フリー・ヘアカット(furii-heakatto:ตัดผม ฟรี)

อ.ปมโปโกะ

ตัดผม ฟรี ที่ญี่ปุ่น

เรื่องค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นนั้นที่ว่าแพงนักหนาก็คงจะเป็นเพราะค่าแรงนั่นเอง คนที่ทำงานบริการพวกเสริมสวย ตัดผม ก็คิดค่าบริการแพงตามค่าแรงของบรรดาพนักงานกินเงินเดือน ที่สำคัญคือ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บ้าใบประกาศแสดงคุณสมบัติมาก คนที่จะมาทำเสริมสวย หรือ ตัดผม ตามร้านได้ก็ต้องมีใบประกาศแสดงวุฒิว่าเรียนมา และรู้เรื่องผมดี

ผู้ชายจะตัดผมแต่ละทีก็ตกเกือบ 3,000 เยน ถ้าเป็นร้านผู้หญิงก็ตกเกือบ 4,000 เยน ถ้าจะดัดผม หรือจะเปลี่ยนสีผม ราคาก็จะยิ่งแพงกระหน่ำเข้าไปอีก  คนญี่ปุ่นบางคนหลีกเลี่ยงโดยการไว้ผมยาว นานๆ จะตัดที

แต่ถ้าต้องทำผมบ่อยๆ ก็จะนิยมซื้ออุปกรณ์ทำผมมาทำเอง เช่น ถ้าเป็นผู้ชายที่ชอบตัดผมสั้นมากๆ ก็จะซื้อบัตตาเลี่ยน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า barikan(バリカン)มาตัดเองที่บ้าน แรกๆ อาจจะเว้าๆ แหว่งๆ เป็นแผลมาอวดเพื่อนคนอื่นๆ ก็มี ส่วนผู้หญิงก็จะเป็นพวกอุปกรณ์ดัดผมต่างๆ

สำหรับคนไทยแล้ว ยิ่งเป็นผมด้วย ปกติก็จะตัดผมเดือนละครั้ง เป็นนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่มัธยม และเป็นคนที่ไว้ผมสั้น ถ้าผมยาวมากๆ เวลาคิดอะไรจะหงุดหงิดมาก ก็จะหลีกเลี่ยงร้านตัดผมได้ยาก อย่างน้อยต้องทุ่มทุนเดือนละครั้ง บางทีก็พึ่งร้านตัดผมซึ่งอาจจะอยู่แถวโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ร้านพวกนี้ราคาจะถูกลงมาหน่อยตามกำลังทรัพย์ของนักเรียน จึงมักจะมีบริการลดถูกที่เรียกว่า「カット・オンリー」(Cut Only)ซึ่งหมายถึง “ตัดอย่างเดียว”

พูดไปแล้วก็อาจจะงงว่าแล้วปกติไม่ได้ตัดอย่างเดียวเหรอ   ร้านที่ญี่ปุ่นปกติตัดผมแล้วจะสระให้ด้วยเลย ไม่ต้องมีเศษผมติดกลับบ้านให้คันคอ ถ้าร้านไหนใจดี ทำให้ครบคอร์สก็จะมีสระก่อนตัดด้วย แล้วแต่ความเร่งรีบ  อย่างวันที่ผมเข้าไปถ้าแขกเยอะ ช่างก็จะลดขั้นตอนให้น้อย แขกคนอื่นจะได้ไม่รอนาน หรือบางทีเรารีบก็จะบอกช่างไว้ก่อน  ถ้าทำครบคอร์ส สำหรับผู้ชายก็จะใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงทีเดียว

ร้านตัดผมที่ญี่ปุ่นก็เหมือนของเมืองไทย คือมีเกรดล่างกับเกรดบน เกรดล่างรู้จักในนามร้านตัดผมท่านชาย เรียกว่า「床屋」(tokoya)จะเรียกช่างก็เติม「~さん」(san)ไปข้างหลังเป็น「床屋さん」(tokoya-san)หมายถึงช่างตัดผมของผู้ชาย

ร้านเกรดล่างนี้มักจะมีราคาถูกและมีบริการ「カット・オンリー」ตัดอย่างเดียวด้วยเพื่อจูงใจลูกค้า เพราะผู้ชายไม่ค่อยเรื่องมากกับผม ช่างก็จะใช้เวลาน้อย ตัดเอาปริมาณมากกว่าคุณภาพ อย่างเช่นร้านที่ชิมบะฉิ(新橋)ซึ่งเป็นแหล่งที่มีนักธุรกิจแวะกินดื่มก่อนกลับบ้านมาก ราคาตัดอย่างเดียวเหลือแค่ 800 เยน (ประมาณ 250 บาท)

ร้าน ตัดผม

ส่วนร้านเกรดบนเรียกว่า「美容院」(biyouin)ซึ่งหมายถึง ร้านเสริมสวย บางร้านตั้ังชื่อว่า「サロン」(salon) มีบริการตัด-สระเหมือนร้านตัดผมทั่วไป ที่เพิ่มมาคือดัดผม ไม่แน่ใจว่าจะมีแต่งเล็บอะไรเหมือนของไทยหรือเปล่า  แต่ผู้ชายญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ที่ผมยาวๆ ก็มีมาก

ร้านตัดผมแบบนี้จึงมีแขกผู้ชายมาใช้บริการด้วย  บางครั้งเรียกรวมๆ ว่า「理髪店」(rihatsuten)หมายถึง “ร้านแต่งผม” ผู้ชายหรือผู้หญิงจะเข้าก็ได้  ร้านแบบนี้มักเน้นความทันสมัย และดูสบายตา บางร้านทำกระจกใส ให้ลูกค้าหันหน้าออกนอกร้าน

สำหรับผมแล้ว นอกจากการเล็งหาร้านที่ถูกๆ เช่น ถ้าอยู่โตเกียวร้านแถบโอคุโบะ(大久保)ที่มีชาวเกาหลีอยู่มากจะมีร้านตัดผมถูกหลายร้าน ก็จะมองหา「フリー・ヘアカット」(free haircut) หรือบริการตัดผมฟรี  บริการเหล่านี้เป็นบริการที่ช่างตัดผมมือสมัครเล่น หรือแนวทดลองจะขออาสาสมัครมาตัดผม ช่างก็ได้หุ่นตัดผมฟรี  「 カットモデル」 ( cut model ) ลูกค้าก็ได้ตัดผมฟรี

บริการเช่นนี้มักมีในเมืองใหญ่ๆ  เช่นบางเมืองจะลงประกาศรับสมัครหุ่นมาตัดผม ทางวารสารแจกฟรีสำหรับคนต่างชาติ (คนญี่ปุ่นปกติไม่นิยมเป็นหุ่น และอาจจะไม่ว่างมาตัด)

บางที่ถ้าอยู่ใกล้กับสถานศึกษาก็จะเอาใบมาติดประกาศเชิญชวนนักเรียนที่ทุนทรัพย์น้อยไปตัด  อย่างผมก็ได้รับใบเชิญชวนนั้นมา  แต่ที่ที่ตัดผมฟรีนั้นเป็นโรงเรียนสอนตัดผมที่เรียกว่า「理容専門学校」(riyou-senmongakkou;理容:แต่งผม;専門学校:โรงเรียนเพาะช่าง)ที่โรงเรียนแห่งนี้จะรับทำผมตามวันเวลาที่กำหนดในแต่ละเดือน ผมจะต้องโทรไปจอง

ที่นี่จะมีทั้งตัดผมที่เรียกว่า(カット:katto:ตัด)หรือ(短髪:tanpatsu:ตัดสั้น)ก็ได้ และดัดผม(パーマ:paama)ซึ่งถ้าดัดผมก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 1,000 เยน ซึ่งก็นับว่าถูกมาก แต่ที่นี่จะไม่รับย้อมผม(カラーリング:colouring)และยืดผม(ストレートパーマ:straight paama)เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง

เมื่อถึงกำหนดวันที่นัดไว้ ก็ไปที่โรงเรียนแจ้งชื่อเสร็จ ก็จะมีช่างซึ่งก็สุ่มเอา บางทีได้ช่างดีก็สบายใจ ถ้าได้ช่างไม่ดีก็อาจจะหงุดหงิดได้ อย่างช่างบางคนไม่กล้าตัดผม รอถามอาจารย์ที่คุมประจำ เวลาตัดผมก็จะกลายเป็น 3 ชั่วโมงทีเดียว

 

ช่างที่ญี่ปุ่นทั้งที่เป็นมืออาชีพแล้วก็ตาม มักจะค่อยๆ ตัด  ช่างที่นี่ไม่คุ้นกับการตัดผมสั้นแบบที่ผมตัดที่เมืองไทย จึงไม่กล้าเริ่มต้นด้วยการโกน(ใช้คำว่า「バリカン」(barikan)แทนได้เลย หมายถึง โกนด้วยบัตตาเลี่ยน)

บางคนเล็มด้วยกรรไกรเล็มแล้วเล็มเล่า ถ้าผมบอกว่าให้ใช้บัตตาเลี่ยนไถให้เหลือ 1 มิล  ช่างก็จะเริ่มจากการไถ 3 มิลก่อนแล้วก็ถามว่า「大丈夫ですか」(daijoubu-desu-ka:ใช้ได้ไหม)เพราะถ้าตัดเกินไปแล้วจะเอาผมกลับมาก็ไม่ได้

การตัดผมในญี่ปุ่นจึงกินเวลามากเพราะช่างต้องคอยถามตลอด  ถ้าไปลองตัดแรกๆ อาจจะหงุดหงิดได้ เพราะอยู่เมืองไทยไปนั่งปั๊บที่เหลือช่างก็จัดการเอง เรียกได้ว่าผมทุกกระเบียดนิ้วที่หลุดไปจากหัวต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของผมก่อน จะว่าดีก็อาจจะดีแต่คงไม่เหมาะกับนิสัยคนไทย

ในขั้นตอนแรกของการตัดผม ถ้าผมมาแข็งมาก ช่างมักจะหาผ้าที่อบร้อนมาเช็ดผม หรือไม่ก็สระผมเสียเลย เวลาคลุมผ้าคลุมก็จะคอยถามว่า「苦しくないですか」(kurushikunai-desu-ka:หายใจสะดวกไหม)เพราะกลัวจะรัดคอลูกค้าตาย แต่ที่จริงแล้ว สำหรับผมเคยชินมือช่างไทยที่รัดเสียแน่น พอมาเจอช่างญี่ปุ่นเลยรู้สึกว่ามันหลวมไปหน่อย ในใจก็คิดว่า รัดๆ ไปเถอะ

การตัดผมก็จะเริ่มเกลี่ยจากด้านหลังเหมือนของไทย แล้วก็มาจบที่ด้านหน้าเมื่อได้ผมตามที่ต้องการแล้ว ถ้าเรื่องมากหน่อยก็อาจจะพูดว่า「もっと短くしてください」(motto mijikaku shitekudasai:ช่วยตัดสั้นอีก)หรือ「軽くしてください」(karuku shitekudasai:ช่วยซอยบางด้วย (軽いแปลว่าเบา ในที่นี้หมายถึงทำให้ผมดูเบาขึ้น))

ช่างก็จะถามว่าจะโกนจอน โกนหนวดไหมเรียกว่า「シェーブ」(sheebu)มาจากภาษาอังกฤษว่า shave ก็คอยชี้ตำแหน่งโกน หลังจากนั้นก็จะเอาผ้าคลุมมาคลุมผมแล้วก็สระผมเรียกว่า「洗髪」(senpatsu)มาจาก「洗う」(arau:ล้าง)「髪」(kami:ผม)หรือเรียกง่ายๆ ว่า「髪を洗う」(kami o arau:สระผม)ก็ได้

 

การสระผมก็จะมีสระแบบก้มหัวไปด้านหน้าเรียกง่ายๆ ว่า「前」(mae:ด้านหน้า)และการนอนสระที่เรียกว่า่「後ろ」(ushiro:ด้านหลัง) บางครั้งก็เลือกการสระไม่ได้ เพราะช่วงที่ไปอาจจะอยู่ในช่วงที่นักเรียนช่างต้องฝึกสระด้านหลังก็ต้องให้สระตามนั้น

ในการสระผม ช่างจะปรับน้ำให้อุ่นเข้าที่แล้วจึงสระผม บางทีก็ถามว่า「暑くないですか」(atsukunai-desu-ka:ไม่ร้อนใช่ไหม)ซึ่งบางทีก็อดขำไม่ได้ เพราะถ้ามันร้อนจริงๆ ก็คงโวยวายแล้ว แต่ปกติน้ำอุ่นที่ญี่ปุ่นอาจจะร้อนสำหรับคนไทยจึงควรระวัง  ถ้าทนได้ก็ทำเสียง “อือ” ตอบกลับไป

เมื่อสระผมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปถือเป็นทีเด็ด เพราะการตัดผมจะต้องทำให้ครบทุกขั้นตอนตามที่เรียนมา ขั้นตอนต่อไปอันได้แก่การนวดผม และการนวดตัวส่วนหัวและไหล่จึงเป็นขั้นตอนที่ในร้านตัดผมทั่วไปอาจไม่ได้ทำกัน   การนวดผม หรือนวดหัว จะใช้น้ำยาพวกซีบรีสทาและนวด

หลังจากนั้น ช่างจะบอกก่อนว่า「マッサージをします」(massaaji o shimasu:จะนวดแล้ว)วิธีการนวดของช่างน่าสนใจดี บางคนตัดผมห่วยแต่นวดดีมาก จนเผลอเคลิ้มไปก็มี หลังจากนั้นก็เริ่มเอนเก้าอี้ให้นอน แล้วโกนหนวดหรือขนหน้าไปตามเรื่องตามราว บางทีก็จะตัดขนจมูกให้ แต่จะไม่แคะหูให้เหมือนที่เมืองไทย

ที่ญี่ปุ่นไม่นิยมใช้แป้งฝุ่น(パウダー:powder)เหมือนเมืองไทยจึงนิยมทาโลชั่นให้ลูกค้าหลังจากโกนขนหน้าแล้ว หลังจากนั้นหากลูกค้าจะแต่งทรง เช่น ทาเยลแต่งผม(ワックス:wax)หรือใส่มูส(ムース:muusu)ก็จะทำให้เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการตัดผม

การมาเป็นหุ่นให้ช่างตัดก็ช่วยประหยัดค่าตัดผมได้มากทีเดียว อีกทั้งยังได้ผ่อนคลายในบางโอกาส ช่างตัดผมที่นี่จะต้องชวนคุยอยู่เรื่อยไป เข้าใจว่าอาจจะเป็นมาตรการลดความเซ็งของลูกค้า ไม่ให้หลับไป จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนญี่ปุ่นไปด้วย

 

ความรู้เพิ่มเติม

คำว่า「バリカン」(barikan)ในภาษาญี่ปุ่นมาจากคำว่า “Barriquand et Marre” ซึ่งเป็นชื่อบริษัทผลิตบัตตาเลี่ยนในฝรั่งเศส  ส่วนคำว่า “บัตตาเลี่ยน” ในภาษาไทยนั้นก็น่าจะมาจากชื่อยี่ห้อที่โกนผมเช่นกัน

 

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

เว็บไซท์สำหรับหาที่ตัดผมฟรี หรือทำผมราคาประหยัด  เซิร์ซทางอินเตอร์เน็ตได้ค่ะ
โดยใช้คีย์เวิร์ดคำว่า カットモデル  ( cut model )
เลือกหาร้านถูกใจ  เดินทางสะดวก  ราคาเข้าตา
แล้วโทรศัพท์ , ส่งอีเมล์ , หรือกรอกแบบฟอร์มการจองไปค่ะ

ตัวอย่างเว็บไซท์ ที่หานางแบบผม
https://www.cuts.jp/cut_model/list/
https://minimodel.jp/list/1/14/0/1
หรือโหลดแอปลิเคชั่น minimo

เว็บ ตัดผม ฟรี

 

คำศัพท์รู้ไว้ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นกับอ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top