ธาตุ : 元素(genso)
โดย อ.ปมโปโกะ

ธาตุ ต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่น

คนไทยเราเรียกชื่อ “ธาตุ” ส่วนใหญ่ตามอย่างอังกฤษ ของอะไรที่มองไม่เห็นด้วยตา ชื่อจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น เช่น ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน

จะมีก็พวกโลหะต่างๆ ทอง เหล็ก เงิน ปรอท พลวง ดีบุก ตะกั่วที่ใช้ชื่อตามที่เราเคยมี แต่ในภาษาญี่ปุ่น เขาจะใช้ชื่อโดยการถอดความหมายมาใส่เป็นตัวจีน

ธาตุ ไฮโดรเจน

เช่น ธาตุไฮโดรเจน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า「水素」(suiso)เพราะ「水」(sui)แปลว่า น้ำ「素」(so)แปลว่า ต้นกำเนิด ก็แปลตรงกับความหมายเดิมของ Hydrogen ซึ่งแปลว่า “ต้นกำเนิดจากน้ำ”

ธาตุที่เรารู้จักกันดีอื่นๆ เช่น

ไนโตรเจน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「窒素」(chisso)

ออกซิเจน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「酸素」(sanso)โดย「酸」(san)หมายถึงกรด เพราะกรดจะประกอบด้วยออกซิเจน

คาร์บอน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「炭素」(tanso)โดยตัวจีน「炭」(tan)อ่านตามปกติว่า (sumi) หมายถึงถ่านที่ใช้ก่อไฟ

ฟลูออรีน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「フッ素」(fusso) ชื่อนี้มักจะเจอตามข้างหลอดยาสีฟันเหมือนในบ้านเรา

ธาตุ ฟลูออรีน

ไอโอดีน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「ヨウ素」(youso)ตัวอักษร you「ヨウ」นั้นมาจากเสียงแรกของ「Jodium」ซึ่งเป็นชื่อไอโอดีนในภาษาเยอรมัน

ชื่อนี้เวลาที่เราจะพูดถึง “ทิงเจอร์ไอโอดีน” จะพูดว่า「ヨードチンキ」(yoodo chinki)หรือ「ヨーチン」(yoochin)โดยเสียง yoodo「ヨード」หรือ yoo「ヨー」นั้นหมายถึงไอโอดีน ส่วน chinki「チンキ」หรือ chin「チン」หมายถึงทิงเจอร์

คลอรีน ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「塩素」(enso)โดยตัวจีน「塩」(en)อ่านตามปกติว่า (shio) หมายถึงเกลือ เพราะเกลือที่รู้จักกันดีจะอยู่ในรูปสารประกอบคลอไรด์เสียมาก เช่น โซเดียมคลอไรด์ (เกลือโซเดียม)

 

ธาตุหนักที่เรารู้จักกันดีพวกเหล็ก ทอง เงิน ปรอท ที่ญี่ปุ่นก็มีชื่อเฉพาะของเขาดังนี้

ทอง(Au)                    金(kin)

เงิน(Ag)                     銀(gin)

ทองแดง(Cu)              銅(dou)

เหล็ก(Fe)                   鉄(tetsu)

ปรอท(Hg)               水銀(suigin)

ดีบุก(Sn)                  錫(suzu)

ตะกั่ว(Pb)                 鉛(namari)

สังกะสี(Zn)               亜鉛(aen)

แพลตินั่ม หรือทองขาว(Pt)      白金(hakkin)แปลตรงตัวว่า ทองขาว

พลวง(Sb)                  アンチモン(anchimon) มาจากชื่อ Antimony ในภาษาอังกฤษ

กำมะถัน หรือซัลเฟอร์(S)        硫黄(iou)

ฟอสฟอรัส(P)             リン(rin)

สำหรับชื่อธาตุอื่นๆ จะใช้ชื่อทีทับเสียงภาษาต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาษาอังกฤษโดยตรง จึงมีหลายชื่อที่ต่างจากในภาษาไทย เช่น

โซเดียม ญี่ปุ่นใช้ว่า「ナトリウム」(natoriumu)ซึ่งทับศัพท์มาจากคำว่า「Natrium」ซึ่งเป็นชื่อภาษาลาติน

แคลเซียม อันนี้ญี่ปุ่นใช้ใกล้เคียงของไทยว่า「カルシウム」(karushiumu)「Calcium」

โปแตสเซียม ญี่ปุ่นใช้ว่า「カリウム」(kariumu)ทับศัพท์ภาษาเยอรมันว่า「Kalium」

 

ชื่อธาตุหนักหลายๆ ชื่อก็หดไปจากชื่อที่เราเรียกกัน เช่น

ไททาเนียม ญี่ปุ่นใช้ว่า「チタン」(chitan)โดยเพี้ยนเสียงมาจาก「Titan」ตัด「-ium」ทิ้ง

แมงกานีส ญี่ปุ่นใช้ว่า「マンガン」(mangan)

โครเมียม ญี่ปุ่นใช้ว่า「クロム」(kuromu)เป็นต้น

ตาราง ธาตุ

 

ธาตุบางธาตุในตารางธาตุ ได้ถูกนำมาใช้งานเป็นที่รู้จักทั่วไป ธาตุนั้นก็มักจะมีชื่ออ้างอิงอักษรจีน หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

ส่วนธาตุที่แทบไม่เป็นที่รู้จัก ที่ญี่ปุ่นจะทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น ธาตุเยอรมันเนียม ที่ญี่ปุ่นใช้ว่า「ゲルマニウム」(gerumaniumu)ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยน เพราะญี่ปุ่นอ่านเสียง「German」 ว่า「ゲルマン」(geruman)ปัจจุบันปรากฏตามโฆษณา เพราะมีสรรพคุณคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เลือดลมหมุนเวียนดี

 

เวลาที่เรียกสารประกอบต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่น จะนำเอาสารตัวทำปฏิกิริยาไปไว้ข้างหน้าก่อน สลับกับในภาษาไทย

เช่น โซเดียมคลอไรด์ ก็จะพูดว่า คลอไรด์ ก่อนแล้วค่อยโซเดียม ซึ่งจะได้ว่า「 塩化ナトリウム」(enka-natoriumu)「~化」(ka)หมายถึงการทำปฏิกิริยา

สารประกอบที่เรารู้จักกันดี พอแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นก็จะเพี้ยนไปเป็นอย่างนี้

คาร์บอนไดออกไซด์(CO2)หมายถึง 炭素(คาร์บอน)+2酸素(ออกซิเจน ๒ อะตอม)จะกลายเป็น「二酸化炭素」(nisanka-tanso)

คาร์บอนมอนอกไซด์(CO)หมายถึง 炭素(คาร์บอน)+1酸素(ออกซิเจน ๑ อะตอม)จะกลายเป็น「一酸化炭素」(ichisanka-tanso)

แคลเซียมคลอไรด์(CaCl2)หมายถึงสารประกอบระหว่าง カルシウム(แคลเซียม)กับ塩素(คลอรีน)จะกลายเป็น「塩化カルシウム」(enka-karushiumu)

หรือสารประกอบอื่นๆ เช่น คาร์บอเนต(-CO3)มีฤทธิ์เป็นกรดเรียกชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า「炭酸」(tansan)หมายถึงกรดที่มีคาร์บอนประกอบ

ถ้าเป็นกรดอื่นๆ เช่นคลอเรต ก็จะเอาชื่อธาตุคลอรีน คือ「塩素」มาใส่แทน เป็น「塩酸」(ensan)สำหรับสารประกอบไนเตรต จะใช้ว่า「硝酸」(shousan)ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของกรดไนตริก แทนการใช้ชื่อธาตุไนโตรเจน

 

ชื่อเหล่านี้ อาจจะพัวพันในชีวิตประจำวันของเราอยู่พอสมควร เช่น

เครื่องดื่มน้ำอัดลม ที่ญี่ปุ่นก็เรียกว่า「炭酸飲料」(tansaninryou)โดย「飲料」(inryou)แปลว่าเครื่องดื่ม ส่วน「炭酸」ก็คือคาร์บอเนต หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเรียกอีกชื่อว่า「炭酸ガス」(tansan-gasu)อันหมายถึงก๊าซที่ได้จากกรดคาร์บอนิกก็ได้

หรือเวลาเราไปเที่ยวอนเซ็นก็จะมีคำว่า「硫黄」(iou)ซึ่งหมายถึงกำมะถัน ให้เห็น ชื่อเรียกเหล่านี้ถ้าเราเรียกเป็นภาษาอังกฤษ อย่าง “คาร์บอนไดออกไซด์” “ซัลเฟอร์” อะไรเช่นนี้ คนญี่ปุ่นน้อยคนที่จะเข้าใจ เพราะไม่ได้เรียนวิชาเคมีแบบอ้างอิงภาษาอังกฤษเหมือนกับคนไทย จึงควรรู้ไว้พอสังเขป

ศัพท์เพิ่มเติม เกี่ยวกับชื่อธาตุที่ปรากฏในแบตเตอรี่

電池                             (denchi)                    แบตเตอรี่ (ทั่วไป ทั้งแบบเปียกและแบบแห้ง)

乾電池                         (kandenchi)              ถ่านไฟฉาย (แบตเตอรี่แบบแห้ง)

マンガン乾電池        (mangan-kandenchi) ถ่านไฟฉายปกติที่ผลิตจากแมงกานีส(Manganese)

アルカリ乾電池        (arukari-kandenchi)   ถ่านอัลคาไลน์ (Alkaline)

リチウムイオン電池   (richiumu)                 ถ่านชาร์จแบบลิเธียมอิออน (Lithium ion)

บทความน่ารู้จาก  อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top