมาฟังเสียงแม่บ้านชาวไทยบ่นบ้าง ได้ความว่าผักที่ญี่ปุ่นมีแต่ซ้ำๆ ไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่

ผักที่ยืนพื้นก็มีเช่น ต้นหอม หรือ「ねぎ」(negi)ที่ญี่ปุ่นมีหลายพันธุ์มาก ถ้าเป็นต้นหอมเล็กๆ แบบบ้านเราบางร้านก็ติดป้ายว่า「小ねぎ」(konegi)หรือ「細ねぎ」(hosonegi)แปลเป็นไทยว่า ต้นหอมเล็ก หรือต้นหอมผอม จะเรียกอย่างไรก็ไม่ผิด

ส่วนต้นหอมอย่างในรูปจะเรียกว่า「白ねぎ」(shiranegi)หรือต้นหอมขาว เพราะลำต้นใหญ่ มีสีขาวสะดุดตา  ราคาช่วงถูกก็อาจจะต่ำกว่า 100 เยน แต่ช่วงแพงก็มี

ถ้าจะซื้อต้นหอมเล็ก เวลาซื้อต้องไม่เผลอหยิบผิดกับ กุ๊ยช่าย หรือ「ニラ」(nira)(ใครที่ซื้อผักบ่อยๆ คงหัวเราะเพราะกุ๊ยช่ายกับต้นหอมแตกต่างกันมาก แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยซื้อผักมาทำอาหารจะหยิบผิดได้ง่ายๆ  ร้านผักบางร้านก็ใจดีพยายามวางไว้ห่างๆ กัน

ผักที่นิยมกินใบคือ ผักโขม หรือ「ほうれん草」(hourensou)นิยมเอาไปผัดคล้ายผักกวางตุ้งหรือจะเอาไปต้มแกงก็ได้ ผักที่คล้ายกันคือ “โคมัตสึนะ”「小松菜」(komatsuna)ลำ้ต้นจะแข็งกว่า  ผักสองประเภทนี้มักใช้แทนกัน เรียกว่าอันไหนถูกกว่าก็ซื้ออันนั้น ราคาต้องไม่เกิน 100 เยน

ร้านขายผัก 3

ผักประเภทหัว ก็ได้แก่ กะหล่ำปลี(キャベツ:kyabetsu)ผักกาดแก้ว หรือ lettuce(レタス:retasu)ซึ่งนิยมกินเป็นผักสด และผักกาดขาว(白菜:hakusai)ซึ่งนิยมเอาไปแกง

ผักประเภทหัวที่ญี่ปุ่นขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงสามารถกินได้หลายวัน ราคาผักประเภทนี้อยู่ที่ หัวละ 100 เยนขึ้นไป ถ้าราคาแพงหน่อยก็จะตกที่ 200 เยน (ถึงตอนนั้นก็จะไม่ซื้อ)

ช่วงหลังๆ มีผักที่คนเกาหลีนิยมกิน คือ「サニーレタス」(sanii retasu)หรือเรียกว่า「サンチュ」(sanchu)ตามภาษาเกาหลี คือ ผักกาดหอมที่นิยมรับประทานกับสาคูไส้หมูของเมืองไทยนั่นเอง ผักกาดหอมนี่ก็ราคาถูกบ้างแพงบ้าง แต่ราคามักจะถูกกว่าผักกาดแก้วในหลายๆ ช่วง คนจึงนิยมเอามาทำสลัดด้วย

ในคราวหน้าจะพูดถึงผักอื่นๆ และผลไม้ต่อครับ

 

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับ อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top