รถเมล์ญี่ปุ่น (市内バス:shinai basu)

ขึ้น รถเมล์ญี่ปุ่น

 

แม้ว่าปัจจุบัน การโดยสารรถเมล์ในเมืองใหญ่ (市内バス:shinai basu) จะเป็นเรื่องที่ดูล้าสมัย เพราะรถไฟฟ้านั้นมีความสะดวกมากกว่า แต่ในบางพื้นที่ รถเมล์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

รถเมล์ในเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวมักจะวิ่งในระยะไม่ไกลมาก และสุดสายที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใหญ่ๆ อย่างชินจุกุ ชิบุย่า เป็นต้น เส้นทางการวิ่งก็ค่อนข้างอ้อม เพื่อจะได้บริการผู้ใช้ได้ทั่วถึง  เวลานั่งรถเมล์ สิ่งแรกที่ต้องทำใจคือเรื่องเวลา

โดยปกติ รถเมล์ที่ญี่ปุ่นจะคำนวณเวลาติดไฟแดง และเวลาต่างๆ ไว้พอสมควร และระบุไว้ในตารางเวลา รถเมล์จึงมาค่อนข้างตรงเวลาที่ระบุไว้ที่ป้ายรถเมล์

หากรถเมล์มาก่อนเวลาที่ตั้งไว้มาก เช่น เร็วไป 1-2 นาที รถเมล์ก็จะหยุดจอด คนขับจะประกาศให้ผู้โดยสารทราบว่ารถจะหยุดเพื่อปรับเวลา ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า「時間調整」(jikan chousei)จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่าหากมาตรงเวลาที่ระบุไว้ที่ป้าย จะได้ขึ้นรถเมล์แน่นอน  ยกเว้นกรณีที่รถเมล์มาช้ากว่าเวลาก็จะเลทไปเรื่อยๆ ซึ่งมักจะถือเป็นเหตุสุดวิสัย

รถเมล์ญี่ปุ่น ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเงินด้วยตัวเอง ซึ่งระบบการขึ้น-ลงรถ การจ่ายเงินก็จะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่  เมืองโตเกียวมักจะขึ้นชื่อในเรื่องความแปลก เพราะรถในเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่ ผู้โดยสารจะขึ้นจากหลังรถ ตอนก่อนจะลงก็จะจ่ายเงินที่เครื่องจ่ายเงินข้างๆ คนขับรถ แล้วจึงลงที่ประตูหน้า

ป้าย รถเมล์ญี่ปุ่น

แต่ในโตเกียว ผู้โดยสารจะขึ้นจากหน้ารถ แล้วต้องจ่ายเงินให้เรียบร้อยก่อน เวลาจะลงก็ต้องลงท้ายรถจะอุตริมาลงหน้ารถเพราะถือความสะดวกเป็นหลักไม่ได้  (บางทีอาจถูกคนขับรถต่อว่าได้)

ข้อแตกต่างนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก รถเมล์ในโตเกียวมักจะเก็บในอัตราเดียวกันตลอด จะไปลงไหนก็จ่ายราคาเท่ากันจึงจ่ายเงินก่อนนั่งได้

 

ในขณะที่รถตามชานเมือง จะคิดค่านั่งตามระยะ ตอนขึ้นที่ท้ายรถจะมีเครื่องจ่ายตั๋ว ที่ตั๋วจะมีหมายเลขระบุ เมื่อรถวิ่งไปเรื่อยๆ อัตราค่าโดยสารจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงสถานีที่เราจะลง เราต้องดูราคาซึ่งจะปรากฏตรงทางลง เช่น หากเราตีตั๋วไว้เป็นเลข 4 ก็ให้ดูช่องที่สี่ว่าราคาขึ้นเป็นเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายราคานั้น พร้อมกับหย่อนตั๋วคืนไป

ที่จริงแล้วเรื่องของการจ่ายเงินนั้น  เป็นเรื่องที่ผู้โดยสารต้องซื่อสัตย์เองพอสมควร เพราะบางครั้งเครื่องจะไม่ทราบว่าตั๋วของเราเป็นเบอร์อะไร บางทีจ่ายขาด บางทีจ่ายเกินเครื่องก็ไม่ทอนเงินคืนก็มี

ส่วนเครื่องในโตเกียวนั้น เนื่องจากเป็นอัตราเดียวตลอดสาย ถ้าจ่ายเกิน เครื่องก็จะทอนเงิน ถ้าจ่ายขาดเครื่องก็จะอ่านค่าจำนวนเงิน คนขับรถสามารถทักให้จ่ายเงินให้ครบได้

ช่องเก็บเงิน รถเมล์ญี่ปุ่น

เนื่องจากรถเมล์ในเมืองไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะใช้เวลาจอดไฟแดงบ่อย ทำให้ที่นั่งที่จัดสรรจึงมีไม่มาก ที่นั่งส่วนหนึ่งระบุให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้สูงอายุ และมีที่นั่งที่พับเก็บได้ หากมีผู้โดยสารใช้รถเข็นขึ้นมา

แต่ละที่นั่งจะมีกริ่งติดไว้ เมื่อใกล้จะถึงป้ายไหน ก็จะมีประกาศออกมาว่าป้ายต่อไปป้ายอะไร บางทีก็มีข้อมูลเพิ่ม เช่น “ผู้ที่ต้องการจะไป… สามารถลงที่ป้ายนี้” เป็นต้น หากเราจะลงป้ายนี้ หลังจากที่มีประกาศก็ให้กดปุ่มลง ก็จะมีประกาศตามมาว่า「次、止まります」(tsugi, tomarimasu:ป้ายต่อไปรถจะหยุด)พร้อมกับไฟแดงขึ้นที่ปุ่มนี้ทุกจุด

รถเมล์ญี่ปุ่น กริ่ง
รถเมล์ในญี่ปุ่นจะจอดป้ายเกือบทุกป้าย กรณีที่ไม่จอดป้ายมีเพียง 2 กรณีคือ ไม่มีคนลงป้าย และไม่เห็นมีใครอยู่ที่ป้ายรถเมล์  ป้ายรถเมล์ที่ญี่ปุ่นโดยทั่วไป ป้ายหนึ่งจะมีรถที่มาเทียบจอดน้อย ไม่มากเท่าป้ายเมืองไทย และบางครั้งก็มีป้ายจอดแยกสายกัน

หากรถเห็นว่ามีคนอยู่ที่ป้ายก็มักจะจอดเทียบ ทั้งที่คนที่รออาจจะกำลังรอสายอื่นอยู่ ซึ่งกำลังจะมาในเวลาไล่เลี่ยกัน  เนื่องจากผู้โดยสารเองก็สามารถทราบเวลาคร่าวๆ ที่รถจะมาจอดเทียบท่า หากยังไม่ถึงเวลาผู้โดยสารก็อาจจะยืนรอหรือนั่งรอใกล้ๆ ไม่ให้ติดป้าย เพื่อที่รถเมล์ที่จะมาเทียบท่าจะได้ไม่เข้าใจผิดว่าเป็นผู้โดยสารที่กำลังรอขึ้นสายตนเอง

การนั่งใน รถเมล์ญี่ปุ่น ก็ต่างจากรถเมล์ไทยคือ คนจะลงจะไม่มายืนออหน้าประตูทางลง เพื่อจะได้รีบลง รถเมล์จะได้รีบไปอย่างในกรุงเทพฯ  มีป้ายเขียนเตือนว่าให้นั่งอยู่กับที่จนกว่ารถเมล์จะจอดป้ายสนิท และป้ายห้ามยืนตรงขั้นบันได แสดงว่า รถเมล์ที่ญี่ปุ่นจะยอมเสียเวลาให้ผู้โดยสารค่อยๆ ลงจนหมด ตามนิสัยความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่งของคนญี่ปุ่น ด้วยระบบเซนเซอร์ในรถ ประตูลงจะไม่เปิดหากมีใครยืนอยู่ตรงขั้นบันได

 

「止まるまで席を立たないでください」
( tomaru made seki o tatanaide kudasai)
กรุณาอย่าลุกจากเก้าอี้ก่อนรถจอด

止まる  (tomaru)จอด หยุด

まで      (made)    จนกว่า

席を立つ       (seki o tatsu)ลุกจากเก้าอี้

~ないでください        (~naide kudasai)      กรุณาอย่า…

 

「危険ですからステップに立たないでください」
(kiken desukara suteppu ni tatanaide kudasai)
อันตราย กรุณาอย่ายืนบนบันได

危険     (kiken) อันตราย

ですから     (desukara)  เพราะฉะนั้น

ステップに立つ      (suteppu ni tatsu)     ยืนบนขั้นบันได

ภายในรถเมล์ บางสายจะมีแผนที่เส้นทางเดินรถของรถดังกล่าวชัดเจน ซึ่งก็ถือว่าดูยากพอสมควร เพราะไม่ใช่แผนที่จริง คนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่จะดูลำบาก และไม่เข้าใจว่าจะต้องลงที่ไหน อย่างไร ในท้องถิ่น บริเวณสถานีใหญ่ๆ จึงมักมีบริการแนะนำเส้นทาง ป้ายขึ้น ป้ายลงด้วย

เรื่องของการชำระเงินนั้น รถเมล์บางคันก็จะมีเครื่องแลกเงินติดตั้งไว้ บางคนก็จะมาแลกเงินให้เป็นเงินย่อยเตรียมไว้ เพราะเครื่องจะไม่ทอนตังค์ โดยเฉพาะพวกแบงค์นั้น ต้องแลกไว้แต่เนิ่นๆ

รถเมล์ญี่ปุ่น เครื่องแลกเงิน

แต่ถ้าเป็นรถในโตเกียวที่เก็บอัตราเดียว เครื่องแลกเงินจะติดตั้งอยู่ในตัว หย่อนเงินเท่าไหร่ เครื่องจะทอนมูลค่าที่หักค่ารถออกไปคืนมาเลย  เรื่องการแลกเงินนี้ หากไม่เตรียม ก็อาจจะเสียเวลาเวลาลง และรบกวนคนอื่น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เช่นกัน คนญี่ปุ่นจะไม่ปริปากบ่นเร่งใครเท่าไหร่ หากยังไม่ถึงคิวตัวเองก็จะรอเงียบๆ

ลองนึกดูแล้ว ก็น่าเสียดายที่ระบบเหล่านี้ยังทำในเมืองไทยไม่ได้ เพราะคนไทยยังติดนิสัยขี้โกง อะไรที่ลักไก่ได้ ไม่ต้องจ่ายเงินสักสองสามบาทก็เอา จึงยากที่จะยกเลิกให้มีกระเป๋ารถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ก็เหมือนคนคอยทวงเงิน จะได้ไม่ลักไก่ แล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้คุมเงิน จะได้ไม่มีใครมาอุตริแงะเงิน หรือใส่แบงค์ปลอม เหรียญปลอม (ยกเว้นก็แต่กระเป๋ารถเมล์จะโกงเงินเสียเอง)

อีกอย่างที่ยากแสนยากคือการเข้าคิว คนไทยยังรักสบาย ไปไหนขอให้ได้นั่งไว้ก่อน จึงชอบที่จะไปออหน้าประตูเพื่อแย่งสิทธิ์การนั่งที่ว่างก่อนใคร เรื่องนี้ถ้าหัดปลงได้ ตัวเองมาทีหลังก็ต้องยืน ถ้าไม่อยากยืนก็รอคิวคันต่อไปจะได้ขึ้นก่อน ได้นั่ง ถ้ามีระเบียบอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องแย่งกันขึ้นรถ

 

คำศัพท์เพิ่มเติม

バス  ( busu)                 รถเมล์ , รถประจำทาง
バス停     (basutei )               ป้ายรถเมล์
運転手      (untenshu)         คนขับรถ
車掌          (shashou)           กระเป๋ารถเมล์
時刻表  (jikokuhyou )        ตารางเวลา

 

บทความน่ารู้จาก  อ.ปมโปโกะ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการศึกษาวันนี้  คอลัมน์เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น

 


ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นเจเอ็ดดูเคชั่น
เป็นสำนักงานในประเทศไทยของสถาบันโดยตรง  แนะแนวศึกษาต่อญี่ปุ่นทุกระดับ โดยศิษย์เก่าญี่ปุ่น  ดำเนินการสมัคร เรียนต่อญี่ปุ่น ครบครันทุกขั้นตอน  โดยไม่คิดค่าดำเนินการใด ๆ รวมถึงค่าส่งเอกสารไปที่ญี่ปุ่น

ปรึกษาเรื่องเรียนต่อญี่ปุ่น โทร. 02-665-2969, 02-258-3983
email : ask@jeducation.com

ขอข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับเจ้าหน้าที่ คลิกเลย  >> https://bit.ly/jed-line

Scroll to Top